Skip to main content
sharethis

 

--> ดูวิดีโอคลิป บันทึกการเสวนา ด้านท้ายข่าว

 

เปิดตัวหนังสือ ‘สื่อออนไลน์ Born To Be Democracy’ ชวนนักวิชาการหลากสาขาถกบทบาทข้อเด่นข้อด้อยสื่อออนไลน์ ชี้เปลี่ยนแปลงสังคมต้องเชื่อมโลกออนไลน์กับออฟไลน์ เรียกร้องรัฐสร้างการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตอย่างเท่าเทียม

21 ม.ค.54 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ มีการจัดงานเปิดตัวหนังสือ “สื่อออนไลน์ Born To be democracy” และมีวงเสวนาว่าด้วยสื่อออนไลน์และวิจารณ์หนังสือดังกล่าว จัดโดยเว็บไซต์ประชาไท สนับสนุนโดยมูลนิธิไฮน์ริค เบิลล์

ทั้งนี้ หนังสือดังกล่าวเป็นการรวมบรวมบทสัมภาษณ์จากผู้สังเกตการณ์ ‘นิวมีเดีย’ จากแวดวงต่างๆ อาทิ รศ.อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ ประธานกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.), ปราปต์ บุนปาน เว็บไซต์มติชนออนไลน์, สมบัติ บุญงามอนงค์ กลุ่มวันอาทิตย์สีแดง, สาวตรี สุขศรี นิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์, นิธินันท์ ยอแสงรัตน์ เครือเนชั่น, พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ รัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ ศูนย์อาเซียนศึกษา สิงคโปร์, อาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล เครือข่ายพลเมืองเน็ต, สฤณี อาชวานันทกุล นักวิชาการอิสระ, ทิวสน สีอุ่น เครือข่ายพลเมืองเน็ต, มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ นิเทศศาสตร์ ม.หอการค้าไทย, ศ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการอิสระ

ยุกติ มุกดาวิจิตร คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงชื่อหนังสือว่า ไม่แน่ใจว่าสื่อออนไลน์เป็นประชาธิปไตยโดยตัวเอง แต่น่าจะเป็นเครื่องมือนำไปสู่ประชาธิปไตยมากกว่า หรือเรียกว่า born to become democracy นอกจากนี้ยังมีคำถามเกี่ยวกับสื่อออนไลน์ซึ่งผู้คนมักมองเห็นพลังและแง่บวกของมันมากในการสร้าง “พื้นที่สาธารณะ” อย่างไร้พรมแดนว่า ถึงที่สุดโลกออนไลน์ก็ไม่ได้ต่างอะไรกับโลกออฟไลน์ พรมแดนทางออนไลน์ก็มีเช่น ภาษา หรือกฎกติกาในเว็บต่างๆ คำถามอยู่ที่ว่าคนจะมีส่วนร่วมกำหนดกฎเกณฑ์ในสังคมออนไลน์นั้นได้อย่างไร รัฐก้าวล่วงมาได้มากแค่ไหนในพื้นที่อินเทอร์เน็ตซึ่งเหมือนกับพื้นที่ประชาสังคมในโลกออฟไลน์

ในแง่ความเท่าเทียม สื่อนี้กล่าวได้ว่าเป็นของกระฎุมพี สิ่งที่ทำได้เป็นเพียงขยายพื้นที่ของการสื่อสารทางการเมืองมากกว่าจะเป็นการส้างพื้นที่ใหม่ๆ อย่างสิ้นเชิง สิ่งที่โลกอินเทอร์เน็ตช่วยได้บ้างก็คือ การทำให้คนฉุกคิด แต่ก็คงอีกนานกว่าคนจะเข้าใจว่า สิ่งที่เคยเข้าใจว่าเป็นสัจจะธรรมชาติ เป็นแค่ความเชื่อหนึ่งเท่านั้น

ยุกติเสนอว่า ควรเรียกร้องการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตอย่างเท่าเทียม เหมือนประเด็นสาธาณสุข และยังต้องเชื่อมโยงกับการสื่อสารอื่นๆ ในโลกจริง หรือต้องสร้างสังคมประชาธิปไตยในโลกออฟไลน์ให้เป็นจริงขึ้นมา และมีทางนี้เท่านั้นที่จะได้ประชาธิปไตยในโลกออนไลน์

