Skip to main content
sharethis

 

แม้จะผ่านมาเกือบเดือน แต่เหตุการณ์หน้ารามคำแหงยังคงเป็นปมปริศนาของผู้คนในสังคมว่าเกิดอะไรขึ้นที่นั่นกันแน่ ความสูญเสีย 5 ชีวิต และผู้บาดเจ็บอีก 69 ราย (รายงานของศูนย์เอราวัณ) ในเวลาเพียงชั่วคืนเดียวเกิดขึ้นได้อย่างไร การสอบสวนของตำรวจดำเนินไปอย่างเงียบๆ ท่ามกลางเรื่องร้อนรายวันเรื่องใหม่ๆ ที่ถาโถมเข้ามา

ประชาไทพยามยามปะติดปะต่อเหตุการณ์ดังกล่าว จาก “คำบอกเล่า” ของฝ่ายต่างๆ เท่าที่จะสามารถติดต่อหรือเสาะหาได้เพื่อทำความเข้าใจเหตุการณ์ความรุนแรงครั้งนั้นในเบื้องต้น ด้วยว่ามันเป็นสถานการณ์ที่พร้อมจะเกิดซ้ำได้อีก เป็นปฏิบัติการของประชาชนที่กระทำต่อกัน โดยที่เจ้าหน้าที่ไม่สามารถเข้าระงับเหตุได้ สื่อมวลชนเข้าถึงเหตุการณ์ได้บ้างเพียงบางช่วงบางตอน ท่ามกลางคลื่นข้อมูลปลุกปั่นเท็จบ้างจริงบ้างทางโซเชียลเน็ตเวิร์คที่ทรงพลังยิ่ง อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวหลายรายที่เป็นบุคคลทั่วไปไม่พร้อมจะเปิดเผยชื่อและนามสกุลจริงเนื่องจากเกรงผลกระทบทางสังคมที่อาจตามมา จึงต้องขออภัยไว้ ณ ที่นี้

เสื้อแดงห้ามผ่าน

ศศินันท์ (เจ้าตัวขอสงวนนามสกุล) ทนายความอายุ 26 ปี เป็นหนึ่งในผู้สังเกตการณ์การชุมนุมที่หน้ามหาวิทยาลัยรามคำแหงในวันที่ 30 พ.ย. เธอเล่าว่า หลังเสร็จงานตั้งใจจะไปร่วมชุมนุมที่ราชมังคลากีฬาสถาน เมื่อผ่านบริเวณหน้ารามคำแหงเห็นว่ามีการชุมนุมของกลุ่มนักศึกษาด้วย แต่ยังไม่มีทีท่าจะรุนแรงอะไรจึงไปสังเกตการณ์ อย่างไรก็ตาม ตำรวจบริเวณนั้นได้เตือนเธอให้เก็บสัญลักษณ์ของเสื้อแดงเนื่องจากอาจจะเกิดอันตรายได้ ทำให้เธอรู้สึกเป็นห่วงชาวบ้านคนอื่นๆ ที่ทยอยเดินทางมา

“ตอนนั้นเวทีปราศรัยของนักศึกษาก็แรง สิ่งที่แกนนำพูดย้ำไปย้ำมาตลอดคือเรื่องสถาบันว่าต้องออกมาสู้เพื่อสถาบัน จุดของเวทีปราศรัยอยู่นอกรั้วมหาลัยราม อยู่ติดถนน คนก็เยอะพอสมควร แต่งตัวธรรมดา ห้อยนกหวีดทุกคน คนปราศรัยพูดว่าการที่เสื้อแดงมาชุมนุมตรงนี้เหมือนมาหยามพวกเขา แต่ก็ไม่มีวี่แววจะแรงเลย เขาก็ชุมนุมปกติ ถึงได้กล้าเข้าไป แต่ก่อนหน้านั้นก็มีตำรวจเตือนก่อนแล้วว่าให้ระวัง อย่าเอาอะไรสีแดงออกมา มันอันตราย อ้าว! แล้วชาวบ้านที่เดินตามมาเต็มเลย แดงทั้งตัว ตอนนั้นไม่มีใครบอกอะไรชาวบ้านเลยว่าให้รีบเข้าสนาม เห็นเดินกันเฉิดฉาย เลยตัดสินใจไปเดินเตือนคนอื่น เราข้ามไปฝั่งตรงข้ามราม คอยบอกป้าๆ ลุงๆ ว่าให้รีบเข้านะคะ มันอันตราย ช่วงนั้นสี่โมงกว่าแล้ว”

จากนั้นเธอก็ซื้อนกหวีดคล้องคอและข้ามฝั่งไปสังเกตการณ์ด้านหน้ามหาวิทยาลัยรามคำแหง ไม่นานนักก็เห็นผู้ชายใส่เสื้อสีแดงอ่อนๆ เดินผ่านกลุ่มชุมนุม มีปากเสียงและชกต่อยกันแต่ยังสามารถเจรจากันได้และปล่อยผ่านไป จากนั้นเริ่มมีการจับกลุ่มของชายฉกรรจ์โพกผ้าสีเหลืองและสีธงชาติ เกือบทุกคนจะมีธงชาติและธงสีเหลืองติดมือคนละอัน ขณะที่การปราศรัยก็แรงขึ้นๆ สักพักเธอได้ยินเสียงคนร้องเฮแล้ววิ่งกรูไปที่รถเมล์ที่วิ่งมาจากฝั่งตรงข้าม เธอมองไปเห็นคนเข้าทุบรถเมล์ ผู้ชายเสื้อแดงคนหนึ่งวิ่งหนีลงจากรถเมล์แล้วไปล้มที่หน้าเซเว่นก่อนจะโดนรุมทำร้ายร่างกาย เธอตัดสินใจวิ่งเข้าไปห้าม พ่อค้าแม่ค้าบริเวณนั้นถ่ายคลิปวิดีโอไว้ได้บางส่วน ปรากฏเห็นภาพเธอเข้าช่วยห้ามปรามได้สำเร็จ

 


มีผู้ถ่ายภาพเหตุการณ์ที่ศศินันท์เข้าช่วยเหลือผู้ถูกทำร้าย แล้วนำขึ้น youtube

 

