Skip to main content
sharethis

เวทีแรงงานนอกระบบวิพากษ์ "ประชาวิวัฒน์" คนงานชี้ยังไม่ครอบคลุมทุกกลุ่ม เอ็นจีโอหวั่นไม่ยั่งยืนแค่เครื่องมือทางการเมือง นักวิชาการเตือนอย่าลืมแก้ปัญหาโครงสร้างจ้างงาน สังศิตย้ำ "ประชาวิวัฒน์" ต่างจาก "ประชานิยม" เพราะออกเป็น กม. ไม่หายไปตามนายกฯ

(20 ม.ค. 54) ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ คณะเศรษฐศาสตร์ มธ. ร่วมกับสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะทำงานวาระทางสังคม เครือข่ายแรงงานนอกระบบและมูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ ร่วมจัดเสวนาหัวข้อ "เสียงสะท้อนจากแรงงานนอกระบบ" โดยมีการแสดงความเห็นต่อนโยบายประชาวิวัฒน์ของรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จากมุมมองของนักวิชาการและภาคประชาสังคม

หวั่น "ประชาวิวัฒน์" ทำแรงงานนอกระบบกระจุกตัว
ปัทมาวดี ซูซูกิ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มธ. ระบุว่า แรงงานทั้งในและนอกระบบต่างอยู่ในระบบเศรษฐกิจเดียวกัน มีลักษณะที่เชื่อมโยงกัน การออกนโยบายใดๆ ก็จะส่งผลถึงกัน ดังนั้น หากมีนโยบายเพื่อแก้ปัญหาแรงงานนอกระบบโดยไม่ได้คำนึงถึงความสมดุลของการพัฒนาทั้งระบบ อาจเกิดปัญหาการกระจุกตัวของแรงงานนอกระบบ โดยคนกลุ่มต่างๆ อพยพเข้ามาสู่ภาคแรงงานนอกระบบมากขึ้น เกิดภาคเศรษฐกิจนอกระบบที่ใหญ่เกินไป และเพิ่มปัญหาต่างๆ ตามมา อาทิ ปัญหาที่อยู่อาศัย การใช้อำนาจรัฐเพื่อแสวงประโยชน์ส่วนตัว

คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มธ. เสนอว่า ควรจะต้องมีนโยบายเชิงโครงสร้าง เพื่อลดการอพยพมายังเมือง โดยสร้างสมดุลของเศรษฐกิจในเมืองและชนบท กระจายอุตสาหกรรมและการลงทุนสู่ชนบท พัฒนาเมืองขนาดย่อม รวมถึงกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นด้วย

เตือนอย่าลืมแก้ปัญหาโครงสร้างการจ้างงาน
ด้านเสาวลักษณ์ ชายทวีป อาจารย์ประจำสาขาพัฒนาสังคมและมนุษย์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ กล่าวถึงนโยบายประชาวิวัฒน์ในส่วนที่พูดถึงการสร้างสวัสดิการให้แรงงานนอกระบบว่า ยังไม่มีรายละเอียดที่ชัดเจนถึงการประกันค่าจ้างและรายได้ที่มั่นคงของแรงงานนอกระบบ พร้อมแนะนำว่าการออกนโยบายใดๆ ควรต้องคำนึงถึงความสมดุลของเศรษฐกิจโดยรวมด้วย โดยเสนอว่า ควรมีการขับเคลื่อนนโยบายทั้งแรงงานในระบบและนอกระบบไปพร้อมกัน ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นว่ามีนโยบายเสริม แต่โครงสร้างการจ้างงานยังอยู่แบบเดิม แรงงานไม่ได้มีค่าจ้างที่สูงขึ้น

