Skip to main content
sharethis

เก็บตกจากสัมมนา 15 ปีองค์กรอิสระ สำรวจธรรมาภิบาล สำรวจประชาธิปไตย มุมมองจากผู้เป็น เคยเป็น หรือเกี่ยวข้องกับ “องค์กรอิสระ” พงศ์เทพ เทพกาญจนา-วิษณุ วรัญญู- เมธี ครองแก้ว-โคทม อารียา-สุภิญญา กลางณรงค์-สุนี ไชยรส ฯ

 

เมื่อวันที่ 1 มีนาคมที่ผ่านมา ประชาไทร่วมกับโครงการสะพาน ได้จัดสัมมนาว่าด้วย “องค์กรอิสระ” ขึ้น โดยมีกำหนด 3 ครั้ง ครั้งนี้นับเป็นครั้งแรก ได้รับเกียรติเปิดงานจาก ‘คริสตี้ เคนนี่ย์’ เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย และ ‘พงศ์เทพ เทพกาญจนา’ รองนายกรัฐมนตรี และอดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ  โดยมีปาฐกถายาวนานว่าด้วย ประวัติศาสตร์ พัฒนาการรัฐธรรมนูญ การก่อกำเนิด และความเข้าใจผิดเกี่ยวกับสถานะขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ โดย รศ.วิษณุ วรัญญู ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองสูงสุด จากนั้นต่อด้วยวงเสวนาช่วงเช้า จากผู้มีประสบการณ์ตรงกับองค์กรอิสระ และเวทีช่วงบ่ายซึ่งเป็นประเด็นเกี่ยวกับ องค์กรอิสระกับสื่อมวลชน (รายละเอียดกำหนดการ)

 

 

นอกจากนี้วันที่ 1 แล้ว ยังมีการจัดสัมมนาต่อเนื่องในวันที่ 8 มี.ค.นี้ ซึ่งจะว่าด้วย ‘ภาคธุรกิจและองค์กรอิสระ การหนุนเสริมเพื่อสร้างธรรมาภิบาล’ มีผู้อภิปราย ได้แก่ ศ.(พิเศษ) วิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช. , พิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ที่ปรึกษาผู้ตรวจการแผ่นดิน, วัลลภา แวนวิลเลียนส์วาร์ด ผู้จัดการบริษัทสวนเงินมีมาจำกัด และ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ รองประธานกรรมการบริหารกลุ่มบริษัทไทยซัมมิท

ปิดท้ายด้วยเสวนาในวันที่ 15 มี.ค. ว่าด้วย ‘ความหวังของภาคประชาสังคมในการถ่วงดุลกระบวนการทางการเมืองและนโยบายสาธารณะ’ มีผู้อภิปรายได้แก่ ศ.กำชัย จงจักรพันธ์ ที่ปรึกษา กกต., จอน อึ๊งภากรณ์ อนุกรรมการฯ ในกรรมการสิทธิฯ, นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิฯ

เพื่อเป็นการเปิดประเด็น เรียกน้ำย่อยสำหรับการถกเถียงในเรื่องใหญ่ว่าด้วยองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ประชาไทรวบรวมโควทที่น่าสนใจของวิทยากรซึ่งได้ร่วมอภิปรายไปแล้วในวันที่ 1 มี.ค.ที่ผ่านมา ดังนี้

 

คริสตี้ เคนนี่ย์ เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย

หัวข้อในวันนี้ค่อนข้างถูกใจฉัน ไม่ใช่เพราะฉันเป็นทูต หรือเป็นตัวแทนรัฐบาล แต่เพราะฉันเป็นพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย และคิดว่าพวกเราที่เป็นพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย ก็อยากให้รัฐบาลและประเทศเข้มแข็ง และสะท้อนความเห็นของประชาชน และการจะทำเช่นนั้นได้ ต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วม ต้องทำให้แน่ใจว่าพลเมืองไม่ว่าพรรคการเมืองใด มีความคิดทางการเมืองแบบใดได้แสดงความเห็น และเรามีสถาบันที่ช่วยเป็นช่องทางแสดงความเห็นของพลเมือง ซึ่งจะทำให้รัฐบาลทำตามที่ประชาชนต้องการ

