Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ผมเชื่อว่าหลายท่าน คงจะพอได้ทราบข่าวสองข่าวที่ในขณะนี้กำลังเป็นกระแสร้อนแรงในสังคม นั่นคือ ข่าวของหญิงสาวที่ไปเต้นเปลือยอกบนหลังคารถในวันสงกรานต์ จนกลายมาเป็นประเด็นใหญ่โตในบ้านเมือง โดยถูกโยงใยถึงความเสื่อมเสียทางวัฒนธรรม[สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1303033776] และอีกเหตุการณ์หนึ่งคือ การที่นายธาริต เพ็งดิษฐ์ จ้องจะยื่นฟ้องกลุ่มผู้แสดงภาษากายในขณะที่นายจตุพร พรหมพันธุ์กำลังปราศรัย โดยโยงว่าเป็นภาษากายที่บ่งชี้ถึงการเห็นด้วย หรืออวยนายจตุพร และการกระทำดังกล่าวเป็นการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ [สามารถอ่านรายละเอียดข่าวเพิ่มเติมได้จาก http://www.prachatai3.info/journal/2011/04/34074] ข่าวทั้งสองนี้ หากอ่านโดยไม่ได้สนใจอะไรมากนัก อาจจะมองมันในสถานะที่ไม่เกี่ยวข้องกัน แต่ผมกลับมองว่ามันมีความสัมพันธ์ที่เกี่ยวพ่วงกันอยู่ไม่น้อย นั่นก็คือ “วิธีการมองด้วยมุมมองของพระเจ้า (God’s eye view)” จากผู้ซึ่งเชื่อว่าตนเองเป็นผู้มีอำนาจในทางปกครอง มองลงมายังประชากรแห่งรัฐ ผู้ซึ่งคนกลุ่มดังกล่าวมองว่าเป็น “ผู้ใต้ปกครอง” ของตน ซึ่งรูปแบบการมองเช่นนี้ ไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดอะไรในทางประวัติศาสตร์โลก เพราะสำนึกคิดแบบ “เทวราชา” นั้นแหละคือ รูปแบบการปกครองที่เป็นเช่นว่าโดยตรง คือ ตัวกษัตริย์นั้นเป็นผู้ทรงภูมิ ที่ได้รับการอนุญาตจากสวรรค์ หรือเป็นตัวแทนแห่งพระผู้เป็นเจ้า หรือเป็นเทพองค์หนึ่งเองที่ลงมาจุติบนโลกมนุษย์ เพื่อปกครองมนุษย์เดินดินธรรมดาให้อยู่รอดต่อไปได้ ฉะนั้นการ “มีตัวตนอยู่ และการกระทำใดๆ” ของคนในอาณาจักรนั้นๆ จึงเป็นเพียง “การอนุญาตให้มีตัวตนอยู่ หรืออนุญาตให้กระทำได้” โดยกษัตริย์ผู้ซึ่งเป็นตัวแทนแห่งพระเจ้านั้นเท่านั้นเอง ปรากฏการณ์ และสำนึกคิดดังกล่าว เกิดขึ้นมาหมดแล้วแทบจะทุกพื้นที่ในโลก ตั้งแต่แดนไอยคุปต์, อินเดีย, จีน, ญี่ปุ่น, อาณาจักรขอม, จนถึงอาณาจักรอยุธยาเอง (ฯลฯ ฯลฯ) ภายใต้สำนึกคิดแบบนี้นั้น “คนในดินแดน หรือผู้ใต้ปกครอง” จึงจะเป็นเพียง “วัตถุแห่งความปรารถนา (Object of Desire)” ที่ขึ้นตรงอยู่กับผู้ปกครองเท่านั้น การกระทำใด ที่เสมือนจะทำไปโดยเสรีนั้น แท้จริงแล้วเป็นเพียงการกระทำที่ “ผู้ปกครองอนุญาต หรืออนุโลมให้ทำได้ ซึ่งการอนุญาต หรืออนุโลมนั้นพร้อมที่จะถูกดึงกลับคืนมาได้ทุกเมื่อ” หรือกล่าวในอีกรูปแบบหนึ่งก็คือ “สิทธิ และอำนาจเหนือร่างกายของตนเองนั้น