Skip to main content
sharethis

 

ล้อมวงคุยเสริมความมั่นใจ สรุปปัญหาเพื่อหาทางออกของปัญหา
ในเวทีเสริมความมั่นใจทางกฎหมายข้อบัญญัติท้องถิ่นในการจัดการทรัพยากร ณ ห้องประชุม องค์การบริหารส่วนตำบลฮอด อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2554 ที่ผ่านมา มีหลายกลุ่มหลายฝ่ายได้ล้อมวงกันเพื่อถกประเด็นปัญหาของตำบลฮอดกันอย่างจริงจัง

นายนิพันธ์ ทองคำ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลฮอด กล่าวว่า ที่ผ่านมา มีการประชุมให้ความรู้เรื่อง ข้อบัญญัติท้องถิ่นเรื่องการใช้ที่ดินตำบลฮอด ก็มีทั้งเรื่องของการจัดการที่ดิน การขับเคลื่อนจากข้อมูลพื้นฐานมาสู่การสร้างภาคีเครือข่ายในการทำงานเรื่องข้อบัญญัติท้องถิ่น โดยเฉพาะเรื่องที่ดิน ซึ่งมีปัญหาและยังไม่ชัดเจน ทั้งอุทยานฯ ป่าไม้ รวมทั้งหลายๆ หน่วยงานที่เข้ามาก็ยังไม่ชัดเจนมากนัก จึงต้องอาศัยนักวิชาการเข้ามาหนุนช่วย  พร้อมกับมอบหมายให้ทางรองจงกลฯ ทำหน้าที่ประสานงานและดำเนินการในเรื่องนี้ 

นายก อบต.ฮอด กล่าวอีกว่า ตั้งแต่เข้ามาบริหารพื้นที่ งบประมาณหมดไปกับการการแก้ปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากจนไม่เหลือไปพัฒนาในด้านอื่นๆ เมื่อน้ำท่วมจบก็แก้ปัญหาภัยแล้งต่อ ไม่มีหน่วยงานไหนเข้ามาเยียวยาหรือช่วยเหลืออย่างจริงจัง ชาวบ้านเคยรวมตัวกันเรียกร้องเพราะทนความยากลำบากไม่ไหว สิ่งที่ได้กลับมาคือถุงยังชีพเท่านั้น               

“คุณสร้างเขื่อนแล้วเอาน้ำมาท่วมเรา แต่ไม่เคยมาสนใจเยียวยาเรา ทุกวันนี้ชาวบ้านไม่ต่างไปจากสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ ต้องคอยลุ้นว่าน้ำมาตอนไหนแล้วก็หนี”นายกอบต.ฮอด กล่าว

ในวงเสวนามีการตั้งคำถามกันด้วยว่า ต่อกรณีปัญหาเรื่องที่ดิน หากท้องถิ่นจะเข้ามาดำเนินการจัดการ จะทำได้มากน้อยแค่ไหน

นายวิโรจน์ ติปิน ได้ทบทวนบทเรียน ประสบการณ์การจัดการที่ดิน ตำบลฮอด อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่เอาไว้ว่า ตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา จากการเข้ามาทำงานประสานงานกับทาง อบต.ฮอด เพื่อชักชวนพี่น้องชาวบ้านเข้ามาร่วมในการแก้ไขปัญหาเรื่องของการจัดการที่ดิน พร้อมทั้งได้รับความเห็น การปฏิบัติการในพื้นที่ รวมทั้งการพัฒนากรอบเพื่อสร้างกลไกในการดำเนินงาน ซึ่งทุกคนเห็นด้วยเป็นเสียงเดียวกันว่า ต้องลุกขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหา

แน่นอนว่า เมื่อทุกคนทุกฝ่ายได้สรุปบทเรียนและทบทวนกันแล้ว ต่างออกมาระบุและยืนยันอย่างหนักแน่นว่า ฮอดมีปัญหามาจากการสร้างเขื่อนภูมิพล และดำเนินการต่างๆภายหลังจากการสร้างเขื่อน 

ในขณะที่ เมื่อชาวบ้านได้รับผลกระทบจากปัญหา เมื่อได้เข้าพบหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ก็มักได้รับการบ่ายเบี่ยงเลี่ยงปัญหาไปมาอยู่อย่างนั้น

“พอทำหนังสือไปถึงกรมชลฯ กรมชลฯก็บอกว่ากรมชลฯ มีหน้าที่ปล่อย แต่ความเสียหายให้ไปเรียกร้องกับการไฟฟ้า” 

