Skip to main content
sharethis

นักศึกษาและเยาวชนกว่า 20 คน เดินทางเข้าเยี่ยมและให้กำลังใจนักโทษคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ณ เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ

9 มิ.ย. 53 – เมื่อเวลา 10.30 น. กลุ่มนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และเยาวชน กว่า 20 คน เข้าเยี่ยมนักโทษการเมืองที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ โดยพูดคุยกับแกนนำ นปช. และผู้ต้องหาคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในเรือนจำพิเศษหลายคน เช่น สมยศ พฤกษาเกษมสุข, สุรชัย แซ่ด่าน, ธันย์ฐวุฒิ ทวีวโรดมกุล หรือ หนุ่ม เว็บมาสเตอร์นปช.ยูเอสเอ และนายอำพล ตั้งนพกุล หรืออากง ผู้ต้องหาส่งsms หมิ่นให้เลขาฯ นายกฯ โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้กำลังใจและสอบถามพูดคุยกับนักโทษการเมือง

กลุ่มนักศึกษาดังกล่าว นำโดยไท พฤกษาเกษมสุข บุตรชายของสมยศ พฤกษาเกษมสุข ร่วมกับกลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งเป็นนักศึกษาจากหลายคณะและชั้นปีจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทำกิจกรรมร่วมกันเยี่ยมผู้ต้องหาคดีกฎหมายอาญามาตรา 112

“ก็รวมตัวจากเพื่อนๆที่สนิทกัน และก็นัดรวมกลุ่มกันจากอีเวนท์ในเฟซบุ๊ก” ไท นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ ปี 2 กล่าวถึงที่มาในวันนี้ “ครั้งนี้เป็นครั้งที่สี่ที่ผมมาเยี่ยมพ่อที่เรือนจำ ก่อนหน้านี้มาเยี่ยมพ่ออย่างเดียว แต่วันนี้ได้มาเยี่ยมนักโทษการเมืองคนอื่นๆด้วย”

เมื่อเวลานัดที่ทางเรือนจำจัดไว้ให้การเยี่ยมแกนนำ นปช.มาถึงในเวลา 11.20 น. คนเสื้อแดงจำนวนกว่า 50 คน ก็รอต่อแถวหน้าห้องอย่างคึกคักพร้อมโบกสะบัดบัตรคิวสีแดง พร้อมเข้าไปเยี่ยมและส่งกำลังใจให้แก่แกนนำทีอยู่ในคุก เหล่านักศึกษาจัดแจงฝากกระเป๋าและของติดตัวต่างๆไว้บริเวณหน้าห้องเยี่ยม นักศึกษาส่วนใหญ่ นอกจากไท ไม่เคยมาเรือนจำ และได้มีโอกาสมาครั้งนี้พร้อมกับเพื่อนๆเป็นครั้งแรก

ปีย์ เจนณรงค์ นักศึกษาจากกลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตยกล่าวว่า ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ได้มาเรือนจำ แต่ก่อนหน้านี้ก็ตั้งใจจะมาเยี่ยมอยู่แล้ว

“ที่เข้าไปเยี่ยม ก็ได้คุยกับอาจารย์สมยศว่ามากับไท ลูกชายเขา และได้ร่วมเคลื่อนไหวกิจกรรมต่างๆทางการเมืองด้วยกัน ก็ได้ให้กำลังใจอาจารย์ และบอกอาจารย์ว่าจะสู้ต่อไป” นักศึกษาปี 2 คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กล่าว “นักศึกษาก็ยังอยู่ และมีแรงช่วยเหลือกันอยู่ จะทำกิจกรรมกันต่อไป”