ไม่ได้อยู่กับตัวเจ้าของร่างกายอันมีเลือดเนื้อนั้น แต่สิทธิ และอำนาจดังกล่าวตกอยู่กับตัวผู้ปกครองโดยสัมบูรณ์” เมื่อกาลผ่านไป แนวคิดแบบรัฐเทวราชานิยมนั้นก็ถูกกัดกร่อน ท้าทาย และทำลายลงเรื่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากการเกิดขึ้นของระบอบคิดแบบประชาธิปไตย ที่มองว่าอำนาจ และสิทธิเหนือร่างกายของตนนั้น เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่สุด ที่ไม่พึงโดนควบคุม หรือผูกขาดโดยผู้ใด อันนำมาสู่แนวคิดที่มองกระทั่งว่า “อำนาจเหนือร่างกายนั้น คือ สัญลักษณ์แห่งเสรีภาพของประชาธิปไตย และการลุกฮือต่อต้านระบอบเก่า” อย่างในการปฏิวัติฝรั่งเศสเอง ก็มีการนำภาพโป๊ (Pornography) มาใช้เพื่อสื่อแสดงถึงเสรีภาพ และอำนาจเหนือร่างกายในลักษณะดังกล่าวด้วยเช่นกัน เพราะฉะนั้นแล้ว ในสายตาของผมมันจึงเป็นเรื่องแปลกประหลาดที่ในประเทศไทยตอนนี้ การที่หญิงสาวจะออกมาเต้นเปลือยอก หรือกลุ่มคนที่อยู่รอบตัวนายจตุพรจะแสดงท่าทางบางอย่างขึ้นมา แล้วจะต้องถูกเอาผิดโดยรัฐนั้น กลับเป็นเรื่องที่สังคมหลายภาคส่วนพากันเฮโลเห็นดีเห็นงามด้วย หรือแม้แต่นักเคลื่อนไหว ที่อ้างตนว่าเป็นเสรีชน หรือนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยบางคนยังออกมากล่าวร้ายสาวเปลือยอก ทั้งที่ท่าทีของคนในสังคมที่เป็นประชาธิปไตยมันควรจะตรงกันข้ามโดยสิ้นเชิง ความลั่กลั่นในสังคมที่ตัวรัฐเองก็พยายามอ้างว่าตนเป็นประเทศประชาธิปไตย หรือขบวนการเคลื่อนไหว (ที่อ้างว่า) เพื่อประชาธิปไตยบางกลุ่ม (หรือบางคน) กลับเห็นด้วยกับการที่รัฐมาช่วงชิงสิทธิ และอำนาจเหนือร่างกายของสมาชิกแห่งรัฐผู้อื่นไป และทำให้การโชว์นม หรือการแสดงท่าทางบางอย่างรอบตัวนายจตุพร กลายเป็นอาชญากรรมไป ในขณะที่ทั่วโลก กำลังพยายามขยายขอบเขตของสิทธิ และอำนาจเหนือร่างกายของปัจเจกบุคคลให้เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนมีองค์กรอย่างเป็นทางการที่เรียกร้องเกี่ยวกับสิทธิในการเปลือยอกอย่างเท่าเทียม อย่าง Topless Equal Right Association หรือ TERA[1] ขึ้นมาแล้ว และในยุโรปหลายประเทศเอง ก็อนุญาตให้ทุกเพศ มีสิทธิในการเปลือยอกได้โดยทั่วไป อย่างเท่าเทียมกันแล้ว (ซึ่งจะยกเว้นก็แต่สถานที่ทางการของรัฐ หรือสถานที่ของเอกชนบางจุดที่อนุญาตให้กำหนดแนวทางการแต่งตัว – Dress Code – ได้ แต่โดยทั่วไปอนุญาต) อาทิเช่น ประเทศสวีเดน หรือ ประเทศเดนมาร์ก และยังมีประเทศที่ประชาธิปไตยก้าวหน้าอีกหลายแห่งทั่วโลกกำลังพยายามผลักดันเรื่องนี้อย่างจริงจังต่อไปเรื่อยๆ ในประเทศไทยนั้น ด้วยมรดกที่หลงเหลือมาจากยุครัฐเทวราชานิยม ซึ่งมรดกทางความคิดนี้เหลือมากเกินกว่าที่จะเรียกได้ว่าเป็นเพียงซากทางความคิด จึงทำให้เกิดเป็นสังคมไทยที่พยายามอ้างตัวว่าเป็นสังคมประชาธิปไตย แต่ในขณะเดียวกันก็มีมุมมองต่อสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างกษัตริย์ในยุคเทวราชาต่อไป (ด้วยการอ้างแบบไร้ตรรกะผ่านคำว่า “อเนกนิกรณ์สโมสรสมมติ”)และเป็นรัฐซึ่งมีวาทกรรมเรื่อง “ประเพณีไทยงดงาม ไม่แพ้ใครในโลก” เป็นเสมือนหนึ่งสมบูรณาญาสิทธิวาทกรรม ที่ไม่อาจจะแตะต้อง หรือเห็นต่างได้ ด้วยความคิดว่าวัฒนธรรมไทยเป็นอะไรที่จรูญจรัสรัศมีพราวพร่างพร้อย อย่างที่เป็นอยู่ ทำให้สังคมไทยเป็นสังคมที่พร้อมจะดึงเอาลักษณะทุกอย่างที่ตนมองว่าเป็นสิ่ง “ดีงาม” รวมเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมเราเองได้หมดสิ้น โดยไม่รู้สึกแปลกประหลาด หรือเขินอาย ดั่งที่เราจะพบได้จากเพลงในโฆษณาเบียร์ช้าง โดยแอ๊ด คาราบาว ที่ว่า “คนไหนคนไทย จะรู้ได้ไง ถ้ามีน้ำใจล่ะคนไทยแน่นอน” อันซึ่งในทางความเป็นจริง ไม่มีแม้แต่เศษเสี้ยวละอองธุลีใดๆ เลยที่จะบ่งวัดได้ว่า “นั่นคือคนไทย” หรือ การผูกขาดอำนาจเหนือความคิดในลักษณะเดียวกันว่า “คนไทยทุกคนรักพ่อหลวง คนที่ไม่รักก็ไปอยู่ประเทศอื่น มันไม่ใช่คนไทย” ฉะนั้นวิธีการในการ “กำหนดลักษณะทางวัฒนธรรม (Cultural Characterization)” ในสังคมไทยที่เกิดขึ้นนี้เองที่มันกลายมาเป็นเครื่องมือ (Mechanism) ของรัฐไทย ผู้ซึ่งยังมองตัวเองว่าเป็นผู้ปกครองในระบอบรัฐเทวราชานิยมอยู่นั้นสามารถใช้ประโยชน์ได้ต่อไป โดยจะมีเฉพาะลักษณะ (ทางการกระทำที่วัดมาตราฐานด้วยวัฒนธรรม) ที่ผู้กุมอำนาจเห็นควรให้อยู่เท่านั้น จึงมีสิทธิอยู่ต่อไปได้ และลักษณะของการกระทำใดที่รัฐไม่นิยม ก็จะต้องถูกเขี่ยทิ้งให้สูญพันธุ์ไป เพราะฉะนั้นด้วยพลังของวาทกรรมทางวัฒนธรรมที่รัฐพร่ำกล่อมเกลาตลอดวันตลอดคืน และสร้างให้เป็นวาทกรรมที่เห็นต่างไม่ได้ วิพากษ์ไม่ได้ เพราะนำมันไปผูกติดกับชาตินิยม และเทวราชานิยม ชนิดที่ว่าผู้ใดเห็นต่างจากวัฒนธรรมดังกล่าวก็จะถูกกล่าวหาว่าเป็นพวกขายชาติ หรือโดนฝรั่งล้างสมองไปเสียหมด ย่อมทำให้สังคมอย่างไทยที่อ้างว่าเป็นประชาธิปไตยนั้น พร้อมจะคำราม ก่นด่าใส่ผู้ซึ่งพยายามจะหลุดออกจากการเป็นวัตถุแห่งปรารถนา (Object of Desire) แล้วกลายมาเป็น “นายแห่งความปรารถนา (Subject of Desire)” นั้น อย่างพร้อมเพรียงกัน และรู้สึกเป็นหน้าที่อันพึงกระทำ ในฐานะผู้สืบสานวัฒนธรรมอันแจ่มจรัสของชาติ ให้ไร้ซึ่งมลทินต่อไป