ปิยบุตร แสงกนกกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงข้อสังเกตเกี่ยวกับนิวมีเดียวในไทยว่า แม้แต่สื่อออนไลน์ที่ถือว่าเป็นสื่อทางเลือกก็ยังเซ็นเซอร์ในบางเรื่องโดยเฉพาะเรื่องที่ขัดกับอุดมการณ์หลักของสังคม เช่น กรณีข่าววิกิลีกส์ที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทย นอกจากนี้นิวมีเดียไม่สามารถส่งผลสะเทือนได้ กำหนดประเด็นหลักได้โดยตัวเองแต่จำเป็นต้องการเครื่องมืออื่นในการผลิตซ้ำ และเนื่องจากเฟซบุ๊กเริ่มมีบทบาทมากขึ้นจนกกลายเป็นเครื่องมือรณรงค์ทางการเมืองที่สำคัญหลังวิกฤตการเมืองและสื่อเสื้อแดงทั้งหลายถูกปิด เสรีภาพการแสดงความเห็นในสังคมตกต่ำลง แต่ก็มีข้อท้าทายสำคัญที่เกิดขึ้นใหม่ว่า นิวมีเดียจะรับบทบาทเป็นแหล่งสร้างชื่อเสียงให้คนหรือจะเป็นหน่วยงผลิตองค์ความรู้กันแน่ โดยยกตัวอย่างปรากฏการณ์การแชร์บทความอย่างกว้างขวางโดยไม่ได้อ่านในเฟซบุ๊ก

ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ฐานคิดคำว่า “ประชาธิปไตย” ของหนังสือเล่มนี้คือ เสรีประชาธิปไตย ซึ่งให้คุณค่าสูงสุดกับเสรีภาพ และเนื้อหาโดยรวมของหนังสือให้ภาพว่าสื่อออนไลน์เป็นพื้นที่ที่คนสามารถแสดงออกในมิติต่างๆ อย่างหลากหลาย มีสภาพเป็น “ตลาดความคิด” ซึ่งสภาพแบบนี้แปลว่ามันต้อง “มั่ว” อย่างสุดๆ และเราไม่ต้องกลัวกับ “ความมั่ว” ดังกล่าว

ชลิดาภรณ์ยังพูดถึงบทบาทการเป็น “พื้นที่ทางเลือกของสื่อออนไลน์” ว่า มันเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนข่าวสารความคิด เป็นพื้นที่ทางเลือกสำหรับคนจำนวนมากที่ถูกเบียดขับจากค่านิยม ความเชื่อ กระแสหลัก เช่น คนมีเพศวิถีทางเลือก, เกย์ ฯลฯ และยังเป็นพื้นที่ของ “จินตนาการ” ที่คนจำนวนมากสามารถแสดงออก แสวงหาหรือเสพอะไรก็ตามที่เขาชอบแต่ทำไม่ได้ในพื้นที่ออฟไลน์ ซึ่งพวกเขาไม่ “กล้าหาญ” พอจะทำในโลกจริง

“นี่คือ ประชาธิปไตยแบบเสรีนิยมที่เราอยากได้ แต่ปัญหาก็คือ มีคนจำนวนหนึ่งซึ่งบังเอิญเสียงดัง เชื่อว่าคนแสดงออกออนไลน์จะเชื่อมไปสู่พฤติกรรมออฟไลน์ เช่น ความรุนแรง เพศนอกกรอบ ทำให้รัฐไทย ซึ่งไม่ได้สมาทานเสรีนิยม ไม่ลังเลที่จะไล่เซ็นเซอร์พื้นที่ออนไลน์ในทุกเรื่อง ไม่เฉพาะเรื่องการเมือง แต่แม้กระทั่งเรื่องส่วนตัวมากๆ อย่างเรื่องเพศวิถี เป็นการเซ็นเซอร์แม้กระทั่งจินตนาการของมนุษย์ โคตรมหาโหดนะรัฐไทย” ชลิดาภรณ์กล่าว

ชลิดาภรณ์กล่าวถึงลักษณะของพื้นที่ออนไลน์อีกว่า มันมีลักษณะเป็น “พื้นที่กล่อมประสาท” ทำให้คนเกิดสภาพปิดใจ ปิดหูต่อความคิดเห็นที่แตกต่าง จึงน่าคิดว่าเราในฐานะผู้ใช้สื่อออนไลน์จะใช้สภาพตลาดความคิดให้เป็นประโยชน์ ด้วยการพยายามละลายสี สลายขั้วได้อย่างไร และที่สำคัญที่ต้องส่งเสริมคือ ความอดทนอดกลั้น ซึ่งพูดง่ายแต่ทำได้ยาก

สมบัติ บุญงามอนงค์ กลุ่มวันอาทิตย์สีแดง กล่าวว่า ข้อเด่นของอินเทอร์เน็ตคือการใให้สิทธิคนธรรมดา ด่าหรือวิจารณ์ในทางสาธารณะได้ และข้อมูลมีอายุยืนยาวในออนไลน์ นอกจากนี้มันยังทำลายวาทะเรื่องผู้ชนะ หรือรัฐเป็นผู้เขียนประวัติศาสตร์ เพราะปัจจุบันผู้คนต่างเขียนประวัติศาสตร์ของตัวเอง ส่วนการเชื่อมโยงโลกออนไลน์กับออฟไลน์นั้นจำเป็นต้องเดินไปคู่กัน และสปีดของออนไลน์นั้นสื่อสารได้รวดเร็วประมาณ 7 เท่าซึ่งน่าจะมีผลให้โลกออฟไลน์เปลี่ยนแปลงได้เร็วขึ้นด้วย

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net