 

พงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (พ.ศ.2540)

- 1 -

เรื่องขององค์กรอิสระกับธรรมาภิบาลเป็นหัวใจสำคัญที่เป็นประเด็นปัญหาที่ประเทศไทยจะต้องมาขบคิดในเรื่องนี้กันอย่างจริงจัง ผมเองอาจเป็นคนไม่กี่คนที่ได้มีโอกาสทำงานอยู่ในกลไกการใช้อำนาจอธิปไตยทั้งสามอำนาจ ผมเริ่มจากฝ่ายตุลาการแล้วก็มา เป็นฝ่ายนิติบัญญัติ บริหาร ได้เห็นหมดว่าคนในกลไกต่างๆ ทั้งสามอำนาจมีคนประเภทไหนบ้าง ทำงานอย่างไร และพูดได้ว่าไม่ว่าจะองค์กรไหน มีคนทุกประเภทปนอยู่เหมือนๆ กันทั้งสิ้น ไม่มีองค์กรไหนจะมีแต่คนที่เก่งคนที่ตรงไปตรงมา ซื่อสัตย์ ดีเหมือนกันทุกคน ปนกันอยู่ทั้งสิ้น และการที่ปนกันอยู่ไม่ใช่ปนกันเฉพาะในประเทศไทย ทั่วโลกเหมือนกัน

- 2 -

ผมเองมีส่วนร่วมในการที่ก่อให้เกิดขึ้น ช่วงระหว่างการยกร่างรัฐธรรมนูญ 2540 ตอนนั้นก็คิดว่าทำอย่างไรที่จะมีกลไกการตรวจสอบขึ้นมาใหม่ ที่สามารถตรวจสอบทั้งฝ่ายนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ  ก็ต้องยอมรับว่า ส.ส.ร.ในปี 2540 ก็ผิดพลาด ตัวผมเองก็ผิดพลาด เพราะคิดว่าเราจะหาคนที่เพียบพร้อม ด้วยคุณธรรมความรู้ ตรงไปตรงมา เข้ามาอยู่ในองค์กรอิสระ ซึ่งมีเยอะ คนประเภทที่ต้องบอกว่า ซูเปอร์ฮีโร่ทั้งหลาย แต่ซูเปอร์ฮีโร่ทั้งหลายนั้นมีแต่ในหนังสือการ์ตูน ในชีวิตจริงหายาก ...และผู้ที่ได้รับการยกย่องชื่นชมทั้งหลาย หลายครั้งก็ได้กระทำสิ่งที่ไม่ถูกต้องเยอะแยะมากมาย

- 3 -

สิ่งที่สำคัญคือเมื่อเราสร้างองค์กรอิสระขึ้นมา ซึ่งหลายองค์กรมีบทบาทในการตรวจสอบ แต่องค์กรเหล่านี้ซึ่งมีอำนาจมหาศาล อาจจะมากกว่าองค์กรเดิมๆ ด้วยซ้ำไป แล้วใครล่ะมาตรวจสอบองค์กรเหล่านี้ ใครจะรักษาประโยชน์ของตัวเขาได้ดีที่สุด .... เราก็เห็นว่าเขาไม่มีทางสามารถรักษาประโยชน์ของคน 60 กว่าล้านคนได้ ทำอย่างไรที่จะจัดกลไกถ้ามีองค์กรอิสระ องค์กรอิสระนี้ต้องมีความยึดโยงกับประชาชนอย่างไร องค์กรอิสระเหล่านี้ต้องถูกตรวจสอบอย่างไร

 

วิษณุ วรัญญู ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองสูงสุด

- 1 -

องค์กรหรือสถาบันใดก็ตามถ้าไม่ถูกตรวจสอบ ไม่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ มีแต่เสื่อม ศาลก็เหมือนกัน ศาลก็ต้องถูกตรวจสอบได้ การตรวจสอบศาลนั้นตรวจสอบผ่านคำพิพากษาว่า คำพิพากษามีเหตุมีผลไหม ถูกต้องตามกฎหมายไหม ผมเชิญชวนให้เราตรวจสอบคำพิพากษาทั้งของศาลยุติธรรม ศาลปกครอง ศาลรัฐธรรมนูญ ต้องตรวจสอบไม่อย่างนั้นศาลจะเสื่อม