นักวิชาการกฎหมาย มช. แนะทางออกฟ้องศาลปกครอง
อาจารย์ไพสิฐ พานิชย์กุล จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้บอกเล่าให้ชาวบ้านในพื้นที่ตำบลฮอดฟังว่า จะทำอย่างไร ถึงจะให้ทางชาวบ้านใช้เป็นเงื่อนไขในการใช้กฎหมายกับสถานการณ์ปัญหาที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน   

อาจารย์ไพสิฐ ยังได้แนวทางในการเรียกร้องสิทธิให้ฟ้องศาลปกครอง

“ซึ่งเมื่อดูในข้อกฎหมาย หากพื้นที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ต้องเวนคืนให้กับชาวบ้าน โดยทางออกมีอยู่หลายแนวทาง คือ 1.อบต. และชาวบ้านเข้าชื่อกัน ทำหนังสือถึงนายกฯ 2.ฟ้องศาลปกครองให้ กฟผ.คืนพื้นที่ โดยอ้างกฎหมาย พ.ร.บ.เวนคืน และกฎหมายรัฐธรรมนูญ พร้อมกับรวบรวมรายชื่อชาวบ้าน ทำแผนที่ให้ชัดเจน แล้วทำเรื่องยื่นหนังสือไปยังกฟผ.เรื่องการเวนคืนที่ดิน การใช้ที่ดิน และ หลังจากนั้นรอคำตอบ หากไม่ทำอะไร ก็ให้มาสู่กระบวนการฟ้องศาลปกครอง รวมไปถึงการทำหนังสือถึงกรรมาธิการฯเพื่อลงมาตรวจสอบ” 

อาจารย์ไพสิฐ ยังบอกอีกว่า แต่ก่อนที่จะดำเนินการเรียกร้อง หรือฟ้องร้อง นั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่ชาวบ้านในชุมชน จะต้องมีความชัดเจนในข้อมูลปัญหาและพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากเขื่อนทั้งหมดเสียก่อน

“เพราะปัญหาในพื้นที่ที่มีการขับเคลื่อนบางช่วง บางตอน พอเรียกหน่วยงานมา ก็ไม่ได้ทำอะไร มีความไม่ชัดเจนระหว่าง กฟผ.กับกรมชลประทาน เพราะว่าพื้นที่เป็นลักษณะขึ้น–ลงตามระดับน้ำ ในอดีตไม่ได้มีการสำรวจว่า ระดับน้ำท่วมถึงอยู่ตรงไหน เมื่อสภาพความเป็นจริง กับเอกสารไม่ตรงกัน จึงต้องเจอกับปัญหาข้อกฎหมายเช่นนี้  ฉะนั้น การใช้หลักกฎหมายต้องบวกกับข้อเท็จจริง เช่นเดียวกับปัญหากรณีอุทยานฯ ทับที่ดินชาวบ้าน หากไม่ไปดูว่า ชาวบ้านทำอะไร อย่างไร เมื่อรัฐไปวงขีดไว้ก่อน กลายเป็นเขตพื้นที่ตามกฎหมาย คนที่อยู่ในเขตก็ถือว่า ผิดแล้ว นี่เป็นประเด็นที่ทาง อบต.ฮอดและชาวบ้านสามารถดำเนินการได้เลย” 

เตรียมขับเคลื่อน ออกข้อบัญญัติท้องถิ่น 
นายโอฬาร อ่องฬะ  ผู้ประสานงานสถาบันพัฒนาท้องถิ่น บอกว่า ตำบลฮอด มีปัญหามาเป็นเวลายาวนานแล้ว ตั้งแต่ปัญหาน้ำท่วม จนไปสู่การพัฒนาศักยภาพท้องถิ่น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะมีการหนุนเสริม สร้างความเข้าใจของผู้บริหารท้องถิ่น ให้ท้องถิ่นมีอำนาจในการแก้ไขปัญหาตัวเองได้ รวมไปถึงการเสริมสร้างบทบาทแต่ละภาคส่วน ว่าจะช่วยหนุนเสริมได้อย่างไรบ้าง  ในขณะที่นโยบายการปกครองในขณะนี้ ยังให้อำนาจคงอยู่ 2 ส่วน นั่นคือ การถ่ายโอนอำนาจบางส่วนไม่ได้กลับไปให้อำนาจท้องถิ่นเดิม ในขณะที่ข้างบนมีแนวโน้มที่จะมีการรื้อฟื้นโครงสร้างคณะกรรมการหมู่บ้านให้ปรับมาใช้สูงขึ้น เป็นตัวแทนรัฐ มีบทบาทเพิ่มมากขึ้น 

