Skip to main content
sharethis

กลุ่มพลังแผ่นดินบุรีรัมย์ กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จ.บุรีรัมย์ กลุ่มคนรักแผ่นดินบุรีรัมย์ และ กลุ่มประชาชนไทยหัวใจรักชาติ ร่วม 100 คนออกมาเคลื่อนไหวกดดันกัมพูชาปล่อยตัว 7 คนไทย ที่ จ.บุรีรัมย์ “ไชยวัฒน์” ยื่นหนังสือยูเอ็น

ที่มาภาพ: ASTV ผู้จัดการออนไลน์

10 มี.ค. 54 - เมื่อเวลา 10.30 น.ที่สวนรมย์บุรี เทศบาลเมืองบุรีรัมย์ ตัวแทนเครือข่ายองค์กรภาคประชาชน ประกอบด้วย กลุ่มพลังแผ่นดินบุรีรัมย์ กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจ.บุรีรัมย์ กลุ่มคนรักแผ่นดินบุรีรัมย์ และ กลุ่มประชาชนไทยหัวใจรักชาติ จากหลายอำเภอ ใน จ.บุรีรัมย์ ประมาณ 100 คน นำโดย นางสำเนียง สุภัณภพ แกนนำกลุ่มคนรักแผ่นดินบุรีรัมย์ ได้รวมตัวกันออกมาเรียกร้องให้คนบุรีรัมย์ และคนไทยออกมาร่วมกันปกป้องผืนแผ่นดินที่ถูกกัมพูชาเข้ามารุกล้ำ พร้อมเรียกร้องให้ทางการกัมพูชา รีบปล่อยตัวคนไทย 7 คน โดยไม่มีข้อแม้ และให้รัฐบาลไทยรีบดำเนินการช่วยเหลือโดยด่วน
      
จากนั้น ได้พากันออกเดินรณรงค์ พร้อมแจกแผ่นปลิวเชิญชวนประชาชนคนไทยหัวใจรักชาติ ชาวบุรีรัมย์ ไปตามถนนสายต่างๆ ในเขตเทศบาลเมืองบุรีรัมย์ โดยเฉพาะร้านค้า บ้านเรือน และสถานที่ราชการ ซึ่งได้รับความสนใจจากประชาชนชาวบุรีรัมย์ เป็นอย่างมาก
      
ข้อความในแผ่นปลิวดังกล่าวมีเนื้อหา ระบุว่า บัดนี้เป็นที่ ปรากฏชัดเจนแล้วว่า นายพนิช วิกิตเศรษฐ์ ส.ส.กรุงเทพฯ พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) , นายวีระ สมความคิด เครือข่ายประชาชนไทยหัวใจรักชาติ พร้อมพวกอีก 5 คน รวม 7 คน ถูกทหารกัมพูชาจับกุมในราชอาณาจักรไทย แล้วนำเข้าไปในราชอาณาจักรกัมพูชา ตั้งข้อกล่าวหาอันเป็นเท็จ
      
รัฐบาลนายกอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้พูดเท็จต่อประชาชนตลอดเวลาว่า ประเทศไทยไม่เสียดินแดนให้กับกัมพูชา แม้แต่ตารางนิ้วเดียว ทั้งที่ผลจากการทำสัญญาหรือสนธิสัญญา นับตั้งแต่ได้มีบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาล แห่งราชอาณาจักรกัมพูชา ว่าด้วยการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบก( MOU) ปี 2543 และข้อกำหนดอำนาจหน้าที่และแผนแม่บทสำหรับการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบก ระหว่างราชอาณาจักรไทย กับราชอาณาจักรกัมพูชา (TOR) ปี 2546
      
จึงก่อให้เกิดกรอบการเจรจาสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบกไทย-กัมพูชา และบันทึกการประชุม ของคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา (JBC) และบันทึกการประชุมของคณะกรรมการชายแดนทั่วไป (GBC) อันเป็นสัญญาหรือสนธิสัญญาระหว่างประเทศ ผูกพันราชอาณาจักรไทย จำนวนหลายฉบับ ทั้งที่ได้ผ่านมติของที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาแล้ว และอยู่ระหว่างรอการพิจารณาอีกหลายฉบับ
      
