Skip to main content
sharethis
ภาณุวัฒน์ พันธุ์ประเสริฐ มองบทบาทกองทัพกับการพัฒนาประชาธิปไตยหลัง 14 ตุลา ขณะพุฒิพงศ์ มานิสสรณ์ สำรวจสถานะและผลทางกฎหมายของการใช้กำลังทหารล้มล้างรัฐธรรมนูญ: จาก 6 ตุลา 19 ถึง 19 กันยา 49

ภาณุวัฒน์ พันธุ์ประเสริฐ จากคณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ ม.เชียงใหม่ เสนอหัวข้อ กองทัพไทยกับการพัฒนาประชาธิปไตยหลัง 14 ตุลา


เขาออกตัวว่า เขาไม่ได้รับการศึกษาด้านรัฐศาสตร์ในประเทศไทยเลย ดังนั้น มุมมองและการเรียนรู้ของเขามาจากการศึกษาเอาเอง โดยเขาเริ่มเปิดจากภาพของวอยซ์ทีวีที่ เชิญสนธิ บุญยรัตกลินมาออกรายการ เมื่อครบรอบการรัฐประหาร 19 กันยา ซึ่งเป็นภาพที่ตลก เพราะหลายคนก็ลืมสนธิไปแล้วว่าเขาคือหัวหน้าคณะรัฐประหาร และเป็นคนสำคัญพอที่จะเชิญมาออกรายการในโอกาสครบรอบ 19 กันยา เพราะภาพที่คนนึกถึงรัฐประหาร 19 กันยาไม่ได้นึกถึงตัวหัวหน้าคณะรัฐประหารแล้วแต่นึกถึงคนอื่นที่เกี่ยวข้อง ส่วนสนธิ กลายเป็นใครไปแล้วก็ไม่รู้ กลายเป็นคนไม่สำคัญไปแล้ว นี่ทำให้เขาหลงทางในการศึกษา และรู้สึกว่าการศึกษาบทบาททหารในการเมืองไทยโดยเอาทหารเป็นพระเอก หรือเอาทหารเป็นจุดสนใจของเรื่องอาจจะใช้ไม่ได้แล้วในปัจจุบันนี้ เพราะทหารคงไม่ใช่พระเอกที่ทำอะไรโดยตัวเอง แต่ไปเกี่ยวข้องหรือถูกใช้จากคนอื่น

อย่างไรก็ตาม การศึกษาของเขายังคงเอาทหารเป็นตัวเดินเรื่อง และมองว่าทหารไม่ได้อยู่ในสุญญากาศ งานศึกษาของเขาทดลองนำเสนอ 2 ประเด็น

ประเด็นแรก ทฤษฎีทหารกับประชาธิปไตย ทหารสามารถแทรกแซงให้เกิดผลบวกกับประชาธิปไตยได้หรือไม่ เขากล่าวถึงทฤษฎีทหารในการเมืองทั่วไป คือแบบที่เป็นอยู่ทั่วโลก โดยประเด็นหลักคือ ปกติแล้วเมื่อเรานึกถึงบทบาททหารในการเมือง หรือแทรกแซงในการเมืองเมื่อไหร่จะถูกมองว่าเป็นผลลบต่อประชาธิปไตยโดยทันทีแทบจะเป็นอัตโนมัติ โดยไม่พิจารณาอะไรอื่นเลย

เขายกตัวอย่างนายพลปิโนเช ของชิลี และพลเอกตานฉ่วย ของพม่าที่เข้ามาแทรกแซงการเมืองและสร้างผลร้ายต่อประชาธิปไตยในประเทศ อย่างไรก็ตาม ก็มีประเด็นที่ทำให้เราต้องกลับมาฉุกคิดอีกครั้งว่าทหารเข้ามายุ่งเกี่ยวทางการเมืองเป็นผลร้ายต่อประชาธิปไตยเสมอไปนั้น อาจจะไม่ใช่ข้อสรุปที่จริงทุกครั้งไป

