Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

“เราเคยมีรอยยิ้ม ยิ้มให้กัน ยังจำได้ไหม เจอคนไทยที่ไหน ก็ยิ้มให้กัน
เราเคยมีน้ำใจ บ้านเราเหมือนเมืองในฝัน อยู่ตรงไหนสุขใจทั้งนั้น บ้านคนไทย”

ผมเริ่มต้นบทความนี้ด้วยเนื้อหาของบทเพลงปลอบประโลมจิตใจ “คนไทย” ที่กระหน่ำออกอากาศในทุกสื่อภายหลังจากเหตุการณ์ “กระชับวงล้อม” ในวาระพฤษภาอำมหิตจบลง

ในขณะที่เปลวเพลิงและควันไฟที่ลุกลามไหม้ศูนย์การค้าและอาคารต่างๆ ..อาจดับมอดลงหมดสิ้นแล้วในวันนี้ แต่เปลวไฟแห่งความคับแค้นและเกลียดชังกำลังลุกลามไหม้ในใจของบางคนบางกลุ่ม อย่างที่เมื่อได้ฟังบทเพลงนี้แล้วอาจอดใจไม่ไหวที่จะต้องถ่มถุยน้ำลาย แล้วถามออกมาดัง ๆ ว่า “ขอความสุขของใครคืนกลับมา?”

วันนี้ ผมเห็นหลายๆ คนเริ่มยิ้มได้เพราะได้กลับมาใช้ชีวิตอย่างปกติสุขอีกครั้งในเมืองใหญ่ “ของตน” โดยไม่ต้องทนทุกข์กับมาชุมนุมประท้วงของพวก “ไพร่เสื้อแดง” ที่ทำให้รถราติดขัด ทำมาค้าขายไม่ได้ ได้ความสุขคืนกลับมากันอย่างถ้วนทั่ว พร้อมกับการเริ่มแผนปฏิบัติการ “ปรองดองฝ่ายเดียว” ของรัฐบาลนี้

วันก่อน..รอยยิ้มที่ “เรา” เคยมีให้แก่กันนั้น อาจเป็นรอยยิ้มของความสุข ความซื่อ ความไร้เดียงสา รอยยิ้มที่เต็มไปด้วยความเชื่อมั่นในความดีงามของเพื่อนมนุษย์

แต่วันนี้..รอยยิ้มนี้อาจไม่ใช่รอยยิ้มของ “เรา” เหมือนเดิม ดูไปมันคล้ายการแสยะยิ้มหยามเหยียดบนริมฝีปากของปีศาจที่ดูไปแล้วน่าขนลุก

บ้านเมืองเราเหมือนเมืองในฝันที่แสนสุขใจสำหรับทุกคนจริงหรือครับ...

บ้านเมืองที่สั่งให้ชาวไร่ชาวนาหยุดทำนาเพราะเขื่อนอาจไม่มีน้ำจะปล่อยให้ แต่ไม่ได้ห้ามภาคอุตสาหกรรมให้ลดกำลังการผลิตเพื่อลดการใช้น้ำ ไม่ได้บอกให้ “พวกเรา” ชาวเมืองหลวงเมืองใหญ่ลดการใช้น้ำที่แสนจะฟุ่มเฟือยลงบ้าง

บ้านเมืองที่ผู้ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนสร้างโรงไฟฟ้าต้องสูญเสียที่ทำกิน สูญเสียวิถีชีวิต แม้กระทั่งอาจสูญสิ้นจิตวิญญาณไป กลับกลายเป็นผู้คนที่เห็นแก่ตัวไม่เสียสละเพื่อประโยชน์ส่วนรวม มัวแต่มาชุมนุมเรียกร้องอยู่นั่นไม่ยอมไปทำมาหากิน

บ้านเมืองผู้คนล้วนมีจิตสำนึกรักธรรมชาติ ตื่นเต้นกับหมีแพนด้า ตื่นตัวกับขยายถนนขึ้นเขาใหญ่ (ซึ่งยาวตั้งแปดกิโลเมตร) แต่ไม่เคยแม้แต่คิดที่จะลดการใช้กล่องโฟมหรือลดการใช้ถุงพลาสติกเพราะมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องใช้ในการช้อปปิ้ง...โอ้วววว..

