Skip to main content
sharethis

<--break->เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา มีการจัดการประชุมระดับโลกว่าด้วยธรรมาภิบาลอินเทอร์เน็ต (Internet Governance Forum: IGF) โดยสหประชาชาติ ณ ศูนย์ประชุมนูซาดัว บาหลี อินโดนีเซีย ระหว่างวันที่ 22-25 ต.ค. การประชุมนี้เป็นเวทีที่เปิดให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลายฝ่าย ไม่ว่า ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม รวมถึงชุมชนนักเทคนิค และนักวิชาการ เข้าร่วมสนทนาด้านนโยบายการกำกับดูแลอินเทอร์เน็ต โดยปีนี้มีผู้ลงทะเบียนเข้าร่วมงานไม่ต่ำกว่า 1,300 คน

ธีมของปีนี้คือ การเชื่อมประสาน เสริมความร่วมมือระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลายฝ่ายเพื่อการเติบโตและการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Building Bridges - Enhancing Multistakeholder Cooperation for Growth and Sustainable Development) อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่ถูกพูดถึงที่สุด กลับหนีไม่พ้นประเด็นร้อนระดับโลกอย่างการสอดส่องออนไลน์ของสำนักงานความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา (NSA)

"เราต้องพูดเรื่องการเปิดโปงของเอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน มันเป็น the elephant in the room (ปัญหาที่เห็นได้ชัด แต่ทุกคนก็หลีกเลี่ยงที่จะพูดถึง) ทุกคนกำลังสงสัยว่าการเปิดโปงนี้จะก่อให้เกิดผลกระทบอะไรต่อการประชุมอย่าง IGF  การกำหนดมาตรฐานอย่าง TETF (คณะทำงานเฉพาะกิจด้านวิศวกรรมอินเทอร์เน็ต) และการกำกับดูแลอินเทอร์เน็ตในวงกว้าง"  Ronald J. Deibert ผู้อำนวยการศูนย์เพื่อการศึกษาความปลอดภัยโลก และศูนย์วิจัยซิติเซ่นแล็บ มหาวิทยาลัยโตรอนโต ประเทศแคนาดา กล่าวถึงเรื่องนี้ในการประชุมผู้นำระดับสูง เมื่อวันที่ 21 ต.ค. ก่อนที่การประชุม IGF จะเริ่มขึ้น

และในวันสุดท้ายของการประชุม (25 ต.ค.) ในห้องใหญ่ซึ่งช่วงเปิดไมค์ให้ผู้เข้าร่วมแสดงความเห็น ประเด็นที่เป็นที่ถกเถียงอย่างกว้างขวางคือ การสอดส่องออนไลน์ของ NSA ของสหรัฐฯ ซึ่งเปิดโปงโดยเอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน นั่นเอง

Joanna Varon ภาคประชาสังคมจาก Brazil กล่าวถึงการกระทำของ NSA ว่าเป็นสิ่งที่รับไม่ได้ แม้ว่าจะไม่ได้นำข้อมูลไปใช้ก็ตาม พร้อมย้ำว่า ทุกประเทศต้องทำให้แน่ใจว่าสิทธิมนุษยชนได้รับการปกป้องทั้งออฟไลน์และออนไลน์ โดยตัวแทนจากรัฐบาลบราซิลก็กล่าวสนับสนุนความเห็นนี้ของเธอด้วย

ด้าน  Ren Yishen ตัวแทนกระทรวงต่างประเทศของจีน กล่าวว่ามีบางประเทศทำการสอดส่องขนานใหญ่ต่อบางประเทศ ในฐานะตัวแทนของประเทศจีน รู้สึกแปลกใจมากที่การกระทำเช่นนี้ ซึ่งเกิดกับนักการเมืองบางประเทศด้วย โดยการกระทำเช่นนี้ เป็นการทำลายความน่าเชื่อถือของสาธารณชนต่ออินเทอร์เน็ต พร้อมระบุว่าสิ่งที่สำคัญคือ ความโปร่งใส และการมีส่วนร่วม

ด้าน Jim Schulz อดีตสมาชิกสภาเยอรมัน เรียกร้องให้หยุดการสอดส่อง และกล่าวถึงกรณีที่มีการเปิดโปงว่า สหรัฐฯ ดักฟังโทรศัพท์มือถือของนายกฯ เยอรมันว่า สิ่งที่ต้องการคือสนธิสัญญาระหว่างประเทศว่าเพื่อนจะไม่สอดแนมเพื่อน

Matthew Shears จาก Center for Democracy & Technology บอกว่า ตนเองไม่ได้สูญเสียความเชื่อมั่นในอินเทอร์เน็ต แต่สูญเสียความเชื่อมั่นในองค์กรที่ใช้มันละเมิดสิทธิของตนเอง

ขณะที่ Ross LaJeunesse จาก Google บรรษัทไอทียักษ์ใหญ่ บอกว่า ถ้าผู้ใช้ไม่เชื่อใจเรา พวกเขาก็คงไม่ใช้สินค้าของเรา แล้วก็คงไปใช้อย่างอื่นแล้ว นอกจากนี้ เขายังย้ำแบบเดียวกับที่กูเกิลเคยตอบมาตลอดเกี่ยวกับข่าวการสอดแนมครั้งนี้ว่า กูเกิลไม่ได้ให้รัฐบาลเข้าถึงข้อมูล เซิร์ฟเวอร์ หรือโครงสร้างพื้นฐานของกูเกิล  "โดยตรง" และยังไม่ยอมรับคำขอข้อมูลผู้ใช้ของรัฐบาลด้วย

Scott Busby ตัวแทนกระทรวงต่างประเทศ สหรัฐอเมริกา กล่าวว่า สหรัฐฯ ให้ความสำคัญกับการมาประชุมครั้งนี้ โดยมาถึงสิบคน แม้ว่าจะเพิ่งเกิดกรณี Government Shutdown ก็ตาม เพราะรู้ว่าเรื่องของ NSA จะเป็นเรื่องสำคัญ ประธานาธิบดีโอบามาเองก็ขอให้จัดการโปร่งใสกับเรื่องที่ NSA ทำ และต่อคำถามเรื่องสโนว์เดนนั้น ไม่มีอะไรจะตอบแล้ว เพราะประธานาธิบดีโอบามาได้พูดไปหมดแล้ว

นอกจากนี้ เขากล่าวตอบตัวแทนจีนโดยตั้งคำถามกับประเด็นสิทธิมนุษยชนในจีน และขอให้ไปดูรายงานสิทธิมนุษยชนขององค์กรฟรีดอมเฮาส์ ซึ่งก็มีการวิจารณ์สหรัฐด้วยเช่นกัน

ขณะที่ตัวแทนจีนลุกขึ้นแย้งตัวแทนสหรัฐฯ ว่า จีนนั้นมีประชากรเยอะกว่าสหรัฐ และมีจำนวนคนใช้โซเชียลมีเดียเกือบเท่าพลเมืองสหรัฐฯ ประชากรจีนนั้นใช้เสรีภาพในการแสดงออกอย่างเต็มที่ แต่ก็ต้องทำตามกฎ และไม่ปล่อยข่าวลือออนไลน์ ทั้งนี้ โต้สหรัฐฯ ด้วยว่า ทุกปี สหรัฐฯ ออกรายงานสิทธิมนุษยชนของประเทศอื่น 200 กว่าประเทศ แต่ไม่เคยทำรายงานของประเทศตัวเอง และทุกข้อมูลที่ได้ก็มาจากสื่อสหรัฐทั้งนั้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net