“เราเป่าปี๊ดๆ ร้องว่าอย่าๆ แล้ววิ่งข้ามถนนไปหาเขา ตอนไปถึงยังไม่ได้เข้าเลย ร้องไห้ก่อน ยืนร้องไห้ไม่ห่างกัน บอกเขาว่าอย่าทำๆ เป่านกหวีดให้เขาหยุด ตอนหลังตัดสินใจแล้วต้องทำอะไรซักอย่างเลยเสนอหน้าเข้าไป ลงนั่งกางมือ บอกว่าอย่าทำร้ายกัน พอแล้วๆ พ่อค้าคนที่ถ่ายคลิปก็ช่วยห้ามเหมือนกัน แล้วพ่อค้าก็บอกว่าเอาแฟนหนูออกไปสิ เพราะเราร้องไห้ประหนึ่งว่าเป็นญาติเลย เห็นสภาพเขาแย่แล้ว แล้วก็มีคนบอกให้เขาถอดเสื้อ ไม่รู้ใครเอาเสื้อสีเทามาให้ใส่ พวกเขายอมหยุดทำร้าย แล้วเขาก็ไปไล่คนอื่นต่อ”

“เขาเฮโลไปอีกด้าน เขามุงอีกราย คนเยอะมาก เราพยายามจะถ่ายได้แค่บางส่วน มือสั่นไปหมด เขาชูเสื้อแดงขึ้น คนก็เฮๆ แล้วก็เผาเสื้อ ตอนนั้นได้ยินประโยคชัดเจนเลยว่าทำเพื่อสถาบัน แต่ก็มีนักศึกษาส่วนหนึ่งพยายามคล้องแขนกันไม่ให้คนถูกทำร้าย แต่ก็ทานไม่ไหว”  

เธอเล่าว่ามีกลุ่มคนพยายามกันคนที่โดนรุมทำร้ายไปไว้ในซอยใกล้เคียงเพื่อแยกออกจากฝูงชนและนำส่งโรงพยาบาล เธอเดินตามไปเก็บวิดีโอได้บางส่วน

ช่วงที่เดินออกมาจากซอย ศศินันท์พบการรุมทุบรถแท็กซี่ที่มีผู้โดยสารเป็นป้าใส่เสื้อแดง บริเวณดังกล่าวมีนักข่าวต่างประเทศอยู่จำนวนไม่น้อยคอยเก็บภาพ

“สภาพที่เห็น มีการล้อมแท็กซี่ มีธงกระแทกกระจก เห็นป้าใส่เสื้อแดงนั่งทางซ้าย ช็อค มือแกหงิกไปหมดแล้ว แล้วก็มีคนเอาท่อนเหล็ก ด้ามธงธงฟาดบนหลังคา กระโปรงรถ มีเอาอิฐเขวี้ยง สุดท้ายแท็กซี่หลุดไปได้แล้วเลี้ยวเข้าไปในสนามกีฬาแบบสภาพเยินทั้งคัน”  

จากนั้นเธอเดินกลับไปที่เต๊นท์พยาบาลบริเวณสนามราชมังคลากีฬาสถาน พบชายคนแรกที่เธอช่วยเหลือถูกนำตัวมาที่เต๊นท์แล้วและพบว่าเขามีอาการมึนหัวและอาเจียนตลอด ตอนนั้นบรรยากาศในที่ชุมนุม คนเสื้อแดงส่วนใหญ่ยังไม่รู้เรื่องภายนอก มีเฉพาะบางกลุ่มที่จับกลุ่มคุยกัน มีการเตือนๆ กันว่าอย่าใส่เสื้อ

เมื่อถามถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจ ศศินันท์เล่าว่า ตำรวจตอนนั้นก็มีเพียงโล่และยืนอยู่ตามจุดต่างๆ 3-4 คน ที่มากหน่อยก็บริเวณทางเข้าราชมังคลาฯ มีอยู่ประมาณ 20 คน

“เราเดินร้องไห้ตลอดทาง ภาพ 6 ตุลาที่เคยเห็นมันวนในหัวตลอด”  

เมื่อเธอเข้าในสนามกีฬาในช่วงที่ท้องฟ้าเริ่มมืด ก็ติดอยู่ในนั้นทั้งคืนเนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจปิดประตูทางเข้าออกทั้งหมด

“ตอนแรกเท่าที่เห็น ไม่มีเสื้อแดงตอบโต้ยั่วยุ แต่หลังจากเข้ามาในสนามกีฬาเกือบๆ 6 โมงจะเห็นว่าเสื้อแดงก็เริ่ม(อารมณ์)ขึ้น พอดีเรามาอยู่เต๊นท์พยายาบาล เห็นเต๊นท์ข้างๆ เริ่มระดมคน ตอนแรกเห็นรถกระบะเอาผ้าใบคลุมมา ตกใจมาก นึกว่าเป็นปืน แต่ปรากฏว่าเป็นไม้สีน้ำตาลสิบกว่าอัน แจกให้ผู้ชุมนุมที่อาสามาเป็นการ์ด พวกนี้กระจายตัวกันไปอยู่ตามประตู ก็มีทั้งอาชีวะ พวกมอเตอร์ไซด์รับจ้าง แล้วก็คนทั่วไป”

นี่คือคำบอกเล่าจากทนายความสาวที่เข้าไปสังเกตการณ์ในช่วงเย็นของวันเกิดเหตุ

เราพยายามกันเขาให้ปลอดภัย เสียงจากนักศึกษาราม

ชิตพล สีเพชร์ เป็นนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง และอยู่ร่วมในเหตุการณ์หน้ารามในเย็นนั้นเช่นกัน เขาเล่าว่า เขาและคนจำนวนหนึ่งมีบทบาทในการยับยั้งการทำร้ายคนเสื้อแดง แต่ดูเหมือนสถานการณ์จะเกินกว่าการควบคุม