ผลของสัญญาหรือสนธิสัญญาดังกล่าว ทำให้ราชอาณาจักรไทยต้องสูญเสียอำนาจอธิปไตยดินแดนและผลประโยชน์จำนวนมาก มายมหาศาลอันประมาณค่ามิได้
      
รัฐบาลนายกอภิสิทธิ์ ไม่สามารถบริหารราชการแผ่นดินให้บรรลุเป้าหมายเพื่อผลประโยชน์ของชาติได้ก่อ ให้เกิดความเสียหายมากมายทั้งทางด้านการเมือง การปกครอง เศรษฐกิจ สังคม รวมทั้งความรักสามัคคีของคนในชาติ มีการทุจริตอย่างมากมาย
      
รัฐบาลนายกอภิสิทธิ์ หมดความชอบธรรมที่บริหารประเทศอีกต่อไป ด้วยเหตุผลดังกล่าวนี้ จึงขอเชิญชวนพี่น้องคนไทยทุกหมู่เหล่า เข้าร่วมกันเป็น พลังแผ่นดิน เพื่ออภิวัฒน์ประเทศไทย “รัฐบาลอภิสิทธิ์ต้องออกไป”
      
นางสำเนียง สุภัณภพ แกนนำกลุ่มคนรักแผ่นดินบุรีรัมย์ กล่าวว่า กรณี 7 คนไทยที่ถูกกัมพูชาจับกุมไป เขาทำเพื่อเราคนไทยในการปกป้องผืนแผ่นดิน จึงขอเรียกร้องให้พี่น้องประชาชนชาวบุรีรัมย์ และคนไทย ออกมาเรียกร้องความยุติธรรมให้กับพวกเขา ซึ่งหากรัฐบาลไม่สามารถดำเนินการช่วยเหลือ และแก้ไขปัญหาในเรื่องเขตแดนนี้ได้ รัฐบาลนายกรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็ควรจะออกไป
      
“หากทางรัฐบาลไทยไม่มีความคืบหน้าในการดำเนินการเกี่ยวกับ เรื่องนี้อย่างเร่งด่วน พี่น้องชาวบุรีรัมย์พร้อมที่จะร่วมกับประชาชนทั่วประเทศ รวมทั้งกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และประชาชนผู้รักชาติหวงแผ่นดินเกิด ในการชุมนุมใหญ่ที่กรุงเทพฯ ในวันที่ 25 ม.ค.นี้” นางสำเนียง กล่าว

“ไชยวัฒน์” ยื่นหนังสือยูเอ็นให้ช่วย 7 คนไทย

เมื่อเวลา 13.00 น. นายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ แกนนำเครือข่ายประชาชนไทยหัวใจรักชาติ พร้อมด้วยผู้ชุมนุมเดินทางไปยังสำนักงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย เพื่อยื่นหนังสือถึงเลขาธิการสหประชาชาติ ขอให้ช่วยเหลือ 7 คนไทยที่ถูกกัมพูชาจับกุม

นายไชยวัฒน์ กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวเป็นความรับผิดชอบของสหประชาชาติ เพราะพื้นที่ที่ถูกจับกุม สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ หรือยูเอ็นเอชซีอาร์ ได้มาขอใช้พื้นที่ไทยเป็นที่รองรับผู้อพยพชาวกัมพูชาเมื่อปี 2518 แต่ต่อมา ได้มีชาวกัมพูชาเข้าพักอาศัย และใช้พื้นที่ หลังจากยูเอ็นเอชซีอาร์ ถอนกองกำลังออกแล้ว ดังนั้น การที่กัมพูชาจับกุม 7 คนไทย จึงถือเป็นการกระทำผิดตามสนธิสัญญาเจนีวาฉบับที่ 4 ศาลกัมพูชาไม่มีสิทธิตัดสินคนไทย แต่ต้องส่งตัวผู้ถูกกล่าวหาให้องค์กรสากลเป็นผู้พิจารณา ดังนั้น จึงขอให้ยูเอ็นช่วยเหลือ 7 คนไทย อย่างไรก็ตาม คาดว่าหนังสือจะส่งถึงนายบัน คี- มูน เลขาธิการสหประชาชาติ วันพรุ่งนี้ (11 ม.ค.) และจะให้ทางเครือข่ายฯ ที่อยู่ต่างประเทศ ติดตามเรื่องต่อไป

