Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

แปลจาก Thailand and U.S. Policy โดย Joshua Kurlantzick
ที่มา 
http://blogs.cfr.org/asia/2010/05/18/thailand-and-us-policy/

 

ถึงขณะนี้ วิกฤตที่เกิดขึ้นในประเทศไทยได้ดำเนินมาเกือบจะถึงขั้นสงครามกลางเมืองและคุกคามต่อหลายสิ่งหลายอย่างรวมถึง 1. ผลพวงในแง่บวกด้านประชาธิปไตยที่ได้ถูกสร้างขึ้นตลอด 20 ปีที่ผ่านมา 2. สถาบันพระมหากษัตริย์ในช่วงการครองราชย์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และ 3. เศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยวที่เป็นหัวใจของเศรษฐกิจไทย อย่างไรก็ตาม ในขณะที่ทั้ง 2 ฝ่ายมองหาตัวกลางที่จะช่วยแก้วิกฤตการณ์นี้ ยังมีโอกาสที่สหรัฐอเมริกาจะเข้ามามีบทบาทอย่างสร้างสรรค์

ถึงแม้ว่าประเทศจีนได้มีส่วนเอื้อประโยชน์ต่างๆ ในประเทศไทยตลอดช่วงทศวรรษที่ผ่านมา สหรัฐอเมริกาก็ยังคงเป็นผู้มีบทบาทจากประเทศภายนอกที่เป็นที่นับถือและสำคัญที่สุด ในปี ค.ศ. 2006 การตัดสินใจของสหรัฐอเมริกาที่จะไม่ประณามการทำรัฐประหาร เป็นการทำให้กองกำลังทหารเข้ามามีอำนาจได้ง่ายขึ้น และได้พิสูจน์แล้วว่าเป็นข้อผิดพลาดอันใหญ่หลวง เนื่องจากคณะรัฐประหารมิได้ทำการแก้ไขสิ่งใดทั้งสิ้นและได้แต่ทำให้สถานการณ์แย่ลงกว่าเดิม

ในตอนนี้ คณะรัฐบาลของประธานาธิบดีบารัค โอบามา ได้เลือกใช้วิธีการแสดงท่าทีอย่างสุขุมและไม่แสดงความแตกต่างมากนัก นายเคิร์ท แคมป์เบลล์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้ตัดสินใจอย่างชาญฉลาดในระหว่างการเยี่ยมเยือนประเทศไทย ที่ไม่เพียงแต่จะพบฝ่ายรัฐบาล แต่ได้พบกับแกนนำบางคนของผู้ชุมนุมเสื้อแดง ถึงแม้ว่าการทำเช่นนี้จะได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากจากรัฐบาลไทย การตัดสินใจดังกล่าวเป็นการกระทำที่ถูกต้อง ถึงแม้ว่ากลุ่มเสื้อแดงบางกลุ่มได้เลือกใช้วิธีการที่รุนแรงและรัฐบาลก็มีสิทธิ์ที่จะนำความสงบกลับมาและสลายการชุมนุมประท้วง แต่ข้อเรียกร้องต่างๆ ทางสังคมซึ่งสะท้อนจากกลุ่มผู้ชุมนุมเสื้อแดง (ต้องไม่ลืมว่า ผู้ชุมนุมกว่าหนึ่งแสนคนได้ออกมาเรียกร้องในกรุงเทพฯ เมื่อไม่นานมานี้) จะต้องไม่ถูกละเลย และยังจะต้องได้รับการทำความเข้าใจโดยสหรัฐอเมริกาและองค์กรหรือประเทศที่มีอิทธิพลจากประเทศอื่นๆ

ทางการของสหรัฐอเมริกาจำเป็นที่จะต้องขยายกรอบของการติดต่อเชื่อมโยงและหาข้อมูลออกไปเพื่อที่จะทำความเข้าใจการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่เกิดขึ้นในประเทศไทย และยังจำเป็นต้องขยายออกไปนอกกรอบของการรายงานเกี่ยวกับประเทศไทยจากสื่อไทยที่ใช้ภาษาอังกฤษ (สื่อมวลชนจากต่างประเทศมีแนวโน้มจะทำหน้าที่ได้ดีกว่าในการสะท้อนเสียงจากคนไทยในขอบเขตที่กว้างกว่า เนื่องจากนักข่าวจากต่างประเทศจะออกไปนอกกรุงเทพฯ มากกว่า และได้สัมภาษณ์ประชาชนในต่างจังหวัด) การตามค้นหาข้อมูลในวงกว้างนี้จะแสดงให้เห็นว่าการเคลื่อนไหวของกลุ่มเสื้อแดงไม่ได้เพียงแต่เป็นเครื่องมือของอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร เท่านั้น

