Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis
 
เมื่อพูดถึงสถาบันศาลในสังคมไทยปัจจุบัน ก็ต้องเข้าใจว่าผู้เขียนไม่ได้หมายถึงเฉพาะสถาบันศาลหรือตุลาการที่เคยถือว่าเป็นหนึ่งในสามอำนาจอธิปไตยสูงสุดของสังคมไทย ที่มีประธานศาลฎีกาซึ่งมีฐานะเทียบเท่ากับนายกรัฐมนตรีและประธานรัฐสภาเป็นประมุขสูงสุด นับตั้งแต่มีการใช้รัฐธรรมนูญปี 2540 เป็นต้นมา จนถึงรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน สถาบันศาลใหม่ๆหลายศาลได้เกิดขึ้นในฐานะเป็นองค์กรอิสระเช่น ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง ศาลฎีกาแผนกคดีอาญานักการเมืองฯ ศาลเหล่านี้ดูเหมือนไม่ได้มีความผูกพันกับสถาบันตุลาการเดิมในเชิงอำนาจ แต่อาจกลายเป็นอำนาจอธิปไตยใหม่ที่อาจมีอำนาจเหนือกว่าอำนาจอธิปไตยเก่าอย่างรัฐบาลหรือรัฐสภาด้วยซ้ำไป ดังนั้นเมื่อพูดถึงสถาบันศาลในบทความนี้ผู้เขียนก็จะหมายรวมศาลเหล่านี้เข้าไปด้วยกัน
 
ที่ผ่านมาถ้ามองตามกรอบแนวคิดเรื่องประชาธิปไตย กล่าวได้ว่าสถาบันศาลหรือตุลาการนั้นเป็นระบบที่สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตยน้อยที่สุดเมื่อเทียบกับฝ่ายนิติบัญญัติกับฝ่ายบริหาร เพราะสถาบันศาลนั้นยังเป็นเรื่องของข้าราชการโดยสมบูรณ์ ไม่โยงยึดกับประชาชน ประชาชนไม่มีโอกาสเลือกหรือบอกว่าผู้พิพากษาคนใด ที่ประชาชนต้องการหรือไม่ต้องการให้ทำหน้าที่ ถ้าคำว่า “ระบอบอำมาตยาธิปไตย”ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันตรงกับที่ฝรั่งเรียกว่า Bureaucratic polity ซึ่งหมายถึง ระบบการเมืองที่ข้าราชการเป็นใหญ่เหนือกว่าฝ่ายอื่นๆ กล่าวได้ว่าสถาบันศาลนั้นมีความสอดคล้องกับคำว่าระบอบอำมาตยาธิปไตย มากกว่าระบอบประชาธิปไตย ดีไม่ดีจะไปสอดคล้องกับระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชด้วยซ้ำไป เพราะคนในระบบตุลาการมักกล่าวเสมอว่าศาลได้รับมอบพระราชอำนาจมาจากพระมหากษัตริย์โดยตรง ทำให้ประชาชนไม่สามารถโต้เถียงหรือวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของศาลได้ ใครบังอาจกระทำก็อาจถูกข้อหาหมิ่นศาล ถูกศาลจำคุกได้ ไม่เหมือนฝ่ายบริหารกับฝ่ายนิติบัญญัติซึ่งมีที่มาที่ไปหรือความสัมพันธ์กับสถาบันพระมหากษัตริย์ไม่ได้แตกต่างกับศาล แต่ประชาชนสามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้ค่อนข้างมาก แต่อย่างไรก็ตาม แม้จะมีความสอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตยน้อยที่สุด แต่สถาบันศาลกลับได้รับความเชื่อถือจากประชาชนเป็นอย่างมาก จนเกิดเป็นคำพูดว่า “ที่พึ่งสุดท้ายของประชาชน คือ ศาลยุติธรรม” ซึ่งหมายความว่าเมื่อเกิดความขัดแย้งในหมู่ประชาชน ประชาชนทุกคนจะรับฟังศาล ศาลตัดสินอย่างไรทุกฝ่ายก็พร้อมใจกันยอมรับตามคำตัดสินนั้น ไม่มีการโต้เถียงกันอีกต่อไป
 