“ดังนั้น ทำอย่างไรถึงจะเอาบทบาทของท้องถิ่นมาขยับ มาแก้ไขปัญหาร่วมกัน หากสามารถเข้าใจพลังอำนาจท้องถิ่นแล้ว เราก็สามารถมาออกแบบ แนวทางการสร้างข้อบัญญัติท้องถิ่น มาแก้ไขปัญหาตำบลฮอดร่วมกันได้” 

นั่นทำให้ชาวบ้านและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้หันมาหยิบเอารัฐธรรมนูญไทยที่เกี่ยวกับสิทธิชุมชนและการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม มาเปิดกางเพื่อศึกษาหาแนวทางในการขับเคลื่อนต่อสู่และเรียกร้องกันต่อไป

ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 66 ที่ระบุว่า บุคคลซึ่งรวมกันเป็นชุมชน ชุมชนท้องถิ่นหรือชุมชนท้องถิ่นดั่งเดิม ย่อมมีสิทธิอนุรักษ์หรือฟื้นฟูจารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่นและของชาติ และมีส่วนร่วมในการจัดการ การบำรุงรักษา และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม รวมทั้งความหลากหลายทางชีวภาพอย่างสมดุลและยั่งยืน           

และมาตรา 67 ระบุไว้อีกว่าสิทธิของบุคคลที่จะมีส่วนร่วมกับรัฐและชุมชนในการอนุรักษ์ บำรุงรักษา และการได้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ และในการคุ้มครอง ส่งเสริม และรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ดำรงชีพอยู่ได้อย่างปกติและต่อเนื่องในสิ่งแวดล้อม ที่จะไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพอนามัย สวัสดิภาพ หรือคุณภาพชีวิตของตน ย่อมได้รับความคุ้มครองตามความเหมาะสม

ทั้งนี้ ในเวทีดังกล่าว ได้มีการเชิญตัวแทนของ อบต.ทาเหนือ และ อบต.แม่ทา มาแลกเปลี่ยนถึงกรณีที่เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ได้มีการเสนอออกข้อบัญญัติท้องถิ่น เพื่อให้ชุมชนท้องถิ่นได้ลุกขึ้นมาจัดการฐานทรัพยากรในพื้นที่ของตนเอง 

แน่นอนว่า ปัญหาอาจแตกต่างกับพื้นที่ของฮอด แต่สามารถนำมาปรับเปลี่ยนเรียนรู้เป็นแนวทางได้

ว่ากันว่า กรณีพื้นที่ ต.ทาเหนือ ต.แม่ทา อ.แม่ออน จ.เชียงใหม่ได้ลุกขึ้นมาจัดทำข้อบัญญัติท้องถิ่น ก็เพราะว่าชาวบ้านมีปัญหาเรื่องพื้นที่ทำกินอยู่ในเขตอุทยานฯ และการขับเคลื่อนของการออกข้อบัญญัติท้องถิ่นของ อบต.ทาเหนือ เริ่มต้นจากเอาปัญหาเป็นตัวตั้ง จากปัญหานำมาสู่ความเข้าใจร่วมกัน ในขณะที่ทาง อบต.แม่ทา ก็เริ่มจากการจัดกลุ่มไม่เป็นทางการ  เช่น ป่าชุมชน จนกลายมาเป็นข้อบัญญัติท้องถิ่นได้ 

(อ่าน การแก้ไขปัญหาที่ดินโดยชุมชน ข้อบัญญัติท้องถิ่นกับการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ

กรณีตำบลแม่ทา อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่http://www.codi.or.th/landresolve/index.php?option=com_content&view=article&id=167%3A2011-02-15-09-07-14&catid=38%3A2009-08-27-07-27-35&Itemid=33&lang=en)

ซึ่งต่างจากพื้นที่ตำบลฮอด ที่เกิดปัญหาจากการสร้างเขื่อน ดังนั้น ทางออกทางแก้จึงย่อมแตกต่างกัน

อย่างไรก็ตาม การผลักดันข้อบัญญัติท้องถิ่นในการจัดการทรัพยากรจะสำเร็จได้หรือไม่นั้น สิ่งสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งก็คือ กระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน จะต้องทำความเข้าใจชาวบ้านว่า ทำแล้วเกิดประโยชน์อย่างไร ต้องมีการสื่อสารกับชาวบ้านให้มีความเข้าใจอย่างแท้จริง ก่อนจะยกร่างข้อบัญญัติท้องถิ่น แล้วเสนอต่อสภา เพื่อให้ความเห็นชอบต่อไป