“ผมนั่งรถมอเตอร์ไซด์มา ระหว่างทางที่มา คนเสื้อแดงเยอะมาก ขี่รถตามหลังผมมา แต่ก็ไม่ได้อะไรกัน เราต่างคนต่างความคิด เราต่างคนต่างมาชุมนุม ทีนี้เหตุการณ์หน้าราม นักศึกษาของเราโดนทำร้ายมาแล้วคนก็ทนไม่ได้ รูปพ่อขุนโดนกรีดบ้างอะไรบ้าง เขาเลยไปปิดถนน ไม่ให้เสื้อแดงมาชุมนุมกันได้ ระหว่างปิดถนน ก็มีพวกรถแท็กซี่ รถเมล์ ที่ขึ้นป้ายเลยว่าเสื้อแดง นักศึกษาก็เริ่มไม่พอใจกัน  มันหลายกลุ่มไม่ใช่นักศึกษาอย่างเดียว ประชาชนทั่วไป เด็กอาชีวะ เราไม่รู้ว่ากลุ่มไหนแน่ เข้าไปเพื่อจะทำร้าย แล้วก็มีกลุ่มที่เป็นการ์ด ผมไม่ใช่การ์ดแต่อาสาเข้าไปเพื่อจะกันให้รถแท็กซี่ไปได้ เราคล้องแขนกันแล้วยืนเป็นกำแพงคน ให้แท็กซี่เดินไปทีละนิด เพราะเรานักศึกษาด้วยกัน เราสามารถพูดกันรู้เรื่อง เราสามารถขอร้องบางคนได้”

“เหตุการณ์ตีรถเมล์ มีคนเสื้องแดงมากันเต็มเลย ผมห้ามฝูงชนไม่ได้ มีการยั่วยุกันบนรถเมล์ด้วย บนรถเมล์มีชายอายุไม่เยอะ เขาก็มีกำลังเหมือนกัน ก็มีคนเข้าไปทุบรถ เราก็พยายามกันให้รถไปได้ เรากันให้รถไปได้เยอะ แล้วทีนี้มันมีคันที่สองมาอีก นักศึกษาตามคันแรกไป เรามาคันที่สองบอกให้เขาหยุดแล้วให้ถอดเสื้อออก เปลี่ยนเสื้อแล้วบอกให้ถอยหลังวนกลับไป ตรงนี้อันตราย บนรถนั้นมีเด็ก มีคนแก่”

นี่คือการบอกเล่าของนักศึกษารามคำแหงคนหนึ่งในเหตุการณ์

ต้นตอ (ปริศนา) กระพือแรงโกรธ ปกป้องสถาบัน

เรื่องของการทำร้ายนักศึกษาและกรีดรูปที่เกิดขึ้นก่อนหน้าวันที่ 30 พ.ย.ดูเหมือนจะเป็นประเด็นตั้งต้นในการรวมตัวของนักศึกษารามคำแหง เรื่องนี้ถูกกระจายแพร่หลายให้เห็นโดยทั่วไปในโซเชียลมีเดีย นักศึกษารามรวมตัวกันเพื่อเรียกร้องเรื่องนี้ตั้งแต่วันที่ 29 พ.ย. และต่อมาวันที่ 30 พ.ย.ช่วงเย็นผู้กำกับ สน.ในท้องที่มารับหนังสือด้วยตัวเองตามการประสานของ อธิการบดีมหาวิทยาลัย  
 


รูปจากเว็บพันทิป


พ.ต.อ.ณรงฤทธิ์ พรหมสวัสดิ์ ผู้กำกับสน.หัวหมาก ระบุว่า ตำรวจเดินทางมารับหนังสือร้องเรียนของกลุ่มนักศึกษาประมาณ 16.30 น.ของวันที่ 30 พ.ย. โดยก่อนหน้านี้ยังไม่ได้เห็นการแจ้งความเรื่องดังกล่าวที่สถานีตำรวจแต่อย่างใด แต่ก็เป็นไปได้ที่โดนทำร้ายแล้วยังไม่มีการแจ้งความ เมื่อรับหนังสือกันเรียบร้อย หลังจากนั้นประมาณ 4-5 นาที ก็มีเหตุชุลมุนขึ้นตรงถนนรามคำแหง

ส่วนเหตุกระทบกระทั่งกันก่อนหน้านี้ ตำรวจให้ข้อมูลว่า นปช.ชุมนุมวันที่19-20 พ.ย.หนึ่งช่วง อีกส่วนหนึ่งคือวันที่ 20 พ.ย.เป็นต้นมา ระหว่างนั้นมีเหตุกระทบกระทั่งกันอยู่ ช่วงหนึ่งรถของผู้ชุมนุมเป็นรถบัสจอดที่ถนนหัวหมากถูกทุบกระจก ที่ปรากฏคลิปในเว็บไซต์ก็คือผู้ชุมนุมถูกจับถอดเสื้อผ้าแล้วโยนลงน้ำ มีการแจ้งความแล้ว มีเหตุทำร้ายกันซอยรามคำแหง 53 ในช่วงวันที่ 27 - 28 พ.ย. นอกจากนี้ยังมีผู้ชุมนุมเสื้อแดงรายหนึ่งแจ้งความวันที่ 26 พ.ย.ด้วยว่าโดนทำร้ายปากซอยรามคำแหง 53 โดนอาวุธมีดแทงแก้ม

ขณะเดียวกัน เอก (เจ้าตัวขอสงวนชื่อและนามสกุล) อดีตนักศึกษารามที่เรียนจบแล้วอีกคนหนึ่งซึ่งอยู่ในเหตุการณ์หน้ารามเช่นกัน บอกเล่าเรื่องนี้แตกต่างออกไป โดยระบุว่ามีนักศึกษาหญิงที่โดนทำร้ายก่อนหน้าความวุ่นวายจะเกิดขึ้นในวันนั้นเลย

“วันที่ 30 ชุมนุมประมาณบ่ายโมง คนเริ่มทยอยมาก ชุมนุมให้รับผิดชอบกรีดรูปพ่อขุน และทำร้ายคนขายของแถวราม มีแม่ค้าคนหนึ่งห้อยนกหวีดธงชาติหน้าสนามกีฬา ผมไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์แต่เขาบอกว่าเขามาทุบตี รื้อข้าวของ”

“เราเรียกร้องไม่พอใจเรื่องเหยียบย่ำสถาบัน และต้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมด้วย มันยังเหลือวาระหนึ่ง มันแช่แข็งอยู่ นักศึกษามาเรียกร้องเรื่องพวกนี้ แกนนำก็ไม่มี ผมยังไปหาน้ำมาให้”