จากการเยี่ยมนักศึกษาในครั้งนี้ ทำให้นักศึกษาได้รับรู้ความเป็นไปของนักโทษการเมืองโดยเฉพาะนักโทษที่ถูก ตัดสินคดีจากมาตรา 112 ว่ามีสภาพความเป็นอยู่เป็นอย่างไร นักศึกษาบอกกับผู้สื่อข่าวว่า ได้ยินเรื่องราวเกี่ยวกับการซ้อมทรมานนักโทษคดีหมิ่นฯในเรือนจำ ทั้งจากนักโทษด้วยกันเองและจากผู้คุม ส่วนสภาพความเป็นอยู่ภายในคุก สำหรับแกนนำดูเหมือนว่าจะพออยู่ได้ เนื่องจากมีคนมาให้กำลังใจอยู่บ่อยๆ แต่นักโทษการเมืองที่ไม่ค่อยมีคนรู้จัก จะยากลำบากมาก เพราะส่วนใหญ่ครอบครัวจะตัดขาด ไม่ยอมมาเยี่ยม และก็จะไม่ได้รับความช่วยเหลืออะไรจากใครมากนัก

นักศึกษาชั้นปี 1 จากมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งก็ได้เข้าร่วมกิจกรรมนี้ด้วย เธอไม่ขอเปิดเผยชื่อจริงเนื่องด้วยในอดีตเคยเป็นเหยื่อการ “ล่าแม่มด” ทางอินเทอร์เน็ตมาก่อน การคิดต่างทางการเมืองของเธอส่งผลให้เธอถูกปฏิเสธการเข้าศึกษาต่อในระดับ ปริญญาตรี คณะอักษรศาสตร์ ม.ศิลปากร และถูกขู่ทำร้ายและทำให้ไม่สามารถไปสอบสัมภาษณ์ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ถึงแม้ว่าเธอได้เข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองมาก่อนหน้านี้แล้ว แต่นี่ก็เป็นการมาเยือนเรือนจำครั้งแรกของเธอ

“การที่เห็นคนมาเยี่ยมและให้กำลังใจนักโทษการเมือง ทำให้เรารู้สึกซาบซึ้งใจมาก เพราะช่วงหนึ่งในชีวิตเราก็รู้สึกสิ้นหวัง หมดหวังท้อแท้ และเหนื่อย ถึงแม้ว่าเราไม่เคยเข้าไปอยู่ในนั้น แต่คิดว่าเราเข้าใจความรู้สึกของเขา ในการไม่ได้รับอิสรภาพ ไม่ได้รับความเป็นธรรม” หญิงสาวเล่าความรู้สึก “สำหรับเราในฐานะเคยเป็นผู้ถูกกระทำและไม่ได้รับความยุติธรรม เราคิดว่าการให้กำลังใจเป็นสิ่งทีสำคัญมาก เพราะมันมีความหมายมากในช่วงระยะเวลาที่เราไม่มีใคร มันเป็นพลังที่ทำให้เราลุกขึ้นมาและสู้ต่อไป จนสามารถลุกมายืนจนถึงจุดนี้ได้ และอยากจะส่งต่อกำลังใจนี้ไปให้คนทุกคน ไม่ว่าเป็นแกนนำหรือใครก็ตามที่กำลังต่อสู้กับสิ่งที่ไม่ยุติธรรม”

อนึ่ง ในงานวิจัยเรื่อง “Truth on Trial in Thailand: Defamation, treason, and lese-majeste” เขียนโดยเดวิด เสตร็คฟัส นักวิชาการอเมริกันอิสระผู้เชี่ยวชาญเรื่องกฎหมายหมิ่นฯ เปิดเผยว่า การใช้กฎหมายอาญามาตรา 112 เพิ่มสูงขึ้น 1,500 % นับตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมา โดยมีคดีที่ถูกดำเนินการเฉลี่ยแล้วปีละเกือบร้อยคดี และมีอัตราตัดสินคดีว่าผิดสูงถึง 94% โดยผู้ต้องหาคดีหมิ่นฯรายล่าสุด คือ นายโจ กอร์ดอน ชาวไทย-อเมริกัน ผู้ถูกกล่าวหาว่าโพสต์ลิงค์ของหนังสือ The King never smiles ไว้หน้าบล็อกของตนเอง และถูกจับกุมในข้อหากระทำผิดพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์และกฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งหากตัดสินว่าผิด อาจได้รับโทษสูงสุด 22 ปี

 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net