เหตุการณ์ที่กระตุกให้คิดขึ้นมาคือเหตุการณ์ที่กองทัพอียิปต์เข้ามามีอำนาจการเมืองหลังการลุกฮือของประชาชนในกระแสอาหรับสปริง มูบารักลงจากตำแหน่งหลังถูกต่อต้านอย่างหนัก แต่คนที่มาแทนมูบารักไม่ใช่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง แต่เป็นกองทัพอียิปต์ที่เข้ามา “ดูแลประเทศ” ดูแลช่วงเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตย แต่ตอนนั้นกระแสชาวโลกมองเหตุการณ์นี้ของอียิปต์โดยไม่ได้มองว่ามันคือการรัฐประหารหรือเป็นอะไรที่เลวร้าย แต่กลับมองว่าเป็นเรื่องจำเป็น เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นอาจจะไม่ถูกใจร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่คาดว่าจะทำให้ประชาธิปไตยในอียิปต์เดินหน้าต่อไป สิ่งนี้ทำให้ต้องคิดว่าการที่ทหารเข้ามาแทรกแซงการเมืองก็สามารถเป็นผลบวกต่อประชาธิปไตยก็ได้

อียิปต์เกิดการรัฐประหารอีกครั้ง 2 ปีต่อมา และคราวนี้หนักกว่าครั้งแรกเพราะโค่นล้มผู้นำจากการเลือกตั้ง และถูกวิจารณ์อย่างหนัก


 

ประเด็นที่ 2 ทหารกับการพัฒนาประชาธิปไตยหลัง 14 ตุลา เขากล่าวว่า Democratization หรือการพัฒนาประชาธิปไตยนั้น คือการศึกษาการเปลี่ยนแปลงจากสภาพสังคมก่อนจะเป็นประชาธิปไตยแล้วนำไปสู่ประชาธิปไตยได้อย่างไร ผ่านขั้นตอนหรือกระบวนการอย่างไรบ้าง โดยมีสามช่วงเวลาหลัก คือ สภาพก่อนประชาธิปไตย สภาวะเปลี่ยนผ่าน และขั้นตอนการสร้างความแข็งแกร่งให้กับระบอบประชาธิปไตย

เขาเห็นว่าต้องสนใจกองทัพและนับรวมกองทัพเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาพัฒนาการประชาธิปไตย เพราะกองทัพเป็นองค์กรที่มีอาวุธยุทโธปกรณ์ เป็นผู้ที่ผูกขาดความรุนแรงในนามของรัฐ เป็นองค์กรที่มีความแข็งแกร่ง มีระเบียบวินัย มีระบบการบังคับบัญชาชัดเจน ทำให้แตกต่างจากสถาบันอื่นๆ ที่เป็นสถาบันพลเรือน และกองทัพมีลักษณะรักพวกพ้อง มีความรักและภูมิใจในความเป็นทหาร ภาคภูมิใจในเกียรติภูมิของตัวเอง

สิ่งที่สังคมที่อยากจะเป็นประชาธิปไตยควรจะสนใจคือ การจัดวางความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพกับพลเรือน ว่าจะทำอย่างไรให้กองทัพสามารถเป็นประโยชน์ต่อประชาธิปไตยมากที่สุด ไม่หันมาล้มล้างรัฐบาลและทำให้ประชาธิปไตยสิ้นสุดลง

แนวคิดด้านความสัมพันธ์ระหว่างพลเรือนและทหาร มีทฤษฎีความสัมพันธ์ที่จะทำให้ไม่เกิดการรัฐประหารหรือเข้ามาแทรกแซงทางการเมืองโดยทหารว่า

ประการแรกคือ สังคมจะเป็นประชาธิปไตยได้ พลเรือนต้องเป็นใหญ่ คือ Civilian Supremacy ถ้าสังคมไหนไม่มีสิ่งนี้อยู่ สังคมนั้นยังไม่เป็นประชาธิปไตย