- 2 -

พอองค์กรอิสระอยู่ในรัฐธรรมนูญแล้วเกิดความเข้าใจไปว่าเป็นองค์กรระดับเดียวกับองค์กรใช้อำนาจอธิปไตย ปฏิเสธการถูกตรวจสอบ ก็ทำให้ผิดฝาผิดตัว รัฐธรรมนูญ 2540 ยังดีที่ใส่องค์กรเหล่านี้ใส่ไว้เฉยๆ เพื่อให้ได้รับอานิสงค์ของการเป็นกฎหมายสูงสุดที่จะไม่ถูกแก้ไขโดยง่าย แต่รัฐธรรมนูญ 2550 ไปไกลเลย เพราะองค์กรอิสระเหล่านี้ถูกจัดหมวดหมู่ว่าเป็น “องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ” ในทางความรับผิดชอบ การถูกตรวจสอบ มาตรา 223 ของรัฐธรรมนูญจำกัดอำนาจศาลปกครองไว้เลยว่า ถ้าเป็นการใช้อำนาจวินิจฉัยชี้ขาดขององค์กรเหล่านี้ไม่ได้ ศาลปกครองไปตรวจสอบไม่ได้ เท่ากับว่าองค์กรเหล่านี้มีสถานะเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญและหลุดพ้นจากการถูกตรวจสอบ สะท้อนให้เห็นถึงความเข้าใจผิดอย่างมาก ....ซึ่งจะเป็นปัญหามากทำให้องค์กรอิสระกลายเป็นองค์กรที่จะมาขบ ทับซ้อนกับการใช้อำนาจขององค์กรอื่นๆ ตามรัฐธรรมนูญ และเป็นการทับซ้อนในลักษณะที่ไม่มีใครไปตรวจสอบได้ด้วย

- 3 -

องค์กรอิสระของบ้านเราขาดการจินตนาการแบบหลากหลายที่จะให้ที่มา อำนาจหน้าที่ องค์ประกอบโครงสร้างเป็นประโยชน์อย่างแท้จริง ถ้าดูองค์กรอิสระที่มีอยู่มันอิงกับราชการอย่างสำคัญ ยกเว้นคณะกรรมการสิทธิฯ และ กสทช. ที่เปิดโอกาสให้ภาคประชาชนเข้าไปเป็นกรรมการได้

- 4 -

นอกจากจัดที่ทางให้องค์กรอิสระมีสถานะที่ถูกต้องแล้ว ไม่เกินที่ตัวเองเป็น ควรจัดให้องค์กรอิสระต้องมีความรับผิดชอบ ต้องสามารถถูกตรวจสอบได้ ถ้าองค์กรอิสระไม่สามารถมีความรับผิดชอบหรือไม่สามารถถูกตรวจสอบได้ อันนี้เป็นหายนะจริงๆ เพราะองค์กร ถ้าเป็นอิสระ แล้วเกิดคนที่อยู่ในองค์กรไม่เป็นกลาง แล้วเป็นอิสระไม่ถูกตรวจสอบ ทำอะไรก็ทำได้ สามารถเขย่ารัฐให้เกิดวิกฤตได้เลย ทั้งในทางการเมืองและการบริหาร

 

เมธี ครองแก้ว อดีต ป.ป.ช.

