Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ระบบทุนนิยมซึ่งเป็นระบบเศรษฐกิจการเมืองของโลกได้สร้างปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมระหว่างคนรวยกับคนจนมากขึ้น จากการเอารัดเอาเปรียบกดขี่ขูดรีดแรงงาน  ผู้เขียนขอยกปัญหาในด้านเศรษฐกิจเชื่อมโยงกับการศึกษาเพื่อให้ผู้อ่านที่เป็นนักเรียน นักศึกษา เตรียมเป็นกรรมกร/แรงงานในอนาคตมีจิตสำนึกของชนชั้นแรงงาน รวมถึงกรรมกรในทุกสาขาอาชีพมีการเมืองของชนชั้นตัวเอง ไม่หยิบยืมความคิดอุดมการณ์ทางการเมืองของชนชั้นนำมาใช้ในการเคลื่อนไหว

ความเหลื่อมล้ำในระบบทุนนิยม แท้จริงมาจากปรัชญาของระบบทุนนิยมที่ต้องการสร้าง “ชนชั้น” ขึ้น  ชนชั้นที่มีสองชนชั้นหลักในสังคมคือ คนรวย(อภิสิทธิ์ชน) กับ คนจน (คนธรรมดา) แตกต่างกันในด้านสถานะความเป็นอยู่และอำนาจการต่อรอง ดังรูปสามเหลี่ยมปิระมิด ที่ยอดข้างบนเป็นคนส่วนน้อย ส่วนฐานล่างเป็นคนส่วนใหญ่ในสังคม และชนชั้นสองชนชั้นเกี่ยวข้องกัน คือ ความรวยมาจากการทำให้คนอื่นยากจน รวยเพราะขูดรีดส่วนเกินที่มาจากการทำงานของแรงงาน

ก่อนอื่นขอนิยามชนชั้นนายทุนกับแรงงานเพื่อให้เห็นความแตกต่างของสองชนชั้น  นายทุนคือผู้ที่ถือครอง ควบคุมปัจจัยการผลิตสินค้าและบริการ  ส่วนแรงงานคือผู้ที่ไร้ปัจจัยการผลิต ทำงานขายแรงรับค่าจ้างเท่านั้น   นายทุนผู้ถือครองปัจจัยการผลิตมีอำนาจการต่อรองที่เหนือกว่าและเข้าไปมีอิทธิพลในสถาบัน/กลไกการเมืองการปกครอง   ส่วนรัฐในระบบทุนนิยมออกกฎหมายเอื้อประโยชน์ให้นายทุนมีกรรมสิทธิ์ ถือครองปัจจัยการผลิต สินค้าและบริการและมูลค่าทั้งหมดที่ได้มาจากการผลิตแต่เพียงฝ่ายเดียว

ที่ผ่านมา นักวิชาการได้นำเสนอปัญหาความเหลื่อมล้ำไปมากแล้ว  และบางคนได้เสนอแนวทางแก้ไข เช่น การเสนอปฏิรูปรัฐไทยให้เป็นรัฐสวัสดิการ  แต่เมื่อวิเคราะห์ถึงวิธีการนำข้อมูลทางวิชาการไปเคลื่อนไหวต่อสู้ทางการเมืองในช่วงก่อนและหลังการทำรัฐประหาร 2549  พบว่า การนำไปใช้ ได้หยิบคำอธิบายบางส่วนไปเคลื่อนไหวเอื้อประโยชน์แก่กลุ่มทุนใดกลุ่มหนึ่ง แต่คนระดับล่างยังคงถูกกระทำ ให้กลุ่มทุนเหยียบขึ้นไปได้ดิบได้ดี 

กล่าวคือ วาทกรรมติดปากที่ว่า ทุนสามานย์ หรือทุนโลกาภิวัตน์ หรือนายทุนชาตินิยมต่อต้านนายทุนข้ามชาติ มียุทธศาสตร์ทำลายระบบการเลือกตั้ง โดยเสนอให้ ส.ส. ส.ว.บางส่วนไม่ต้องมาจากการเลือกตั้งของประชาชน  และมอบบทบาทแก่ผู้มีอำนาจรัฐ และนายทุนที่สมาทานความคิดคนดีมีศีลธรรม  ทว่าไม่ยินยอมให้ประชาชนเข้ามาตรวจสอบ 