“ปานเทพ” ยันค่ายอพยพเป็นที่ดินไทย กังขาหลักเขตถูกย้าย

14.00 น. ที่บ้านพระอาทิตย์ นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย พร้อมด้วยนายเทพมนตรี ลิมปพยอม นักวิชาการอิสระด้านประวัติศาสตร์ ได้แถลงข่าวชี้แจงเพิ่มเติมเกี่ยวกับข้อมูลของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัย แห่งสหประชาชาติ หรือ UNHCR ซึ่งได้นำมาแสดงในระหว่างการแถลงข่าวของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เมื่อวานนี้ (9 ม.ค.)
      
นายปานเทพกล่าวอธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับแผนที่จากเว็บไซต์ฟิฟทีนมูฟ (www.15thmove.net) ซึ่งจะพบว่ามีบ่อน้ำที่ UNHCR ได้ขุดเอาไว้ ซึ่งตามรายงานเมื่อวันที่ 5 มกราคมที่ผ่านมา นายธิติพัฒน์ เสมาทอง นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) บ้านใหม่หนองไทร อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว ได้รายงานว่า พื้นที่บริเวณบ่อน้ำนี้ มีแม่ยายของตนเป็นเจ้าของที่ดิน เพราะฉะนั้นทำให้เราเชื่อว่าหลักเขตมีโอกาสเคลื่อนย้าย จึงนำหลักฐานเพิ่มเติมเกี่ยวกับการเคลื่อนย้ายหลักเขต และเชื่อว่า 7 คนไทยจะไม่ได้อยู่ในฝั่งกัมพูชาอย่างที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีกล่าวอ้าง
      
ทั้งนี้ เมื่อนำแผนที่ L7018 มาตราส่วน 1 ต่อ 50,000 ซึ่งจุดที่คณะของนายวีระ สมความคิด 1 ใน 7 คนไทยที่ถูกจับกุม อยู่ระหว่างหลักเขตที่ 46 และ 47 โดยก่อนหน้านี้รัฐบาลออกมาระบุโดยหยิบยกเส้นเขตแดนตามพิกัดที่ตำรวจตระเวน ชายแดน (ตชด.) รายงานเมื่อปี 2553 ว่าได้รุกล้ำดินแดนกัมพูชาไปประมาณ 55 เมตร แต่เมื่อเทียบกับพิกัดของกองกำลังบูรพาที่อ้างถึงเมื่อปี 2549 พบว่าเส้นเขตแดนกัมพูชาอยู่ลึกเข้าไปอีก
      
เมื่อเทียบกับระยะห่างที่ถูกร่นเข้าไปจะพบว่าห่างกันประมาณ 500 เมตร แสดงว่าถ้าร่นมาจากเส้นเขตแดนของทาง ตชด.รายงาน ก็ยังอยู่ในเขตแดนที่ทางกองกำลังบูรพาได้รายงานเมื่อปี 2549 อยู่ดี ส่วนที่มีความเข้าใจคลาดเคลื่อนเมื่อวานนี้เกี่ยวกับเรื่องนี้ ตนเพียงแค่ต้องการอธิบายรูปแบบของการวางไซต์ที่เรียกว่า “ไซต์ทู” ซึ่งไม่ใช่ที่หนองจาน เพื่อที่จะได้เห็นว่ามีความคล้ายคลึงกันกับกรณีที่วางบ่อน้ำคล้ายๆ กัน เพื่อให้เห็นว่ากินพื้นที่ดินแดนไทย
      