ประการที่ 2 คือ การแยกทหารออกจากการเมือง (Military professionalism) ซึ่งเป็นข้อเสนอของแซมมูเอล ฮันติงตัน คือหลักความเป็นมืออาชีพของทหาร คือความเชื่อว่าทหารกับรัฐบาลพลเรือนมีหน้าที่คนละอย่างกัน ขณะที่ทหารมีหน้าที่ป้องกันประเทศ รัฐบาลพลเรือนมีหน้าที่บริหารประเทศ และต่างคนต่างมีปริมณฑลแยกกันโดยสิ้นเชิง ถ้าสภาพนี้เกิดขึ้น นี่คือสิ่งที่ดีต่อประชาธิปไตย เพราะถ้าทหารเอาแต่ตั้งหน้าตั้งตาสนใจการทำหน้าที่ของตัวเองไม่มีใครไปก้าวก่ายก็จะทำให้ทหารไม่มีเวลามาสนใจเหตุการณ์บ้านเมือง และถ้าทหารไม่สนใจเหตุการณ์บ้านเมืองก็จะไม่มีความอยากมาแทรกแซงปริมณฑลของเหตุการณ์บ้านเมือง รัฐบาลก็จะอยู่ด้วยความปลอดภัยจากการแทรกแซงของทหาร

อย่างไรก็ตาม แนวคิดนี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์เช่นกันว่า ข้อเสนอของฮันติงตันไม่สามารถใช้ได้ทุกประเทศ ในบางบริบทประเทศที่กำลังพัฒนาจะมีสภาพอย่างหนึ่งคือ สถาบันพลเรือนไม่มีความเข้มแข็งพอ อาจจะเป็นเพราะเพิ่งได้รับเอกราชภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง หรือเพิ่งเป็นประชาธิปไตยหลังเผด็จการอันยาวนาน สภาพเช่นนั้นเป็นอุปสรรคต่อการสถาปนาระบอบประชาธิปไตย ในระหว่างช่วงเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยแบบนี้ ทหารควรเข้ามาดูแลปกครองประเทศไปก่อนระยะหนึ่ง เทียบได้กับกรณีอียิปต์หลังมูบารัก ภารกิจทหารบางครั้งต้องยอมรับว่าต้องมาเกี่ยวข้องกับการเมืองบ้าง

นี่เป็นประเด็นที่อาจจะสร้างความกระอักกระอ่วนใจให้กับหลายๆ คน ถ้าจะบอกว่า บางทีการมีบทบาททางการเมืองของทหารก็เป็นประโยชน์ต่อประชาธิปไตยได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามกับทฤษฎีหลายๆ ทฤษฎี แต่การมองว่ากองทัพเป็นผลลบต่อประชาธิปไตยนั้นอาจจะไม่ตรงกับข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ ซึ่งการมองเช่นนี้น่าจะเป็นประโยชน์กว่าการมองโลกเป็นขาว-ดำ แบบหยาบๆ

ในไทยเองก็มีการศึกษาบทบาททหารในฐานะที่ช่วยส่งเสริมประชาธิปไตย โดย นรนิติ เศรษฐบุตร ในต่างประเทศมีงานเขียน เช่น The Military as the Guardian of Constitutional Democracy มองว่าทหารสามารถเป็นผู้พิทักษ์ ในระยะเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตย สร้างระเบียบให้สังคม ลดความขัดแย้ง และนำพาไปสู่ประชาธิปไตยได้

อีกบทความ คือ The Democratic Coup d’Etat การรัฐประหารทำได้ โดยเงื่อนไข 7 ประการคือ หนึ่ง ทำรัฐประหารเพื่อล้มเผด็จการ, สอง เป็นการรัฐประหาร หลังประชาชนชุมนุมต่อต้านรัฐบาลเผด็จการอย่างยาวนาน, สาม หลังจากการชุมนุมอันยาวนาน เผด็จการไม่ลงจากอำนาจ, สี่ กองทัพเป็นที่ศรัทธาของสังคม, ห้า กองทัพเป็นผู้ก่อรัฐประหาร, หก หลังรัฐประหารแล้วมีการเลือกตั้งอย่างเสรีและเป็นธรรม และ เจ็ด กองทัพสิ้นสุดอำนาจและคืนอำนาจให้รัฐบาลที่ชนะการเลือกตั้ง โดยผู้เขียนได้ยกตัวอย่างประกอบ คือ อียิปต์ ตุรกี และ การปฏิวัติดอกคาร์เนชั่นที่โปรตุเกส ปี 1974