อีกวาทกรรมหนึ่งคือ เสรีนิยมประชาธิปไตย ชูการต่อสู้ระหว่างกลุ่มนายทุนยุคใหม่กับกลุ่มนายทุนยุคเก่าหรือนายทุนอำมาตย์  วาทกรรมนี้โจมตีจุดอ่อนทางวัฒนธรรมของกลุ่มทุนอนุรักษ์นิยม ทหารนิยม  แต่เลี่ยงที่จะไม่อธิบายธาตุแท้ของระบบทุนนิยมกลไกตลาดที่สร้างความเหลื่อมล้ำในสังคมมาโดยตลอด    อีกทั้งปกปิดธาตุแท้ของอุดมการณ์ชนชั้นนายทุน ที่แชร์อุดมการณ์อนุรักษ์นิยมมากดขี่แรงงาน   การใช้วาทกรรมเสรีนิยมประชาธิปไตย (ที่ไม่วิจารณ์ทุนนิยม) มีจุดแข็งเรื่องการพูดถึงเสรีภาพทางการเมือง ต่อต้านทหาร  และมีเป้าหมายเพื่อหาแนวร่วมกับประชาชนระดับล่างที่มีจุดยืนแบบเดียวกันนี้   ต่อรองกับกลุ่มทุนเก่า และข้าราชการอนุรักษ์ เผด็จการทหาร ด้วยการใช้ระบบการเลือกตั้งที่พรรคนายทุนสมัยใหม่ได้เปรียบ   แต่ยังมีคำถามคือ นายทุนสมัยใหม่ แนวเสรีนิยมประชาธิปไตย ยืนอยู่ข้างผลประโยชน์ของประชาชนแค่ไหน   รัฐบาลนายทุนนำโดยพรรคเพื่อไทยจริงใจที่จะส่งเสริมประชาธิปไตย แก้ไขปัญหาละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่

ในส่วนของประชาชนอยู่ตรงไหนของเวทีการต่อสู้ทางการเมืองปัจจุบัน ประชาชนมีการเมืองของตัวเองหรือไม่ จะต่อสู้เพื่ออนาคตของตัวเองหรือเป็นกองเชียร์ของกลุ่มทุน โดยไม่มีอำนาจต่อรอง หรือจะกดดัน ให้โอกาสทุนเก่า และทุนใหม่แก้ตัว/ปรับตัว  หรือจะตั้งพรรคประชาชน เสนอนโยบายสร้างประชาธิปไตยที่กินได้

ตอบโจทย์ความเหลื่อมล้ำทางสังคม : คนรวย รวยมาได้อย่างไร
รัฐประหารความรุนแรงทางการเมืองได้สร้างผลกระทบแก่คนจำนวนมาก แต่ไม่ว่าจะก่อนการเกิดรัฐประหาร 2549 และหลังทำรัฐประหาร กลุ่มทุนต่างๆ ต้องตอบโจทย์ความเหลื่อมล้ำ ความไม่ยุติธรรมทางสังคมที่ดำรงมาตลอด เพราะเป็นรากเหง้าของความขัดแย้งทางการเมืองปัจจุบัน จึงควรมาดูที่กลไกการทำงานของระบบทุนนิยมว่าเป็นตัวสร้างความไม่ยุติธรรมอย่างไร  รัฐไทยสนับสนุนแนวนโยบายทุนเสรีนิยมอย่างไร ที่ปล่อยให้กลุ่มทุนขนาดใหญ่ผูกขาด  เจ้าหน้าที่รัฐถือหุ้นในรัฐวิสาหกิจ เอื้อประโยชน์ทางการเงิน ภาษี ผ่อนปรนกฎระเบียบ ผลิตซ้ำระบบกรรมสิทธิ์เอกชน