“ตอนบ่ายแก่นี่เป็นหมื่นแล้ว (หน้า ม.ราม) พวกเสื้อแดงก็ชุมนุมใหญ่ด้วย นักศึกษาก็ตั้งเวทีหน้าราม ผมก็มาช่วยกันอยู่หน้ารามหมด พอดีมีน้องนักศึกษาคนหนึ่งเดินมาจากฝั่งสนามกีฬาเขาโดนตบ อีกคนโดนตีมา พวกการ์ดนักศึกษาเห็นก็รับไม่ได้ พวกนี้ก็กรูเข้าไปหาเลย นักศึกษาข้างนอกห้ามไม่ไหว กะจะปิดถนน กะจะไม่ให้คนเสื้อแดงผ่านหน้ามหาวิทยาลัยเลยเพราะทำร้ายนักศึกษา อธิการบดีเห็นว่าเริ่มมีก่อกวนแล้วก็เลยให้เข้ามาในมหาวิทยาลัย”

เอกติดอยู่ในมหาวิทยาลัยทั้งคืนจนเช้า เขาเล่าเรื่องโดยที่ยังคงมีน้ำเสียงสั่นเครือโกรธแค้น “คืนนั้นโหดร้ายมาก มันล้อมเราหมดเลย” 

เสียงจากอธิการบดีรามคำแหง

เหตุการณ์ครั้งนี้ บางกระแสวิพากษ์วิจารณ์ไปถึงบทบาทของอธิการบดีซึ่งขึ้นเวทีปราศรัยด้วยว่าเป็นส่วนหนึ่งของการระดมผู้คนมาใกล้กันทำให้ง่ายต่อการกระทบกระทั่งหรือไม่ เรื่องนี้ วุฒิศักดิ์ ลาภเจริญทรัพย์  อธิการบดีรามคำแหงกล่าวในการแถลงข่าวว่า

"ผมจะเสนอสภามหาวิทยาลัยตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง เพื่อให้เป็นหลักฐาน เป็นข้อเท็จจริง ไม่ใช่พูดปากต่อปากและอยากทำความเข้าใจต่อผู้สื่อข่าวที่อาจเข้าใจผิด เขียนข่าวในทำนองที่ว่าอธิการบดีจัดตั้งเวทีของนักศึกษาม.ร.นั้น เรื่องนี้ไม่เป็นความจริงอธิการบดีไม่ได้เป็นผู้จัดตั้งเวทีนักศึกษาจัดตั้งขึ้นเองส่วนกรณีที่ต้องเปิดประตูให้แก่นักศึกษา ม.ร. เพื่อให้นักศึกษาได้รับความปลอดภัย”

นอกจากนี้อธิการบดียังไปให้ข้อมูลในที่ประชุมอนุกรรมการด้านพลเมืองและสิทธิพลเมืองของคณะกรรมการสิทธิ (กสม.) ไว้ว่า เขาได้รับแจ้งจากนักศึกษาว่าจะมีการชุมนุมตั้งแต่ 29 พ.ย.เรื่องนักศึกษาถูกทำร้าย 2  คน กับเรื่องรูปพ่อขุนที่ถูกกรีด โดยมีจุดประสงค์เรียกร้องให้ตำรรวจเข้ามาดูแล และคิดว่าคงเป็นเพียงการชุมนุมเล็กๆ แต่เมื่อมีคนมากขึ้นๆ จึงขอขึ้นปราศรัยเพื่อแสดงความห่วงใยลูกศิษย์และเตือนให้ชุมนุมกันอย่างสันติ อดทน วันต่อมามีการนัดชุมนุมกันอีก เขาได้ประสานงานให้เจ้าหน้าที่ตำรวจมารับหนังสือ ส่วนช่วงก่อนห้าโมงเย็นที่มีเหตุชุลมุนริมถนนโดยมีการตีรถแท็กซี่ รถเมล์ นั้นไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าเป็นนักศึกษาหรือไม่ เมื่อเกิดเหตุจึงสั่งการให้นักศึกษาเข้ามาในที่รั้วมหาวิทยาลัยและปิดประตูมหาวิทยาลัยเพื่อหลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่อาจทวีความรุนแรง

ช่วงแรกนักศึกษาราว 2,000 คนยังรวมอยู่หน้าตึกคณะบริหารธุรกิจริมรั้วด้านในมหาวิทยาลัย แต่เมื่อรู้สึกไม่ปลอดภัยจึงย้ายไปลานพ่อขุน ระหว่างสระน้ำ อธิการบดีระบุว่าในการชุมนุมช่วงนั้นก็ปกติดี แต่เวลาประมาณทุ่มเศษเริ่มมีเสียงปืนดังขึ้นจากด้านหน้ามหาวิทยาลัย โดยเฉพาะสะพานยกระดับด้านหน้า ด้านหลังมีเสียงระเบิดปิงปอง จึงย้ายมาที่ตึก สวป. ราว 4 ทุ่มด้านประตูหลังมหาวิทยาลัยมีเสียงปืนดังขึ้นเป็นระยะ โดยนักศึกษาวิ่งมาบอกว่ามีกลุ่มบุคคลพายามบุกเข้ามาในรามคำแหงจนการ์ดต้องถอยร่นมา อธิการบดีพยายามอย่างหนักในการประสานกับเจ้าหน้าที่ทั้งระดับ ผบ.ตร. รองนายกรัฐมนตรี ผู้การในพื้นที่ เพื่อให้เขามาดูแลความปลอดภัยนักศึกษาที่กำลังตื่นผวา แต่ท้ายที่สุดก็ได้รับแจ้งว่าไม่สามารถเข้ามาได้เพราะติดม็อบ

