Skip to main content
sharethis

13 พ.ย.2556 สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา( สกอ.) ออกประกาศเมื่อวันที่ 12 พ.ย.2556  แจ้งไปยังสถาบันอุดมศึกษาจากกรณีที่มีผู้แอบอ้างใช้ชื่อ สกอ.ออกประกาศ ปิดการเรียนการสอนในระหว่างวันที่ 13-15 พฤศจิกายนนี้ โดยทางสกอ.ยืนยันว่าไม่เคยออกประกาศดังกล่าวและขอให้สถาบันอุดมศึกษาในสังกัดและกำกับเปิดการเรียนการสอนตามปกติ

 

วันเดียวกัน  รศ. ดร. วีรชัย พุทธวงศ์ ประธานหลักสูตรนิติวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในฐานะ เลขาธิการศูนย์ประสานงานบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ ได้ให้สัมภาษณ์ เกี่ยวกับมาตรการอารยะขัดขืน หลังจากที่ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีต ส.ส.สุราษฎร์ธานี พรรคประชาธิปัตย์ ได้ประกาศยกระดับการชุมนุม โดยให้ประชาชนร่วมกันทำอารยะขัดขืนหยุดงานในช่วงวันที่ 13-15 พ.ย. 56 ไปเมื่อช่วงเย็นวันที่ 11 พ.ย.

รศ. ดร. วีรชัย  เผยว่า ศูนย์ประสานงานฯ เห็นว่าอันดับแรก รัฐต้องใช้ความอดทนในการดำเนินการกับผู้ประท้วง โดยไม่ใช้ความรุนแรงในทุกกรณี และผู้ประท้วงต้องใช้วิถีทางประชาธิปไตยภายใต้กรอบกฎหมายในการประท้วง โดยไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่น ทั้งนี้ ศูนย์ประสานงานฯไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด และในความคิดเห็นส่วนตัวไม่เห็นด้วยกับกรณีการประกาศยกระดับการชุมนุมด้วยวิธีอารยะขัดขืนนัดหยุดงานและหยุดเรียน เนื่องจากวุฒิสภาได้คว่ำร่าง พ.ร.บ. นิรโทษกรรมเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และประชาชนทุกภาคส่วนได้ออกมาแสดงพลังบริสุทธิ์ต่อต้านเสียงข้างมากของรัฐสภาได้สำเร็จ ถือเป็นความงดงามของระบอบประชาธิปไตย  ส่วนการเรียกร้องให้มีการชะลอการจ่ายภาษีนั้น จะทำให้รัฐสูญเสียรายได้และอาจเข้าข่ายการกระทำที่ผิดกฎหมาย ตนอยากเห็นบรรยากาศบ้านเมืองที่สามัคคี การท่องเที่ยวไม่สะดุด

“เพื่อนอาจารย์ชาวต่างประเทศได้เขียนจดหมายมาแจ้งยกเลิกการเดินทางมาเมืองไทยปลายปีนี้ และมีสัญญาณนักท่องเที่ยวรอดูสถานการณ์ทางการเมืองของเรา หากการชุมนุมทางการเมืองยืดเยื้อ หรือเกิดเหตุปะทะและความรุนแรงจะเกิดการสูญเสียในหลายๆ ด้าน” รศ. ดร. วีรชัย กล่าว

ดร.ณัฐพงศ์ บุญเหลือ อาจารย์คณะวิทยาการจัดการ ในฐานะผู้ประสานงานศูนย์ฯ จาก มหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวว่า ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยการเรียกร้อง การเสนอความเห็นเพื่อคัดค้านต่อนโยบายหรือการกระทำใดๆ ของรัฐบาลที่มีผลกระทบต่อประชาชนจำนวนมากหรือแม้แต่คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งถือเป็นความสวยงาม เป็นสิทธิและเสรีภาพที่ทำได้ หากแต่จำเป็นต้องมีขอบเขต ไม่ละเมิดกฎหมาย โดยเฉพาะหน่วยงานหรือองค์กรของรัฐจำเป็นต้องมีความระมัดระวังอย่างยิ่ง การคัดค้านพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งที่ดี และเป็นแง่คิดของฝ่ายการเมืองที่ต้องจดจำ แต่การกระทำใดๆ นอกเหนือประเด็นดังกล่าว ทั้งการเรียกร้องให้รัฐประหาร หรือหยุดประเทศ ไม่คิดว่าผู้บริหารมหาวิทยาลัย องค์กรภาคธุรกิจ หรือคนส่วนใหญ่จะเห็นดีด้วย และอาจหันมาต่อต้านมากกว่า เพราะจะทำให้ประเทศถอยหลังจมโคลน และอย่างไรเสียรัฐบาลยังคงมีความชอบธรรมในการบริหารประเทศ ด้วยมาจาการเลือกตั้งของประชาชน

ด้าน อ. บัญชา พระพล สมาชิกศูนย์ประสานงานฯ และผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายชุมชนสัมพันธ์และสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า กระแสการคัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเหมาเข่ง กระจายไปทั่วหัวระแหงในเวลาอันรวดเร็ว ในส่วนของพรรคร่วมรัฐบาลก็ได้ลงสัตยาบันจะไม่นำ พ.ร.บ.ฉบับนี้ขึ้นมาพิจารณาอีก มวลชนได้บรรลุข้อเรียกร้อง รัฐบาลก็จะได้ใช้เวลาในการบริหารประเทศ และพัฒนาด้านต่างๆด้วยความรอบคอบ โปร่งใส ไม่คอรัปชั่น สร้างความเชื่อมั่นศรัทธาให้คนในชาติและในสายตาของนานาชาติ พลิกวิกฤติเป็นโอกาสสร้างผลงานให้เป็นที่ประจักษ์ ออกกฎหมายและนโยบายที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมอย่างแท้จริง เพื่อพิสูจน์ตัวเอง 

ด้าน พว.จิรัชยา เจียวก๊ก คณะแพทยศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์ เครือข่ายพยาบาลในสถาบันอุดมศึกษา ในฐานะผู้ช่วยเลขาธิการศูนย์ประสานงานบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐมองว่า ในเมื่อรัฐบาลประกาศทั้งถอน ทั้งคว่ำ พรบ.นิรโทษกรรม แล้ว ทุกฝ่ายที่เรียกร้องก็สมควรหยุด เพราะหลังจากนี้หากรัฐบาลตุกติก  จะเป็นการฆ่าตัวตายอย่างสนิท อยากให้ทุกฝ่ายลดทิฐิลง เพื่อให้ประเทศพัฒนาไปข้างหน้า ศึกนอกไม่หวั่นเท่าศึกใน

 

หมายเหตุ มีการเพิ่มเติมข้อมูลเมื่อ 13 พ.ย.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net