Skip to main content
sharethis

กระบวนการการสร้างภาพลักษณ์และอัตลักษณ์ผ่านเสื้อผ้า โอ๊ยยย...จั่วหัวเรื่องมายิ่งใหญ่อลังการมาก อย่างกับหัวข้อวิทยานิพนธ์ (ดีเด่น) อย่างไรอย่างนั้น ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะเมื่อได้รับไฟเขียวจากบอกอบอกว่าให้มาทำเซ็คชั่น ‘บันเทิง’ ของประชาไท ก็แทบจะเอาเท้าพาดคอ (ท่าเล่นโยคะน่ะค่ะ) ไม่นึกว่าท่านจะเอาจริง ประชาไทนี่นะ !!! ขึ้นชื่อว่าเรื่อง ‘บันเทิง’ ก็แทบจะหาสาระอะไรไม่ได้ อยู่แล้ว กลัวเขียนลงไปแล้วแฟนคลับประชาไททั้งหลายจะมาถือป้ายโห่ไล่เหมือนเวลาที่พี่มาร์คสุดหล่อ (แต่ตอนนี้บวมมากค่ะ...ขอบอก) ไปหาเสียง ก็พลันให้หวาดกลัว จะถูกคอมเมนต์ว่าไม่มีสมอง (ระวังให้ดีนะคะ...คนที่มาคอมเมนต์งานดิฉัน เดี๋ยวจะใช้พรบ. คอมพิวเตอร์ฟ้องหมิ่นให้หมดเลย) แต่ไหนๆ ก็ไม่เคยใช้สมองหากินอยู่แล้ว เกิดมาสวยและยังสาว (พี่ ‘หลิ่มหลี’ คะ...หนูไม่ได้พาดพิงพี่นะคะ โปรดอย่าเข้าใจผิด) ก็มักจะถูกครหาอยู่แล้วว่าสวยไม่มีสมอง ก็เลยไม่ค่อยใส่ ‘จี’ เท่าไหร่ กลับมาที่หัวข้อเรื่องข้างบน แปลง่ายๆ ว่าจะมาคุย (ตอแหล) ให้ฟังเรื่องเสื้อผ้าการแต่งตัวนั่นเอง ตอนนี้คงไม่มีใครจะฮอตเท่าสองสาวต่างวัยจากสองฝั่งทวีป ฝรั่งอเมริกานั้นมีแฟชั่นไอคอนเป็นมิเชล โอบามา ส่วนฝั่งอังกฤษนั้นก็มีหวานใจคนใหม่ เคท มิดเดิลตัน หรือตอนนี้ต้องเรียกว่า ดัชเชส ออฟ เคมบริดจ์ (ขอประทานอนุญาตใช้คำสามัญชนไพร่พลเดินดินนะคะ...เพคะ) ย้อนกลับไปดูมิเชล โอบามา เมื่อครั้งที่ฝาละมีลงชิงชัยเก้าอี้ประธานาธิบดีสหรัฐฯ การแต่งตัวอันโดดเด่นของเธอก็ทำให้เป็นข่าวกลบการหาเสียงของสามีมาแล้ว เป็นที่รู้กันดีว่ามิเชลชื่นชอบดีไซเนอร์หน้าใหม่ แบรนด์แปลกๆ ที่ยังไม่ดัง ยังไม่ถือเป็น ‘ซูเปอร์แบรนด์’ เธอก็ช่างสรรหาเสื้อผ้า หยิบจับมาใส่ (ซื้อเองนะคะ...ไม่ได้โทรไปขอ) จนบรรดาดีไซเนอร์เหล่านั้นได้ผุดได้เกิด กลายเป็นแบรนด์ดังชั่วข้ามคืน แบรนด์ที่เธอใส่เป็นประจำก็อย่าง Isabel Toledo (คิวบา), Narciso Rodriguez (คิวบา แอฟริกัน สเปน), Maria Pinto (อิตาเลี่ยน) , Naeem Khan (อินเดีย), Peter Som (จีน), Roksanda Ilincic (เซอร์เบีย), Jason Wu (ไต้หวัน), Rachel Roy (อินเดีย), Duro Olowu (ไนจีเรีย), Tracy Reese (แอฟริกัน-อเมริกัน), Azzedine Alaia (ตูนิเซีย), Thakoon (ไทย) และอีกมากมาย จะเห็นว่าบรรดาดีไซเนอร์ที่เธอเลือกส่วนมาก นอกจากจะไม่ใช่ซูเปอร์แบรนด์แล้ว