Skip to main content
sharethis

 


วันที่ 31 ก.ค. ไทยรัฐออนไลน์รายงานว่า  นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย (พท.) แถลงผลการประชุมพรรคว่า ที่ประชุมพรรคมีมติให้พิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับนายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทยในวันที่ 7-8 สิงหาคม เพียงฉบับเดียวเท่านั้น ไม่อนุญาตให้สมาชิกที่เคยเสนอร่าง พ.ร.บ.เข้าสู่สภาฯ เสนอร่างประกบโดยเด็ดขาด เพื่อประโยชน์ในการนิรโทษกรรมให้ประชาชนทุกสี ทุกฝ่าย ไม่รวมแกนนำ ผู้สั่งการ และพันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โดยมอบหมายให้ ส.ส.ทำความเข้าใจกับประชาชนว่าการผลักดันร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ เพื่อนำไปสู่ความปรองดองและเริ่มต้นลดทอนปัญหาให้กับประชาชนที่เป็นเหยื่อ ทางการเมืองให้เกิดรูปธรรม ภายหลังจากที่พรรคเพื่อไทยได้เป็นรัฐบาลมา 2 ปี

ทั้ง นี้ ได้มอบหมายให้ประธานวิปรัฐบาลประสานนายนิยม วรปัญญา ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ทำการถอนร่างนิรโทษกรรมฉบับของนายนิยมออกจากสภาฯ เพื่อป้องกันความสับสน เนื่องจากร่างของนายนิยมและของนายวรชัยมีเนื้อหาคล้ายคลึงกัน นอกจากนี้ยังได้ตั้งคณะทำงานพรรคร่วมรัฐบาลเพื่อแถลงข่าวตลอดการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เพื่อป้องกันการบิดเบือนข้อเท็จจริง พร้อมยืนยันว่าวันที่ 1 สิงหาคมจะพิจารณาเพียงวาระกระทู้ถามเท่านั้น ไม่ลักไก่นำ พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเข้าพิจารณาแน่  และจะเป็นการพิจารณาตามวาระปกติ ไม่ใช่สามวาระรวดตามที่พรรคประชาธิปัตย์กล่าวหา  อย่างไรก็ตามในเวลา 17.30 น. แกนนำพรรคร่วมรัฐบาลจะแถลงข่าวสนับสนุนร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ร่วมกันอีกครั้ง

ส่วนกรณีที่พรรคประชาธิปัตย์ระบุรัฐบาลลิดลอนสิทธิ ประชาชนกรณีประกาศใช้ พรบ.ความมั่นคง  โฆษกพรรคเพื่อไทย ระบุเป็นการพิจารณาของฝ่ายความมั่นคงและพรรคเพื่อไทยที่มีข้อมูลตรงกันว่า ฝ่ายค้านและฝ่ายตรงข้ามได้ปลุกระดมมวลชนและระดมคนให้เข้าร่วมชุมนุม  เห็นได้จากการประกาศของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ที่ประกาศคัดค้านทั้งในและนอกสภาฯ รัฐบาลจึงจำเป็นต้องป้องกันให้สถานการณ์อยู่ในความเรียบร้อย  ยืนยันการประกาศใช้ พ.ร.บ.มั่นคงไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะเคยประกาศใช้ตั้งแต่รัฐบาลพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ซึ่งเคยประกาศใช้ถึง 7 ครั้ง ขณะที่รัฐบาลอภิสิทธ์ ประกาศใช้ พ.ร.บ.มั่นคงและพ.ร.ก.ฉุกเฉิน เกือบ 18 ครั้ง

นายพร้อมพงศ์ ระบุด้วยว่าจะส่งตัวแทนยื่นขอให้ยุบพรรคประชาธิปัตย์ กรณีปราศรัยปลุดระมให้คนมาร่วมชุมนุม เท่ากับขัดขวางการทำงานของฝ่ายนิติบัญญัติ และเป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบประชาธิปไตย.