นายเทพมนตรีกล่าวว่า ในแผนที่ L7018 ได้พบจุดสี่เหลี่ยมสีฟ้า ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเป็นบ่อน้ำ แล้วก็มีการรายงานว่าเป็น “บ้านเขมรอพยพ” กับ “ช่องบ้านหนองจาน” ก็แสดงให้เห็นว่าเขารายงานว่าพื้นที่ตรงนี้ยังเป็นของไทยอยู่ สอดคล้องกับสภาพที่มีการอพยพกันขึ้น ส่วนหลักเขตที่มีการเคลื่อนย้ายไป อยากจะให้รัฐบาลไปสอบสวนว่าตกลงใครเป็นคนเคลื่อนย้าย ตั้งแต่สมัยไหน อย่างไรบ้าง เพราะจะทำให้คนไทยจะเข้าไปในดินแดนดังกล่าวลำบาก เกรงว่าทหารกัมพูชาจะรวบตัวไป เพราะหลักเขตมีการย้ายไปย้ายมา ไม่มีความชัดเจน เป็นเรื่องลำบากสำหรับชาวบ้านที่อยู่ตามชายแดน จึงต้องทำให้รู้โดยเร็ว
      
สำหรับกรณีทางการกัมพูชาการจับกุมตัว 7 คนไทย และได้มีการนำตัวขึ้นพิจารณาต่อศาลกัมพูชา นายปานเทพเห็นว่า ต้องอาศัยข้อตกลงที่ไทยมีการตกลงกันแล้วในการตอกย้ำกับฝั่งกัมพูชามากขึ้น ไม่เช่นนั้นแล้วรัฐบาลก็ต้องใช้มาตรการที่เข้มข้นขึ้นในการกดดัน ไม่ว่าจะเป็นตำรวจตระเวนชายแดน การค้าชายแดน การค้าของผิดกฎหมายตามแนวชายแดน รวมทั้งการอำนวยความสะดวกในการใช้สาธารณูปโภคของไทย ไม่ว่าจะเป็นไฟฟ้า การช่วยเหลือในเรื่องของการค้าที่มีต่อกัน
      
เมื่อถามว่า มาตรการกดดันจะทำให้สถานการณ์ตามแนวชายแดนตึงเครียด นายปานเทพกล่าวว่า ความตึงเครียดสามารถจำกัดขอบเขตได้ว่าเราจำกัดอยู่ที่เรื่องอะไร และกับใคร ในทุกประเทศ ประเทศที่มีแสนยานุภาพทางการทหารสูงกว่า จะมีอำนาจต่อรองโดยที่ไม่ต้องมีการปะทะ ถ้าใช้อำนาจการต่อรองนั้นเป็น แต่ว่าประเทศไทยนั้นไม่เคยใช้อำนาจต่อรองในวิธีการดังกล่าว แต่กลับไปยอมรับสภาพการขึ้นกระบวนการยุติธรรมในชั้นศาลของทางฝั่งกัมพูชา ซึ่งขัดแย้งกับสิ่งที่นายกฯ พูดเมื่อวันที่ 30 ธ.ค.53 ที่ผ่านมาว่าไม่มีการขึ้นศาลกัมพูชา บัดนี้เขาขึ้นไปแล้วและจะพิพากษา นายกฯ ต้องแสดงท่าทีที่แข็งกร้าวขึ้นมากกว่าเดิม
      
นายเทพมนตรีกล่าวว่า ความจริงเราอาศัยเรื่องอำนาจการต่อรองได้ โดยเฉพาะถ้าหากเรามีการปิดชายแดนที่สำคัญ โดยเฉพาะชายแดนที่มีบ่อนการพนัน แล้วก็มีคนพูดแบบติดตลกว่าควรจะให้นายบ่อนไปเจรจากับฮุนเซน ให้ปล่อยตัวคนไทย 7 คน เพราะมีอิทธิพลมากในเชิงธุรกิจ ถ้าจะใช้วิธีการแก้ไขโดยไม่ต้องเกิดการปะทะกัน หรือการใช้อาวุธ
      
