Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

กรณีที่นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี ออกมาห้ามมิให้มีการชุมนุมประท้วงระหว่างการประชุมระดับผู้นำด้านน้ำแห่งภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ระหว่างวันที่ 14-20 พฤษภาคมที่ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนพรรษา จังหวัดเชียงใหม่ โดยนายปลอดประสพระบุว่าจะจับกุมผู้ประท้วงทั้งหมดเข้าคุกทันทีนั้นเป็นการแสดงถึงจริตสันดานที่ดูถูกผู้คิดต่างอย่างชัดเจน

น่าแปลกใจที่คนระดับรองนายกรัฐมนตรี ผู้ที่นายกรัฐมนตรีมอบหมายให้เป็นโต้โผการจัดการน้ำมีระบบความคิดที่ผิดเป็นปฏิปักษ์กับหลักการประชาธิปไตยอย่างชัดเจน  หลักการประชาธิปไตยคือ การตัดสินใจใช้เสียงส่วนใหญ่ก็จริงแต่ต้องเคารพเสียงส่วนน้อยในสังคมด้วย

ไม่เพียงแต่การปรามาสสติปัญญาผู้คิดต่างเรื่องการจัดการทรัพยากรน้ำเท่านั้น  นายปลอดประสพ  สุรัสวดี ยังจะแสดงละครโชว์ผู้นำประเทศต่างๆที่มาประชุมโดยสมมุติตนเป็น พญามังรายกษัตริย์ยวนแห่งอาณาจักรล้านนาท้ารบกับฟ้าพญาแถน ซึ่งเป็นการบิดเบือนประวัติศาสตร์อย่างชัดแจ้ง ไม่ควรให้อภัยอย่างยิ่ง ซึ่งถ้าเป็นสมัยพญามังรายยังมีพระชนม์ชีพอยู่ นายปลอดประสพคงประสพชะตากรรมถูกประหารอย่างแน่นอน  เพราะระบบการจัดการน้ำในแผ่นดินยวนล้านนานั้นมีระบบเหมืองฝายมาแต่เดิม มาก่อนที่จะก่อตั้งอาณาจักรล้านนาด้วยซ้ำไป ในเอกสารพงศาวดารโยนกระบุชัดเจนว่า (น.154-155) “ พระองค์เชือง ครองราชย์(เมืองหิรัญนคร)ได้ 11 ปี เสด็จไปสถาปนาพระสถูปเจดีย์บรรจุพระเกศาธาตุที่ถ้ำแก้วเวียงสี่ทวงด้านตะวันตกเฉียงเหนือ สำเร็จบริบูรณ์ในวันศุกร์เดือนหกขึ้นสิบห้าค่ำ แล้วให้ขุดเหมืองใหญ่ต่อน้ำแม่สายทดน้ำขึ้นเลี้ยงนาแคว้นซ้าย ให้ ราษฎรทำนาโดยสะดวก” แสดงว่าระบบเหมืองฝายในแผ่นดินยวนล้านนามีมานานแล้ว

พญามังรายเป็นพระมหากษัตริย์ชั้นลูก ชั้นหลานย่อมสืบทอดภูมิปัญญาต่อเนื่องกันมา เช่นกรณีให้อ้ายฟ้าไปเป็นไส้ศึกในเมืองหริภุญไชย อ้ายฟ้าก็เกณฑ์ราษฎรขุดเหมืองฝายในลำพูนจนปรากฏหลักฐานถึงปัจจุบันนี้เรียกว่าเหมืองอ้ายฟ้าหรือเหมืองแข็ง เพราะขุดเหมืองฝายในพื้นดินที่แข็งปานหิน ระบบเหมืองฝายในล้านนานั้นมีวิวัฒนาการที่ก้าวหน้ากว่ากลุ่มชนใด ๆ ที่ตั้งถิ่นฐานในประเทศไทย ก้าวหน้ากว่าในกรุงสุโขทัยและอยุธยาด้วยซ้ำไป