ที่พูดมายืดยาวข้างต้น เพื่อให้คำนึงถึงปัญหาเชิงระบบ คือการแข่งขันของกลุ่มนายทุนต่างๆ ส่งผลกระทบต่อแรงงานคนธรรมดา  การเติบโตของทุนแลกมากับความไม่มั่นคงในชีวิตของประชาชน  ทัศนะเรื่องเสรีภาพตั้งอยู่บนฐานของความแตกต่างทางชนชั้น  ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจเป็นตัวผลักวิถีการต่อสู้ทางการเมือง และการต่อสู้ทางการเมืองก็มีเป้าหมายเพื่อสร้างหลักประกัน และผลประโยชน์ทางชนชั้น ดังนั้น การทำแนวร่วมกับกลุ่มทุนใดกลุ่มหนึ่งไม่ช่วยสร้างผลประโยชน์ในระยะยาว และความเข้มแข็งทางความคิดของชนชั้นล่าง  และดังนั้น ประชาชนจึงต้องรวมกลุ่มเป็นอิสระ และเป็นตัวนำทางความคิดทางการเมืองในปัจจุบัน

หากจะยกตัวเลขสถิติ ข้อมูลที่ถูกนำมาใช้บ่อย เพื่อสะท้อนปัญหาจริง และเป็นประโยชน์ในการนำมาถกเถียงสาเหตุรากเหง้าของปัญหา และการแก้ไข คงยกให้กับตัวเลขความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจระหว่างคนรวยกับคนจน รายได้ของประชาชน  ตัวเลขการถือครองทรัพย์สินที่คนบนสุด 20% แรกของจำนวนประชากรไทยมีทรัพย์สินมากกว่าคน 20% ที่อยู่ข้างล่างถึงเกือบ 70 เท่า  ตัวเลขนี้ล้วนเกี่ยวข้องกัน แต่นักวิชาการ เสกสรรค์ ประเสริฐกุล องค์ปาฐกงานรำลึก 40 ปี 14 ต.ค. 16  ในวันที่ 13 ต.ค. ไม่พูดถึงความเกี่ยวข้องกันระหว่างของตัวเลข 20% บนกับ 20% ล่างให้ชัดเจนว่าความรวย รวยมาจากไหน  ซึ่งในความเป็นจริงคือ ความร่ำรวยมาจากการทำงานของแรงงาน  รวยเพราะเอาเปรียบคนจน จนเพราะคนรวยขูดรีด กล่าวคือ มีการขูดรีดมูลค่าส่วนเกินในระบบทุนนิยม

การขูดรีดมูลค่าส่วนเกิน ยกตัวอย่างเช่น เมื่อนักศึกษาจบใหม่ 3 คนไปสมัครงานในบริษัทเดียวกัน ซึ่งจะให้แบบฟอร์ม และกรอกเงินเดือนที่ต้องการลงไป แต่ละคนกรอกเงินเดือน 20,000  30,000 และ 40,000  หากมีความสามารถใกล้เคียงกัน ถามว่านายทุนจะเลือกใคร เขาก็จะเลือกคนที่ขอเงินเดือนน้อยที่สุด เพราะเขาคำนวณแล้วว่าจะได้ส่วนเกินเท่าไรจากคนสมัครที่มีความสามารถใกล้เคียงกันนี้  แต่หากมีความสามารถไม่เท่ากัน ก็ต้องใช้หลักคำนวณว่า คนไหนจะสร้างส่วนเกินให้เขามากที่สุด คุ้มค่าที่สุด

เมื่อพิจารณาในเชิงนโยบายที่ผ่านมา จะเห็นว่ารัฐสนับสนุนการขูดรีดของชนชั้นนายทุนด้วยการใช้แรงงานราคาถูก จ้างงานยืดหยุ่น สวัสดิการต่ำ ถูกเลิกจ้างง่ายขึ้น และทำให้แรงงานขาดความมั่นคงในการดำรงชีวิต  พูดง่ายๆคือคนส่วนใหญ่ของประเทศเป็นชนชั้นแรงงานที่รัฐและทุนต้องการรักษาไว้เพื่อขูดรีดมูลค่า เพราะการเติบโตของมูลค่าทางเศรษฐกิจมันเกิดจากการทำงานของแรงงาน ด้วยเป้าหมายอันเดียวกันนี้ ก็นำไปใช้ในระบบการศึกษา