- 1 -

การเกิดขึ้นและมีอยู่ขององค์กรอิสระอย่างที่มีอยู่ในรัฐธรรมนูญทั้งสองฉบับ แท้ที่จริงแล้วก็คือการสร้างฐานอำนาจที่สี่ขึ้นมา โดยมีลักษณะเด่นเฉพาะในเรื่องที่ว่าฐานอำนาจทั้งสามฐานในไทยมีความไม่สมบูรณ์ในการทำงาน ซึ่งไม่สามารถจะแก้ไขได้ในระบบในตัวของมันเอง จึงจำเป็นต้องมีองค์กรฐานอำนาจที่สี่ขึ้นมาสร้างการถ่วงดุล หรือการตรวจสอบฐานอำนาจทั้งสาม

- 2 -

ฝ่ายตุลาการ เมื่อเทียบกับประเทศต่างๆ ในระดับการพัฒนาที่ใกล้เคียงกัน เห็นว่าความน่าเชื่อถือของฝ่ายตุลาการของเราเป็นที่ยอมรับได้ แต่ปัญหาคือด้วยความที่ฝ่ายตุลาการของไทย เป็นคนตรงไปตรงมา จุดไม่สมบูรณ์คือฝ่ายตุลาการไม่มี บทบาทมากนักในการดูว่า ถ้ากฎหมายไม่เป็นธรรม จะมีบทบาทแก้ไขกฎหมายหรือไม่ เป็นลักษณะ passive มากกว่า active แน่นอนอาจบอกว่าศาลมีหน้าที่ตีความตามตัวอักษรเท่านั้นไม่ต้องทำอย่างอื่น แต่ส่วนตัวเห็นว่า ในสภาพปัจจุบัน การทำเช่นนั้น อาจไม่ใช่การทำหน้าที่ที่สมบูรณ์

- 3 -

คนสงสัยว่า องค์กรเหล่านี้จะมีอำนาจเกินกว่าที่ควรจะเป็นหรือไม่ มีใครสามารถตรวจสอบองค์กรเหล่านี้อย่างเช่น ป.ป.ช.ได้หรือไม่ ตอบเลยว่า ระหว่างที่ผมอยู่ในหน้าที่ไม่เคยคิดเลยว่า จะเป็นองค์กรที่จะใช้อำนาจบาตรใหญ่กับองค์กรใด รู้สึกถ่อมตัวด้วยซ้ำที่เขามอบหมายความไว้วางใจและกังวลที่ทำให้ไม่ได้ดังที่เขามอบหมายให้ทำ เช่นทำงานช้า คดีค้าง ตรวจสอบได้ไม่เต็มที่ 

- 4 -

เรื่องการตรวจสอบองค์กรอิสระ สำหรับการตรวจสอบโดยสังคมโดยความรู้สึกผิดชอบชั่วดีมีอยู่แล้ว ถ้ามีกรรมการจะกร่าง กรรมการคนอื่นคงไม่ยอม คงบี้กันในที่ประชุม แต่การตรวจสอบโดยทางการ มีวุฒิสภาที่มีอำนาจเหนือ ป.ป.ช. เวลาเข้ารับตำแหน่งต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินให้วุฒิสภาตรวจสอบรายชิ้น หมดวาระก็ต้องยื่นเหมือนคนอื่นๆ นอกจากนี้เมื่อชี้มูลใครก็จะถูกฟ้องทุกครั้ง เมื่อเขาเห็นว่าเราทำงานไม่สมบูรณ์จะถูกฟ้องได้ ทั้งฟ้องวุฒิสภา ฟ้องศาลอาญาได้ มีหลายคนโดนพิจารณาถอดถอนมาแล้ว และ ป.ป.ช.ยังต้องทำรายงานให้กับสภาทุกปี โดยต้องแถลงผลงานแต่ละปี ต้องอธิบายให้ประชาชนทราบด้วย

 

จาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรี

- 1 -

เขาวางระบบ ต้องการให้ได้รัฐบาล พรรคการเมือง ผู้นำ ผู้บริหารที่เข้มแข็ง นายกฯ รัฐบาลที่มีเสถียรภาพ เมื่อได้มาอย่างนั้นแล้ว รัฐบาลได้ฝ่ายนิติบัญญัติมาแล้ว เขาก็คิดว่าต้องมีคนมาตรวจสอบ  โดยมีหลักคิดคือ องค์กรตรวจสอบนั้นต้องไม่ขึ้นกับฝ่ายผู้ถูกตรวจสอบ ในตอนนั้นความจริงก็มีทั้งข้อดีและมีทั้งปัญหา แต่เราไม่ได้แก้กันบนวิถีทางของการแก้รัฐธรรมนูญ หรือแก้กฎกติกาต่างๆ เกิดการรัฐประหารเสีย ก็เลยทำให้ปัญหาที่ค้างคาตอนนั้นไม่ได้รับการแก้ไข