 

พรรคร่วม รบ.มีมติเดินหน้า พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับวรชัย

เว็บไซต์มติชน รายงานว่า เมื่อเวลา 17.30 น. ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น พรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมรัฐบาลร่วมประชุมเพื่อเตรียมความพร้อมก่อนเปิด ประชุมสภาผู้แทนราษฎรสมัยสามัญทั่วไป ในวันที่ 1 สิงหาคม โดยในการประชุมมีแกนนำพรรคเพื่อไทย อาทิ นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย นายภูมิธรรม เวชยชัย เลขาธิการพรรค นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี นายวราเทพ รัตนากร รองนายกรัฐมนตรี  ขณะที่ตัวแทนพรรคร่วมรัฐบาล ประกอบด้วย  นายสนธยา คุณปลื้ม หัวหน้าพรรคพลังชล นายธีระ วงศ์สมุทร หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา นายแพทย์วรรณรัตน์ ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล ที่ปรึกษาพรรคชาติไทยพัฒนา นายภราดร ปริศนานันทกุล สส.อ่างทองพรรคชาติไทยพัฒนา  และนายนิกร จำนงค์ อดีตรัฐมนตรีช่วยคมนาคม เข้าร่วมประชุม

ต่อมาเวลา 18.00 น. นายจารุพงศ์ ได้แถลงผลการประชุม โดยอ่านแถลงการณ์ถึงมติของพรรคร่วมรัฐบาลในเรื่องพ.ร.บ.นิรโทษกรรม  ว่า จากสภาพปัญหาสังคมไทยเกิดความขัดแย้ง แตกแยก แบ่งฝักแบ่งฝ่ายกันมาเป็นเวลานาน ส่งผลให้เกิดความขัดแย้งที่ฝังลึกในสังคมไทย พรรคร่วมรัฐบาลเห็นว่าแนวทางการแก้ไขปัญหาฝังลึกดังกล่าวคือการให้โอกาส ประชาชน เป็นการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและสิทธิพลเมืองตามระบอบประชาธิปไตย ดังนั้น พรรคร่วมรัฐบาลจึงเห็นพ้องต้องกันว่าสภาผู้แทนราษฎรควรจะพิจารณาร่างพระราช บัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประเทศ พ.ศ. .... ซึ่งก็คือร่างของนายวรชัย เหมะและคณะโดยสภาผู้แทนราษฎรได้บรรจุร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว โดยมีหลักการสำคัญที่จะนิรโทษกรรมประชาชนที่เข้าร่วมชุมนุมทางการเมือง ทุกสี ทุกฝ่าย อย่างเท่าเทียมกันซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมืองการแสดงออก ทางการเมืองของประชาชน ระหว่างวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 ถึงวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 ซึ่งการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ถือเป็นวาระปกติ โดยพรรคร่วมรัฐบาลจะไม่นำร่างพระราชบัญญัติอื่นๆ ในทำนองเดียวกันมาพิจารณาร่วมด้วย และใช้วิธีพิจารณาตามข้อบังคับปกติทั่วไป โดยไม่มีข้อยกเว้นหรือเร่งรัดใดๆ เพื่อให้เกิดความรอบคอบและเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติมากที่สุด

นายจารุพงศ์ กล่าวว่า พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับนายวรชัย เหมะและคณะมีหลักการคือ "ไม่รวมถึงการกระทำใดๆ ของบรรดาผู้ซึ่งมีอำนาจในการตัดสินใจ หรือสั่งการให้มีการเคลื่อนไหวทางการเมืองในห้วงระยะเวลาดังกล่าว" ซึ่งเป็นการนิรโทษกรรมให้ประชาชนผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการชุมนุมเท่านั้น ไม่เกี่ยวข้องกับแกนนำและผู้สั่งการ คดีที่ติดค้างกับประชาชนทั้งสองฝ่ายร้ายแรงไม่แพ้กัน เช่น การก่อการร้าย การยึดสนามบิน ถ้าปล่อยไว้จะกลายเป็นชนักติดหลัง ความสงบจะเกิดขึ้นยาก พระราชบัญญัติฉบับนี้จึงนิรโทษกรรมให้ "ประชาชนทั้งสองฝ่ายอย่างเท่าเทียมกัน  ไม่มีการเลือกข้างใดๆ ทั้งสิ้น" อย่างไรก็ตามขอยืนยันว่าจะไม่นำ พ.ร.บ.ฉบับนี้เข้าประชุมในวันที่ 1สิงหาคมนี้อย่างแน่นอน
 