บ้านเมืองที่รัฐบาลสั่งให้ทหารใช้อาวุธจริงเพื่อสลายการชุมนุม จนมีประชาชนบาดเจ็บเกือบ 2,000 คน ล้มตายเกือบร้อยชีวิต กลายเป็นปฏิบัติการขอคืนพื้นที่หรือกระชับพื้นที่ที่นุ่มนวล อ่อนโยน ได้ใช้ความระมัดระวังอย่างที่สุดแล้ว และไม่ต้องมีคำขอโทษหรือแสดงความรับผิดชอบทางการเมืองใดๆ ทั้งสิ้น ต่อพ่อแม่ญาติพี่น้องของผู้ที่ต้องสูญเสียไป

ถ้ายังยิ้มกันได้..ผมว่ามันคือรอยยิ้มจากใจของปีศาจที่น่าสยดสยองเสียจริง ๆ

จนไม่นานมานี้ เหมือนมีลมแห่งความขัดแย้ง คอยพัดความแห้งแล้งเข้ากลางใจ
ลมยังคงพัดพา ความสุขและความสดใส กับรอยยิ้มจากใจคนไทยไม่มีเหลือ

เราอาจเคยเห็นภาพของผู้คนในชนบทที่สดใส บรรยากาศดีน่าอยู่ ใบหน้าที่ยิ้มแย้มกับทุ่งข้าวเรือกสวนไร่นาเขียวชอุ่ม น่าประทับใจเหลือเกิน

แต่..เราเคยเห็นใบหน้าทุกข์ทนของชาวไร่ชาวนาที่ไร้ที่ทำกิน หนี้สินค่าปุ๋ยค่ายา ค่าเช่านา ท่วมตัว เพราะนายทุนไปจับจองที่ สปก. แทนซะหมด
ใบหน้าที่เต็มใบด้วยคราบน้ำตาเพราะรัฐผันน้ำเข้าไปท่วมไร่นาที่ทำกินของเขาเพื่อปกป้องคนในเมืองหลวงให้อยู่กันอย่างสุขสบายบ้างรึเปล่า?
ใบหน้าที่เต็มไปด้วยหยาดเหงื่อของกรรมกรผู้ใช้แรงงานที่ได้รับเพียงค่าจ้างขั้นต่ำ โดยไร้ซึ่งสวัสดิการใด ๆ อย่างที่พึงสมควรจะได้รับอย่างเสมอกัน

สายลมไม่ได้พัดพาความขัดแย้งมาหรอกครับ แต่สายลมได้พัดพาเอาฝุ่นที่เคลือบฉาบปัญหาและความขัดแย้งที่มันดำรงอยู่แล้วออกไปต่างหาก
 
ความขัดแย้งอันเนื่องมาจากความไม่เท่าเทียม ความไม่เป็นธรรมในการเข้าถึงทรัพยากร       การพัฒนาของเมืองและชนบท หรือแม้กระทั่งสิทธิและเสรีภาพระหว่างชนชั้นที่มันเหลื่อมล้ำกัน มันดำรงอยู่เสมอมา และสายลมนี้เองที่ได้พัดสิ่งที่คอยบดบังและลวงหลอกตาออกไปจนทำให้เห็นภาพและทำให้ให้มันปรากฏชัดขึ้นในสังคมของเราอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

แค่เพียงรอยยิ้มที่เคยมีให้ อาจไม่ช่วยได้ช่วยให้ฝ่ายที่ถูกเอาเปรียบพึงพอใจได้อีกต่อไป และยิ่งเมื่อสิทธิพื้นฐานอย่างสิทธิในการเลือกคนเข้าไปเป็นผู้แทนตนเพื่อเป็นรัฐบาลยังถูกปล้นไปทั้งจากการรัฐประหารและกลไก (หรือกลโกง) ทางการเมือง จึงทำให้อีกฝ่ายต้องทิ้งบ้านช่องออกมาเรียกร้องทวงสิทธิของพวกตนนอนบนถนนคอนกรีต  เพียงหวังจะได้รับความเห็นใจและความเข้าใจจากคนในเมืองใหญ่บ้าง

กลับกลายเป็นว่า สายลมนั้นได้พัดพาเอาความแห้งแล้งมา และพัดพาเอาความสุข             ความสดใส ไปจากกลางใจของผู้คนในเมืองใหญ่อย่างนั้นหรือครับ?

เราจึงได้เห็น สายลมแห่งความแห้งแล้งน้ำใจในเมืองหลวง ถึงขนาดที่มีผู้คนบาดเจ็บล้มตายไปมากมาย ก็ยังไม่มีใครคิดเรียกร้องอะไรจากรัฐบาลนี้ให้แสดงความรับผิดชอบ อย่างดีที่สุดก็เพียงแค่บอกว่า เรามาดีกันเถอะนะ เรามาเริ่มต้นกันใหม่ เรายังปรองดองกันได้  โดยไม่ได้พยายามสักนิดที่จะทำความเข้าใจถึงรากเหง้าของปัญหาเชิงโครงสร้าง หรือแม้กระทั่งการร่วมกันร้องเรียกความเป็นธรรมให้แก่ชีวิตของผู้สูญเสีย
  
ความขัดแย้งยังคงดำรงอยู่อย่างที่มันเคยเป็น..