- 2 -

ป.ป.ช. มีปัญหาเรื่องของอำนาจ ถ้าอำนาจจะมากไปคือเรื่องที่หากชี้มูลแล้ว ต้องพักปฏิบัติหน้าที่ อันนี้มันพอชี้มูลนายกฯ แล้วนายกฯ หยุดปฏิบัติหน้าที่มันมีปัญหามาก เท่ากับว่าเป็นองค์กรที่มีอำนาจเหนือกว่าประชาชน โดยหลักที่บอกว่า ถ้าศาลยังไม่ตัดสินต้องถือว่าเขายังเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่ จะปฏิบัติเหมือนเขาไม่บริสุทธิ์ไม่ได้

- 3 -

ปัญหาเรื่องการตรวจสอบไม่ได้ อันนี้ยังเป็นปัญหาใหญ่ขององค์กรอิสระ ตรวจสอบไม่ได้ เฉพาะการฟ้องต่อศาลไม่พอ เพราะการตรวจสอบองค์กร ต้องดูว่าการทำงานมีประสิทธิภาพหรือไม่ เลือกปฏิบัติหรือไม่ เลือกปฏิบัติหรือไม่นั้นฟ้องศาลไม่ได้ว่าทำไมตรวจสอบแต่ฉัน ไม่ตรวจสอบคนนั้นไม่ตรวจสอบคนนี้ ทำไมปล่อยให้เรื่องค้างเต็มไปหมด แล้วเลื่อนเรื่องนี้ขึ้นมาเร็ว ไม่รู้จะไปร้องกับใคร อาจจะค้นหามาว่าบกพร่องแล้วบอก กับ ส.ว.ให้ทำหน้าที่ถอดถอน หรือร้องให้ถอดถอน ปรากฏว่า ส.ว.มาจากการแต่งตั้งของกรรมการ ที่มีประธาน ป.ป.ช.อยู่ด้วย  แล้วถ้า ส.ว.สรรหาหลายคนไม่เอาด้วยกับการถอดถอนเสียแล้ว ก็ไม่มีทางถอดถอนได้ เพราะต้องใช้เสียงมากในการถอดถอน

- 4 -

การเมืองประเทศไทยแบ่งเป็นสองฝ่าย พอแบ่งเป็นสองฝ่าย ถ้าแก้รัฐธรรมนูญ ย่อมกระทบต่อสถานะการดำรงอยู่ขององค์กรอิสระทันที องค์กรอิสระโดยธรรมชาติก็ต้องเลือกข้างที่รักษารัฐธรรมนูญไว้ ทำให้องค์กรอิสระกลายเป็นสังกัดฝักฝ่าย ที่ว่าอิสระนั้นไม่ได้อิสระจริงอยู่แล้ว เพราะมาจากฝ่ายที่ยึดอำนาจ แล้วยังถูกผลักให้ไปสังกัดฝักฝ่าย คือฝ่ายที่ไม่ต้องการให้แก้รัฐธรรมนูญ ซึ่งจะเป็นฝ่ายเดียวกับ คมช. เพราะว่า คมช. ก็ต้องการรักษารัฐธรรมนูญ มาตรา 309 ไว้

 

โคทม อารียา อดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)

- 1 -

หากสังเกตดูที่มาก็ดี องค์ประกอบก็ดี อำนาจหน้าที่ก็ดี คล้ายกับว่าจะเป็นส่วนขยายของราชการ แต่ทำไมจำเป็นต้องมี เพราะมันมีบางหน้าที่ที่ไปฝากไว้กับฝ่ายบริหารแล้วเหมือนกับเป็นการเอาปลาย่างไปฝากไว้กับแมว เช่น การให้ฝ่ายบริหารตรวจสอบการทุจริตเอง ซึ่งก็มีคนไม่เห็นด้วย เพราะเขาอาจเป็นตัวจำเลย หากผู้ตรวจสอบเป็นจำเลยเสียเองมันลำบาก

