Skip to main content
sharethis
‘พีมูฟ’ ทวงถามความคืบหน้าหารแก้ปัญหาที่ดินทำกินถึงหน้าทำเนียบ ‘ประชา’ นั่งหัวโต๊ะถกคณะกรรมการแก้ปัญหาฯ รับข้อเสนอจัดสรรที่ดินเตรียมชง ครม.
 
 
วันนี้ (7 ต.ค.56) เวลา 14.00 น. ที่ห้องประชุม 101 ชั้น 1 อาคารสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล ตัวแทนขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) หรือพีมูฟ กว่า 20 คนเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส. หรือพีมูฟ) ครั้งที่ 3/2556 โดยมี พลตำรวจเอก ประชา พรหมนอก รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และมีนายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม

ที่ประชุมมีการพิจารณาถึงผลการดำเนินการตามบันทึกข้อตกลงร่วมระหว่างรัฐบาลกับขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม เมื่อวันที่ 22 พ.ค.56 และมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 21 พ.ค.56 และเมื่อวันที่ 28 พ.ค.56 ได้แก่ 1.การเร่งรัดให้มีโครงการโฉนดชุมชน 2.การคุ้มครองพื้นที่ในระหว่างการดำเนินการแก้ไขปัญหา 3.การดำเนินการโครงการนำร่องธนาคารที่ดิน 5 ชุมชน 4.การแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูล 5.การแก้ไขปัญหากลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล

รวมทั้ง ผลการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการในคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม 9 คณะ อาทิ อนุกรรมการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากโรงไฟฟ้าชีวมวลฯ อนุกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินในพื้นที่เขตปฏิรูปที่ดินฯ อนุกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินที่อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อนุกรรมการเกี่ยวกับที่สาธารณประโยชน์ และที่ดินเอกชนปล่อยทิ้งร้า
 
ด้าน พล.ต.อ.ประชา กล่าวว่า รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ และจะรับข้อเสนอไปพิจารณาเพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาต่อไป ทั้งนี้ จะรับข้อเสนอให้มีการคุ้มครองพื้นที่ 58 ชุมชน กว่า 400 ครอบครัวระหว่างการดำเนินการแก้ไขปัญหา และจัดให้มีโฉนดชุมชน เพื่อประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบ
 
นอกจากนี้ ข่าวสดรายงานว่า พล.ต.อ.ประชา นายสุภรณ์ และนายเพชรวรรต วัฒนพงศ์ศิริกุล ที่ปรึกษา รมว.พม.ได้เข้าพูดคุยกับกลุ่มผู้ชุมนุม โดยระบุว่า หน่วยงานทั้งหลายได้ประชุมหาข้อสรุปร่วมกันได้ชัดเจนแล้วว่า ต้องแก้ไขปัญหาตามข้อเรียกร้องของพีมูฟอย่างเร่งด่วนที่สุด
 
ทั้งนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้มีนโยบายที่ชัดเจนในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวอยู่แล้ว ซึ่งจะประชุมที่ พม.ในวันที่ 9 ต.ค.นี้ ก่อนประชุมคณะอนุกรรมการ ในวันที่ 11 ต.ค. จากนั้นภายใน 7 วัน จะส่งเรื่องให้กับ พล.ต.อ.ประชาดำเนินการต่อไป
 
 
ร้องแก้กฎหมายสัญญาที่ไม่เป็นธรรมของเกษตรพันธสัญญา
 
นอกจากนี้ เครือข่ายเกษตรพันธสัญญา ซึ่งได้ร่วมเคลื่อนไหวเป็นส่วนหนึ่งของพีมูฟ ยังได้ยื่นหนังสือแก่ประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม 2 ฉบับ เรื่องขอให้ดำเนินการแก้ไขความเดือดร้อนเสียหายและความไม่เป็นธรรมจากระบบการผลิตทางการเกษตรแบบพันธสัญญา กรณีที่เกษตรกรไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการเข้าร่วมทำการผลิต เลี้ยงหมู เลี้ยงไก่ และปลาในกระชัง กับบริษัทอุตสาหกรรม ซึ่งส่วนหนึ่งของปัญหาความไม่เป็นธรรมดังกล่าวเกิดจากข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม
 
โดยฉบับแรก ข้อเรียกร้องคือ 1.ให้กระทรวงยุติธรรมแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ให้ครอบคลุมถึงการทำสัญญาการผลิตในระบบเกษตรพันธสัญญา พร้อมให้มีสัญญากลางในการผลิตแต่ละประเภท 2.เร่งตั้งคณะกรรมการเพื่อกำหนดนโยบายและแนวทางสร้างความเป็นธรรมแก่เกษตรในระบบพันธสัญญา ภายใต้สำนักนายกรัฐมนตรี โดยมีปลัดกระทรวงยุติธรรมเป็นประธาน
 
3.ทบทวนและปรับปรุงคณะทำงานแก้ไขปัญหาเกษตรพันธสัญญา เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง โดยรวมคณะทำงานเป็นคณะเดียวในการทำหน้าที่ 3 ด้าน คือ การศึกษาความเสี่ยงและความสัมพันธ์ระหว่างเกษตรกรและผู้ประกอบการ การศึกษาหนี้สินเกษตรกรในระบบพันธสัญญา และการศึกษาวิจัยเพื่อการพัฒนาแนวทางเกษตรพันธสัญญาที่ยั่งยืนและเป็นธรรม รวมทั้งเพิ่มผู้แทนสภาเกษตรกรแห่งชาติในคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาฯ
 
4.ให้กรมคุ้มครองสิทธิ์ กระทรวงยุติธรรม ร่วมกับกระทรวงการคลังจัดหางบประมาณเพื่อให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ที่ได้รับความเดือดร้อนจากการปิดตัวของโรงงานชำแหละไก่ของบริษัทสหฟาร์มโดยด่วน
 
ฉบับที่ 2 เป็นของกลุ่มเกษตรกรภายใต้ระบบเกษตรพันธสัญญา กรณีบริษัทสหฟาร์ม ในพื้นที่ จ.ชัยภูมิ นครราชสีมา ขอนแก่น เพชรบูรณ์ ลพบุรี และพิจิตร ขณะนี้มีการรวบรวมรายชื่อได้ 107 ราย มูลค่าหนี้สินที่บริษัทค้างชำระรวมเป็นความเสียหาย 114,925,354 บาท
 
ผลกระทบจากการที่บริษัทฯ ค้าชำระหนี้ติดต่อกันหลายงวด หรือชำระค่าสินค้าเพียงบางส่วน ทำให้เกษตรกรไม่มีเงินไปชำระหนี้เงินต้น หนี้ดอกเบี้ยของสถาบันการเงิน หนี้ค่าไฟฟ้า และบางรายต้องไปกู้เงินนอกระบบเพื่อมาใช้หนี้ดอกเบี้ยสถาบันการเงินและใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน
 
ขณะนี้ยังไม่มีหน่วยงานใดเข้ามารับผิดชอบแก้ปัญหาหนี้สิน จากการประกอบกิจการทางการเกษตรซึ่งเป็นต้นต่อของปัญหาโดยตรง มีเพียงคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน และกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม เข้ามาช่วยเหลือเบื้องต้นในกรณีปัญหาหนี้นอกระบบ จึงขอให้ประธานคณะกรรมการฯ ช่วยแก้ไขปัญหาความไม่เป็นธรรมดังกล่าว

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net