ซึ่งก็เป็นเรื่องน่าประหลาดอีกครั้ง หากเราลองสำรวจดู โดยใช้แว่นตาความรักชาติแบบหลวงวิจิตรวาทการยุคใหม่ (ที่คลั่งชาติ เสียยิ่งกว่าหลวงวิจิตรฯ เองเสียอีกนี่แหละ) มาสำรวจดู ประเทศที่เค้าอนุญาตให้สามารถเปิดอกโชว์ได้อย่างเต็มที่แล้วอย่างเดนมาร์ก หรือสวีเดนนั้น ก็ล้วนแต่เป็นประเทศที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนานแสนนานไม่แพ้ประเทศไทย หรือสยามประเทศ หรือกรุงธนบุรี หรืออาณาจักรอยุธยา (ไล่ไปเรื่อย จนถึงเทือกเขาอัลไตไปนู่น) เลย และทั้งสองประเทศก็ล้วนแต่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขปกครองมาช้านาน มิได้ผิดแผกจากประเทศไทยเลยแม้แต่น้อย แต่ผมก็ไม่คิดว่าจะมีชาวโลกมาเที่ยวประณามว่าสองชาตินี้มีวัฒนธรรมอันบัดซบ ฟอนเฟะเพียงเพราะการให้คนสามารถมีสิทธิเหนือเต้าของตน หรือแม้แต่การวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์อย่างตรงไปตรงมาได้แต่อย่างใด เหตุที่ผมต้องพยายามสวมแว่นตาแบบหลวงวิจิตรฯ ทั้งที่ตัวผมนั้นรังเกียจเป็นอย่างยิ่งนี้ ก็เพื่อจะบอกท่านที่เชื่อเช่นนั้นว่า ข้ออ้างประเภทดังกล่าว ที่ว่าการเปลือยอกเป็นอาชญากรรม ทำลายวัฒนธรรมของชาติหรือที่ว่าการแสดงท่าทีบางประการเป็นการทำลายเกียรติ์ของประมุขของประเทศนั้น เป็นข้ออ้างที่ใช้ไม่ได้เลย (จริงๆ แล้ว ต่อให้ไม่ต้องมีข้อเปรียบเทียบที่ว่านี้ มันก็ใช้ไม่ได้ในเชิงตรรกะโดยตัวมันเองอยู่แล้ว สรุปคือ ใช้ไม่ได้ทั้งด้วยตัวมันเอง และเชิงเปรียบเทียบเลยทีเดียว) สิ่งสุดท้ายที่ผมอยากจะพูดถึงหลังจากได้พล่ามเรื่อยเปื่อยมามากมายแล้วนั่นก็คือ ผมอยากให้ทุกท่านโปรดจงระวังตัวให้ดี เมื่อใดก็ตามที่การเปลือยอก หรือการแสดงท่าทางใดๆ ได้กลายไปเป็นอาชญากรรมแห่งรัฐแล้วนั้น ทุกๆ ย่างก้าว และการกระทำในชีวิตท่าน นับตั้งแต่การรับประทานอาหาร, ดื่มน้ำ, ไปจนกระทั่งการมีเพศสัมพันธ์ ย่อมอาจกลายเป็นอาชญากรรมได้ทั้งสิ้น นั่นเป็นเพราะว่าสิทธิและอำนาจเหนือร่างกายท่านได้ถูกฉีกทึ้ง และถอนคืนไปแล้ว ไปสู่อุ้งมือของผู้มีอำนาจ และผู้ควบคุมกลไกทางวัฒนธรรม และใครก็ตามที่หวังจะลุกขึ้นต่อต้าน และแสดงความเป็นนายเหนือร่างกายของตนเอง ดังสตรีเปลือยอก หรือเหล่าคนที่ยืนรายรอบนายจตุพร ย่อมกลายเป็นเหยื่อสังเวยชั้นดี ที่ผู้มีอำนาจจะจิกทึ้งให้ท่านได้แลดูและหลาบจำว่า “พี่เบิ้มกำลังจ้องมองคุณอยู่” ----------------------- [1] เว็บไซต์ทางการ ขององค์กร TERA สามารถเข้าถึงได้จาก http://www.tera.ca/

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net