ความหวาดกลัวของนักศึกษาที่ถูกล้อม

สถาพร สระมาลีย์ รองอธิการมหาวิทยาลัยรามคำแหง ระบุว่า ช่วง 4-5 ทุ่มของวันที่ 30 พ.ย. นักศึกษาออกไปดันและต้านกลุ่มคนที่มาจากทางฝั่ง กกท. ระหว่างนั้นมีเสียงปืนดังมาหลายนัด นักศึกษาไม่สามารถอยู่ตรงนั้นได้ต้องถอยกันเข้ามาในรั้ว จากนั้นจึงสั่งให้ปิดประตูหลังรามแล้วนำโซ่คล้องเอาไว้ ระหว่างยืนอยู่ป้อมยามด้านหลังก็มีเสียงปืนดังขึ้นอีก มีนักศึกษา 2 คนได้รับบาดเจ็บจากกระสุนในเวลาไล่เลี่ยจึงช่วยกันนำตัวขึ้นมอเตอร์ไซด์ไปส่งรถพยาบาลด้านหน้ามหาวิทยาลัย เหตุการณ์เกิดขึ้นเร็วมาก มีน้องคนหนึ่งตะโกนบอกว่ามีแสงไฟแว๊บขึ้นมาจากตึกชั้นบนด้านนอกมหาวิทยาลัยรามคำแหง หลังจากนั้นนักศึกษาก็กระจายกันอยู่ตามตึกด้วยอารมณ์หวาดกลัว

อธิการบดีระบุเพิ่มเติมว่า เหตุรุนแรงเกิดขึ้นอีกครั้งเกิดช่วง 6 โมงเช้าของวันที่ 1 ธ.ค. เสียงปืนดังที่ด้านหน้าและด้านหลังตึกอธิการบดี บางครั้งได้ยินติดๆ กันเป็นชุด อธิการบดีจึงประกาศผ่านเสียงตามสายให้นักศึกษาเข้าหลบในตัวอาคาร เช้าวันนั้นหลังนักศึกษาเข้าที่กำบังได้ประสานผู้กำกับ สน.หัวหมากให้ช่วยส่งคนมารับนักศึกษา จากนั้นได้รับการโทรแจ้งว่าเคลื่อนขบวนมาแล้ว แต่ระหว่างทางมีกลุ่มม็อบขวางถนนและเผายางอยู่บริเวณปากซอยรามคำแหง 61 ไม่สามารถเข้ามาได้ จึงได้ตรวจสอบกับนักศึกษาว่ากลุ่มคนที่เผายางและม็อบตรงนั้นคือใคร ได้รับการยืนยันว่ากลุ่มดังกล่าวไม่เกี่ยวข้องกับนักศึกษาในรามคำแหง ท้ายที่สุดมีการประสานงานจนกระทั่ง ทหารจากกรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ เข้ามารับนักศึกษาออกไปได้ในช่วงราว 13.30 น. ของวันที่ 1 ธ.ค.

“เจ้าหน้าที่รวมทั้งอธิการให้นักศึกษาเข้าไปในรามหมด พอเราอยู่ในที่มั่นแล้วก็โดนล้อมเลย คืนนั้นหลังรามเหมือนสงครามเลยมีทั้งปืนทั้งระเบิด ทั้งคืนเลยมันล้อมยิงแถวนั้น ขนาดตอนเช้าก็มี”

นี่คือคำบอกเล่าของเอก อดีตนักศึกษานิติศาสตร์ ม.รามที่เคยกล่าวถึงไปแล้ว

“หลังรามโดนทั้งคืน ในซอย แยก 14   แยก 16  แล้วมีคนมาช่วยนักศึกษาเหมือนกัน คนที่อยู่ในซอยเพราะรับไม่ได้ กลุ่มคนเสื้อแดงขึ้นตึกศรีจินดา เขาประท้วงเลย เด็กใต้อาศัยพักอยู่เยอะ เขาไปเคาะห้อง แม่ค้ากลัวหมด เข้าไปตีของ รื้อของ เอาของไปกินหมด”เอกบอกเล่าเรื่องราวที่เขาได้ยินมา

“ตอนเช้าชุดใหญ่ที่ยิงหนักช่วง 6.40 น. ตอนแรกนักศึกษาจัดกิจกรรมอยู่ก็ปราศรัยว่า เมื่อฟ้าสีทองผ่องอำไพ รามคำแหงจะเป็นใหญ่ในแผ่นดิน สิ้นเสียงเท่านั้นแหละล้อมยิงเลย มันจะจบประมาณ 7 โมงครึ่ง แต่มันก็ยังหวาดระแวงกันอยู่ เขากระจายข่าวกันว่ากลุ่มคนเสื้อแดงขนคนกลับหมดแล้วแต่ยังทิ้งกองกำลังไว้ประมาณ 100 กว่าคน ไม่รู้ยิงไม่ยิง แต่ข่าวมันสะเทือนขวัญมากเลย ข่าวก็บอกว่าคนที่ทิ้งไว้จะเข้ามากวาดล้างในราม”

เอกเล่าด้วยอารมณ์ที่ยังคุกรุ่นอย่างมาก แม้เหตุการณ์ผ่านมาแล้วหลายวันแต่เขายังคงเข้าใจว่าผู้เสียชีวิตทั้งหมดเป็นฝ่ายของรามคำแหง “คนที่ตายเป็นนักศึกษาเลยมี 1 ที่เหลือเป็นศิษย์เก่า เด็กช่างกล รวมแล้ว 4 แต่อาจจะไม่ใช่ 4 น่าจะเป็น 6 คนแล้ว พวกที่โดนเข้าตาน่าจะไม่รอดแน่”

อาร์ม (เจ้าตัวขอสงวนชื่อนามสกุล) คือบัณฑิตรามคำแหงอีกคนหนึ่งที่กำลังเตรียมตอบเนติบัณฑิต ให้สัมภาษณ์สะท้อนความหวาดกลัวในคืนนั้นว่า “อยากรู้ว่าฮอ (เฮลิคอปเตอร์) นี่ของใคร มันทำให้นักศึกษาเครียดมาก ในห้องสมุดนักศึกษาหญิงนั่งกอดผู้ชายข้างๆ แฟนตัวเองก็ไม่ใช่ เขาไม่ไหวแล้ว เขากลัว จะทำยังไง รู้สึกกระเทือนหมด กลัวไปหมดเพราะมันบินต่ำ ไม่ปกติ”

