Skip to main content
sharethis
รมช.ศธ.เผยพบเว็บไซต์ประกาศรับจ้างทำปริญญาบัตรเถื่อนกว่า 10 เว็บไซด์ ให้ สกอ.แจ้งความตำรวจปราบปราม ดำเนินการแล้ว พร้อมส่งหนังสือเวียนถึงมหาวิทยาลัยให้ตรวจสอบฐานข้อมูลนักศึกษา-บัณฑิต ของตนเอง เกรงโดนเจาะฐานข้อมูล ส่วน "ไอซีที" เล็งปิดเว็บฯ ขายวุฒิ
 
กรณีสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ได้รับการร้องเรียนการซื้อขายปริญญาบัตรผ่านเว็บไซต์ โดยนำปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยรัฐและเอกชนชื่อดังมาโฆษณาหน้าเว็บ พร้อมอวดอ้างสรรพคุณว่า ตรวจสอบจะพบรายชื่อผู้สั่งซื้อปริญญาบัตรในฐานข้อมูลของมหาวิทยาลัยนั้น 
 
เมื่อวันที่ 27 ธ.ค.53 เนชั่นทันข่าวรายงานว่า ดร.สุเมธ แย้มนุ่น เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) กล่าวว่า เบื้องต้น สกอ.ได้แจ้งความเพื่อดำเนินคดีเว็บไซต์ที่มีการโฆษณาขายใบปริญญาปลอม และได้ขอความร่วมมือสำนักงานตำรวจแห่งชาติในการตรวจสอบเรื่องดังกล่าว รวมถึงได้กำชับไปยังมหาวิทยาลัยทุกแห่งในการออกใบปริญญา และใบทรานสคริปต์ ทั้งนี้ สำหรับการตรวจสอบใบปริญญาบัตรว่าจริงหรือปลอม เบื้องต้นสามารถสังเกตได้จากลายเซ็นรับรอง ซึ่งใบปริญญาต้องมีลายเซ็น 2 หรือ 3 ที่ จากอธิการบดี สภามหาวิทยาลัย คณบดี และต้องมีตราประทับของมหาวิทยาลัย แต่หากไม่มั่นใจสามารถส่งใบปริญญากลับไปยังมหาวิทยาลัยเพื่อดำเนินการตรวจสอบ อย่างไรก็ตาม อยากให้นายจ้างตรวจสอบให้ชัดเจน
 
เนชั่นทันข่าว รายงานด้วยว่า ด้านนายไชยยศ จิรเมธากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ.) กล่าวถึง ความคืบหน้าในการจัดการเว็บไซต์ที่ขายปริญญาเถื่อนว่า ได้ให้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) แจ้งความกับกองตำรวจปราบปราม ให้สืบสวนดำเนินคดีกับเว็บไซด์ที่ประกาศรับจ้างทำปริญญาบัตรเถื่อนซึ่งมีอยู่กว่า 10 เว็บไซด์แล้ว ทั้งให้ส่งหนังสือเวียนถึงมหาวิทยาลัยให้ตรวจสอบฐานข้อมูลนักศึกษา บัณฑิต ของตนเอง ซึ่งแนวทางหนึ่งที่น่าจะช่วยได้คือ การพิมพ์รายชื่อผู้ได้รับอนุมัติปริญญาบัตรในแต่ละปีออกมาเป็นเอกสาร เพื่อเก็บไว้เปรียบเทียบตรวจสอบและยืนยันภายหลังหากโดนเจาะฐานข้อมูล 
 
นอกจากนี้นายไชยยศได้แสดงความเห็นว่า เราควรใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เพิ่มเติมเข้าในการจัดพิมพ์ปริญญาบัตร เช่น ใช้ระบบรักษาความปลอดภัยเหมือนกับระบบการจัดพิมพ์ข้อสอบของสถาบันทดสอบทางการศึกษา เพิ่มลายน้ำในปริญญาบัตรเหมือนการพิมพ์ธนบัตร หรือติดสติกเกอร์ หรือ เพิ่มแถบบาร์โค้ด ในปริญญาบัตร เป็นต้น ซึ่งเพิ่มต้นทุนการผลิตไม่มากเท่าไร 
 
“กรณีการผลิตบัณฑิตของมหาวิทยาลัยจำนวนมากๆ ในลักษณะจ่ายครบจบแน่ เรื่องนี้เป็นเรื่องน่าเป็นห่วงมากกว่าปริญญาเถื่อนทางเว็บไซต์เสียอีก เพราะเป็นสิ่งที่มหาวิทยาลัยทำเสียเอง ในการผลิตบัณฑิตมากเกินความต้องการของประเทศ โดยเฉพาะสายสังคมศาสตร์ หรือการที่มหาวิทยาลัยกำหนดหลักสูตรปริญญาโทจบได้ภายใน 1 ปี รวมทั้งการกำหนดหลักสูตรให้สามารถเทียบโอนประสบการณ์จำนวนมากๆ ได้ แต่เรียนในห้องเรียนน้อยซึ่งน่าเป็นห่วงเรื่องคุณภาพ ดังนั้น ผมคิดว่าควรมีการกำหนดเกณฑ์การจบการศึกษาในทุกหลักสูตร ไม่ว่าจะเป็นหลักสูตรปกติ หรือหลักสูตรพิเศษ โดยใช้การสอบเพื่อจบการศึกษา เช่น ต้องมีคะแนนโทเฟลก่อนจบเท่าไร เป็นต้น อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ผมขอเข้าประชุมกับที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) เพื่อขอการสนับสนุนให้ดูแลคุณภาพการผลิตบัณฑิตแล้ว หลังจากนี้จะขอเข้าร่วมประชุมกับที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฎ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) และ มหาวิทยาลัยเอกชนต่อไป” รมช.ศธ. กล่าว 
 