ในจารึกและเอกสารใบลานทุกฉบับไม่ปรากฏหลักฐานใดๆว่าพญามังรายท้ารบพญาแถนเพื่อขอฝน ดังนั้นการกระทำของนายปลอดประสพ จึงเป็นการบิดเบือนประวัติศาสตร์ยวนอย่างชัดแจ้ง  ควรอย่างยิ่งที่หน่วยงานทางวัฒนธรรม เช่นสภาวัฒนธรรมฯ  สนง.วัฒนธรรมจังหวัดต่าง ๆ ในล้านนา จะออกมากดดันหรือประท้วงในกรณีนี้เหมือนดั่งกรณีที่มีผู้คนเอาพระบรมราชานุสาวรีย์พญามังรายที่ห้าแยกไปแปลงเป็นรูปกด Like ที่พระหัตถ์ สนง.วัฒนธรรมจังหวัดเชียงรายได้แจ้งความกล่าวโทษไปแล้ว แต่ยังคงไม่มีความเคลื่อนไหวใด ๆ อย่างเป็นรูปธรรม ปัจจุบันรูปกด Like นี้ยังปรากฏอยู่ในโฆษณาคั่นรายการข่าวในช่อง สปริงนิวส์ ทีวีดาวเทียมอย่างต่อเนื่อง โดยสถานีนี้นำทีมบริหารโดย ดร.สมเกียรติ อ่อนวิมล ก็ไม่ได้ตัดรูปเจ้าปัญหาออกไปทั้งๆที่ ผลงานของท่านเคยเป็นสื่อฝ่ายก้าวหน้าตลอดมา

ใน มังรายศาสตร์ ที่เป็นกฎหมายที่ตราขึ้นเพื่อใช้ในอาณาจักรล้านนาระบุทุกฉบับกล่าวตรงกันว่า(ทูนศรี บัวนุช,หน้า 80-81)
“ พระญามังรายได้รู้มาแต่โบราณะ...พระญามังรายเจ้า จึ่งตั้งอาชญาไว้ เพื่อหื้อท้าวพระญาทังหลาย อันเป็นลูก หลาน เหลน หลีด หลี้ แลเสนาอามาตย์ฝูงแต่งบ้านปองเมืองสืบไพ หื้อรู้อันผิดชอบดังนี้” 

แสดงว่าพญามังรายตรากฎหมายนี้เพื่อให้ใช้เป็นหลักในการปกครองตั้งแต่ชั้นกษัตริย์ถึงเสนาอำมาตย์อันน่าจะหมายถึงระดับรัฐมนตรีในปัจจุบันนี้พึงสำเหนียกน้อมนำพระราชอาชญามาใช้ให้เหมาะสมกับกาลเทศะ นอกจากนี้ยังบ่งบอกความสำคัญของระบบเหมืองฝายว่าเป็นการจัดการของชุมชน ชนทุกคนต้องช่วยกันบำรุงรักษา ดังนี้ (ทูนศรี บัวนุช,หน้า 88)

ควรแต่หื้อไพร่มีมื้อเปลี่ยนกันหื้ออยู่บ้านสร้างเหมืองฝายไร่นาเรือกสวนที่ดิน หื้อไพร่มีที่ทำกิน อย่าหื้อไพร่เป็นทุกข์"

แสดงว่าระบบเหมืองฝายเป็นสิ่งสำคัญมากในสมัยนั้น การจัดการระบบเหมืองฝายถือเป็นราชกิจของบ้านเมือง ประชาชนทุกคนจะมีเวรรับใช้บ้านเมือง 10 วันทำงานส่วนตัวสิบวัน สลับสับเปลี่ยนกันไป