“คืนนั้นทุกคนหวาดกลัว กลัวเขาจะเข้ามาในราม แต่งตัวเหมือนพวกเราแล้วอาจซุ่มอยู่บนตึก ขนาดหลอดไฟนีออน เด็กไปเหยียบแตกยังวิ่งกันกระจัดกระจาย” อาร์มกล่าว

คำถามสำคัญที่ค้างคาในผู้คนในรามคำแหง ทั้งนักศึกษา ครูอาจารย์ ตลอดจนอธิการบดีมากที่สุดคำถามหนึ่งคือ ตำรวจทำไมไม่เข้ามาดูแลความปลอดภัย

เขตใช้กระสุนจริง เขตปลอดตำรวจ

พ.ต.อ.ณรงค์ฤทธิ์ พรหมสวัสดิ์ ผกก.สน.หัวหมาก ให้ข้อมูลกับอนุกรรมการสิทธิพลเมืองฯ ว่า ในวันที่ 30 พ.ย.นั้น ใช้กำลัง 5 กองร้อยวางกำลังตลอดถนนรามคำแหง และกำชับกำลังพลว่าหากเกิดเหตุรุนแรงให้ใช้วิธีป้องกันแล้วถอย เพราะตำรวจมีเพียงโล่ ไม่พกแม้แต่กระบอก ในการชุมนุมของนักศึกษารามตำรวจพยายามหาแกนนำแต่หาไม่ได้ จนสุดท้ายได้พบกับ อุทัย ยอดมณี นายกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง และแกนนำเครือข่ายนักศึกษาและประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) ทั้งวันที่ 29 และ 30 พ.ย.เพื่อเจรจากันว่าการชุมนุมจะเป็นไปโดยสันติ

วันที่ 30 พ.ย.เวลาประมาณ 19.00 น. เริ่มมีคนมารวมตัวจำนวนมากและเริ่มขว้างปาเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ยืนประจำการริมถนนรามคำแหง จนสุดท้ายก็มีเสียงระเบิดและปืนดังขึ้น ตำรวจจึงต้องถอยเข้าไปในรั้วราชมังคลาฯ และพยายามกันไม่ให้คนข้างในออกมาเนื่องจากเกรงความสูญเสียจะหนักขึ้น ขณะเดียวกันด้านหลังรามที่เป็นซอยรามคำแหง 24 ก็เกิดเหตุวุ่นวายในทำนองเดียวกัน ผู้กำกับระบุว่ากำลังตำรวจช่วงหลังจะลำบากแล้วเพราะโดยคำสั่งและนโยบายห้ามใช้อาวุธและความรุนแรง ได้แต่ระงับเหตุป้องกันเหตุพยายามกันไม่ให้กระทบกระทั่งกัน สุดท้ายจึงตัดสินใจปิดประตูทุกประตูของราชมังคลาฯ  

ช่วงกลางคืนมีการขอกำลังจากหน่วยทีเรียกว่า รถ FAST เป็นรถวิทยุของตำรวจทางหลวง กองปราบ 191 ทุกหน่วยใน บก.น.4 ทั้งหมดประมาณ 50 คัน เมื่อเคลื่อนเข้ามาสักช่วงหนึ่งก็ถูกยิงและถูกทุบตีทำลาย ไม่สามารถเข้าไปได้ ส่วนช่วงเช้าได้ประสานกับอธิการบดีเพื่อจะรับนักศึกษาออกโดยรถบัสประมาณ 15  คัน และรถ 191 รถกองปราบอีกประมาณ 50 คัน ระหว่างที่เตรียมเส้นทางก็ได้รับการต่อต้านจากคนที่อยู่ข้างทาง มีการนำรถตู้มาขวาง เผายาง และมีเสียงปืนดัง ถ้าฝืนเข้าไปก็คงมีความสูญเสียและอาจถูกแย่งชิงอาวุธ จึงตัดสินใจไม่เข้าไปในพื้นที่

ภาพรวมความสูญเสีย

พล.ต.อ.จรัมพร สุระมณี ที่ปรึกษา (สบ.10) ให้ข้อมูลว่า ผู้เสียชีวิตทั้งหมดมี 5 ราย รายแรกคือ นาย ทวีศักดิ์ โพธิ์แก้ว นักศึกษาชั้นปี 1 คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เหตุเกิดราว 20.00 น.เศษ รายงานการผลชันสูตรสรุปได้ว่าวิถีกระสุนถูกยิงจากด้านเหนือราวนมซ้าย ไม่ทะลุ กระสุนฝังใน คาดว่าเดินออกมาจากประตู 008 หลังมหาวิทยาลัยรามคำแหง ประมาณ 20 เมตรน่าจะเผชิญหน้ากับคนร้ายในระยะ1-5 เมตร ไม่ใช่การลอบยิง จาการตรวจสถานที่เกิดเหตุพบปลอกกระสุนขนาด 11 มม. ตรงกับที่พบในศพ

รายที่ 2 ชื่อ พลทหารธนสิทธิ์ เวียงคำ เหตุเกิดราว 02.00 น. รายนี้เป็นเสื้อแดง ขี่มอเตอร์ไซด์มากับภรรยาพยายามจะเข้าสนามกีฬาจากทางด้านหลังเนื่องจากด้านหน้าปิดหมดแล้ว แต่ก็มีกลุ่มการ์ดพยายามมาปิดด้านหลัง เขาเอามอเตอร์ไซด์ไปจอดที่ปั๊มซึ่งห่างจากจุดที่รายแรกถูกยิงประมาณ 300 เมตร แล้วเดินกลับเข้ามา คล้ายว่าจะมาทำหน้าที่อำนวยความสะดวกพรรคพวกที่จะเข้ามาชุมนุม จุดที่ถูกยิงมีพยานยืนยันว่าไปด้วยกันระบุว่าเขาถูกยิงจากในซอยที่มีที่พักนักศึกษาเข้าที่หมวกกันน็อคทะลุหมวกฝังอยู่ในศรีษะ

ต่อมาภายหลังมีการจับกุมตัวผู้ก่อเหตุได้และผู้ต้องหาให้การรับสารภาพ (อ่านข่าว)