โดยเธอยกตัวอย่างกรณีรัฐบาลอาร์เจนตินาออกกฎหมายการจ้างงานแห่งชาติ (National Employment Law) ที่เปิดให้รัฐเข้ามาจัดการในตลาดแรงงานนอกระบบและสร้างกฎเกณฑ์ที่เป็นทางการในทุกประเภทของแรงงานนอกระบบ รวมทั้งการให้สวัสดิการ ซึ่งปรากฏว่านายจ้างไม่ต้องรับผิดชอบในการจัดหาสวัสดิการ แต่ในขณะเดียวกันก็มีการจ้างงานในภาคไม่เป็นทางการ เช่นเดียวกับภาคที่เป็นทางการ ซึ่งเป็นการจ้างงานแบบชั่วคราว โดยที่กลับเป็นการลดภาระนายจ้างและทำให้คนงานเสียเปรียบ

เสนอแยกส่วนประกันสังคมสำหรับใน-นอกระบบ
นพ.ภูษิต ประคองสาย นักวิจัยอาวุโส สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากข้อมูลอย่างไม่เป็นทางการจากสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่า ช่วงปี 49-52 แรงงานนอกระบบมีแนวโน้มได้รับอุบัติเหตุจากการทำงานสูงขึ้น โดยแรงงานนอกระบบกว่า 30% ในเขตเมืองยอมจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลเอง แม้ว่าจะสามารถใช้สิทธิบัตรทองได้ สาเหตุคาดว่ามาจากโรงพยาบาลในเมืองมีผู้ใช้บริการจำนวนมาก หากต้องรอคิวก็จะเสียเวลางาน จึงยินดีจ่ายเอง โดยใช้บริการร้านขายยา คลีนิกเอกชน ขณะที่แรงงานนอกระบบในต่างจังหวัดก็มี 15-18% ที่ยอมจ่ายเองเช่นกัน ซึ่งหากสามารถจัดระบบการให้บริการได้ดีกว่านี้ ก็จะทำให้แรงงานเหล่านี้เข้าถึงการบริการได้โดยไม่ต้องเสียเงินมากเกินไป

ทั้งนี้ นพ.ภูษิต ตั้งคำถามถึงนโยบายประชาวิวัฒน์ที่ให้แรงงานนอกระบบทุกคนร่วมจ่ายในอัตราเดียวกันว่าเป็นธรรมหรือไม่ เนื่องจากรายได้แต่ละคนไม่เท่ากัน แต่กลับต้องจ่ายสมทบเท่ากัน โดยเขาเสนอให้จ่ายตามกำลังของแต่ละคน นอกจากนี้ นพ.ภูษิต ยังกังวลเรื่องการจัดเก็บเงินสมทบจากแรงงานนอกระบบว่าอาจมีปัญหาในทางปฏิบัติ เพราะไม่สามารถหักผ่านบัญชีเงินเดือนได้เหมือนระบบประกันสังคม โดยมองว่า หากไม่มีระบบจัดเก็บที่ดี ก็อาจทำให้ผู้ที่อยู่ห่างไกลหรือไม่มีความรู้เข้ามาในระบบไม่ได้

ทั้งนี้ นพ.ภูษิตได้เสนอให้แยกสำนักงานประกันสังคมสำหรับแรงงานนอกระบบ ออกจากส่วนของผู้ประกันตนในระบบด้วย เพื่อให้การจัดการมีประสิทธิภาพมากขึ้น เนื่องจากการจัดการกับปัญหาและการจ่ายชดเชยของแรงงานทั้งสองประเภทมีความแตกต่างกัน

ชี้ระบบสวัสดิการรัฐหลายระบบทำปชช.สับสน
สุนทรี หัตถีเซ่งกิ่ง เลขาธิการคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ภาคประชาชนได้ร่วมกันผลักดันแก้ไขร่างมาตรา 40 อยู่นานกว่า 6 ปี แต่เมื่อนโยบายประชาวิวัฒน์มาก็ทำให้ร่างที่ทำร่วมกันมานี้แท้งไป ทั้งนี้ ในส่วนของการประกันตนโดยอิสระของแรงงานนอกระบบ มีข้อสงสัยว่า ทำไมรัฐจึงให้สิทธิประโยชน์เพียง 3 อย่าง ทั้งที่ที่เรียกร้องกันนั้นต้องการ 7 อย่างเท่ากับผู้ประกันตนในระบบ ซึ่งเป็นผู้ใช้แรงงานเหมือนๆ กัน