นอกจากนี้ ขอเรียกร้องให้นายกฯ ทำตามที่เคยพูดในช่วงที่เป็นผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช ในวันที่ 24 มิ.ย.2551 กล่าวว่า ข้อสงวนสิทธิ์บนปราสาทพระวิหารที่สหประชาชาติเรายังถืออยู่ และทุกรัฐบาลก็ยังคงถืออยู่ เพราะฉะนั้นในอนาคตถ้าหากเรามีหลักฐานใหม่ น่าจะเรียกปราสาทพระวิหารคืน เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่จะใช้แก้เกมกับกัมพูชาได้โดยไม่ต้องมีการปะทะ หรือที่คนเป็นห่วงว่าอาจเกิดการบาดเจ็บล้มตายของทหารที่ชายแดน
      
“ฉะนั้น จุดนี้จะเป็นจุดอีกอันหนึ่งที่ถ้าเกิดนายกฯ ทำในนามรัฐบาลไปถึงสหประชาชาติว่า เราขอใช้ข้อสงวนที่เราเคยสงวนสิทธิ์เอาไว้ตั้งแต่ปี 2505 ว่าเราไม่ยอมรับคำพิพากษาของศาลโลก ในคดีปราสาทพระวิหาร รวมทั้งรัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ก็จะได้แสดงข้อสงวนเอาไว้ ถ้านายกฯ ทำอย่างนั้นผมเชื่อว่าองค์การยูเนสโกต้องฟัง เพราะเราเคยทำข้อสงวนสิทธิเอาไว้ที่สหประชาชาติ” นายเทพมนตรีกล่าว
      
นายเทพมนตรีกล่าวต่อว่า สหประชาชาตินั้นเป็นองค์กรที่ควบคุมยูเนสโก เมื่อทำเช่นนี้ก็จะทำให้ฝ่ายกัมพูชาอ่อนท่าทีลง ตนจึงเห็นว่าเราควรที่จะลองใช้ข้อสงวนนั้นดูว่าในท้ายที่สุดข้อสงวนที่เคยทำ เอาไว้เมื่อปี 2505 จะสามารถยังคงสภาพอยู่หรือไม่ในสายตานานาชาติ ดีกว่าปล่อยให้สถานการณ์นี้เป็นไปจนถึงเดือนมิถุนายน 2554 โดยที่ตอนนั้นเราอาจจะต้องไปยอมรับสภาพเป็น 1 ใน 7 ชาติ ซึ่งเป็นความต้องการของยูเนสโก ซึ่งตัวทะเบียนมรดกโลก ปราสาทพระวิหารก็คือกัมพูชาแต่ฝ่ายเดียว แล้วเราก็ต้องสูญเสียพื้นที่ตรงนั้นไป
      
ทั้งนี้ กัมพูชาอาจอ้างสิทธิได้ว่า แผนที่ 1 ต่อ 200,000 ที่อยู่ใน MOU2543 นั้นใช้ตรงระวางดงรักได้ผล เพราะแผนบริหารจัดการเป็นไปตามนั้น ซึ่งจะขัดแย้งกับสิ่งที่นายกฯ พูดว่า รัฐบาลไทยนั้นไม่ยอมรับระวางดงรัก ซึ่งเป็นหนึ่งในแผนที่ 1 ต่อ 200,000 ใน 11 ระวาง หรือปัจจุบันเราใช้กับกัมพูชาเพียงแค่ 6 ระวางครึ่ง ซึ่งถ้าหากอยากจะได้ 7 คนไทยคืนก็ต้องมีมาตรการจากเบาไปหาหนัก โดยการเริ่มปิดชายแดนก่อน เพื่อจะได้กดดันกัมพูชา และตนเชื่อว่าเขาต้องปล่อยตัว เพราะเราจะสามารถยืนยันในหลักฐาน ในเอกสารที่ฝ่ายเราได้นำเสนอไป
      
