Skip to main content
sharethis
 
6 ก.ย.53 คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดการสัมมนาวิชาการ เรื่อง "Exporters' Response to FTA Tariff Preferences: Evidence from Thailand" โดย ผศ.ดร.อาชนัน เกาะไพบูลย์ ผู้ทำการศึกษาวิจัยการใช้สิทธิพิเศษทางภาษีของภาคอุตสาหกรรมในประเทศไทยตามกรอบของเอฟทีเอที่ได้ทำกับประเทศต่างๆ โดยงานวิจัยชิ้นนี้ได้รับการสนับสนุนจากสถาบันวิจัยของกระทรวงพาณิชย์ ประเทศญี่ปุ่น
อาชนัน กล่าวว่า ในช่วงรัฐบาลทักษิณ ไทยมีการเซ็นข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) กับประเทศต่างๆ ถึง15 ประเทศ แต่มีเพียง 4 คู่สัญญาเท่านั้น (อาเซียน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น) ที่มีการปรับลดภาษีในสินค้าอุตสาหกรรมมากกว่า 80% ของรายการสินค้าอุตสาหกรรมทั้งหมด นอกนั้นเป็นการเริ่มต้นลดกำแพงภาษีไม่กี่รายการสินค้า
ที่ผ่านมาเขาได้ออกแบบสูตรการคำนวณเพื่อศึกษาว่า อุตสาหกรรมในประเทศไทยใช้สิทธิพิเศษทางภาษีจากกรอบของเอฟทีเอนี้มากน้อยแค่ไหน และมีปัจจัยอะไรที่ทำให้บางส่วนใช้ บางส่วนไม่ใช้
จากการสำรวจพบว่าการลดภาษีส่วนใหญ่อยู่ที่ไม่เกิน 10% ซึ่งถือว่าไม่สูงมากนักเมื่อเทียบกับการปรับลดภาษีปกติตามกรอบขององค์การการค้าโลก (WTO) นอกจากนี้ยังพบว่า ผู้ส่งออกที่ขอใช้สิทธิลดภาษีตามกรอบเอฟทีเอ ส่วนใหญ่จะกระจุกตัวอยู่ในอตุสหากรรมใหญ่อย่างรถยนต์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เท่านั้นไม่ได้ใช้กันอย่างกว้างขวางแต่อย่างใด เพราะการขอใช้สิทธิก็มีต้นทุนที่ต้องคำนวณ เช่น การกรอกแบบฟอร์มขอใช้สิทธิ การรับรองแหล่งกำเนิดสินค้า ซึ่งจากการสำรวจพบว่าต้นทุนการใช้สิทธิพิเศษด้านภาษีกับประเทศออสเตรเลียนั้นมีประมาณ 2% ขณะที่การใช้สิทธิกับประเทศกำลังพัฒนาอย่างมาเลเซียมีต้นทุนสูงถึง 5% อินโดนีเซีย 10% ซึ่งเป็นต้นทุนทั้งในส่วนที่เกิดจากในประเทศไทยเองและประเทศคู่ค้าด้วย ดังนั้น สินค้าไหนที่มีสิทธิพิเศษทางภาษีลดลงไม่ถึง 5% ผู้ประกอบการก็จะไม่มีแรงจูงใจที่จะใช้สิทธินั้น
ทั้งนี้ อุตสาหกรรมส่วนใหญ่ที่มีการใช้สิทธิตามกรอบเอฟทีเอมักจะเป็นกรณีที่เป็นคู่ค้ากันอยู่แล้ว ดังนั้น เอฟทีเอจึงเป็นเพียงสิ่งช่วยอำนวยความสะดวกแต่ไม่ค่อยมีผลนักในการเปิดการค้าใหม่
อาชนัน กล่าวถึงนัยยะเชิงนโยบายว่า จากการศึกษานี้ทำให้เห็นว่าการเซ็นเอฟทีเอกับประเทศต่างๆ โดยเน้นปริมาณอย่างเดียวนั้นไม่มีประโยชน์ จะทำข้อตกลงกับประเทศใดต้องคำนึงด้วยว่าเคยค้าขายกันไหมและจะค้าอะไร เพราะเอฟทีเอไม่ใช่ไม้เท้าวิเศษทำให้เกิดการค้าใหม่ได้ๆ อย่างมากก็เป็นแค่ตัวอำนวยความสะดวกทางการค้า
อย่างไรก็ตาม คนที่สนับสนุนเอฟทีเออาจเห็นว่าตัวเลขการใช้สิทธิแม้จะไม่มากนักก็สามารถพัฒนาได้ ซึ่งคงต้องพยายามตัดต้นทุนการขอใช้สิทธิ เช่น การรับรองแหล่งกำเนิด เอกสารต่างๆ ซึ่งผู้ประกอบการต้องใช้ต้นทุนสูงในการชี้แจง รวมทั้งต้องเพิ่มเจ้าหน้าที่รองรับกับเรื่องนี้ไม่เช่นนั้นอาจทำให้การเจรจาเกิดความผิดพลาดได้ เช่นกรณีของเอฟทีเอไทย-ออสเตรเลีย ในเรื่องของทีวีที่ใช้สิทธิในการลดภาษีไม่ได้ เพราะมีเงื่อนไขที่ต้องผลิตในประเทศ แต่หลังจากที่เซ็นข้อตกลงไปแล้วประมาณ 1 ปี ปราฏกว่าอุตสาหกรรมในประเทศเลิกกิจการไปหมด อย่างไรก็ดี ขณะนี้รัฐกำหนดที่จะไม่เพิ่มอัตรากำลังคนแล้วด้วย โดยส่วนตัวจึงเห็นว่าควรต่อรองในเวทีใหญ่ระดับพหุภาคีของ WTO ดีกว่า เนื่องจากการเจรจาทวิภาคีขึ้นอยู่กับการต่อรอง และไทยอาจไม่มีกำลังพอที่จะต่อรองกับประเทศใหญ่กว่าหรือประเทศพัฒนาแล้ว แทนที่จะเสียงบประมาณอย่างน้อยครั้งละ 200 ล้านบาทในการเจรจาเอฟทีเอกับประเทศพัฒนาแล้ว
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net