นอกจากนี้ สุนทรีระบุว่า นโยบายประชาวิวัฒน์เกิดขึ้นภายใต้แนวคิดปฏิรูปการเมือง สร้างความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำ ซึ่งย้อนไปจะพบว่าเกิดหลังการเผาบ้านเผาเมืองที่ราชประสงค์ ที่กลุ่มการเมืองหนึ่งพูดเรื่องการสร้างความเป็นธรรมนี้เช่นกัน จึงไม่แน่ใจว่านโยบายนี้เกิดขึ้นเพราะเหตุผลทางการเมืองหรือไม่ หากใช่ก็มีคำถามว่าจะยั่งยืนหรือไม่ เพราะอะไรก็ตามที่เป็นเครื่องมือทางการเมืองก็มักมีปัญหาความยั่งยืนอยู่ด้วย

สุนทรีวิจารณ์ถึงระบบสวัสดิการต่างๆ ที่รัฐจัดให้ว่า เหมือนมีความเกรงใจกันในระบบราชการ แต่ละหน่วยงานต่างมีอาณาจักรของตัว พอคิดนโยบายอะไรได้ ก็ตั้งระบบใหม่ขึ้นมา ทำให้ไม่มีความเชื่อมโยงกันและสับสนวุ่นวาย มีทั้งประกันสังคม หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และการออมแห่งชาติ ดังนั้น รัฐน่าจะต้องจัดระบบสวัสดิการให้เชื่อมโยงและเป็นเรื่องเดียวกัน ให้ประชาชนเข้าใจได้ง่าย ซึ่งจะเป็นผลดีกับรัฐบาลในการจัดการ

สังศิตมั่นใจไม่เหมือน "ประชานิยม"
ด้านสังศิต พิริยะรังสรรค์ ผู้อำนวยการโครงการปริญญาดุษฎีบัณฑิตสาขาวิชาการพัฒนาธรรมาภิบาล มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม ในฐานะหัวหน้าโครงการประชาวิวัฒน์ของรัฐบาล กล่าวว่า นโยบายประชาวิวัฒน์นั้นแตกต่างกับนโยบายประชานิยมทั้งในระดับปรัชญาและหลักคิดอย่างถึงที่สุด โดยขณะที่ประชานิยมเป็นการสั่งการผ่านฝ่ายการเมือง ไม่มีกรอบกฎหมายรองรับ แต่ประชาวิวัฒน์จะถูกนำเข้าสู่ระบบกฎหมาย ถึงแม้นายอภิสิทธิ์ไม่ได้เป็นนายกฯ นโยบายก็จะยังอยู่ นอกจากนี้ การออกแบบนโยบายยังนำผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียมานั่งทำงาน เพื่อหาจุดที่เจ้าหน้าที่จะไม่มีความเสี่ยงด้วย โดยยกตัวอย่างกรณีสินเชื่อราคาถูก ซึ่งให้แต่ละธนาคารออกแบบอัตราดอกเบี้ยที่แต่ละแห่งจะอยู่ได้ในระยะยาว เป็นต้น อย่างไรก็ตาม เขายอมรับว่ายังไม่ค่อยพอใจระบบที่ได้เท่าใด แต่ก็เห็นว่าการเริ่มต้นเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด และหากมีคนเข้าสู่ระบบประกันสังคมมากขึ้น ก็คงต้องทบทวนสิทธิผลประโยชน์กันใหม่

