Skip to main content
sharethis

จำลองโต๊ะเจรจา ‘ละครสันติภาพ’ ในเรือนจำคดีความมั่นคง สร้างบทบาทสุมมุติ 4 ฝ่าย ไทย-บีอาร์เอ็น-อาเซียน-โอไอซี สะท้อนความรู้ ความคิดและความต้องการจากผู้ต้องขังคดีไฟ

ก่อนการพูดคุยเพื่อสันติภาพระหว่างตัวแทนรัฐบาลไทยที่นำโดย พล.ท.ภารดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ กับนายฮัสซัน ตอยิบ ตัวแทนขบวนการบีอาร์เอ็น (BRN) เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2556 ที่ประเทศมาเลเซีย ข้อถกเถียงเกี่ยวกับเงื่อนไข 5 ข้อของบีอาร์เอ็น เกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง เพราะเกือบทุกข้อเป็นประเด็นอ่อนไหวในสายตาสังคมไทยเอามากๆ

ไม่เว้นแม้แต่ในเรือนจำอย่างในเรือนจำกลางสงขลา ที่เป็นที่จองจำผู้ต้องขังคดีความมั่นคงที่เกี่ยวข้องกับคดีความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีการถกเถียงในเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน

ทั้ง 5 ข้อที่ว่า คือ

1.ให้มาเลเซียเป็นคนกลางในการเจรจา

2.ต้องเป็นการพูดคุยระหว่างชาวมลายูปาตานีที่นำโดยบีอาร์เอ็น

3.ให้มีผู้สังเกตการณ์จากประชาคมอาเซียน จากองค์การความร่วมมืออิสลาม หรือโอไอซี (OIC) และจากองค์กรพัฒนาเอกชน หรือเอ็นจีโอ (NGO)

4.ต้องปล่อยนักโทษคดีความมั่นคงและยกเลิกหมายจับทั้งหมด และ

5.ต้องยอมรับว่าบีอาร์เอ็นเป็นองค์กรปลดปล่อยปาตานี ไม่ใช่กลุ่มแบ่งแยกดินแดน

ที่ผ่านมา กลุ่มด้วยใจ ซึ่งเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ ใช้โอกาสนี้ ในการจำลองการพูดคุยหรือการเจรจาสันติภาพให้กับผู้ต้องขัง ส่วนหนึ่งเพื่อเป็นโอกาสให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกระบวนการสันติภาพที่กำลังเกิดขึ้น และเป็นการรับเสียงสะท้อนจากผู้ต้องขังกลุ่มนี้ในฐานะที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในพื้นที่นั่นเอง

ก่อนละครเปิดฉาก มีการคัดเลือกตัวแทนผู้ขัง 32 คน จากทั้งหมดเกือบ 100 คนที่มาร่วมกิจกรรม จากนั้นได้แบ่งออกเป็น 4 ฝ่าย ฝ่าย 8 คน ซึ่งผู้ต้องขังส่วนใหญ่ที่ถูกจองจำอยู่ที่นี่ เป็นผู้ต้องขังที่มีอัตราโทษจำคุกตลอดชีวิต มีทั้งที่คดียังอยู่ในชั้นอุทธรณ์ ชั้นฎีกาและที่คดีถึงที่สุดแล้ว

การแบ่งออกเป็น 4 ฝ่าย ก็เพื่อให้แสดงบทบาทสมมุติเป็นฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเจรจาสันติภาพ ได้แก่

ฝ่ายตัวแทนรัฐบาลไทย

ฝ่ายตัวแทนขบวนการบีอาร์เอ็น

ฝ่ายตัวแทนโอไอซี และ

ฝ่ายตัวแทนประชาคมอาเซียน

ที่เหลือเป็นผู้ชม

 

ละครเปิดฉาก – ตัวแทนเจรจาฝ่ายไทย

ละครเริ่มด้วย ตัวแทนฝ่ายรัฐบาลไทยประชุมกันเองก่อน เกี่ยวกับประเด็นที่ขบวนการบีอาร์เอ็นไม่ให้เรียกว่ากลุ่มแบ่งแยกดินแดน แต่เป็นผู้ปลดปล่อยปาตานี และประเด็นการปล่อยตัวนักโทษ ซึ่งเรียกเป็นนักโทษการเมือง

ในประเด็นแรก ผู้เข้าประชุมส่วนใหญ่เห็นด้วยว่า จะยอมรับว่าขบวนการบีอาร์เอ็นไม่ใช่กลุ่มแบ่งแยกดินแดน แต่เป็นผู้ปลอดปล่อยปัตตานี แต่คนที่เป็นตัวแทนจากฝ่ายทหารไม่เห็นด้วย เนื่องจากอาจเป็นการยกระดับขบวนการ BRN

ส่วนประเด็นการปล่อยตัวนักโทษการเมืองนั้น ทั้งหมดเห็นด้วย เพราะผู้ที่ถูกคดีความมั่นคงที่เกี่ยวข้องกับการต่อสู่ของขบวนการบีอาร์เอ็นเป็นนักโทษการเมือง หากมีการคุมขังหรือจับตัวมาลงโทษจำนวนมากๆ อาจจะนำความเสื่อมเสียให้ประเทศชาติได้ เพราะทำให้ชาวต่างชาติมองว่า ประเทศนี้ไม่มีความสงบสุข