ม.รัฐเฝ้าระวังขายปริญญาปลอมผ่านเว็บฯ
เนชั่นทันข่าว รศ.ดร.วุฒิชัย กปิลกาญจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) กล่าวว่า มก.เฝ้าระวังเรื่องแอบอ้างขายปริญญาบัตรที่โฆษณาหลอกลวงผ่านเว็บไซต์ มาเป็นเวลา 1 เดือนแล้วเมื่อได้ข้อมูลชัดเจนจึงได้ให้สำนักกฎหมาย มก.ประสานให้กระทรวงไอซีทีจัดการ ทั้งนี้ ยืนยันได้ว่าเป็นการแอบอ้างโดยที่คนใน มก.ไม่เกี่ยวข้อง แต่มก.คงไปห้ามหรือป้องกันได้ยากเพราะระหว่างคนที่จ้องทำผิดกับคนเฝ้าระวังไม่ว่าจะทำอย่างไรก็คงป้องกันได้ยาก อีกทั้งปริญญาของมก.ก็เป็นใบปริญญาธรรมดา ดังนั้น ถ้าหน่วยงานใดสงสัย ก็สามารถประสานขอให้มก.ตรวจสอบได้ ซึ่งสามารถตรวจสอบได้ง่ายและใช้เวลาไม่นาน ที่ผ่านมามีหน่วยงานราชการขอให้ตรวจสอบปริญญาอยู่บ้าง และยังไม่เคยเจอปริญญาปลอม
 
ศ.นพ. ภิรมย์ กมลรัตนกุล อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ในส่วนของจุฬาฯ ยังไม่เคยถูกนำไปโฆษณาชวนเชื่อทางเว็บไซต์และยังไม่เคยเจอปริญญาปลอม โดยที่ผ่านมามีหน่วยงานต่างๆ ขอให้จุฬาฯ ช่วยตรวจสอบปริญญาอยู่บ้าง ซึ่งยังไม่เคยเจอปริญญาปลอม ทุกใบเป็นของจริง เชื่อว่าเพราะจุฬาฯวางระบบป้องกันดีโดยปริญญาของจุฬาฯ พัฒนาโดยสำนักทะเบียนที่ไม่สามารถปลอมได้ง่ายๆ อีกทั้งยังสามารถตรวจสอบได้เร็วด้วยว่าเป็นปริญญาของจุฬาฯจริงหรือไม่
 
"ไอซีที" เล็งปิดเว็บโฆษณาขายวุฒิการศึกษา 
มติชนออนไลน์  นางมัทนา สานติวัตร อธิการบดีมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ซึ่งเป็น 1 ใน 3 มหาวิทยาลัยที่ถูกเว็บไซต์แอบอ้างโฆษณาชวนเชื่อโดยลงภาพปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัย นอกเหนือจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม ว่า ระบบการป้องกันฐานข้อมูลของมหาวิทยาลัยกรุงเทพทำไว้อย่างรัดกุม การพิมพ์ปริญญาบัตรก็แยกโรงพิมพ์ และแบ่งส่วนความรับผิดชอบให้เจ้าหน้าที่แต่ละคนดูแลชัดเจน ส่วนเรื่องเจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยสอดไส้รายชื่อนักศึกษาหรือบัณฑิตลงไปในฐานข้อมูลหรือปัญหาเกลือเป็นหนอน ไม่มีอย่างแน่นอน นอกจากนี้ ปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยกรุงเทพก็ออกแบบพิเศษ มีจุดสังเกตที่ตรวจสอบได้เหมือนธนบัตร ที่ผ่านมาพบว่ามีของปลอมแต่น้อยมาก
 
นางจิราวรรณ บุญเพิ่ม ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) กล่าวว่า กระทรวงไอซีทีได้รับหนังสือร้องเรียนเรื่องดังกล่าวจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) เมื่อช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา และขณะนี้อยู่ระหว่างเร่งประสานขอรายละเอียดเพิ่มเติม เช่น ชื่อเว็บ วันที่พบ เป็นต้น เพื่อนำข้อมูลหลักฐานทั้งหมดให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อพิจารณาว่าจะสามารถส่งฟ้องร้องต่อได้หรือไม่ หากพบว่ามีหลักฐานเพียงพอ ทางกระทรวงก็จะยื่นฟ้องร้องเพื่อปิดกั้นเว็บไซต์ดังกล่าว รวมทั้งเว็บไซต์ที่โฆษณาขายวุฒิการศึกษาถือว่าเข้าข่ายความผิดฐานหลอกลวงด้วย
 
"นายกเล็กโคกกลอย" ข้องใจเปิด "ป.เอก" แต่ไม่ต้องเรียน
ทางด้านนายพิชิต จินดาพล นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) โคกกลอย อ.ตะกั่วทุ่ง จ.พังงา ในฐานะนักศึกษาปริญญาโทรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ ศูนย์การศึกษาจังหวัดภูเก็ต รุ่น 1 เปิดเผยว่า ขณะนี้มีมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในภาคกลางมาตั้งศูนย์การศึกษาอยู่ในพื้นที่ภาคใต้ และมีการโฆษณารับนักศึกษาระดับปริญญาเอก ใช้เวลาเรียน 2 ปี แต่ความเป็นจริงไม่มีการเรียน เพียงแต่ลงทะเบียนและจ่ายเงิน 600,000 บาท รอให้ใกล้เวลา 2 ปี ค่อยไปสอบปากเปล่ากับอาจารย์เพียง 4 คน และก่อนไปสอบจะมีนักการศึกษามาช่วยสอนให้พูดด้วย 
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net