Skip to main content
sharethis

กรณี 'สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ' ฟ้อง 'มาร์ค-สุเทพ-สรรเสริญ' ฐานหมิ่นประมาท ละเมิด ใส่ชื่อ 'สุธาชัย' ในผังเครือข่ายล้มเจ้า ศาลแพ่งตัดสินจำเลยมีอำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน กระทำในฐานะเจ้าหน้าที่รัฐ โจกท์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยให้รับผิดเป็นการส่วนตัวได้จึงพิพากษายกฟ้อง ส่วนที่เป็นคดีอาญาศาลกำลังพิจารณา

ตามที่ เมื่อวันที่ 7 พ.ค. 53 ที่ศาลอาญา ถนนรัชดา นายสุธาชัย ยิ้มประเสริฐ อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ยื่นฟ้อง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี จำเลยที่ 1 นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ผอ.ศอฉ. จำเลยที่2 และพ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษก  ศอฉ. จำเลยที่ 3 ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หมิ่นประมาทโดยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 90, 157, 328 กรณีศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.)  เผยแพร่แผนผังเครือข่ายล้มเจ้า ซึ่งมีชื่อของนายสุธาชัยปรากฏอยู่

นอกจากนี้นายสุธาชัย ยังได้ยื่นฟ้องศาลแพ่งในข้อหาละเมิด ให้ชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 300,554.80 บาท พร้อมอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี และขอให้ศาลเปิดการไต่สวนฉุกเฉินเพื่อขอคุ้มครองชั่วคราว ต่อมาเวลาประมาณ 15.30 น. ศาลไต่สวนฉุกเฉินโดยไต่สวนโจทก์เพียงปากเดียวพร้อมพยานเอกสารอีก 5 ชิ้น และนัดฟังคำสั่งในวันจันทร์ที่ 10 พ.ค.นี้

ล่าสุดบ่ายวันนี้ (10 พ.ค.) ที่ศาลแพ่ง ถ.รัชดาภิเษก ศาลอ่านคำสั่งในคดีที่นายสุธาชัย ยิ้มประเสริฐ  อาจารย์คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นโจทก์ฟ้องนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี นายสุเทพ เทือกสุบรรณ  รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะ ผอ.ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน(ศอฉ). และ พ.อ.สรรเสริญ  แก้วกำเนิด โฆษก ศอฉ. เป็นจำเลยที่ 1 – 3 เรื่อง ละเมิด เรียกค่าเสียหายจำนวน 300,554 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี กรณีที่จำเลยทั้งสามจัดทำแผ่นปลิวโฆษณา ระบุว่าเป็นแผนผังของ ศอฉ. แสดงเครือข่ายที่มีพฤติการณ์ส่อล้มสถาบันพระมาหกษัตริย์  โดยระบุชื่อโจทก์ว่าเป็นหนึ่งที่อยู่ในเครือข่ายของขบวนการดังกล่าว ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย

ศาลแพ่งพิเคราะห์คำฟ้อง ประกอบเอกสารแล้วตามที่โจทก์อ้างในฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้รักษาการตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ส่วนจำเลยที่ 2 และ จำเลยที่ 3ได้รับมอบหมายอำนาจจากจำเลยที่ 1 ร่วมกันจัดทำแผ่นปลิวโฆษณาดังกล่าว และนำไปแจกจ่ายแก่ผู้สื่อข่าวและประชาชน นั้นแสดงว่า จำเลยทั้งสามกระทำไปในฐานะเจ้าหน้าที่ของรัฐ