นอกจากนี้ในมังรายศาสตร์ยัง กล่าวโทษการทำลายเหมืองฝายให้ปรับไหม แต่โทษขโมยน้ำใส่ในนาสวนโดยผิดจากระบบเหมืองฝายของชุมชน นั้นให้ฆ่าสถานเดียว นอกจากปรับไหม ซ่อมแซมฝายแล้วยังระบุว่าหื้อจัดพลีกรรมหื้อถูกต้อง โดยจัดเครื่องบูชาก่อนซ่อมฝายเป็นการขอขมาอารักษ์ไม่ได้เกี่ยวข้องใด ๆ กับพญาแถน อันน่าจะเป็นความเชื่อทางอีสาน, สปป.ลาว และกลุ่มคนในเวียดนามซึ่งรับคตินิยมมาจากประเทศจีน การจัดเครื่องพลีกรรมเลี้ยงผีในมังรายศาสตร์ระบุ (ทูนศรี บัวนุช,หน้า220)ให้จัดมี เหล้า 2 ไหไก่ 2 คู่ เทียน 4 เล่ม และข้าวตอกดอกไม้ แสดงว่าเป็นการนับถือผีไม่เกี่ยวกับฟ้าเบื้องบนแต่ประการใด 

ดังนั้น กรณีจัดละครพญามังรายรบฟ้าพญาแถนจึงเป็นมหกรรมวอกหลอกลวงประชาชน บิดเบือนประวัติศาสตร์ เสแสร้งแต่งเรื่องราวอันเป็นเท็จ แล้วยังจะจับกุมคุมขังผู้เห็นต่างจากตนน่าจะตรงกับความในมังรายศาสตร์ว่า (ทูนศรี บัวนุช,หน้า 90-91) “ ขุนในโลกนี้มี 2 ลักษณะ คือขุนธรรมกับขุนมาร ลักษณะของขุนธรรม พึงรู้ได้ด้วยลักษณะ ดังนี้...คือ มีความเมตตากรุณาบรรดาไพร่ไท ไม่ปรับไหมไพร่ไท ไม่รุกรานทุบตีหรือกลั่นแกล้ง หรือจับกุมคุมขังโดยไพร่ไทไม่ได้กระทำผิด ....ขุนผู้ใด...ไม่มีความเมตตากรุณา มักรังแกทุบตี กลั่นแกล้งจับกุมคุมขัง ...ขุนผู้ประพฤติเช่นนี้หากไปอยู่ที่ใด ไพร่พลเมืองต้องได้รับความฉิบหายในที่นั้น คนที่ประพฤติเช่นนี้ท้าวพญามหากษัตริย์ไม่ควรชุบเลี้ยง ให้มีอำนาจ ไม่ควรยกย่องให้มีอำนาจหน้าที่ เขามีลักษณะเป็นต้นยาพิษที่เกิดขึ้นกลางเมือง หากคนดังกล่าวใหญ่โตขึ้นก็จะทำอันตรายแก่บ้านเมือง”  โดยแท้

โทษการลักน้ำในมังรายศาสตร์นั้นระบุโทษถึงฆ่าให้ตาย ดังความใน (เรื่องเดิม,หน้า 215-216) ระบุถ้อยคำว่า อันหนึ่งไพร่หรือผู้มีสกุลทำนาใกล้กันสร้างฝายด้วยสัดส่วนของกำลังคนและอุปกรณ์เท่ากัน แต่ฝ่ายหนึ่งโลภมาก...ไปแย่งน้ำ...พร้อมมีอาวุธในมือ  ให้ฆ่าให้ตายเสียกับที่นั้นได้แต่ในเมื่อรัฐจะจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศโดยมีกฎหมายพร้อมสรรพในมือ กระทำการดั่งขุนมาร โดยไม่ฟังเสียงคัดค้านใดใดจากประชาชนผู้ใช้น้ำที่แท้จริง โดยโยนิโสมนสิการ ควรจักได้รับโทษสถานใด ?

 

 

 

 

อ้างอิง

ทูนศรี  บัวนุช  (2535). การศึกษาความหมายในกฎหมายจารีต “มังรายศาสตร์” วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหา

                                    บัณฑิต. เชียงใหม่ : บัณฑิตวิทยาลัย  มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

พงศาวดารโยนก ฉบับหอสมุดแห่งชาติ. (2504).กรุงเทพมหานคร : ศิลปบรรณาคาร.

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net