วิเคราะห์บทบาททหารไทยกับการพัฒนาประชาธิปไตย เขาพบว่ามีงานของพอล แชมเบอร์ที่ศึกษาในทำนองนี้มาก่อนโดยประเมินว่าช่วงไหนทหารมีบทบาทสูง ช่วงไหนมีบทบาทต่ำ แต่ตัวเขาพยายามมองบทบาทของทหารโดยอิงเข้ากับทฤษฎีการพัฒนาประชาธิปไตย โดยดู 3 ด้านทางการเมือง คือ

หนึ่ง ด้านการกำหนดตัวกลุ่มผู้นำประเทศ เฉพาะหลัง 14 ตุลามาจนถึงปัจจุบัน ในทางบวก พบว่า ทหารยอมถอยอำนาจจากยุคประชาธิปไตยครึ่งใบ ในด้านลบ มีการรัฐประหารหลายครั้ง ใกล้ชิดกับพรรคการเมืองบางพรรค มี ส.ว. สรรหา และหนุนรัฐบาลพลเรือนบางฝ่ายไม่หนุนอีกฝ่าย กรณีที่ชัดเจนคือไม่ทำตามคำสั่งรัฐบาลสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ในการสลายการชุมนุมพันธมิตรฯ แต่กลับออกมาปราบคนเสื้อแดง การรัฐประหาร 2549 เป็นการรัฐประหารเพื่อประชาธิปไตยหรือเปล่า เขาชี้ว่าไม่ใช่เพราะมันต้องเป็นการโค่นล้มเผด็จการ ซึ่งทักษิณไม่ได้เป็นเผด็จการแต่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนกว่า 19 ล้านเสียง

สอง ด้านการกำหนดนโยบายสาธารณะ ในทางบวก ทหารไทยใช้ศักยภาพ และทรัพยากรของกองทัพเพื่อสนองนโยบายของรัฐบาล เช่น การช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม ขณะที่ในด้านลบ ทหารมีบทบาทอย่างสูงในอดีต และปัจจุบัน ในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ เราก็สามารถกล่าวได้ว่า ทหารก็ยังพร้อมที่จะต่อต้านนโยบายที่ขัดประโยชน์ของตน เช่น ทหารยังคงได้งบประมาณเยอะมาก เป็นเพราะว่ารัฐบาลรู้ว่าทหารจะต่อต้านใช่หรือไม่ถ้าไปตัดงบทหาร หรือกรณีที่รัฐบาลพยายามเล่นงานฝ่ายที่ปราบปราม นปช. ทำไมรัฐบาลยิ่งลักษณ์ไม่เล่นงานทหาร แต่เล่นงานเฉพาะสุเทพ และอภิสิทธิ์ เพราะรัฐบาลรู้ว่าถ้าเล่นงานทหารก็จะถูกต่อต้าน

สาม ด้านความมั่นคงภายใน จะเป็นประชาธิปไตยได้พลเรือนต้องเป็นคนกำหนดเป้าหมาย ขอบเขตภารกิจ และงบประมาณ ในด้านบวก ทหารไทยเคยทำการเป็นประโยชน์ต่อประชาธิปไตยโดยการต่อต้านภัยคุกคามต่างๆ ทำในฐานะที่ตัวเองเป็นใหญ่ในบางยุค และในฐานะที่เป็นเครื่องมือของรัฐบาลพลเรือนในบางยุค

ขณะที่บทบาทในทางลบ คือ กอ.รมน. มีประวัติด้านการรักษาความมั่นคงภายใน แต่คำถามคือไทยปัจจุบันเผชิญความมั่นคงอะไรบ้าง ความมั่นคงถูกตีความอย่างกว้าง และขัดต่อหลักประชาธิปไตย เช่น รวมถึงการปกป้องสถาบัน และขยายอำนาจด้านความมั่นคงเพื่อปราบปรามคนต่อต้านสถาบัน ซึ่งขัดต่อหลักประชาธิปไตยอย่างไม่ต้องสงสัย