- 2 -

คำถามที่อาจารย์วิษณุตั้งไว้ว่า แล้วจะทำอย่างไรกันดีหากจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2550 ผมคิดว่าเป็นเวลาดี เป็นโอกาสที่ดีที่จะได้มาทบทวนสิ่งเหล่านี้ รวมทั้งทบทวนว่าอำนาจตุลาการเอง ซึ่งเป็นอำนาจส่วนขยายของราชการจะทำอย่างไรให้ยึดโยงกับฝ่ายประชาชนมากขึ้น โดยไม่เสียความเป็นอิสระ ไม่เสียความเป็นกลาง ไม่เสียความน่าเชื่อถือ อันนี้อาจจะต้องไปคิดให้ละเอียด

- 3 -

ขณะเดียวกันองค์กรตามรัฐธรรมนูญที่เราพูดถึง เราจะเอาป้ายชื่อออกไหม แต่ถ้าจะเอาป้ายชื่อออก แล้วคุณไม่จัดเป็นหมวดให้พิเศษว่าเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ ผมยังเสียดายอยู่นิดหนึ่ง ผมยังอยากจะเสนอ อันนี้คิดโดยฉับพลัน อาจไม่ละเอียดรอบครอบ ผมอยากเสนอว่า ในรัฐธรรมนูญสามารถมีบทบัญญัติได้ว่าเรื่องใดควรมี พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ คือเราเห็นว่าองค์กรอิสระดีอยู่แล้ว ป.ป.ช. กกต. หรืออะไรก็ตาม ก็รับรองโดย พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ แล้วก็บัญญัติว่าองค์กรใดมีฐานะ 3 เรื่องนี้ให้มันชัดเจน การมี พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญรองรับเพื่อให้ยากต่อการแก้ไข แต่ไม่ใช่ยากจนเกินไป สามารถปรับปรุงแก้ไขได้ในระดับหนึ่ง ไม่ต้องถึงกับต้องไปแก้รัฐธรรมนูญเสียทุกครั้งไป

- 4 -

เราบัญญัติหลักการใหญ่ๆ ขององค์กรตามรัฐธรรมนูญไว้ว่า มีความเป็นอิสระ ตรวจสอบได้ มีความเป็นกลาง มีอำนาจหน้าที่ที่ชัดเจน แล้วก็ไม่ไปขัดขวางการทำงานตามปกติ ตามครรลองประชาธิปไตยของฝ่ายบริหารหรือฝ่ายนิติบัญญัติ ไม่ไปก้าวก่าย

 

สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการ กสทช.

- 1 -

เวลาเราพยายามจะปิดจุดอ่อนในตัวบทกฎหมาย แต่ก็มักมีจุดอ่อนใหม่เสมอ กฎหมายเกี่ยวกับ กสทช.ปรับกันมายาวนาน เมื่อกลุ่มทุนเข้ามามากเราพยายามกีดกัน แต่สุดท้ายสัดส่วนกรรมการก็เหมือนหนีเสือปะจระข้ มีภาครัฐราชการทหารพลเรือนเข้ามามาก ไม่ว่าจะรอบคอบอย่างไรก็อยู่ที่คนที่เข้ามาด้วยโดยเฉพาะ และน่าจะต้องมีการระบุในกฎหมายให้ชัดเจนเรื่องการเปิดเผยข้อมูลของกสทช.ด้วยโดยเฉพาะการตัดสินใจของกรรมการ เพราะ กสทช.นับเป็น “Super องค์กรอิสระ”