สุชาติ ลายน้ำเงิน ยื่น 19,000 รายชื่อ เสนอร่าง ก.ม.นิรโทษกรรมคดีอาญา

เมื่อวันที่ 31 ก.ค. มีรายงานว่า ที่รัฐสภา นายสุชาติ ลายน้ำเงิน อดีต ส.ส.ลพบุรี พรรคเพื่อไทย ได้นำประชาชนจาก จ.ลพบุรี ประมาณ 200 คน มาชุมนุมที่บริเวณด้านหน้าอาคาที่รัฐสภาเพื่อยื่นร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม แก่ผู้กระทำผิดอาญา ซึ่งมีมูลเหตุเกี่ยวเนื่องกับความขัดแย้ง หรือการรัฐประหารเกิดขึ้น ระหว่าง พ.ศ.2548-2554 พร้อมรายชื่อประชาชนที่สนับสนุนจำนวน 19,999 รายชื่อ ต่อ นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร โดยมี นายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1 เป็นผู้รับหนังสือแทน

โดย นายสุชาติ กล่าวว่า การเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมดังกล่าว ดำเนินการตามรัฐธรรมนูญมาตรา 163 หมวด 3 และหมวด 5 ประกอบ พ.ร.บ.ว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย พ.ศ.2542 ซึ่งอยากเห็นการบรรจุร่างกฎหมายดังกล่าวเข้าสภาฯ เพื่อคืนสิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาค ภายหลังประเทศ เกิดความขัดแย้งทางการเมืองที่มาจากความเห็นต่างของประชาชน จึงควรช่วยเหลือผู้ที่ถูกกล่าวหา หรือต้องคำพิพากษาว่า กระทำผิดอาญาที่มาจากความขัดแย้งทางการเมืองตั้งแต่ปี พ.ศ.2548-2554

ด้าน นายเจริญ กล่าวว่า ตนจะนำร่างกฎหมายดังกล่าว ส่งให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบความถูกต้องของรายชื่อ ซึ่งอยากให้ประชาชนติดตามที่ประชุมที่จะมีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับนายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย ในวันที่ 7 ส.ค.นี้ โดยให้ติดตามได้ ทางการถ่ายทอดสดของสถานีโทรทัศน์และวิทยุรัฐสภา แต่หากคนใดว่าง ก็สามารถมาติดตามการประชุมได้ที่หน้ารัฐสภาได้
 

เปิดสาระร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับเสื้อแดงลพบุรี นำโดยสุชาติ ลายน้ำเงิน

เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ รายงานถึงสาระสำคัญ ร่าง พ.ร.บ. นิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำความผิดอาญา ซึ่งมีมูลเหตุเกี่ยวเนื่องกับความขัดแย้งทางการเมืองหรือการรัฐประหาร ที่เกิดขึ้นระหว่าง พ.ศ.2548 ถึง พ.ศ.2554 ที่มีประชาชนร่วมลงชื่อสนับสนุน จำนวน 10,999 คน ที่นำยื่นโดย นายสุชาติ ลายน้ำเงิน อดีตส.ส.ลพบุรี พรรคพลังประชาชน ฐานะแกนนำคนเสื้อแดงจ.ลพบุรี ระบุว่าให้ประกาศว่าโดยที่ตั้งแต่ปี พ.ศ.2548 เป็นต้นมา ประเทศไทยได้เกิดความขัดแย้งทางการเมืองและเหตุการณ์ความไม่สงบที่มีมูลเหตุ มาจากความเห็นที่แตกต่างกันของประชาชนกลุ่มต่างๆ อันเป็นเหตุให้เกิดความสูญเสียแก่ชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน บั่นทอนสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ดังนั้นเพื่อให้ประเทศไทยกลับมาสงบสุขดังเดิม และพร้อมที่จะเดินหน้าพัฒนาประเทศ และนำมาซึ่งความผาสุกแก่ประชาชนชาวไทย จึงเป็นการสมควรที่จะให้มีการนิรโทษกรรมแก่บรรดาบุคคลทั้งหลายทุกฝ่าย โดยการคืนสิทธิและเสรีภาพอย่างเท่าเทียมและเสมอภาคกัน ให้กับผู้ที่ถูกกล่าวหาหรือผู้ต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำผิดอาญาซึ่งมีมูล เหตุมาจากความขัดแย้งทางการเมืองหรือสืบเนื่องมาจากการรัฐประหารที่เกิดขึ้น ระหว่าง พ.ศ.2548 ถึง พ.ศ.2554 อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 163 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้ดังต่อไปนี้

มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำความผิดอาญา ซึ่งมีมูลเหตุเกี่ยวเนื่องกับความขัดแย้งทางการเมืองหรือการรัฐประหาร ที่เกิดขึ้นระหว่าง พ.ศ.2548 ถึง พ.ศ.2554”

มาตรา 2 พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตรา 3 บรรดาการกระทำผิดอาญาทั้งหลายทั้งสิ้นของบุคคลใดๆ ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับซึ่งได้กระทำไปโดยมีมูลเหตุเกี่ยวเนื่องกับการเมืองหรือความขัดแย้งทางการเมือง หรือได้ถูกกล่าวหาว่าได้กระทำความผิดโดยคณะบุคคลที่จัดตั้งขึ้นจากการรัฐประหาร ที่เกิดขึ้นระหว่างนิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำผิดอาญาที่มีมูลเหตุเกี่ยวเนื่องกับความขัดแย้งทางการเมืองหรือการรัฐประหารที่เกิดขึ้นระหว่าง พ.ศ.2548 - 2554 ไม่ว่าผู้กระทำจะได้กระทำฐานะตัวการ ผู้สนับสนุน ผู้ใช้ให้กระทำ หรือผู้ถูกใช้ และไม่ว่าการกระทำนั้นจะกระทำในระหว่างวันที่กล่าวหรือก่อน หรือหลังวันที่กล่าว หากการกระทำนั้นผิดกฎหมาย ก็ให้ผู้กระทำพ้นจากการกระทำผิดทางอาญาโดยสิ้นเชิง

มาตรา 4 การนิรโทษกรรมตามพระราชบัญญัตินี้ไม่ก่อให้เกิดสิทธิแก่ผู้ได้รับนิรโทษกรรม ในอันที่จะเรียกร้องสิทธิ์หรือประโยชน์ใดๆ ทั้งสิ้น

มาตรา 5 ให้นายกรัฐมนตรีรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

นายกรัฐมนตรี

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำหรับสาระในมาตรา 3 ที่ระบุตามร่างกฎหมายดังกล่าว หากมีการพิจารณาจริง จะทำให้บุคคลที่ถูกยื่นฟ้องหรือดำเนินคดี โดย คตส. จะได้รับการนิรโทษกรรมตามผลของร่างกฎหมายนี้ ซึ่งหมายรวมถึงคดีอาญาของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ด้วย

 

"อภิสิทธิ์-สุเทพ" นำ 80 ส.ส.ขึ้นเวทีผ่าความจริง ปลุกคนต้าน "นิรโทษกรรม"

ไทยรัฐออนไลน์รายงานความเคลื่อนไหวของพรรคประชาธิปัตย์ว่า หลังเสร็จสิ้นการประชุม ส.ส.ของพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) นายอภิสิทธิ์ เวชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ พร้อม ส.ส.พรรคกว่า 80 คน ได้ออกเดินทางไปยังสถานีรถไฟฟ้า BTS อารีย์ เพื่อเดินทางไปยังลานสกายวอล์ก สถานีรถไฟฟ้า BTS ช่องนนทรี เพื่อร่วมขึ้นเวทีผ่าความจริง โดยมีแกนนำพรรค อาทิ นายอภิสิทธิ์ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ส.ส.สุราษฎร์ธานี นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ ประธาน ส.ส.กทม. นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน นายกรณ์ จาติกวณิช รองหัวหน้าพรรคฯ นายไตรรงค์ สุวรรณคิรี นายศิริโชค โสภา และนายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรค โดยมีประชาชนขอลายเซ็นและถ่ายรูปจำนวนมาก ส่วนการรักษาความปลอดภัย มีตำรวจจาก บก.น.5 มาดูแลรักษาความปลอดภัย 1 กองร้อย

ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า พรรคประชาธิปัตย์จัดเวทีผ่าความจริงในทุกวันเสาร์ แต่ช่วงใกล้เปิดสภาฯ ที่จะพิจารณา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม พรรคได้จัดเวทีถี่ขึ้น เพื่อปลุกกระแสให้ประชาชนออกมาคัดค้านร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ที่รัฐบาลจะนำเข้าสภาฯ ในวันที่ 7 ส.ค.นี้.

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net