รายที่ 3 ชื่อ นายวิโรจน์ เข็มนาค เป็นคนเสื้อแดง ใส่เสื้อแดงชัดเจน พยานให้การว่าโดนยิงตรงโซน W ของสนามราชมังฯ  โซนนี้อยู่ตรงข้ามตึกวิศวะ รายนี้ถูกยิงด้านหน้าอกซ้าย ทะลุหลัง ทิศทางจากซ้ายไปขวา บนลงล่าง แสดงว่าเป็นมุมกด 

รายที่ 4 ชื่อ นายวิษณุ เภาพู่ เป็นคนเสื้อแดง พยานที่เดินทางมาด้วยกันกับผู้เสียชีวิตระบุว่าถูกยิงช่วง 6.00 น.เศษของวันที่ 1 ธ.ค. ซึ่งตำรวจเริ่มระบายคนออกจากสนามกีฬาปกติจะให้เลี้ยวไปทางขวาด้าน สน.หัวหมาก แต่วิษณุเลี้ยวไปทางซ้ายเพื่อดูว่าอะไรเกิดขึ้น ซึ่งขณะนั้นมีกลุ่มที่มีอาวุธวิ่งไล่มาทางถนน เขายืนมองอยู่บนทางเท้า และถูกยิงในช่วงนั้น

อ่านข่าวประกอบ

รายที่ 5 คือผู้เสียชีวิตที่พบบนรถบัสที่ไฟไหม้ หลังจากกองพิสูจน์หลักฐานเข้าตรวจสอบและมีการเผยแพร่ข่าว มีเพื่อนและแม่ของผู้เสียชีวิตมาแจ้งว่าน่าจะเป็นนาย สุรเดช คำแปงใจ หลังจากตรวจสอบดีเอ็นเอแล้วพบว่าตรงกับดีเอ็นเอของผู้เป็นแม่ทุกจุด จากการสอบสวนเบื้องต้น เพื่อนที่มาด้วยกันระบุว่าเขาและผู้เสียชีวิตอยู่ในซอยเอกมัย และเดินทางมาดูการชุมนุมในวันที่ 1 ธ.ค. เมื่อถึงใกล้ที่เกิดเหตุพบกลุ่มพวกการ์ดและถูกชักชวนให้เป็นการ์ดด้วย หลังจากนั้นก็เดินเกะกะบริเวณนี้แล้วก็มาที่รถบัส ชายฉกรรจ์หลายคนทุบรถและขึ้นไปกรีดเบาะ พวกเขาก็เข้าไปบนรถบัสด้วย พักหนึ่งกลุ่มคนดังกล่าวได้ทำการจุดไฟเผารถ เพื่อนผู้ตายตะโกนบอกให้ผู้ตายรีบลงมาโดยที่ตัวเพื่อนลงไปก่อนแล้วทางประตูหน้าด้านซ้ายคนขับที่มีอยู่ประตูเดียว เข้าใจว่าเนื่องจากชั้นบนของรถมีข้าวของผู้ตายอาจใช้เวลาอยู่ตรงนั้นและพอจะออกมาปรากฏว่าไฟมันลามจากหน้าไปหลัง จึงออกไม่ได้และสำลักควันเสียชีวิต ผลชันสูตรพบคาร์บอนมอนนอกไซด์ในร่างกาย 55% ซึ่งโดยปกติเพียง 40% ก็เสียชีวิตได้แล้ว

นอกจากนี้ตำรวจยังสามารถจับกุมบุคคลอื่นๆ ในกลุ่มเดียวกันที่ขโมยทรัพย์สินจากรถดังกล่าวได้หลายราย และผู้ต้องหาให้การรับสารภาพทั้งหมด

อย่างไรก็ตาม คดีนี้มารดาและเพื่อนผู้ตายได้ขึ้นเวที คปท. ปราศรัยแสดงความไม่พอใจตำรวจที่กล่าวหาว่าผู้ตายเป็นหนึ่งในกลุ่มวัยรุ่นที่เข้าไปลักทรัพย์ นอกจากนี้เพื่อนของผู้ตายยังปราศรัยระบุว่าลงมาจากรถกันหมดแล้วและเจอเหตุปะทะจึงวิ่งหนีคนละทิศละทาง (อ่านข่าว)


ภาพจากเว็บผู้จัดการ

ในอีกด้านหนึ่ง ช่วงคืนวันที่ 30 พ.ย. ตำรวจจับอาวุธปืน  2 ราย รายหนึ่งมากับพวกเสื้อแดง พบสิ่งเทียมอาวุธปืนที่ถูกดัดแปลงให้ใส่กระสุนได้จริง มีร่องรอยการยิงแล้ว อีกรายหนึ่งตำรวจระบุว่าจากการสอบสวนพบว่าเป็นฮาร์ดคอร์เสื้อแดง พกพาปืนซีแซท มีกระสุนในตัว 104 นัด แต่ยังไม่มีร่องรอยการยิง

ที่สำคัญคือ ข้อมูลจากการตรวจสอบพื้นที่เกิดเหตุทั้งหมดในคืนนั้น เท่าที่ตรวจสอบได้ พบร่องรอยของปลอกกระสุน จำนวน 33 ปลอก ทั้งบริเวณด้านหลังรามคำแหง ด้านหน้ารามคำแหง ด้านหน้าสนามกีฬา ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดนี้มาจากอาวุธปืนสั้น 16 กระบอก และตำรวจยืนยันว่าไม่มีร่อยรอยของอาวุธความเร็วสูงอย่างที่มีข่าวลือเรื่องสไนเปอร์แต่อย่างใด

หลังเหตุการณ์ ประมาณวันที่ 11 ธ.ค.มหาวิทยาลัยรามคำแหงตั้งศูนย์รับแจ้งข้อมูลและให้ความช่วยเหลือผู้รับผลกระทบจากเหตุการปะทะ (อ่านข่าว) จนถึงวันที่ 23 ธ.ค. สมพร นาคประทุม หัวหน้างานสวัสดิการและรักษาความปลอดภัยระบุว่า มีผู้แจ้เบาะแสด้วยภาพถ่ายและขอความช่วเหลือด้านต่างๆ รวมแล้ว 15-16 รายส่วนใหญ่เป็นประชาชนทั่วไป ในจำนวนนี้เป็นผู้ที่ได้รับบาดเจ็บขอความช่วยเหลือด้านค่ารักษาพยาบาล 6-7 ราย