 แต่..ความตายบนท้องถนน ก็ได้ถูกพัดพาหายไปกับสายลมแห้งแล้ง พร้อมบทเพลงสวดส่งวิญญาณนั่นเอง

ขอความสุข ของเราจงคืนกลับมา ขอความสุข รอยยิ้มที่เคยเหลือเฟือ
คืนน้ำใจที่แน่นหนัก คืนความรักที่จุนเจือ กลับมาเป็น เมืองไทยสงบดังเดิม

ผมได้พูดหลายครั้งแล้วว่า ในสังคมประชาธิปไตยนั้นความขัดแย้งและความเห็นต่างเป็นเรื่องปกติ เป็นสิ่งสวยงาม เพราะนั่นจะนำไปสู่การพัฒนาที่ทุกคนทุกฝ่ายสามารถต่อรองผลประโยชน์กันได้บนพื้นฐานของความเท่าเทียม ไม่เอารัดเอาเปรียบกันจนเกินไปนัก

ไม่มีหรอกครับ สังคมที่ปราศจากความขัดแย้ง ยกเว้นเสียแต่ว่าสังคมนั้นจะไม่มีผู้คนแล้ว

ผู้คนไม่ใช่หมูหมา ที่ไม่พอใจก็จะไล่ออกจากบ้าน หรือไม่ใช่แมลงสาบที่ไม่พอใจก็เอารองเท้าเหยียบกระทืบบี้แบน  

การจัดการกับความขัดแย้ง โดยเฉพาะความขัดแย้งทางการเมืองหรืออุดมการณ์ จึงต้องไม่ใช่การจัดการด้วยการใช้ความความรุนแรงเข้าปราบปรามหรือทำลายล้างผู้ที่คิดไม่เหมือนตนให้สูญสิ้นไปจากโลกนี้และเหตุการณ์เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม ก็ได้พิสูจน์ตัวเองแล้วว่าการใช้ความรุนแรงในการจัดการย่อมนำไปสู่ความพินาศเสียหายมากเพียงใด

แต่ผ่านมาเกือบหนึ่งเดือน ผู้ครองอำนาจรัฐก็ยังคงไว้ซึ่งอำนาจตามพระราชบัญญัติการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งเป็นเครื่องบ่งชี้ว่ายังความประสงค์ที่จะใช้ความรุนแรงเข้าปราบปรามอย่างเด็ดขาดอยู่

มือถือปืนเหยียบหัวอยู่ แต่ปากจะพร่ำบอกว่าปรองดองกันเถอะ..ผมว่านั่นมันน่าตลก

ผมเชื่อว่า สถานการณ์ที่สงบลงจน “เสมือน” เป็นปกตินี้ ไม่ได้เป็นความสงบอย่างแท้จริง เพียงแต่หลายๆ ฝ่ายยังคง “เกรง” ที่จะเคลื่อนไหวภายใต้กฎหมายเผด็จการอำนาจนิยมที่สิทธิและเสรีภาพถูกลิดรอนไปจนแทบจะไม่เหลือแล้วในตอนนี้

การปกครองด้วยความ “เกรง” แบบนี้ ไม่ได้นำไปสู่ความ “กลัว” หรอกนะครับ แต่จะนำไปสู่ความ “เกลียด” ซึ่งผมคิดว่าตอนนี้มันมีมากพอแล้วในบ้านเมืองของเรา และหากยิ่งรีรอเนิ่นช้าไปจะยิ่งบ่มเพาะให้มันความเกลียดชังมันสุกงอมเกินกว่าจะเยียวยาได้
 
ความสุขและสงบที่จะขอกลับคืนนั้น จึงมีประเด็นที่อยู่ที่ว่า ใครที่ขอและขอจากใคร

คนที่ถูกเผาร้านอาคารบ้านเรือน ตอนนี้อาจได้ขอรับการเยียวยาบ้างแล้ว นั่นเป็นเรื่องที่น่ายินดีด้วย

คนเมืองหลวงอาจไม่ต้องรถติด ได้กลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติสุขของตน ส่งลูกเต้าเข้าโรงเรียนดีๆ ได้สะดวกปลอดภัย  มีเวลาไปเดินเล่นที่จับจ่ายสินค้าในห้างหรู ๆ ได้ความสุขคืนกลับมากันบ้างแล้ว

แต่ความเป็นธรรมและความเท่าเทียมทางสังคมที่หล่นหายไปของบรรดาผู้คนที่ทุกข์ยากทั้งหลายในแผ่นดินนี้มาร้องขอนั้น ได้คืนกลับมาบ้างหรือยัง? แล้วสิทธิเสรีภาพที่ถูกลิดรอนไป อีกนานเท่าไหร่จึงจะได้คืนกลับมาสู่ประชาชน?  

แล้ว...ชีวิตผู้คนที่สูญเสียไป..ใครจะขอคืนกลับมาให้ญาติพี่น้องพวกเขาได้บ้าง?
   

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net