การยอมรับอำนาจของสถาบันตุลาการหรือศาลโดยดุษฎีของประชาชน แน่นอนส่วนหนึ่งมาจากความเชื่อว่าศาลเป็นเสมือนตัวแทนขององค์พระมหากษัตริย์ แต่เหตุผลในการยอมรับอีกส่วนหนึ่งก็มาจากความจริงที่ว่าคนในกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะผู้พิพากษาทั้งหลาย ซึ่งมีจำนวนไม่มากนัก ล้วนวางตัววางบทบาทของตนได้อย่างเหมาะสมดี ท่านมักจะวางตนเองให้อยู่เหนือความขัดแย้งในสังคม มีความเป็นกลางทางการเมือง ไม่ฝักใฝ่พรรคการเมืองพรรคใดพรรคหนึ่ง พยายามเก็บตัวเงียบๆ ไม่ค่อยไปปรากฏตัวแสดงความคิดเห็นใดๆในที่สาธารณะหรือสื่อสารมวลชน เมื่อทำหน้าที่ตัดสินคดีความก็จำกัดบทบาทของตนเองให้อยู่ในประเด็นของกฎหมายอย่างแท้จริง ตัดสินคดีโดยอิงกับตัวบทกฎหมายอย่างเคร่งครัด ไม่มีการตีความกฎหมายตามอำเภอใจหรือใส่ดุลยพินิจจนเกินเลย ประกอบกับความขัดแย้งหรือคดีความส่วนมาก ก็มักเกิดจากความเข้าใจข้อกฎหมายไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ ผู้พิพากษาจึงสามารถอธิบายให้คู่ความเข้าใจกฎหมายและตัดสินคดีความให้เกิดความยุติธรรมสอดคล้องกับหลักความยุติธรรมตามธรรมชาติเป็นอย่างดี การยอมรับต่อสถาบันศาลของประชาชนจึงมีค่อนข้างสูงตลอดมา
 
นั่นเป็นภาพในอดีต วันนี้ภาพลักษณ์ของสถาบันศาลในสายตาประชาชน ไม่ได้สวยงามอย่างนี้ สาเหตุส่วนหนึ่งนั้นมาจากด้านประชาชน ประชาชนในวันนี้มีความคิด มุมมองหรือกระบวนทัศน์(paradigm) ทางการเมืองเปลี่ยนแปลงไปมาก สิ่งที่เคยยอมรับ เคยปฏิบัติตามโดยปราศจากความสงสัยในอดีต ถูกตั้งคำถาม และคนของรัฐที่เกี่ยวข้องก็มักจะตอบให้สมเหตุสมผลไม่ค่อยได้ เช่น เขาถามว่าทำไมประชาชนจะวิจารณ์ศาลไม่ได้ ในเมื่อรัฐธรรมนูญบอกว่าประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยซึ่งรวมถึงอำนาจศาลด้วย แต่อีกส่วนหนึ่งก็เกิดจากการเปลี่ยนแปลงในสถาบันศาลนั่นเอง ตั้งแต่การรัฐประหารปี 2549 เป็นต้นมา บุคลากรในวงการศาลส่วนหนึ่งได้เปลี่ยนบทบาทตัวเองไปจากเดิม สถาบันตุลาการได้ถูกดึงให้เข้ามามีบทบาทในทางการเมือง ในลักษณะการใช้อำนาจศาลเข้ามาแก้ไขปัญหาการเมือง หรือพูดง่ายๆสถาบันศาลถูกดึงเข้ามาเป็นผู้ชี้ขาดว่าพรรคการเมืองใด นักการเมืองคนใดควรได้หรือควรหมดอำนาจทางการเมือง ช่วงหลังการรัฐประหารเราได้เห็นบุคลากรระดับสูงของศาลไปร่วมเป็นรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร ร่วมเป็นองค์กรอิสระเพื่อตรวจสอบนักการเมืองที่ถูกรัฐประหาร เห็นบุคลากรของศาลหลายต่อหลายคนออกมาวิพากษ์วิจารณ์นักการเมืองที่ถูกรัฐประหารผ่านสื่อสาธารณะ พูดได้ว่าหลังการรัฐประหาร 2549 บุคลากรในสถาบันศาลส่วนหนึ่ง ซึ่งเคยวางตนอยู่ห่างจากความขัดแย้งทางการเมืองทั้งปวง ได้พลอยเข้ามามีส่วนร่วมเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งทางการเมืองกับเขาด้วย 
 