ทั้งตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548  ได้นิยามคำ”สถานการณ์ฉุกเฉิน” หมายความว่า  สถานการณ์อันกระทบหรืออาจกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน หรือเป็นภัยต่อความมั่งคงของรัฐ หรืออาจทำให้ประเทศหรือส่วนหนึ่งส่วนใดของประเทศตกอยู่ในภาวะคับขัน หรือกระทำผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา การรบ หรือการสงคราม จำเป็นต้องมีมาตรการเร่งด่วน เพื่อรักษาไว้ซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ความปลอดภัยของประชาชน การดำรงชีวิต การคุ้มครองสิทธิ์เสรีภาพ ความสงบเรียบร้อยหรือประโยชน์ส่วนรวม และอื่นๆ แสดงให้เห็นว่า ศอฉ. มีอำนาจดำเนินการใด ๆ ตามกฎหมายเพื่อป้องกัน แก้ไข  และระงับสถานการณ์ฉุกเฉิน

แม้หากจำเลยทั้งสามจะกระทำตามมูลเหตุที่โจทก์นำมาฟ้อง ก็เป็นการกระทำภายในขอบอำนาจที่ พ.ร.ก.ดังกล่าวบัญญัติให้อำนาจไว้ จึงไม่มีเหตุผลที่พวกจำเลยจะดำเนินการไปในฐานะส่วนตัวเพื่อกลั่นแกล้ง โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสามให้รับผิดเป็นการส่วนตัวได้  ตาม พ.ร.บ.รับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่  พ.ศ.2539 มาตรา 5 วรรคหนึ่ง พิพากษายกฟ้อง

ส่วนคดีที่นายสุทธาชัยยื่นฟ้อง นายอภิสิทธิ์ นายสุเทพ และ พ.อ.สรรเสริญ เป็นจำเลยในคดีอาญา กรณีเดียวกันฐานหมิ่นประมาทเมื่อวันที่ 7 พ.ค.นั้น  ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลว่าจะรับฟ้องคดีไว้หรือไม่

ทั้งนี้ เนื้อหาในคำฟ้องฐานความผิดเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หมิ่นประมาทโดยการโฆษณาของนายสุทธาชัยซึ่งเป็นโจกท์ ระบุว่า สืบเนื่องจากที่นายอภิสิทธิ์ (จำเลยที่ 1) ใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และมอบหมายให้ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ (จำเลยที่ 2) เป็นประธานกรรมการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉิน ในฐานะ ผอ.ศอฉ. โดยมี พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด ทำหน้าที่เป็นโฆษก ศอฉ.

จำเลยทั้งสามที่มีอำนาจหน้าที่ใน ศอฉ.ได้กระทำผิดกฎหมาย โดยการร่วมกันจัดทำแผ่นปลิวโฆษณาระบุว่า แผ่นปลิวดังกล่าวเป็นแผนผังของ  ศอฉ. ซึ่งแสดงเครือข่ายที่มีพฤติการณ์ส่อล้มสถาบัน โดยมีรายชื่อของโจทก์ปรากฏอยู่ในเครือข่ายนั้นด้วย ทั้งที่จำเลยทั้งสามก็ทราบดีอยู่แล้วว่า โจทก์มิได้เป็นเครือข่ายขบวนการดังกล่าว การกระทำของจำเลยทั้งสามซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายจึงเป็นการกระทำโดย เจตนาทุจริต ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และปฏิบัติโดยทุจริตทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย

นอกจากนี้ จำเลยทั้งสามยังได้ทำการโฆษณาแจกจ่ายแผ่นปลิวดังกล่าวให้กับผู้สื่อข่าว หนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ และสื่อมวลชนทั่วไป ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นเกลียดชังจากประชาชนทั่วไป ซึ่งตามความจริงแล้ว โจทก์ไม่ได้เป็นบุคคลที่มีพฤติการณ์ต้องการจาบจ้วง และล้มล้างสถาบันแต่อย่างใด ทั้งนี้ การกระทำของจำเลยทั้งสาม ไม่ได้เป็นการปฏิบัติหน้าที่ในการระงับ หรือป้องกันการกระทำผิดกฎหมาย แต่เป็นการทุจริต เลือกปฏิบัติเกินสมควรแก่เหตุ และไม่ใช่กรณีที่จำเป็น ดังนั้นจำเลยทั้งสามจึงไม่ควรได้รับความคุ้มครองใดๆ ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net