2 เสื้อแดงกับบาดแผลหลังราม

สมจิตร (เจ้าตัวขอสงวนนามสกุล)  อายุ 40 ปีอาชีพขับรถบรรทุกน้ำมัน เป็นหนึ่งในผู้บาดเจ็บค่อนข้างหนัก จากการโดนก้อนหินตัวหนอนหักครึ่งปาโดนที่บริเวณขมับด้านซ้ายใกล้เบ้าตา ก้อนหินถูกโยนมาจากในอาคารหอพักในซอยรามคำแหง 24 ใกล้แยกปั๊มเซลล์

สมจิตรเล่าว่าเขาขี่มอเตอร์ไซค์มาจากทางพระโขนงเพื่อมาร่วมชุมนุมที่สนามราชมังคลาฯ ตามปกติ พอมาถึงตรงปั๊มเซลล์ในซอยรามคำแหง 24 เวลาประมาณ 20.00 น. เขาเห็นกลุ่มคนเสื้อแดงหลายร้อยคนรวมตัวกันอยู่ที่บริเวณปั๊มและเห็นกลุ่ม นศ.รามคำแหงหลายร้อยคนยืนปิดถนนบริเวณประตูหลังมหาวิทยาลัย เขาจึงหยุดและจอดรถไว้ในปั๊ม หลังจากนั้นมีเจ้าหน้าที่ตำรวจพร้อมโล่และชุดป้องกันตัวประมาณ 10 นาย พยายามเข้าไปเจรจาเพื่อขอให้กลุ่มนักศึกษาเปิดทางให้ โดยมีคนเสื้อแดงเดินตามหลังเจ้าหน้าที่ตำรวจไปด้วย

การเจรจาไม่เป็นผลสำเร็จ มีการตะโกนต่อว่าด่าทอกัน มีการขว้างปาสิ่งของใส่กัน หลังจากนั้นก็มีเสียงปืนดังขึ้นหลายนัด

“ตำรวจนำไปเจรจาขอเข้าสนาม แต่เขาไม่ยอม ก็ด่าอย่างเดียว พวกเราก็เลยสวนว่าสุเทพจ้างมาเท่าไร พวกเขาเลยขึ้นใหญ่ ปาค้อนปาหินใส่ตำรวจ พอตำรวจวิ่ง พวกเราก็แตก เขาก็กรูมา จากนั้นสถานการณ์เลยเดือด มีเสียงปืน เสียงประทัดยักษ์ ตอนนั้นประมาณ 2 ทุ่มครึ่ง จบประมาณ 4 ทุ่ม ต่างคนต่างหลบ ต่างคนต่างหนีตาย ห้องน้ำปั๊ม ซอกตึก มุดไปทั่ว ผมก็ไม่รู้เรื่องรู้ราวอะไร คนที่เจ็บก็นอนให้มันเหยียบอยู่ ไม่มีใครช่วยใครได้แล้ว แล้วแต่เวรแต่กรรม มีแต่ปอเต๊กตึ๊งที่วิ่งเข้ามาช่วย ช่วยทีละคนๆ” สมจิตรกล่าว

เขาเล่าว่า เขาโดนก้อนอิฐตัวหนอนขว้างใส่บริเวณก่อนถึงปั๊มเชลล์ โดยที่เขาไม่ได้ทันได้มองทิศทาง เพราะกำลังหลบอยู่กับกลุ่มผู้หญิง หลังจากนั้นเขาก็ไม่รู้สึกตัว
 


สมจิตร

“ผมก็กันผู้หญิงอยู่ ทิศทางไม่ได้มอง แล้วก็ ตุ้บ หันข้างหลัง พวกที่ไล่มาก็รุมทำร้าย ไม่ได้โดนแต่ผม โดนเยอะ ไม่รู้ใครเป็นใคร เรามีแต่รับอย่างเดียว ตอนผมโดนโทรศัพท์ยังอยู่ในกระเป๋าข้าง มีเสียงโทรศัพท์มา กดรับ แต่ไม่รู้สึกตัวแล้ว รู้สึกมือถือมันสั่น เอามือกดแล้วก็ไม่รู้เรื่องแล้ว ผมสลบ ไม่รู้เรื่อง กางเกงมีแต่เลือด น่าจะโดนหลายคน เห็นพรรคพวกบอก เห็นแต่ขา ปอเต๊กตึ๊งมาพาออกไป ยังไม่ตายก็บุญแล้ว ก็ต่อสู้กันต่อ”

“เจ็บแค่นี้เราก็ยังโอเค ขอให้คนในสนามไม่เป็นไร”

สมจิตรอยู่รักษาตัวในห้องไอซียู 5 วัน จากอาการกระโหลกร้าว (เกิดจากก้อนหิน)  ฟันร้าว,กรามร้าว,ดั้งหัก,เลือดคั่งในช่องท้อง,มีบาดแผลคล้ายถูกฟันที่ท้อง

ถึงตอนนี้เขายังมีอาการตามัว หมอที่รพ.วิภาวดี รามคำแหงแจ้งว่าหากอาการไม่ดีขึ้น อาจต้องเร่งรักษาตัวต่อ สมจิตรระบุว่าหากอาการตามัวไม่สามารถรักษาหายได้จะส่งผลกระทบถึงอาชีพขับรถบรรทุกน้ำมันที่เขาทำอยู่

สมปอง (เจ้าตัวขอสงวนนามสกุล) อายุ 41 ปี ประกอบอาชีพขับรถให้ผู้บริหาร เขาเล่าว่าไปร่วมชุมนุมทุกคืนตั้งแต่เริ่ม โดยจะเดินทางไปหลังเลิกงาน ถึงสนามกีฬาฯ ราว 21.00 น. วันเกิดเหตุตั้งใจเข้าไปรับภรรยาที่อยู๋ในสนามกีฬาด้วย ปกติจะขับรถมุ่งหน้ามาจากพัฒนาการเลี้ยวซ้ายลอดอุโมงค์เพื่อที่จะทะลุรามคำแหง แต่ปรากