Skip to main content
sharethis

 ศอ.บต.ตั้งผู้เชี่ยวชาญไทย – มลายู – อังกฤษ พิจารณาตั้งป้าย 3 ภาษา แถมจีนบางพื้นที่ เน้นรักษาอัตลักษณ์คนชายแดนใต้ เริ่มที่ป้ายบอกเมือง คาดติดได้ช่วงฉลองสิ้นสุดรอมฎอน ส่วนป้ายบอกทางดำเนินการปีหน้า

 

ป้าย 3 ภาษา – ป้ายบอกทางตามถนนหนทาง รวมทั้งป้ายสถานที่ต่างๆ ใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ภาคใต้ จะเริ่มเปลี่ยนเป็นป้าย 3 ภาษาตั้งแต่ช่วงเดือนสิงหาคม 2555 เป็นต้นไป โดยจะเพิ่มข้อความภาษามลายูอักษรยาวีอีกหนึ่งแถว ตามที่คณะกรรมการยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.) เห็นชอบ

นางอลิสรา มะแซ ผู้ช่วยรองเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้(ศอ.บต.) เปิดเผยว่า พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการ ศอ.บต. มีคำสั่งแต่งตั้งคณะที่ปรึกษาและคณะทำงานจัดทำป้าย 3 ภาษาแล้ว เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2555 ที่ผ่านมา โดยมีจำนวน 12 คน ซึ่งเป็นผู้เชียวชาญด้านภาษาทั้ง 3 ภาษาดังกล่าว และมีคณะที่ปรึกษาอีก 9 คน

นางอลิสรา เปิดเผยต่อไปว่า คณะทำงานชุดนี้ มีหน้าที่ในการพิจารณา แนวทางการทำงาน การออกแบบป้ายชื่อภาษาที่ถูกต้อง การใช้ตัวอักษร อักขระให้สอดคล้องกับความต้องการของพื้นที่ และเป็นไปตามอัตลักษณ์ของจังหวัดชายแดนภาคใต้ และรายงานผลการดำเนินงานให้คณะที่ปรึกษา พร้อมกับการประชาสัมพันธ์ให้สาธารณชนทราบอย่างต่อเนื่อง

นางอลิสรา เปิดเผยอีกว่า เดิมคณะทำงานตั้งใจว่าจะให้มีการติดตั้งป้ายประชาสัมพันธ์ 3 ภาษาดังกล่าวให้ได้ก่อนเดือนรอมฎอน ซึ่งเป็นเดือนถือศีลอดของชาวมุสลิม ที่จะเริ่มประมาณวันที่ 19 กรกฎาคม 2555 นี้ โดยเริ่มจากป้ายบอกเมืองก่อน แต่เนื่องจากเกิดความล่าช้าในการทำงาน จึงคาดว่าป้ายดังกล่าวจะแล้วเสร็จในช่วงวันรายอ หรือวันสิ้นสุดของการถือศีลอดในเดือนรอมฎอน ส่วนการติดตั้งป้ายบอกทางริมทางหลวงที่มี 3 ภาษานั้น คณะทำงานคาดว่าจะเริ่มจัดทำได้ในปี 2556

ทั้งนี้ คำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานดังกล่าว เป็นคำสั่งที่ 122/2555 ระบุว่า ศอ.บต.ได้รับมอบหมายให้ดำเนินงานตามมติที่ประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.) ครั้ง 1/2555 เมื่อวันศุกร์ที่ 3 กุมภาพันธ์ 2555 ที่เห็นชอบให้รณรงค์การจัดทำป้ายชื่ออย่างน้อย 3 ภาษา ประกอบด้วย ภาษาไทย ภาษาอังกฤษและภาษามลายูถิ่น รวมทั้งภาษาจีนในพื้นที่ที่มีคนไทยเชื้อสายจีนอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก โดยดำเนินการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

 

สำหรับรายชื่อคณะทำงาน ประกอบด้วย

1) นายฐานิส ศรียะพันธ์ รองเลขาธิการ ศอ.บต.เป็นประธานคณะทำงาน

2) รศ.ดร.รัตติยา สาและ อาจารย์มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตสงขลา เป็นคณะทำงาน 

3) นายนิอับดุลรากิ๊บ บินนิฮัสซัน อาจารย์ประจำภาควิชามลายูศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เป็นคณะทำงาน

4) นายมัสลัน มาหะมะ อาจารย์มหาวิทยาลัยอิสลามยะลา เป็นคณะทำงาน

5) แขวงการทางจังหวัดยะลา ปัตตานี และนราธิวาส เป็นคณะทำงาน

6) นายสะมะแอ มะแซ หัวหน้าฝ่ายบริหารงานปกครองอำเภอมายอ เป็นคณะทำงาน

7) นายมาโนช บุญญนุวัฒน์ อุปนายกพุทธสมาคมจังหวัดยะลา เป็นคณะทำงาน

8) นายสุขเกษม จารง เป็นคณะทำงาน

9) นายชาลี เร็งมา เป็นคณะทำงาน

10) ผู้อำนวยการสำนักประสานนโยบายการศึกษา ศาสนาวัฒนธรรมและกีฬา เป็นคณะทำงานและเลขานุการ

11) นางอลิสรา มะแซ ผู้ช่วยเลขาธิการ ศอ.บต. (ตัวแทนกระทรวงวัฒนธรรม หรือ วธ.) เป็นคณะทำงานและผู้ช่วยเลขานุการ

12) นางสาปีน๊ะ ประชัยเทพ นักวิชาการวัฒนธรรมชำนาญการ เป็นคณะทำงานและผู้ช่วยเลขานุการ

 

ส่วนรายชื่อคณะที่ปรึกษา ประกอบด้วย

1. เลขาธิการ ศอ.บต.

2. นายประมุข ลมุล รองเลขาธิการ ศอ.บต.

3. นายอดินันท์ ปากบารา รองเลขาธิการ ศอ.บต.

4. นายฐานิส ศรียะพันธ์ รองเลขาธิการ ศอ.บต.

5. ผศ.ปิยะ กิจถาวร รองเลขาธิการ ศอ.บต.

6. นายวิเชียร จันทรโณทัย รองเลขาธิการ ศอ.บต.

7. ผู้อำนวยการสำนักบริหารกลาง

8. ผู้อำนวยการสำนักประสานนโยบายสังคมจิตวิทยา

9. ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผน

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net