ดีไซเนอร์ยังเป็นคนเชื้อชาติอื่นๆ ที่ไม่ใช่อเมริกัน (แต่ส่วนมากเป็นอเมริกันบอร์น ที่พ่อแม่อพยพมาจากที่อื่น) เกินครึ่งเป็นดีไซเนอร์เชื้อชาติแอฟริกัน-อเมริกัน (ช่วงแรกๆ) เธอไม่ค่อยหาอะไรที่หาง่าย ไฮโซเกลื่อนกลาดอย่างซูเปอร์แบรนด์ที่มีตามช็อปทั่วไป ที่เป็นเช่นนี้หนึ่งล่ะ เธอเป็นเฟิร์สเลดี้ผิวสี แอฟริกัน อเมริกันคนแรกของสหรัฐอเมริกา การเลือกใส่เสื้อผ้าดีไซเนอร์ของคนเชื้อชาติเดียวกันก็เหมือนการสำนึกรักบ้านเกิด ช่วยเหลือเกื้อกูลเพื่อนร่วมเชื้อชาติ แต่เมื่อพิจารณาว่า แอฟริกัน-อเมริกัน ไม่ใช่ตัวเลือกทั้งหมดในตู้เสื้อผ้าของเธอ แถมยังมีการงดเว้นซูเปอร์แบรนด์โหลๆ ทั้งหลาย อย่าง Chanel, Dior, Louis Vuitton, Gucci, Armani, Prada ฯลฯ ก็ทำให้เราเห็นนโยบายของเฟิร์สเลดี้คนนี้ต่อการแต่งตัวของตัวเอง หากเรานำทฤษฎีที่ว่าการสวมใส่เสื้อผ้าไม่ใช่แค่เรื่องชีวิตประจำวันหรือกาละเทศะ แต่มันยังเป็นการ ‘แสดง’ (Perform) ทั้งตัวตนที่เราอยากจะเป็น (อย่างเช่นดิฉันที่ปรกติจะแสดงเป็น โคโค่ ชาเนล เป็นต้น) หรือที่ถูกสังคมกำหนดอยากจะให้เป็น (เช่นการใส่ยูนิฟอร์มต่างๆ) นัยยะของการเลือกเสื้อผ้าของมิเชล จึงไม่ใช่แค่การเสริมส่งคนเชื้อชาติเดียวกันเพียงอย่างเดียว แต่ยังเป็นการสร้างภาพลักษณ์และอัตลักษณ์ของตัวเองอันว่าด้วยความแตกต่างจากอเมริกันผิวขาวเฟิร์สเลดี้คนก่อนๆ และคนทั่วไป อัตลักษณ์ความเป็นอเมริกันแบบใหม่ที่ไม่เหมือนใคร ไม่ซ้ำใคร ไม่โหล ไม่บ้า แต่มีเทสต์และดูไม่เป็น ‘อเมริกัน’ (ถ้าหากเราเชื่อว่าความเป็นอเมริกันมันมี Essence บางอย่างร่วมกันอยู่) เพราะนอกจากแบรนด์ เชื้อชาติของดีไซเนอร์แล้ว แบบ สี ลายพิมพ์ ยังกระเดียดไปทาง ‘เอ็กโซติก’ มากกว่าที่เป็นงานหรูหรา เล่นดีเทล จับเดรป อะไรเทือกนั้น สังเกตดูได้จากเข็มกลัดที่เธอใช้เป็นประจำ แทนที่จะเป็นเข็มกลัดเพชรอย่างใครๆ เขาเธอก็เลือกใช้เข็มกลัดหินสีอย่างเทอควอยซ์รูปทรงดอกไม้ประหลาดๆ หรือเสื้อผ้าลายพิมพ์ก็จะเป็นลายพิมพ์ในแบบที่คนแฟชั่นเรียกว่า ‘Tribal Print’ หรือลายพิมพ์ที่ได้อิทธิพลมาจากงานชนเผ่า สีก็จะเป็นสีในโทนสดใส แต่ไม่ใช่เฉดแบบโมเดิร์น เป็นเฉดร้อนแรงที่เราสามารถพบได้ในงานศิลปะแบบอิมเพรสชั่นนิสต์แถบแอฟริกา หรือแถบคาริบเบียน ทั้งสีเขียวใบไม้ สีเหลืองมัสตาร์ด สีแดงเลือดนก สีฟ้าเทอควอยซ์ ซึ่งทุกองค์ประกอบนั้นเสริมส่งภาพลักษณ์และอัตลักษณ์ของเธอให้โดดเด่น ‘เอ็กโซติก’ หาใครเทียบได้ ประมาณว่าโลกนี้ต้องจารึกไว้ว่าฉันไม่ใช่ผู้หญิงธรรมดา แต่ฉันเป็นเฟิร์สเลดี้ผิวสีคนแรกของสหรัฐอเมริกา แถมยังมีสไตล์การแต่งตัวที่โดดเด่น เป็นของตัวเอง เชื่อมโยงกับอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์แต่ยังผสมผสานความเป็นโมเดิร์นและแฟชั่น! ไม่ซ้ำทางกับแจ๊กกี้ โอ อดีตเฟิร์สเลดี้ที่ขึ้นชื่อว่าแต่งตัวดีจนเป็นตำนานอีกด้วย! จะว่าไปแล้วการสร้างภาพลักษณ์เอ็กโซติกแบบนี้ก็เป็นการ ‘Discriminate’ ความเป็นอเมริกันผิวขาวของคนอเมริกันทั่วไปเช่นกัน ที่ต้องมานั่งคิดมากแบบนี้ ไม่ใช่อะไรหรอกค่ะ เพราะหลังจากอ่านชื่อดีไซเนอร์แต่ละคนของเธอแล้ว ดิฉันอ่านไม่ออก ต้องมานั่งคลิกหาคำอ่านออกเสียงจนพลอยได้อ่านว่าเป็นใครมาจากไหน เชื้อชาติอะไรด้วย ข้ามมาฝั่งอังกฤษกันบ้าง ที่รักของวงการแฟชั่นคนใหม่อย่างดัชเชสเคท ก็ถูกจับตาทุกฝีก้าว ทุกการปรากฏตัวเช่นเดียวกันว่าจะใส่อะไร แบรนด์ไหน ตั้งแต่ชุดแต่งงานที่เป็นข่าวดังตั้งแต่ยังไม่แต่งว่าเธอจะใส่ของแบรนด์ไหน สุดท้ายหวยก็มาออกที่แบรนด์อังกฤษ (ก็แหงล่ะ) Alexander McQueen โดยซาร่าห์ เบอร์ตัน คนที่มาทำงานต่อจากลี อเล็กซานเดอร์ ที่ลาโลกไปแล้ว (ในใจตอนนั้นคิดว่าขอให้เธอใส่ชุดของป้าวิเวียนทีเถอะ...แต่เธอคงกลัวออกมาฟู่ฟ่า แปลก เปรี้ยวเกินไป เลยเชิดใส่แบรนด์อังกฤษเก่าแก่อย่าง Vivienne Westwood) ความโดดเด่นของการแต่งตัวของเคท มิดเดิลตันอยู่ที่การเลือกซื้อผ้าการ์เม้นต์ถูกๆ ของเธอ เธอใส่แบรนด์บ้านๆ ไม่ต่างจากคนเดินถนนทั่วไป ไม่ว่าจะเป็น Zara, Topshop, Issa, Whitles และบรรดาโลคัลแบรนด์เล็กๆ ทั่วไปตามถนนอ็อกฟอร์ด (ปล. Zara กับ Topshop เมืองไทยแพงมากค่ะ ลดราคาแล้วก็ยังแพง ที่เมืองนอก ลดราคาทีตัวละไม่เกิน 10 เหรียญ คนใส่ Zara หรือ Topshop ที่เมืองไทย จึงชูคอว่าใส่แบรนด์ของแพง!) ราคาก็เบาๆ ตัวละ 30 กว่าเหรียญฯ หรือตัวไหนพิเศษหน่อยจะใส่ออกงานก็ร้อยกว่าเหรียญนิดๆ แต่ก็ยังถือว่าถูก เมื่อเทียบกับฐานะและตำแหน่งของเธอ เธอจึงได้รับการชื่นชมว่า เป็นเจ้าหญิงที่สุดแสนจะสมถะ ไม่ฟุ่มเฟือยฟุ้งเฟ้อ (ส่วนที่นั่งเครื่องบินเจ็ตไปฮันนีมูนนอนรีสอร์ทคืนละ 4,000 กว่าเหรียญฯ อันนั้นไม่นับนะคะ) แถมยังมีเทสต์ มีสไตล์ เลือกเสื้อผ้าได้ดูดี ใส่แล้วน่ารักดูราคาแพง (แหม...