เมื่อย่างก้าวเข้ามาสู่เวทีแห่งความขัดแย้ง แน่นอนบุคลากรในวงการศาลหลายคน ก็หลีกหนีความเป็นมนุษย์ปุถุชนธรรมดาไม่ได้ ยิ่งความขัดแย้งมีลักษณะเป็นการต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง ระหว่างฝ่ายอนุรักษ์ดั้งเดิมที่มักอาศัยความได้เปรียบที่เคยมี สถาปนาตนเองเป็นฝ่ายคนดีฝ่ายธรรม กับฝ่ายตรงข้ามที่มักถูกตราหน้าว่าเป็นฝ่ายอธรรมคนชั่ว ทำให้บุคลากรของศาลหลายคนหลงลืมจุดยืนดั้งเดิมที่เคยยึดถือมาช้านาน ถ้าพูดกันอย่างตรงไปตรงมาการเข้ามาสู่ความขัดแย้งทำให้บุคลากรในสถาบันศาลหลายคน ต้องเลือกข้างเลือกฝ่ายทั้งโดยตั้งใจและไม่ได้ตั้งใจ เมื่อเกิดการเลือกฝ่าย ก็ย่อมไปมีผลกระทบต่อการทำหน้าที่ของสถาบันศาล การตัดสินคดีความที่เคยจำกัดอยู่ในประเด็นของกฎหมายหรืออิงกับตัวบทกฎหมายอย่างเคร่งครัดก็เริ่มน้อยลง มีการใส่ดุลยพินิจใส่ความรู้สึกเข้าไปมากขึ้น 
 
สิ่งที่เห็นเป็นรูปธรรมในเรื่องนี้ ก็คือการพิจารณาคดีเกี่ยวกับความขัดแย้งทางการเมืองหลังการรัฐประหาร ศาลได้ละทิ้งหลักการพื้นฐานสำคัญของกฎหมายซึ่งเป็นหลักความยุติธรรมตามธรรมชาติไปค่อนข้างมาก เช่น หลักความเป็นกลางในคดีของผู้พิพากษา ประชาชนได้เห็นว่ามีบุคคลที่เคยเป็นผู้ร่วมก่อการรัฐประหารหรือมีความขัดแย้งโดยตรงกับผู้ถูกรัฐประหาร มานั่งเป็นผู้ทำคดีฟ้องร้องหรือเข้าไปเป็นผู้ตัดสินคดีความขัดแย้งที่ตนมีส่วนร่วมอย่างภาคภูมิใจ หรือหลักการผู้ถูกกล่าวหายังคงเป็นผู้บริสุทธิ์ตราบเท่าที่ยังไม่มีคำพิพากษาว่ากระทำผิด มีคดีที่เกี่ยวกับความขัดแย้งทางการเมืองหลายคดีที่ศาลไม่อนุญาตให้ผู้ต้องหาได้รับการประกันตัวในระหว่างรอพิจารณาคดีโดยไม่ได้มีเหตุผลที่ชัดเจน อีกทั้งไม่ได้มีการเร่งรัดการพิจารณาคดีแต่อย่างใด ปล่อยให้ผู้ถูกกล่าวหาถูกคุมขังเป็นเวลายาวนานเหมือนจงใจลงโทษทางอ้อม หรือแม้แต่หลักการยกประโยชน์ให้จำเลย หากไม่สามารถพิสูจน์ด้วยหลักฐานได้อย่างชัดเจนว่าจำเลยกระทำผิดจริงตามฟ้อง ศาลก็ต้องปล่อยตัวจำเลยไป แต่ในปัจจุบันกลับพบว่าในคดีความบางประเภท แม้ศาลจะไม่มีหลักฐานชัดเจนว่าจำเลยกระทำผิดตามฟ้อง แต่ศาลกลับเห็นว่าสมควรให้ถือว่าจำเลยกระทำผิดไว้ก่อน เป็นต้น
 
ความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้เป็นสิ่งที่ประชาชนสามารถมองเห็นได้ และ เริ่มรู้สึกว่าการตัดสินคดีที่มีความเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งทางการเมืองของศาล มีความยุติธรรมน้อยลง จนมีคำพูดว่าการดำเนินหรือการตัดสินคดีของศาลมีสองมาตรฐานออกมาเสมอ ไม่มีความคงเส้นคงวาเหมือนสถาบันศาลในอดีต ศาลไม่สามารถอธิบายให้ประชาชนเข้าใจได้ว่าทำไมจึงตัดสินคดีความที่คล้ายคลึงกันหรือเหมือนกันแต่เกิดขึ้นกับคู่กรณีต่างฝ่ายกัน ให้มีผลลัพธ์ที่แตกต่างกันได้กัน หรือทำไมข้อกฎหมายเขียนไว้อย่างนี้ จึงตัดสินไปเช่นนั้นได้ บางครั้งศาลกลับอธิบายในลักษณะเหมือนใช้สีข้างเข้าถู เช่น บอกว่าตีความตามพจนานุกรม ตีความกฎหมายตามภาษาอังกฤษ หรือตามวัตถุประสงค์ในการร่างรัฐธรรมนูญบ้าง ดังนั้นวันนี้ในสายตาของประชาชนส่วนใหญ่จึงมองว่าสถาบันศาลหรือตุลาการในภาพรวมมีความเสื่อมถอยลงหรือเสื่อมถอยไปจากเดิมหรือบางคนอาจจะมองไปถึงขั้นว่าสถาบันศาลวันนี้ไม่มีความยุติธรรม ตัดสินเป็นสองมาตรฐาน แน่นอนบุคลากรของศาลก็ย่อมโต้แย้งได้ว่าเรื่องนี้ไม่จริง ศาลตัดสินคดีความอย่างยุติธรรมเสมอมา แต่นั่นก็เป็นเรื่องของศาลไม่เกี่ยวกับประชาชน เพราะการที่ประชาชนมีความรู้สึกว่าสถาบันศาลไม่น่าเชื่อถือ ขาดความยุติธรรม เลือกข้างเลือกฝ่าย นั้นเป็นเรื่องของการรับรู้ (perception) ของประชาชน ไม่เกี่ยวกับเรื่องว่าศาลจะเลือกข้างจริงหรือไม่จริง แต่ประชาชนเขามีความรู้สึกนึกคิดอย่างนั้น เป็นเรื่องที่ห้ามปรามกันไม่ได้ จะใช้อำนาจศาลไปลงโทษ ไปจำคุก ก็คงไปบังคับให้คนเปลี่ยนแปลงความรู้สึกนึกคิดของคนหรือกลุ่มคนได้ยากมาก วันนี้เราต้องยอมรับความจริงว่ามีประชาชนจำนวนหนึ่ง ซึ่งอาจเป็นจำนวนมากด้วย เขามีความรู้สึกนึกคิดต่อสถาบันตุลาการไปในทำนองเช่นนั้น
 
ปัญหาการรับรู้ของคนที่ก่อให้เกิดผลเชิงลบกับบุคคล องค์กรหรือสถาบัน เป็นเรื่องที่แก้ไขยาก เรื่องนี้ถ้าปัญหาเป็นเพียงสถาบันศาลหลงลืมตัวไปชั่วขณะ จนทำให้ไปตัดสินคดีความไม่ยุติธรรม กลายเป็นสองมาตรฐานจริง ก็จะแก้ไขปัญหาได้ไม่ยาก แค่เพียงให้บุคลากรในสถาบันศาลมีสติกลับคืนมา อย่าไปร่วมวงในความขัดแย้ง ระมัดระวังในการตัดสินคดีความ ให้ยึดกฎหมายเป็นหลักอย่างเคร่งครัดเหมือนในอดีตที่ผ่านมาปัญหาก็จะหมดสิ้นไปได้ทันที แต่กรณีที่ประชาชนเกิดความรู้สึกหรือมีการรับรู้ว่าศาลไม่ยุติธรรม แม้สถาบันศาลจะไปปรับปรุงกระบวนการพิจารณาคดีให้ดีเพียงใดก็คงไม่สามารถแก้ปัญหานี้ได้ ปัญหาการรับรู้ในลักษณะนี้เท่ากับประชาชนมองว่าระบบตุลาการที่มีอยู่ในปัจจุบัน ขาดความน่าเชื่อถือไปแล้ว การจะแก้ไขปัญหานี้ได้ อาจถึงขั้นต้องมีการปรับโครงสร้างและกระบวนการด้านตุลาการกันใหม่ หรือพูดกันแบบตรงไปตรงมาอาจถึงขั้นต้องรื้อระบบตุลาการกันใหม่ทั้งระบบ ให้มีความแตกต่างไปจากปัจจุบันเพื่อให้เกิดความน่าเชื่อถือในหมู่ประชาชน สถาบันด้านตุลาการปัจจุบันยังเป็นลักษณะระบบปิด เป็นระบบที่ประชาชนไม่มีโอกาสเข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจใดๆ อาจถึงเวลาที่เราต้องคิดกันว่าระบบตุลาการควรเป็นอย่างไรจึงจะสามารถเชื่อมโยงกับอำนาจของประชาชนในระบอบประชาธิปไตยเช่นเดียวฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร ระบบควรเป็นอย่างไร ที่จะไม่ทำให้อำนาจของผู้พิพากษาเพียงคนสองคน หรือเพียงไม่กี่คนมีอำนาจชี้เป็นชี้ตายคนอื่นมากเกินไป ไม่เช่นนั้นเราก็จะได้ยินคำโจษจันเรื่อง “ศาลไทยกับสองมาตรฐาน”ไปอีกนาน
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net