Skip to main content
sharethis

กระทรวงวัฒนธรรมประกาศรายชื่อผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่นเนื่องในวันภาษาไทยแห่งชาติ 29 ก.ค. นี้ อภิสิทธิ์-ว.วชิรเมธี-คำนูณ ติดโผรายชื่อ ด้านราชบัณฑิตหวั่นกระแสเกาหลีโถมเด็กไทยไม่สนใจภาษาบ้านเกิด รมต.วัฒนธรรมเผยเด็กแห่ใช้เฟสบุ๊ค ทวิตเตอร์ ทำภาษาไทยผิดเพี้ยน มุ่งรณรงค์เขียนจดหมาย

 

มาร์ค - ว.วชิรเมธี ติดโผผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่น
22 ก.ค. 2553 -  เว็บไซต์กระทรวงวัฒนธรรมเปิดเผยรายชื่อผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่นประจำปี 2553 เพื่อ เป็นแบบอย่างแก่เยาวชน และสังคม จำนวน 41 คน ซึ่งในรายชื่อมี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี, พระมหาวุฒิชัย  วชิรเมธี (หรือ ว.วชิรเมธี) และ คำนูณ  สิทธิสมาน ติดโผผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่นด้วย โดยทั้งหมดจะเข้ารับรางวัลจากพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี ในวันที่ 29 กรกฎาคม ซึ่งเป็น วันภาษาไทยแห่งชาติ

ราชบัณฑิตหวั่นกระแสเกาหลีโถมเด็กไทยไม่สนใจภาษาบ้านเกิด
ด้านนางกาญจนา นาคสกุล ราชบัณฑิต และนายกสมาคมครูภาษาไทยแห่งประเทศไทย กล่าวเนื่องในโอกาสใกล้ วันภาษาไทยแห่งชาติ 2553 ว่า ปัจจุบันปัญหาการใช้ภาษาไทยยังคงเหมือน เดิม คือไม่ได้รับการแก้ไข ทั้งยังน่าเป็นห่วงมากขึ้นด้วย เนื่องจากกระแสเกาหลีฟีเวอร์ที่ถาโถมเข้ามาในสังคมไทย ไม่ว่าจะเป็น เพลงเกาหลี ละคร-ภาพยนตร์เกาหลี อาหารเกาหลี และแฟชั่นเกาหลี ทำให้มีกลุ่มเด็กและเยาวชนหันไปสนใจเรียนภาษาเกาหลีกันมากขึ้น ในขณะที่แทบไม่มีใครสนใจเรียนเสริมภาษาไทยเลย ทั้งที่ยังใช้กันไม่ถูกต้อง

รมต.วัฒนธรรมเผยเด็กแห่ใช้ดซเชียลเน็ตเวิร์ก ทำภาษาไทยผิดเพี้ยน
นายพินิฏฐ์ อินทรสมบัติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นวันภาษาไทยแห่งชาติ 29 กรกฎาคม จากกลุ่มตัวอย่าง 6,592 คน ว่า ร้อยละ 55.35 ทราบว่าวันภาษาไทยแห่งชาติตรงกับวันที่ 29 กรกฎาคม ร้อยละ 28.08 ไม่ทราบและ ร้อยละ 16.57 ไม่แน่ใจ

ด้านที่มาของวันภาษาไทยแห่งชาติ ร้อยละ 41.25 ทราบว่าวันภาษาไทยแห่งชาติเป็นการเฉลิมพระเกียรติฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ผู้ทรงเป็นนักปราชญ์และนักภาษาไทยและน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณที่ได้ทรง ห่วงใยและพระราชทานแนวคิดเกี่ยวกับการใช้ภาษาไทย ในการประชุมทางวิชาการของชุมนุมภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2505  ร้อยละ 35.63  ไม่ทราบ และ ร้อยละ 23.12 ไม่แน่ใจ

ด้านผู้ที่ควรเป็นแบบอย่างที่ดีและถูกต้องในการใช้ภาษาไทย ร้อยละ 77.70 คิดว่าควรเป็นครูอาจารย์ ร้อยละ  60.89  พ่อแม่/ผู้ปกครอง, ร้อยละ  52.99  ผู้ประกาศข่าว, ร้อยละ  37.23  พิธีกรรายการโทรทัศน์, ร้อยละ  31.37  ดารา/นักแสดง, ร้อยละ  27.64  ผู้ดำเนินรายการวิทยุ/ดีเจ, ร้อยละ  25.02  นักร้อง และ ร้อยละ  22.12  คือนักการเมือง

ในประเด็นอื่น ๆ พบว่า ร้อยละ 60.30 ไม่เห็นด้วยกับการพูดภาษาไทยปนภาษาอังกฤษ หรือพูดมีสำเนียงฝรั่งเป็นการแสดงถึงการมีความรู้หรือความทันสมัย, ร้อยละ 34.50 ไม่เห็นด้วยกับประเด็น “ไม่จำเป็นต้องเขียนภาษาไทยในการสื่อสารผ่านมือถือ/อินเตอร์เน็ตให้ถูกต้อง เพราะทำให้เสียเวลา แค่สื่อสารกันรู้เรื่องก็พอแล้ว” และ , ร้อยละ 38.70 ไม่เห็นด้วยกับประเด็น “การพูดภาษาไทยไม่ชัด เช่น คำควบกล้ำ เสียงวรรณยุกต์ ถือเป็นเรื่องปกติ” , ร้อยละ 36.20 ไม่เห็นด้วยกับประเด็น "การใช้ภาษาไทยให้ถูกต้อง ควรใช้ในเรื่องที่เป็นทางการเท่านั้น

นอกจากนี้นายพินิฏฐ์ยังกล่าวอีกว่าเด็กในยุคปัจจุบันเขียนภาษาไทยผ่านเฟสบุ๊ค ทวิตเตอร์ โทรศัพท์ และเลิกเขียนจดหมายถึงกันแล้ว ทำให้คำบางคำผิดเพี้ยน จึงอยากรณรงค์ให้เด็กหันมาเขียนจดหมายเป็นภาษาไทยที่ถูกต้องกันมากขึ้น

 

ที่มา - เรียบเรียงจาก
เว็บไซต์มติชนออนไลน์
เว็บไซต์กระทรวงวัฒนธรรม

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net