การศึกษาไทย : ปัญหาหลักสูตรควบคุมคน
ปัญหาการศึกษาไทยภายใต้ระบบทุนนิยมมีหลายปัญหา แต่สำหรับผู้เขียนต้องการเน้นเรื่องเสรีภาพในการแสดงออก โดยให้เห็นว่าเกี่ยวข้องกับ “ชนชั้น” ข้างต้นอย่างไร

มีหลายคนได้สรุปแล้วว่า การศึกษาไทยสอนให้คนหมอบคลาน ลดคุณค่าและศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ ทำลายเสรีภาพในการวิพากษ์วิจารณ์แก่เด็ก เชิดชู สั่งสอนอุดมการณ์ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ วัฒนธรรมผู้ใหญ่-ผู้น้อย ให้เข้าไปแทรกในหลักสูตรวิชาสังคม ประวัติศาสตร์ และกฎระเบียบในชีวิตประจำวัน เช่น การควบคุมเรื่องทรงผม เครื่องแบบ เข้าแถวเคารพธงชาติทุกวัน ทำสมาธิ เข้าวัด เพื่อให้เด็กยอมรับการใช้อำนาจของครู ผู้บริหารจนเข้าสำนึกและกลายเป็นเรื่องธรรมชาติ  อีกทั้งเวลาเรียนสอดคล้องกับเวลาทำงานของแรงงานในสถานที่ทำงานต่างๆ ด้วย  ซึ่งไม่เคยเปลี่ยนแปลงเลย

นอกจากนี้ คุณภาพการศึกษาตกต่ำ ไม่รองรับความต้องการที่หลากหลายของเด็ก รวมถึงไม่รองรับเด็กที่มาจากครอบครัวยากจนที่เริ่มต้นชีวิตด้อยกว่าเด็กที่มาจากครอบครัวร่ำรวย การบังคับเด็กให้เรียนให้เท่าทันกันหมด โดยเอาวิชาบังคับเป็นตัวชี้วัด เช่น คณิต วิทย์ ภาษาอังกฤษ ลดความสำคัญของวิชาด้านศิลปะ ไม่มีความหลากหลาย  กวดวิชาเพิ่มเติมเพื่อแข่งขัน แย่งกันเข้าเรียนโรงเรียนดัง

เป้าหมายของการศึกษาที่แท้จริง คือ การผลิตคนไปใช้แรงงานในสาขาต่างๆ มีสักกี่คนที่ไต่เต้าไปสู่ชนชั้นอภิสิทธิ์ชน   มีสักกี่คนได้ทุนเรียนต่อจากรัฐบาล เงินอุดหนุนจากบริษัท พวกเขาต้องผ่านระบบแข่งขันคัดเลือก เพื่อตอบสนองต่อทุนมากกว่ารับใช้ประชาชน  หลักสูตรการศึกษาก็ออกแบบโดยนักการเมือง ข้าราชการเพียงไม่กี่คน จะตอบสนองความต้องการของคนจำนวนมากได้อย่างไร เมื่อระบบเป็นแบบนี้ อนาคตของพวกเขาคือ เป็นคนทำงานสังกัดชนชั้นกรรมาชีพ  

รัฐสวัสดิการ : การสร้างหลักประกันและเสรีภาพของประชาชน
ชนชั้นกรรมาชีพ นักศึกษาเตรียมออกไปเป็นกรรมกร แต่จะทำอย่างไรให้มีศักดิ์ศรีและความเป็นอยู่ที่ดี    สิ่งที่นักเรียน นักศึกษาขบถสังคมอยู่ในขณะนี้ ถามว่าขบถเพื่ออะไร เพื่อสร้างโลกใบใหม่หรือไม่ แต่อันดับแรกต้องเข้าใจระบบทุนนิยมที่สร้างชนชั้นหลักสองชนชั้น และคนส่วนใหญ่คือชนชั้นกรรมาชีพ หากตระหนักตรงนี้ก็จะพบว่า เราเป็นคนชนชั้นกรรมาชีพ และจะทำประโยชน์เพื่อคนชนชั้นนี้  หากคิดว่าในอนาคตจะไต่เต้า เลื่อนสถานะบนความยากลำบากของคนอื่น ระบบก็จะไม่เปลี่ยนแปลงให้ยุติธรรมขึ้น