 

ตัวแทนเจรจาฝ่ายบีอาร์เอ็น

จากนั้นเป็นฉากที่ฝ่ายบีอาร์เอ็นได้ประชุมกันเองเช่นกัน มีข้อสรุปว่า หลังจากที่ขบวนการบีอาร์เอ็นได้เสนอข้อเรียกร้อง 5 ข้อผ่านเว็บไซต์ยูทูป ปรากฏว่าฝ่ายรัฐไทยยังไม่ยอมรับ เพราะขัดต่อรัฐธรรมนูญ เพราะรัฐธรรมนูญไทยระบุว่า ประเทศไทยเป็นหนึ่งเดียวไม่สามารถแบ่งแยกได้

ตัวแทนคนหนึ่งจึงพูดในที่ประชุมว่า ถามว่ารัฐธรรมนูญไทยที่บอกว่าแบ่งแยกไม่ได้นั้น เกิดขึ้นเมื่อไหร่ เกิดขึ้นก่อนหรือหลังจากปาตานีตกเป็นของไทย ถ้ารัฐไทยไม่ยอมรับข้อนี้ การเจรจาก็ควรต้องยุติลง

 

ฉากเจรจาไทย-บีอาร์เอ็น

จากนั้น เข้าสู่ฉากการเจรจาระหว่างตัวแทนรัฐบาลไทยกับขบวนการบีอาร์เอ็น ซึ่งเริ่มต้นด้วยฝ่ายไทย แจ้งข้อสรุป 2 ข้อ คือ 1.เราจะปล่อยตัวนักโทษคดีความมั่งคง และ 2.เราจะถือว่าคุณไม่ใช่กบฏ แต่คุณคือผู้ปลดปล่อยปัตตานี

หลังจากแจ้งข้อสรุปแล้ว ฝ่ายไทยจึงมีข้อเรียกร้องต่อฝ่ายบีอาร์เอ็นด้วย 2 ข้อ ได้แก่ 1.ขอให้ลดการใช้ความรุนแรงลง และ 2.เมื่อเกิดเหตุรุนแรงที่ไหนแล้วก็ขอให้ออกมายอมรับว่าบีอาร์เอ็นคือผู้กระทำ เพราะที่ผ่านมา ยังไม่มีใครออกมายอมรับเป็นผู้ก่อเหตุ

ฝ่ายไทย ถามต่อไปว่า คลิปวีดีโอที่ออกมาเรียกร้อง 5 ข้อผ่านยูทูปนั้น เป็นของบีอาร์เอ็นจริงหรือไหม พร้อมกับบอกด้วยว่า ถ้ายังมีเหตุรุนแรงอยู่อีก ฝ่ายไทยก็จะส่งกำลังทหารลงมาอีก

จากนั้นฝ่ายบีอาร์เอ็น ได้เริ่มพูดบ้างโดยกล่าวว่า การเจรจาเมื่อมาถึงขั้นนี้แล้ว หากฝ่ายไทยไม่ยอมรับข้อเสนอ 5 ข้อดังกล่าว เราคิดว่าเจรจาควรจะยุติลง ส่วนคลิปวีดีโอดังกล่าว เป็นของบีอาร์เอ็นจริง และเราขอยืนยันว่า การออกคลิปดังกล่าวไม่มีเบื้องหลังใดๆ เพราะฝ่ายไทยมักคิดว่า มีคนเบื้องหลังสนับสนุน

 

ตัวแทนประชาคมอาเซียน

จากนั้น เป็นฉากการประชุมของตัวแทนประชาคมอาเซียน ที่ประชุมเห็นว่า ปัจจุบันกำลังจะมีการเปิดเป็นประชาคมอาเซียน ซึ่งจะทำให้มีเสรีภาพทางการค้าขายมากขึ้น และไทยก็เป็นสมาชิกอาเซียนด้วย แต่ปัญหาความมั่งคงในประเทศยังไม่คลี่คลาย ดังนั้นควรรีบแก้ให้ได้ก่อนที่เป็นอาเซียน เพราะหากถึงเวลานั้นแล้ว แต่ยังแก้ปัญหาไม่ได้ ประเทศไทยก็อาจไม่ได้รับความสนใจจากประเทศสมาชิกเข้ามาลงทุน

ขณะเดียวกัน หากรัฐบาลไทยยังไม่สามารถแก้ปัญหาความขัดแย้งนี้ได้ ประชาคมอาเซียนต้องให้ความสนใจและต้องเข้าไปจัดการแก้ปัญหาด้วย

 

ตัวแทนโอไอซี

ผลการประชุมของฝ่าย 0IC ได้เรียกร้องให้รัฐบาลไทยเตรียมความพร้อมและให้ความสำคัญกับการเจรจาสันติภาพให้มากที่สุด โดยกำหนดแผนการเจรจาที่เป็นรูปเป็นร่างมากกว่าที่เป็นอยู่ขณะนี้ เพราะที่ผ่านมา ฝ่ายบีอาร์เอ็นมีแผนการสำหรับการเจรจาอย่างเป็นรูปเป็นร่างมากกว่าฝ่ายไทย

 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net