ล่าสุด ชาวบ้าน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมทั้งองค์กรหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันวางแผนในการขับเคลื่อนเพื่อแก้ไขปัญหาที่หมักหมมมายาวนาน โดยได้หยิบยกประเด็นหลักในการขับเคลื่อน เช่น จัดวางกลไกการทำงาน สร้างองค์กรชุมชนให้เกิดความเข้มแข็ง,การจัดทำฐานข้อมูล ทั้งข้อมูลรายแปลง เขตพื้นที่เวนคืนอุทยานแห่งชาติออบหลวง และเขตพื้นที่ตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ

นอกจากนั้น ให้มีการมีสำรวจข้อมูลที่ดินทำกินในอีก 5 หมู่บ้าน ซึ่งเป็นพื้นที่เวนคืนแต่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ มีทั้งหมดจำนวนกี่ไร่ กี่แปลง มีผู้ถือครองที่ราย ข้อมูลแสดงถือครองที่ดินทำกิน ที่อยู่อาศัย จำนวนเท่าไหร่ และที่ดินในเขตป่าเพื่อขอเพิกถอน แต่เปลี่ยนเป็นขอปรับปรุงแนวเขตฯ 

ที่สำคัญคือการสืบค้นหารากเหง้าของตนเอง ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งในการจัดทำข้อมูลประวัติศาสตร์ชุมชน เพื่อเป็นหลักฐานอ้างอิงการตั้งถิ่นฐานชุมชน คำบอกเล่า คนเฒ่าคนแก่ ผังเมืองเก่า ผังเมืองปัจจุบัน เส้นทางการค้าวัตถุโบราณ ลายลักษณ์ อักษร เป็นต้น 

หลังจากนั้น จึงนำไปสู่การนำเสนอบนเวทีสาธารณะ และยื่นหนังสือถึงผู้เกี่ยวข้องให้ออกมารับผิดชอบและแก้ไข

และขั้นตอนต่อไป ชาวบ้าน ชุมชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น บอกว่าพร้อมจะออกมาเคลื่อนไหวต่อสู้ในแง่กฎหมาย หาก กฟฝ.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ตอบรับ ก็จะนำไปสู่กระบวนการฟ้องศาลปกครองในที่สุด

ทั้งนี้ ในช่วงท้ายของวงเสนาได้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น มีเสียงชาวบ้านตำบลฮอดคนหนึ่งสะท้อนออกมาให้หลายคนได้ฉุกคิด....

“เขื่อนเป็นของใคร เป็นของรัฐบาล หรือบริษัท ใครเป็นผู้ได้รับผลประโยชน์ โดยการแอบอ้างว่านี่เป็นพระราชดำริ แล้วจะไม่ให้ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อน?!” 

 

 

ข้อมูลประกอบ:
บันทึกเวทีเสริมความมั่นใจทางกฎหมายข้อบัญญัติท้องถิ่นในการจัดการทรัพยากร,21 ธันวาคม 2554 ณ ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนตำบลฮอด อำเภอฮอด  จังหวัดเชียงใหม่

เสียงครวญของ “ชุมชนสละที่สร้างเขื่อน” เจอน้ำท่วมซ้ำซาก-เป็นพื้นที่ถูกลืม, 23 กุมภาพันธ์,ศูนย์ข่าวเพื่อชุมชน สำนักข่าวอิศรา 

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง: 
เรียนรู้ ‘ฮอด’ ชุมชนเก่าแก่ใกล้ล่มสลาย? บทเรียนก่อนและหลังกำเนิดเขื่อนภูมิพล (ตอน 1)
เรียนรู้ ‘ฮอด’ บทเรียนก่อนและหลังกำเนิดเขื่อนภูมิพล (ตอน 2)
เรียนรู้ ‘ฮอด’ ชุมชนเก่าแก่ บทเรียนก่อนและหลังกำเนิดเขื่อนภูมิพล (ตอน 3)
เรียนรู้ ‘ฮอด’ ชุมชนเก่าแก่ บทเรียนก่อนและหลังกำเนิดเขื่อนภูมิพล (ตอน 4)
เรียนรู้ ‘ฮอด’ ชุมชนเก่าแก่ บทเรียนก่อนและหลังกำเนิดเขื่อนภูมิพล (ตอน 5 )

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net