นโยบายการมีปฎิสัมพันธ์เพียงกับกลุ่มชนชั้นสูงในกรุงเทพฯ เท่านั้น จะไม่เป็นประโยชน์กับสหรัฐอเมริกา และในระยะยาวอาจจะทำให้เกิดความเป็นไปได้ที่จะเกิดผู้นำกลุ่มคนยากจนดังเช่นกรณีนายชาเวซ ผู้ซึ่งจะก้าวเข้ามาสู่อำนาจและมีนโยบายต่อต้านอเมริกันอย่างรุนแรง

นายแคมป์เบลล์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐอเมริกา จะเดินทางกลับไปเอเชียในอีกไม่กี่วันนี้ และแน่นอนว่าประเทศไทยจะเป็นหัวข้อสำคัญในการพิจารณาหารือ นายแคมป์เบลล์ควรจะรับรองความจำเป็นของรัฐบาลไทยในการนำความสงบกลับมาสู่บ้านเมือง (ทั้งนี้เช่นกัน รัฐบาลสหรัฐอเมริกาก็ไม่สามารถปล่อยให้กลุ่มคนติดอาวุธออกมาเดินอยู่ตามท้องถนนของวอชิงตัน ดี.ซี. โดยไม่ได้มีการตรวจสอบได้) และในขณะเดียวกันนายแคมเบลล์ก็ควรจะเพิกเฉยต่อคำเรียกร้องของรัฐบาลไทยที่จะให้นายแคมป์เบลล์ติดต่อกับคณะรัฐมนตรีของรัฐบาลไทยเท่านั้น นายแคมป์เบลล์ควรจะสืบหาและฟังความคิดเห็นที่เป็นกลางจากกลุ่มเสื้อแดง และจากกลุ่มผู้นำที่ค่อนข้างมีความเป็นกลางและเป็นที่นับถือ ซึ่งเป็นผู้ที่เคยใกล้ชิดกับนายทักษิณ อย่างเช่น อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร นายจาตุรนต์ ฉายแสง

นายแคมป์เบลล์ควรจะส่งสารถึงรัฐบาลไทยว่า สหรัฐอเมริกาจะดำเนินการต่างจากในปี ค.ศ. 2006 โดยที่สหรัฐอเมริกาจะประณามอย่างแข็งกร้าวมากขึ้นต่อการแทรกแซงทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็น การทำรัฐประหาร การพิพากษาจากศาล หรือ การกระทำอื่นๆ ที่คล้ายกัน ดังเช่นที่รัฐบาลประธานาธิบดี บารัค โอบามา ได้ทำการประณามต่อรัฐประหารในประเทศฮอนดูรัส และการเลือกตั้งที่อาจจะถูกจัดขึ้นอย่างไม่โปร่งใสในประเทศอิหร่าน การประณามนี้อาจจะรวมไปถึงการขู่จะยกเลิกการฝึกรบร่วมคอบร้า โกลด์ การประณามอย่างเป็นทางการต่อสาธารณชน และการทบทวนความร่วมมือด้านต่างๆ ระหว่างสหรัฐอเมริกาและไทยเสียใหม่ ประเทศไทยย่อมไม่ต้องการที่จะถูกมองว่าอยู่ในกลุ่มเดียวกับประเทศทั้งสองที่กล่าวมาแล้ว ดังนั้น การยึดหลักการสนับสนุนให้มีการเลือกตั้งอย่างเสรีเท่านั้น จึงจะเปิดโอกาสให้สหรัฐอเมริกาสามารถปกป้องสถานภาพของประเทศไทยได้ดียิ่งขึ้น

หมายเหตุ: Joshua Kurlantzick ได้รับทุนวิจัยในประเด็นเอเชียตะวันเฉียงใต้ ที่สภาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (The Council on Foreign Relations: CFR) ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหากำไร สัญชาติอเมริกัน รวมถึงเป็นคอลัมนิสต์ให้กับนิตยสารไทม์
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net