- 2 -

อยากส่งเสริมให้สนับสนุนคนรุ่นใหม่เข้ามาเป็นกรรมการในองค์กร อิสระ ตอนนั้นเราก็สู้ว่า 30-65 แต่ไม่สำเร็จ มันถูกแก้เป็น 35-70 ปี ดิฉันก็หวุดหวิด 35 พอดีก็เลยได้เป็น พอเราให้เปิดถึง 70 ก็จะเห็นว่ามันเป็นที่ฮอลิเดย์ของหลายคน แล้วท่านเหล่านี้พอจบวาระแล้วท่านไม่ต้องกังวลอะไรแล้ว ถ้าดิฉันอายุ 40 ดิฉันต้องมีอนาคตต่อ ถ้าดิฉันทำไม่ดี มันจะหลอกหลอนดิฉันไปอีก 20 ปี มันก็ทำให้เรามีหิริโอตัปปะมากกว่า .... ดิฉันคิดว่าถ้าเราสนับสนุนให้คน รุ่นใหม่ ซึ่งคนรุ่นใหม่เดี๋ยวนี้เก่ง เข้าสู่องค์กรอิสระให้มากขึ้น มันจะเปลี่ยนวัฒนธรรม และช่วยเรื่องธรรมาภิบาล โดยเฉพาะรุ่นใหม่ที่เชื่อในเรื่องเหล่านี้มากขึ้น แต่ไม่ง่าย เพราะองค์กรอิสระจะเป็นที่อยู่ของคนที่เกือบเกษียณหรือเกษียณ นี่ทำให้วัฒนธรรมไม่ได้ถูกท้าทาย

 

สุนี ไชยรส รองประธานกรรมการปฏิรูปกฎหมาย 

การร่วมมือกันระหว่างองค์กรอิสระและสื่อมวลชนจะทำให้เกิดการไหลเวียนของข้อมูลข่าวสารในสังคมเพื่อส่งเสริมธรรมภิบาลได้มาก โดยหลักการเราจึงต้องเน้นให้มีเสรีภาพสื่ออย่างสูงสุดในสังคมประชาธิปไตย แต่ทั้งสองส่วนก็ต้องตรวจสอบซึ่งกันและกันได้ อย่างไรก็ตาม องค์กรอื่นอาจจะถูกสื่อถูกประชาชนวิจารณ์ได้มาก แต่องค์กรอิสระอย่างศาล ดูเหมือนคำวิจารณ์ยังไปไม่ค่อยถึง

 

ภัทระ คำพิทักษ์ บรรณาธิการบริหาร หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์

- 1 -

เวลาพูดเรื่ององค์กรอิสระ เมื่อมองระยะสั้นจะเห็นเพียงการถกเถียงกันเพียงแต่ว่าควรมีหรือไม่มีองค์กรอิสระ จากฝ่ายที่ชอบและไม่ชอบทักษิณ ทั้งที่เราควรมองยาวไปกว่านั้น เพราะเป็นเครื่องมืออันหนึ่งที่เกิดมาเพื่อตรวจสอบถ่วงดุลการใช้อำนาจ

- 2 -

รัฐธรรมนูญ 40 ก็ดีหรือปี 50 ก็ดี มันไม่มีอะไรดีกว่ากัน เราต้องใช้ไปเรียนรู้ไป แล้วเราก็พบว่ามันมีช่องว่าง มีปัญหา มีความไม่สมบูรณ์ มีปัญหาใหม่ๆ มีสภาพการณ์ใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น เพราะฉะนั้น เวลาที่เราจะแก้ไขกติกาของการอยู่ร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นรัฐธรรมนูญ กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ หรือ พ.ร.บ. พ.ร.ก. อะไรก็ตาม เราก็ต้องสรุปบทเรียนจากสิ่งเกิดขึ้นแล้วเอาไปแก้ไขมัน 

 

ชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

ปัญหาสำคัญของการทำงานร่วมกับระหว่างสื่อและองค์กรอิสระคือ แม้องค์กรอิสระจะเป็นช่องทางข้อมูลที่สำคัญ แต่ยังมีปัญหาการประสานข้อมูล หรือการที่องค์กรอิสระมีเรื่องต้องเก็บรักษาความลับ ปัจจุบันสถาบันอิศราพยายามสร้างความร่วมมือกับป.ป.ช.ในการอบรมให้ความรู้ผู้สื่อข่าวถึงบทบาทหน้าที่และช่องทางการเข้าถึงข้อมูล แต่ก็ยังไม่มีการสร้างกระบวนการเชื่อมโยงข้อมูลอย่างเป็นรูปธรรม

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net