ทั้งนี้ สังศิตให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า การให้สินเชื่อแก่แรงงานนอกระบบนั้นให้ได้ทั้งรายกลุ่มจำนวน 10-25 คนและรายปัจเจก โดยรายกลุ่มจะได้ดอกเบี้ยจะถูกกว่า เพราะความเสี่ยงต่ำกว่า พร้อมเสนอว่าอย่าหวังพึ่งแต่รัฐ ควรจะต้องรวมกลุ่มจัดเองด้วย โดยยกตัวอย่างกลุ่มที่ประสบความสำเร็จ เช่น กลุ่มแม่ค้าท่าทราย จ.นนทบุรี ที่เก็บดอกเบี้ยเงินกู้สมาชิกร้อยละ 20 จ่ายจริงร้อยละ 6 อีกร้อยละ 14 กันไว้เป็นเงินออมของสมาชิก

หลังการแสดงความเห็นจากนักวิชาการ มีการเปิดเวทีให้แรงงาน นอกระบบจากอาชีพต่างๆ แสดงความเห็นโดยส่วนใหญ่ระบุว่า มาตรการต่างๆ ยังไม่ครอบคลุมทุกกลุ่มอาชีพ เช่น คนทำงานบ้าน พนักงานบริการ เกษตรกร ผู้รับงานไปทำที่บ้าน แรงงานรับจ้างทั่วไป รวมถึงยังไม่ค่อยมีความชัดเจนในการดำเนินมาตรการ เช่น การประกันกลุ่มทำอย่างไร จะทำได้เมื่อไหร่ และย้ำว่าการเข้าสู่ระบบประกันสังคมนั้นอยากได้สิทธิประโยชน์คุ้มครองเหมือนแรงงานในระบบเช่นกัน

หลังการเสวนาเครือข่ายแรงงานนอกระบบได้ร่วมกันออกแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาลสร้างวิสัยทัศน์และนโยบายระยะยาวที่ต่อเนื่อง ชัดเจน จริงจัง และแก้ไขกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อบรรลุการสร้างหลักประกันในการทำงานและหลักประกันทางสังคมให้แก่แรงงานนอกระบบทุกกลุ่ม ทุกพื้นที่ด้วย

00000

แถลงการณ์ของเครือข่ายแรงงานนอกระบบ
ไปให้ไกลกว่าประชาวิวัฒน์

เมื่อพูดถึงแรงงานนอกระบบ เราทุกคนต่างตระหนักดีว่าเรากำลังพูดถึงชีวิตของคนจำนวน 24 ล้านคน ผู้สร้างผลผลิตและเศรษฐกิจที่มีมูลค่าถึงร้อยละ 70 ของผลผลิตมวลรวมประชาชาติ(GDP) ผู้ซึ่งต้องเผชิญหน้าอยู่กับช่องว่างทางเศรษฐกิจ ที่ความแตกต่างระหว่างคนรวยและคนจนมีมากถึง 15 เท่า ดังนั้นการสร้างหลักประกันในการทำงาน รายได้ และการพัฒนาคุณภาพชีวิตของแรงงานนอกระบบจึงเป็นความรับผิดชอบที่รัฐไม่สามารถปฏิเสธได้

เมื่อรัฐบาลประกาศนโยบาย“ประชาวิวัฒน์” เราแรงงานนอกระบบจึงรู้สึกขอบคุณและยินดีที่รัฐบาลได้เริ่มต้นก้าวแรกที่มีความสำคัญ แต่ขณะเดียวกันแรงงานนอกระบบก็ขอยืนยันความต้องการที่แท้จริงของพวกเรา นั่นก็คือ

1) หลักประกันในการที่จะมีงานทำอย่างต่อเนื่อง สม่ำเสมอ มีความปลอดภัย ตามที่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ได้ให้การคุ้มครองไว้ และการที่จะได้รับการคุ้มครองรายได้จากการทำงานที่เพียงพอต่อการดำรงชีวิตอย่างมีคุณภาพ

