Skip to main content
sharethis

บีบีซีรายงานเลขาธิการสมช. ลงนามกับตัวแทน 'บีอาร์เอ็น' ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ โดยมีรัฐบาลมาเลเซียเป็นตัวกลางการเจรจา ในขณะที่นายกฯ ยิ่งลักษณ์เข้าพบนายกฯ มาเลเซียเพื่อหารือเรื่องปัญหาภาคใต้ เศรษฐกิจและการลงทุน

 

28 ก.พ.56 - สำนักข่าวบีบีซีรายงานว่า รัฐบาลไทยได้ลงนามข้อตกลงสันติภาพร่วมกับกลุ่มก่อความไม่สงบมุสลิม เพื่อหวังยุติเหตุความขัดแย้งในภาคใต้ของไทย
 
สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ หรือ สมช. ลงนามข้อตกลงร่วมกับกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบชาวมุสลิม BRN เพื่อแก้ปัญหาไฟใต้ที่ยืดเยื้อกว่า 10 ปี โดยข้อตกลงดังกล่าว รัฐบาลไทยลงนามร่วมกับ "ขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปัตตานี" หรือ"บีอาร์เอ็น" (Barisan Revolusi Nasional Melayu Patani) ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบในภาคใต้ของไทย เพื่อเตรียมแก้ปัญหาความขัดแย้ง
 
สำนักข่าวเอเอฟพี รายงานว่า การลงนามในข้อตกลงดังกล่าว เกิดขึ้นที่ศูนย์ฝึกอบรมตำรวจ หรือ พูลาโพล ในถนนเสมารัค กรุงกัวลาลัมเปอร์ 
 
ขณะที่ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีไทย ได้ออกเดินทางไปยังประเทศมาเลเซียเมื่อช่วงสายที่ผ่านมา และมีกำหนดการที่เข้าพบกับ นายนาจีบ ราซัก นายกรัฐมนตรีของมาเลเซียในช่วงบ่ายถึงค่ำวันนี้ (28 ก.พ.)
 
มาเลเซียได้ทำหน้าที่ในฐานะผู้ประสานงานของการเจรจาครั้งนี้ และคาดว่าจะทำหน้าที่เป็นเจ้าภาพจัดการเจรจาที่คาดว่าจะมีขึ้นเร็วๆนี้ โดยเจ้าหน้าที่เปิดเผยว่า เอกสารต่างๆที่มีการลงนามในกรุงกัวลาลัมเปอร์ จะเป็นจุดเริ่มของกระบวนการเจรจา
 
รายงานระบุว่า การลงนามครั้งนี้ ถือเป็นความพยายามครั้งสำคัญในการยุติความรุนแรงที่เกิดขึ้นในภาคใต้ของไทย ที่ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
 
ด้านพลโท ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เปิดเผยว่า นี่ถือเป็นความพยายามของรัฐบาลไทยในการจัดการกับปัญหาความไม่สงบ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะสามารถยุติความรุนแรงได้ในทันที ส่วนนายฮัสซัน ทาอิบ ซึ่งเป็นตัวแทนของกลุ่มบีอาร์เอ็นในการลงนาม กล่าวว่า เขาขอขอบคุณพระอัลเลาะห์ และจะทำในสิ่งที่ดีที่สุดเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว และจะแก่บอกประชาชนเพื่อให้ร่วมมือกันเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวด้วย
 
ในขณะที่เว็บไซต์บางกอกโพสต์ รายงานคำพูดของพลโทภราดร ก่อนที่จะเดินทางไปยังมาเลเซียว่า เขาได้ตรวจเช็คว่ากลุ่มดังกล่าวตั้งอยู่ที่มาเลเซียจริงหรือไม่ และการเจรจาเป็นไปได้หรือไม่ก่อนที่จะขอความร่วมมือจากมาเลเซีย นอกจากนี้ ประเมินว่า น่าจะมีแนวร่วมอยู่ในมาเลเซียน้อยกว่า 1,000 คน 
 
โจนาธาน เฮด ผู้สื่อข่าวบีบีซี ตั้งข้อสังเกตว่า ถึงแม้ว่าก่อนหน้านี้จะมีความพยายามเจรจาหลายครั้งที่ท้ายสุดก็ล้มเหลว แต่ที่แตกต่างสำหรับครั้งนี้ คือการลงนามในข้อตกลงก่อนการเจรจา และเกิดขึ้นในทางสาธารณะจากนายกรัฐมนตรีไทยและมาเลเซีย ส่งผลให้ทั้งสองฝ่ายต้องปฏิบัติตามขั้นตอน และเป็นครั้งแรกที่รัฐไทยยอมรับการมีตัวตนของกลุ่มก่อความไม่สงบ และมีการพูดคุยเรื่องข้อเรียกร้องต่างๆ 
 
เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา มาเลเซียได้เป็นตัวกลางในการเจรจาสันติระหว่างรัฐบาลฟิลิปปินส์ และขบวนการแบ่งแยกมุสลิมในเกาะมินดาเนา ทำให้ยุติการต่อสู้ที่ยาวนานนับสิบปี 
 
ทั้งนี้ ตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบในภาคใต้ในปี 2547 มีผู้เสียชีวิตแล้วกว่า 5,000 ราย
 
เนื้อหาบางส่วนจาก มติชนออนไลน์
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net