นอกจากนี้ นายเทพมนตรียังกล่าวว่า วันที่ 12 ม.ค.นี้ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี จะนำสื่อมวลชนขึ้นไป แต่ก่อนนั้นนายกฯ กล่าวว่าฝั่งกัมพูชาได้ถอนกำลังทหารไปแล้ว แต่ตนได้รับรายงานในเบื้องต้นว่า ตอนนี้กัมพูชาก็มีอาวุธหนักอยู่ด้านบนปราสาทพระวิหาร ที่นายกฯ กล่าวว่าเพราะ MOU2543 ทำให้ชุมชนชาวกัมพูชารวมทั้งตลาดอพยพจากบริเวณปราสาทพระวิหาร ความจริงแล้วไม่ใช่ เพราะเป็นเรื่องของแผนบริหารจัดการที่กัมพูชาบริหารอย่างต่อเนื่อง
      
ขณะนี้พิพิธภัณฑ์บริเวณบ้านโกมุย ได้ถูกสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว และย้ายชุมชนปราสาทพระวิหารไปอยู่ในชุมชนที่เป็นคอมเพล็กซ์ของเขา และบริเวณที่เรียกว่าวัดแก้วสิขาคีรีสวาระ ต่อไปจะเป็นศูนย์บริหารจัดการของนักท่องเที่ยว เพราะฉะนั้น สิ่งที่นายกฯ บอกว่า MOU2543 สามารถทำงานได้แล้วทำให้ชาวกัมพูชาออกจากปราสาทพระวิหารนั้นไม่เป็นความจริง เป็นขั้นตอนดำเนินงานของกัมพูชาตามแผนบริหารจัดการ เพื่อจะได้ชี้แจงต่อคณะกรรมการมรดกโลกว่า บริเวณนี้สงบแล้ว ได้ย้ายสิ่งแวดล้อมที่เป็นพิษออกจากมรดกโลก และจะเสนอแผนบริหารจัดการอย่างสมบูรณ์แบบ
      
อย่างไรก็ตาม นายเทพมนตรีเชื่อว่า นายสก อาน รัฐมนตรีต่างประเทศกัมพูชา จะเดินทางมาที่กรุงเทพฯ ในเดือนกุมภาพันธ์นี้ตามที่รัฐบาลพยายามบอก เพื่อเข้าพบนายสุวิทย์ คุณกิตติ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จะเป็นเรื่องอะไรคงต้องติดตาม แต่ตนไม่เห็นด้วยในการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารร่วมกัน เพราะจะทำให้เราถอนข้อสงวนสิทธิบนปราสาทพระวิหารเมื่อปี 2505 ออกไปแล้ว
      
ทั้งนี้ การขึ้นทะเบียนในนามของกัมพูชาก็ผิดตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ กรณีนายนพดล ปัทมะ รมว.ต่างประเทศลงนามแถลงการณ์ร่วม (Joint Communique) และแม้จะขึ้นทะเบียนเฉพาะตัวปราสาทก็ถือว่ารุกล้ำดินแดนของไทย ตรงจุดนี้เราอาจจะเป็นข้อต่อสู้ในการประชุมมรดกโลกประเทศบาห์เรนได้ ซึ่งข้อสวนสิทธินี้ตั้งขึ้นที่สหประชาชาติ ซึ่งเป็นองค์กรที่ใหญ่กว่ายูเนสโก
      
ขณะเดียวกัน นักวิชาการได้แนะนำต่อรัฐบาล เสนอว่าควรที่จะทำเอกสารเป็น 5 ภาษาตามหลักของสหประชาชาติในนามรัฐบาล ชี้แจงความผิดพลาดในการขึ้นทะเบียนมรดกโลกแล้วขอใช้ข้อสงวน เพราะเห็นแผนบริหารจัดการของกัมพูชาได้ใช้สันปันน้ำ และทำสันปันน้ำตามที่ไทยเคยต่อสู้ในศาลโลกว่าปันปราสาทพระวิหารมาอยู่ฝั่งไทย

ที่มาข่าวเรียบเรียงจาก: สำนักข่าวแห่งชาติ กรมประชาสัมพันธ์, สำนักข่าวไทย, ASTV ผู้จัดการออนไลน์

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net