2) ระบบประกันสังคมที่มีสิทธิประโยชน์คุ้มครองครอบคลุมความยาก ลำบาก และความเสี่ยงในเรื่อง การเจ็บป่วย การให้กำเนิดบุตร การเลี้ยงดูบุตร ทุพพลภาพ การว่างงาน ชราภาพ และ การเสียชีวิต และความเสี่ยงอื่นๆ อย่างครบถ้วน โดยมีรัฐร่วมจ่ายสมทบเข้าสู่กองทุนด้วยอัตราที่เท่ากันกับแรงงานนอกระบบที่เป็นผู้ประกันตน ไม่เป็นการตัดสิทธิ์ของแรงงานนอกระบบในการที่จะเข้าถึง ระบบสวัสดิการต่างๆ ที่รัฐจัดให้กับประชาชน เช่น หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กองทุนการออมแห่งชาติ บำนาญประชาชน และมีการบรารกงทุนที่เป็นอิสระ เพื่อแรงงานนอกระบบ และโดยตัวแทนของแรงงานนอกระบบ

3) กองทุนสนับสนุนของรัฐเพื่อการพัฒนาอาชีพของแรงงานนอกระบบทุกกลุ่ม ทุกประเภท ที่ปลอดดอกเบี้ย หรือดอกเบี้ยถูก และสามารถเข้าถึงได้ง่าย เพื่อให้แรงงานนอกระบบใช้ซื้อเครื่องมือเครื่องจักร พัฒนากระบวนการผลิต ปรับปรุงสภาพแวดล้อมการทำงาน พัฒนาการตลาด และอื่นๆ และ

4) การบริการ และมาตรการพิเศษต่างๆ จากหน่วยงานของรัฐ ที่จะสนับสนุนแรงงานนอกระบบ เช่น การพัฒนาทักษะฝีมือ การบริการข้อมูลข่าวสาร การสร้างช่องทางการตลาด การลดหย่อนภาษี การลดค่าใช้ไฟฟ้า เป็นต้น

ซึ่งนโยบาย "ประชาวิวัฒน์" ในลักษณะมาตรการเฉพาะหน้า ชั่วคราว ที่รัฐบาลได้ประกาศเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2554 ที่ผ่านมา จึงไม่พียงพอที่จะสร้างหลักประกันที่แท้จริงดังกล่าว

เราผู้นำแรงงานนอกระบบจาก กลุ่มผู้รับงานไปทำที่บ้าน ผู้ผลิตเพื่อขาย แท็กซี่ มอเตอร์ไซค์รับจ้าง หาบเร่แผงลอย เกษตรตรกรรายย่อย เกษตรกรในระบบพันธะสัญญา คนทำงานบ้าน และ พนักงานบริการ รวมจำนวน 140 คน ที่เข้าร่วมการเสวนา “เสียงสะท้อนจากแรงงานนอกระบบ” จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลสร้างวิสัยทัศน์และนโยบายระยะยาวที่ต่อเนื่อง ชัดเจน จริงจัง และแก้ไขกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อบรรลุการสร้างหลักประกันในการทำงานและหลักประกันทางสังคมให้แก่แรงงานนอกระบบทุกกลุ่ม ทุกพื้นที่ และสร้างมาตรการเฉพาะที่จะตอบสนองปัญหาความต้องการ และสร้างหลักประกันที่เหมาะสมกับแรงงานนอกระบบรายประเภท รวมทั้งกลุ่มที่ยังไม่ได้ระบุไว้ ภายใต้นโยบายประชาวิวัฒน์ เพื่อที่จะขจัดความเหลื่อมล้ำ ขจัดความไม่เป็นธรรมในสังคม ดังเช่นที่รัฐบาลเคยได้ ประกาศเจตนารมณ์ไว้ต่อประชาชน

20 มกราคม 2554
ห้องแอลที คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net