คำว่ารัฐสวัสดิการคือการมีรัฐที่มีเป้าหมายเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของสังคม  สวัสดิการที่ดีสำหรับทุกคนให้ครอบคลุมตั้งแต่เกิดจนตายและเพื่อเพิ่มอำนาจอธิปไตยของประชาชน ฉะนั้นปัจจัยหลักของการสร้างรัฐสวัสดิการคือ ต้องพูดเรื่องประชาธิปไตย การกระจายรายได้และการเก็บภาษีทรัพย์สินในอัตราก้าวหน้า

ประชาธิปไตยในความหมายรัฐใหม่ที่เป็นรัฐสวัสดิการคือ ประชาชนร่วมออกเสียง ร่วมบริหาร ตรวจสอบในทุกระดับ เป็นประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมและเลือกตั้งตัวแทนในองค์กรสาธารณะ/หน่วยงานรัฐเพื่อประกันว่ารัฐจะทำประโยชน์เพื่อคนส่วนใหญ่จริง  เช่น เลือกตั้งอธิการบดี คณบดี ผู้บริหารในมหาวิทยาลัย ครูใหญ่ ผู้บริหารในโรงเรียน โรงพยาบาลของรัฐ รถขนส่งมวลชน รัฐวิสาหกิจต่างๆ  และส่งเสริมการรวมกลุ่มเจรจาต่อรองของเยาวชน ประชาชน

เงินเดือนของผู้บริหารต้องไม่มากและใกล้เคียงกับกรรมกร เช่น สมมุติเงินเดือนผู้บริหารรัฐวิสาหกิจ 100,000 บาท เงินเดือนของกรรมกรจะต้องไม่ต่ำกว่า 50,000 ยิ่งถ้าเป็นคนที่ทำงานเสี่ยงภัยแล้ว ต้องให้เกือบเท่าผู้บริหาร  ลองเปรียบเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้ว เงินเดือนของกรรมกรสูงขึ้น ทำงานคิดเป็นรายชั่วโมง มีเวลาพักผ่อน มีวันหยุดยาว มีเงินบำนาญเมื่อเกษียณ สังคมปลอดภัย อาชญากรรมและการคอรัปชั่นของข้าราชการน้อยลง

สำหรับเรื่องการขูดรีดมูลค่าจากการทำงานของแรงงานที่ไปสร้างความร่ำรวยให้แก่คนรวยๆ  รัฐสวัสดิการจะช่วยลดทอนการขูดรีดได้ด้วยการเก็บภาษีรายได้ ภาษีทรัพย์สินในอัตราก้าวหน้า ภาษีจะดึงเอาส่วนเกินไปแบ่งปันให้คนในสังคม การลงทุนทำธุรกิจจะต้องไม่ใช้แรงงานราคาถูก คนจะมีความมั่นคงในการดำรงชีวิต มีโอกาสศึกษาหาความรู้ คนมีคุณภาพ  ส่วนนายทุนที่เอาแต่ได้ก็จะเป็นที่น่ารังเกียจ ในประเทศที่พัฒนาแล้วก็ยังมีการลงทุน  หากมองในมุมของชนชั้นนายทุน ถามว่า มีใครไม่อยากลงทุนในประเทศที่แทบไม่มีการคอรัปชั่น อาชญากรรม  และคนมีกำลังซื้อเล่า

การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยจะเป็นไปในลักษณะขึ้นลงตามกระแสการเมืองของชนชั้นนำ และจะอ่อนแอในอนาคต หากไม่จัดตั้งพรรคการเมืองชนชั้นกรรมาชีพ แข่งขันกับวาทกรรมทางการเมืองของชนชั้นนำอย่างจริงจัง.
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net