000


หลังรัฐประหาร 19 ก.ย. 2549
ภาพโดย pittaya (CC BY 2.0)
 

พุฒิพงศ์ มานิสสรณ์ นำเสนอหัวข้อ สถานะและผลทางกฎหมายของการใช้กำลังทหารล้มล้างรัฐธรรมนูญ: จาก 6 ตุลา 19 ถึง 19 กันยา 49

สถานะและผลทางกฎหมายของการใช้กำลังทหารล้มล้างรัฐธรรมนูญ เมื่อพูดว่าเป็นการรัฐประหารแล้วมักจะคิดว่าเป็นการใช้กำลังของกลุ่มบุคคลเพื่อล้มล้างรัฐบาลและถือครองอำนาจรัฐแทน ซึ่งทำให้โน้มเอียงไปในทางที่เข้าใจว่าเป็นการใช้กำลัง ทั้งที่จริงๆ แล้วสามารถใช้กับกรณีที่อาศัยกลไกตามรัฐธรรมนูญ

กรณีเหล่านี้ได้แก่ การที่องค์การตามรัฐธรรมนูญบางองค์กรที่ใช้อำนาจบิดผันรัฐธรรมนูญให้มีผลทางกฎหมายและดำรงอยู่ต่อไปเรื่อยๆ เป็นการรัฐประหารในรัฐธรรมนูญ

ประเด็นต่อมา การรัฐประหารที่ใช้กำลังทหาร โดยเป็นผลสำเร็จ จากการศึกษา หลัง 14 ตุลา มีการรัฐประหารสำเร็จ 4 ครั้ง

ในทางกฎหมายแล้วมีประเด็นน่าพิจารณาคือเมื่อเกิดการรัฐประหารแล้วจำเป็นต้องฉีกรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งในทางกฎหมายไม่จำเป็นที่จะต้องล้มเลิกรัฐธรรมนูญไป เช่นกรณี 2500

อีกประเด็น รัฐประหารสำเร็จคืออะไร คือต้องเป็นการกระทำที่สมบูรณ์ ประชาชนเชื่อฟัง แม้จะเป็นคำสั่งของผู้ปกครองมาจากรัฐประหาร แต่ตัดสินใจยากมาก ว่าเมื่อไหร่ที่จะเรียกว่ารัฐประหารสำเร็จแล้ว เช่น เมื่อคณะรัฐประหารออกแถลงการณ์ฉบับที่ 1 แล้ว หรือไม่

งานของเขา พิจารณาสถานะทางกฎหมายของประกาศหรือคำสั่ง เมื่อคณะรัฐประหารทำรัฐประหารสำเร็จ ยึดอำนาจมา และใช้อำนาจไปในการต่างๆ เช่น การรักษาความสงบ และบริหารราชการแผ่นดิน และป้องกันรัฐบาลที่ถูกรัฐประหารกลับมามีอำนาจ เรามักพบรูปแบบของประกาศและคำสั่ง

ในชั้นต้นพิจารณาได้ว่าแถลงการณ์ ประกาศและคำสั่งที่แยกได้เป็นสองแบบ คือแบบที่มีผลทางกฎหมาย เช่น ประกาศและคำสั่ง กับอีกแบบคือไม่มีผลในทางกฎหมาย เช่น แถลงการณ์

เป็นที่ทราบกันดีว่าการรัฐประหารเป็นสิ่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นสิ่งแปลกปลอมที่เข้ามาใช้อำนาจ การใช้อำนาจของทหารจึงมีลักษณะผิดกฎหมาย ดิบเถื่อน เพื่อกลบเกลื่อนสิ่งที่เกิดขึ้น จึงต้องพยายามทำให้เกิดความเป็นธรรมในการใช้อำนาจของคณะรัฐประหาร จึงหันมาใช้กฎหมายตามวาทกรรมว่าด้วยนิติรัฐ

