Skip to main content
sharethis

30 ก.ย.54 ที่ศาลอาญารัชดา ผู้พิพากษาอ่านคำพิพากษา คดีที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 4 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายวีระ สายพิมพ์ นายจักรกฤช จอมทอง และนางไกรรุ่ง อ่อนคำ ผู้ชุมนุมร่วมกับแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เมื่อปีที่แล้ว เป็นจำเลยในความผิดฐานฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉิน และมีวัตถุระเบิดไว้ในครอบครองโดยผิดกฎหมาย จากกรณีเมื่อวันที่ 19 พ.ค. 53 จำเลยทั้ง 3 คน โดยสารมากับรถแท็กซี่ และถูกทหารตั้งด่านจับกุมได้ บริเวณทางด่วนโทลล์เวย์ ดอนเมือง ขณะที่จำเลยทั้งหมดกำลังจะกลับบ้านที่จังหวัดสกลนคร โดยศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ที่จำเลยอ้างว่าไม่ได้เป็นผู้ครอบครองระเบิดปิงปอง 24 ลูก และวัตถุดังกล่าวเป็นเพียงประทัดไล่นก ไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริง เนื่องจากมีสารประกอบบางอย่างเข้าข่ายผิดกฎหมาย และพยานโจทก์ที่เบิกความไม่รู้จักจำเลย ไม่มีเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อน พิพากษาว่า จำเลยที่ 1 และ 2 มีความผิดตามฟ้อง สั่งลงโทษจำคุก 2 ปี 6 เดือน แต่จำเลยรับสารภาพลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุก 20 เดือน โดยไม่รอลงอาญา ส่วนจำเลยที่ 3 ผิดฐานฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน สั่งลงโทษจำคุก 6 เดือน ปรับ 5,000 บาท โดยให้รอลงอาญา 1 ปี จากนั้นเวลาประมาณ 17.00 น. จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 จึงได้รับการประกันตัว โดยนายนริศ ทองธิราช ส.ส.จังหวัดสกลนครใช้ตำแหน่งประกันตัวจำเลยที่ 1 ส่วนจำเลยที่ 2 ใช้หลักทรัพย์ 2 แสนบาท นางไกรรุ่ง อ่อนคำ จำเลยที่ 3 ให้สัมภาษณ์ \ประชาไท\" ระหว่างนั่งรอผลการประกันตัวจำเลยอีกสองคนว่า เธอและจำเลยทั้งสองเป็นคนบ้านเดียวกัน เดินทางเข้ามาร่วมชุมนุมครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 17 พ.ค.53 เนื่องจากได้ยินข่าวว่าจะมีการสลายการชุมนุม จึงรีบเข้ามาช่วย แต่เข้าที่ชุมนุมไม่ได้ จึงไปปักหลักช่วยทำอาหารแจกจ่ายที่มูลนิธิ 111 จากนั้นวันที่ 19 พ.ค.ได้นำอาหารไปแจกจ่ายที่อนุเสาวรีย์ชัยสมรภูมิที่มีผู้ชุมนุมบางส่วนปักหลักอยู่ เมื่อได้ยินว่าแกนนำมอบตัวก็นัดเพื่อนที่มาด้วยกันเตรียมกลับบ้าน เรียกเท็กซี่เดินทางจะไปขึ้นรถที่รังสิตแต่ถูกทหารตั้งด่านจับกุมตัวบนทางด่วนโทลล์เวย์ ไกรรุ่งเล่าอีกว่า เมื่อทหารตรวจค้นรถแท็กซี่ก็พบถุงใส่ระเบิดปิงปองที่โดนกล่าวหา คนขับแท็กซี่บอกทหารว่าเป็นของผู้โดยสาร แล้วทหารก็ปล่อยคนขับไปทั้งที่แท็กซี่คันนั้นไม่มีป้ายทะเบียน จากนั้นทังหมดก็ถูกข่มขู่ให้รับสารภาพว่าเป็นผู้ครอบครองของกลาง ผู้ชายสองคนถูกตีด้วยด้ามปืน เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจมารับตัวไปสอบสวนก็ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจข่มขู่และตบหน้าอีก ด้วยความกลัวจึงรับสารภาพ แต่เธอไม่ถูกข่มขู่และทำร้ายร่างกาย จึงให้การปฏิเสธโดยยืนยันกับเจ้าหน้าที่ตำรวจว่าทั้งตัวมีเงินติดตัวเพียงร้อยกว่าบาท และโทรศัพท์มือถืออีกหนึ่งเครื่องเท่านั้น ทั้งสามถูกควบคุมตัวที่เรือนจำเป็นเวลาเดือนกว่าก่อนจะได้ประกันตัว ไกรรุ่งกล่าวอีกว่า เธอและสามีมีอาชีพรับจ้างทำงานก่อสร้าง ได้ค่าแรงเป็นรายวัน ต้องเลี้ยงลูก 2 คนที่กำลังเรียน ทำให้ต้องเดินทางมาขึ้นศาลคนเดียว เมื่อครั้งติดคุกก็ไม่มีใครมาเยี่ยมเพราะครอบครัวจะขาดรายได้ เหตุที่เข้ามาร่วมชุมนุมเพราะอยากได้ทีทำกิน คิดว่ารัฐบาลของพรรคเพื่อไทยมีความสามารถในการบริหารเศรษฐกิจมากกว่า และช่วยเหลือคนจนมากกว่า ไกรรุ่งกล่าวอีกว่า ตั้งแต่โดนคดีเธอเดินทางไปขอเงินเยียวยากับทาง นปช.และพรรคเพื่อไทยหลายครั้ง แต่ทั้งสองแห่งก็โยนกันไปมาจนในที่สุดจึงตัดสินใจช่วยเหลือตัวเอง \"พวกเราเสี่ยงตาย กินนอนทุกข์ทรมาน นอนที่ชุมนุม ไม่ใช่ว่าสนุกนะ เหนื่อย เพราะเราอยากได้ที่ทำกินนี่แหละ ที่บ้านไม่มีไร่มีนา อยู่บนหลังเขา เราก็หวังว่าเขาจะช่วยได้\" \"อยู่ในคุกก็ลำบาก ผู้คุมเขาก็ด่าว่าพวกลาวกบฏ พวกขายชาติ _ึงไม่สมควรได้กินข้าว เพื่อนเสื้อแดงบางคนแค้นใจ ร้องไห้สะอึกสะอื้น\" ไกรรุ่งกล่าว หมายเหตุ : มีการแก้ไขเพิ่มเติมเนื้อหาเมื่อ 1 ต.ค. (1.00 น.) เนื่องจากมีการสัมภาษณ์เพิ่มเติม"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net