ก็หน้าตาดี หุ่นดี เสียขนาดนั้น ลองเอาชุดเดียวกันมาให้พี่หลีของดิฉันใส่ดูสิ มิวายจะถูกเด่นจันทร์ครหาว่าคนอะไรไม่รู้ บางอันแบรนด์บางอันแพลตินั่ม!) การเลือกเสื้อผ้าของเคท มิดเดิลตัน ไม่ใช่แค่การประหยัด มัธยัสถ์ สมถะ เก็บเงินไว้ไปนอนโรงแรมหรูแพงๆ แค่นั้น แต่เธอเลือกแล้วที่จะ ‘คีพลุค’ (Keep Look) (ปล. ขอเว้นเว้นการใช้คำว่าการสร้างภาพลักษณ์และอัตลักษณ์แล้วกัน ฟังดูไม่แฟชั่นเลย!) ตัวเองไว้แบบหนึ่ง อย่างแรก ก็เพื่อให้แตกต่างจากเจ้าหญิงคนก่อน เลดี้ ไดอาน่า ที่แต่งตัวเรียบแต่หรูหรา ราคาแพง ดูเป็นราชนิกูลมากๆ สองก็เพื่อ ‘คีพลุค’ ของตัวเองให้เป็นเจ้าหญิง ‘สามัญชน’ เพราะเธอก็เป็นสามัญชนคนธรรมดามาก่อน ที่ได้เป็นเจ้าก็เพราะแต่งงานกับเจ้า และการเป็นเจ้าหญิงสามัญชนผู้สมถะ ก็ภาพลักษณ์ดีกว่าเป็นไหนๆ ดูน่ารักน่าเอ็นดู แถมยังไม่ซ้ำทางใครอีกด้วย (ดูเจ้าหญิงเบียทริกซ์กับเจ้าหญิงยูจีน แห่งยอร์ค สิ แค่วันแต่งงานก็ขโมยซีนเสียขนาดนั้น) สาม ในขณะที่สถาบันกษัตริย์ของอังกฤษก็เสื่อมมนตร์ขลังลงเรื่อยๆ การมีเจ้าที่มาจากสามัญชน แถมยังทำตัวเยี่ยงสามัญชน ใส่เสื้อผ้าราคาสามัญชน ก็สามารถช่วยรักษาหน้าตา ภาพลักษณ์ ราชบัลลังก์ของระบบกษัตริย์ในอังกฤษไว้ได้ (เอ๊ะ! ดิฉันจะโดนมาตรา 112 ไหมเนี่ย) เรียกว่า Kate Saves The Queen ก็ว่าได้! การเลือกเสื้อผ้าของเคท มิดเดิลตัน จึงเป็น ‘มิชชั่น’ ที่เธอกำหนดขึ้นเพื่อหาที่ยืนทั้งบนพื้นที่ของราชวงศ์ สื่อ สังคม ที่นอกจากจะต้องให้ตัวเองอยู่รอด (การเลือกเสื้อผ้าราคาถูกมาใส่ในงานสำคัญๆ ที่ใครๆ ก็สวมซูเปอร์แบรนด์ โอต์กูตูร์กันทั้งนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายนะคะ) แต่ยังต้องอยู่รอดแบบมีสไตล์ มีอัตลักษณ์ และโดดเด่นกว่าใครอีกด้วย การเป็นเจ้า เป็นอำมาตย์ที่ทำตัวสมถะต่ำต้อย อย่างไรเสียก็มีแต่ภาพบวก อย่างเช่นการไปนั่งกินร้านอาหารข้างทางเป็นต้น แต่ไพร่อย่าได้เผลอไปทำอะไรเหมือนเจ้าเหมือนอำมาตย์ เดี๋ยวจะหาว่าไม่เจียมตน คิดอยากจะตีเสมอ เพราะฉะนั้นต่อจากนี้ดิฉันจะงดเว้นการใส่เสื้อผ้า Zara กับ Topshop เพราะเดี๋ยวจะถูกว่าหาว่าเป็นไพร่แล้วไม่เจียม มาซื้อเสื้อผ้า ใส่เสื้อผ้าแบรนด์เดียวกับเจ้า ว่าแล้วก็ขอตัวไปช้อปปิ้งก่อนแล้วกันนะคะ—หยิบชุดชาเนล คอลเล็กชั่นล่าสุดที่เป็นผ้าทวีดเจาะรูขาดๆ เยินๆ ทั้งตัว โทรหาพี่หลิ่มหลี โบกแท็กซี่ไปแพลตินั่ม มิเชล : คุณน้อง...ใส่ชุดแบรนด์อะไรคะ สวยจังเลย เคท : โอ๊ย...แบรนด์ธรรมดา ราคาร้อยกว่าเหรียญเองค่ะ ไม่แพงเหมือนชุดคุณพี่หรอก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net