นับจาก 6 ตุลา ถึง 19 กันยา ระยะเวลาการครองอำนาจของคณะรัฐประหารต่างๆ มีเวลาที่ต่างกันไป มีระยะเวลาสั้นลงเรื่อยๆ ส่งผลให้จำนวนประกาศและคำสั่งมีจำนวนลดลง เช่นก่อน 14 ตุลา มีรัฐประหาร 20 ต.ค. 2501 มีประกาศและคำสั่งร้อยกว่าฉบับ หรือ 17 พ.ย. 2514 ก็มีประกาศและคำสั่งถึง 300 ฉบับ แต่หลังจากนั้น จำนวนเวลาครองอำนาจสั้นลง ส่งผลให้ประกาศและคำสั่งน้อยลงไปด้วย เช่น กรณี 6 ตุลา มี 70 กว่าฉบับ หรือ 19 กันยา มีเพียงแต่ 60 กว่าฉบับ

ทั้งนี้ สันนิษฐานว่าจำนวนระยะเวลาที่ครองอำนาจน้อยลง เพราะภายหลัง 14 ตุลา เกิดการขยายตัวของพลังประชาธิปไตยและมีการลงหลักปักฐานของระบอบรัฐสภามากขึ้น

สถานะทางกฎหมายของประกาศและคำสั่งแบ่งได้เป็นสองหัวข้อย่อย

หนึ่ง กรณีที่มีการรับรองความสมบูรณ์ พบได้โดยการรับรองโดยองค์กรตุลาการและนิติบัญญัติ และรัฐธรรมนูญประเภทนี้ล่าสุดคือ รัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว 2549 ก็ได้รับการรับรองไว้ ซึ่งน่าสังเกตว่าก่อนหน้านี้การรับรองความชอบด้วยกฎหมายรับรองเพียงแค่ให้ประกาศและคำสั่งมีความชอบด้วยกฎหมาย แต่รัฐธรรมนูญ ชั่วคราว 2549 มาตรา 36 ได้รับการรับรองย้อนหลังไปก่อนการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ชั่วคราวด้วย เกิดจากการแก้ปัญหาที่ศาลฎีกา 913/2536 ซึ่งศาลฎีกาพยายามควบคุมการใช้ประกาศและคำสั่งของคณะรัฐประหารโดยชี้ว่าไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

ในรัฐธรรมนูญ 2534 มาตรา 222 ก็เป็นครั้งแรกที่มีการรับรองประกาศและคำสั่งของคณะรัฐประหารให้รับรองความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ต่อมา หลังรัฐประหาร 19 กันยา รัฐธรรมนูญ 2550 ก็มีการรับรองอีกครั้งว่าประกาศและคำสั่งของคณะรัฐประหารนั้นชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ซึ่งครอบคลุมไปถึงการกระทำต่างๆ ของคณะรัฐประหารว่าชอบด้วยรัฐธรรมนูญ
การบัญญัติเช่นนี้ทำลายหลักความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ ทำให้ปัจจุบันศาลรัฐธรรมนูญไม่สามารถตรวจสอบประกาศและคำสั่งของคณะรัฐประหารว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

โดยสรุป องค์กรตุลาการมีท่าทีในทางรับรองความชอบธรรมขณะที่คณะรัฐประหารก็มีเทคนิคที่จะทำให้ได้รับความชอบธรรมและได้รับการรับรองในรัฐธรรมนูญ และในทางเนื้อหาก็ยังพัฒนาไม่ให้ตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของประกาศและคำสั่งของคณะรัฐประหารด้วย

องค์กรตุลาการ เป็นองค์กรที่ยืนยันว่าคำสั่งและประกาศสามารถใช้ได้ ทั้งนี้ แต่ก่อนบทบาทนี้อยู่กับศาลยุติธรรม โดยบทบาทที่สำคัญอยู่ที่ศาลฎีกาที่วางแนวบรรทัดฐาน อาทิ ฎีกาที่ 45/2496, ฎีกา1662/2505
ตัวอย่างฎีกา คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 45/2496

"คณะรัฐประหารได้ยึดอำนาจการปกครองประเทศได้เป็นผลสำเร็จ การบริหารประเทศชาติในลักษณะเช่นนี้ คณะรัฐประหารย่อมมีอำนาจที่จะเปลี่ยนแปลง แก้ไขยกเลิกและออกกฎหมายตามระบบแห่งการปฏิวัติ เพื่อบริหารประเทศชาติต่อไป มิฉะนั้นประเทศชาติจะตั้งด้วยความสงบไม่ได้..."

ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ก็มีแนวทางใกล้เคียงกัน ศาลรัฐธรรมนูญก็มีคำวินิจฉัย 5/2551 ในแนวทางรองรับอำนาจรัฐประหาร

กล่าวโดยสรุปคือองค์กรตุลาการรองรับความสมบูรณ์ของอำนาจคณะรัฐประหาร ทำให้สถานะประกาศและคำสั่งมีสภาพบังคับตามกฎหมาย นอกจากนี้ยังยอมรับองค์กรต่างๆ ที่ก่อตั้งขึ้นโดยอำนาจรัฐประหาร เช่น คตส. เป็นต้น

กรณีต่อต้านอำนาจรัฐประหารนั้น พบจากกรณี คำวินิจฉัยส่วนตนของ กีรติ กาญจนรินทร์ ผู้พิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

ประเด็นต่อมาคือการนิรโทษกรรม ก่อนหน้า 19 กันยายน 2549 เป็นการนิรโทษกรรมโดยองค์กรอื่น แต่รัฐประหาร 19 กันยา ผู้ทำรัฐประหารได้นิรโทษกรรมตัวเอง

กล่าวโดยสรุป มีข้อสังเกต 2 ข้อที่สำคัญ ประการแรก การรับรองความสมบูรณ์ของประกาศคณะรัฐประหาร คือการรับรองความสมบูรณ์โดยศาล โดยการนำมาใช้ และสองคือ รองรับอำนาจหน้าที่องค์กรที่จัดตั้งโดยประกาศและคำสั่งของคณะรัฐประหาร ทำให้น่าพิจารณาต่อไปว่าแท้จริงแล้วการรัฐประหารไม่ได้สิ้นสุดลงที่คณะรัฐประหารล้มล้างรัฐบาลลง แต่มีผลต่อเนื่องมาในกระบวนการยุติธรรมอย่างไม่สิ้นสุด และการที่องค์กรตุลาการนำประกาศและคำสั่งมาใช้ ถือว่าเป็นองค์กรที่ทำให้วัตถุประสงค์ของการรัฐประหารนั้นบรรลุไปด้วย และที่ผ่านมาส่วนมากแล้วประกาศและคำสั่งของคณะรัฐประหาร ที่ปรากฏขึ้นในความเป็นจริงมีการตั้งองค์กรขึ้นมาเพื่อตรวจสอบคำสั่งและประกาศเหล่านั้นมาปรับปรุงและประกาศใช้ต่อไป

ทั้งนี้ มีกรณีที่นิติราษฎร์ได้เสนอให้ล้มล้างผลพวงของคำสั่งและประกาศโดยรัฐประหาร

เขาเห็นว่าแม้ว่าการรัฐประหารจะเป็นปรากฏการณ์ที่มีผลสำคัญทางการเมือง แต่ผลที่ตามมาทางกฎหมายนั้นได้แฝงเร้นอยู่ในการปกครองระบอบประชาธิปไตยและหลักนิติรัฐ
 

 

หมายเหตุ

การสัมมนา "หลัง 14 ตุลา" จัดโดย สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน ร่ามกับ คณะกรรมการ 14 ตุลา เพื่อประชาธิปไตยสมบูรณ์
ในวันที่ 5-6 ตุลาคม 2556 ณ ห้องประกอบ หุตะสิงห์ ชั้น 3 ตึกอเนกประสงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
ดูกำหนดการที่ http://prachatai.com/activity/2013/09/48526

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net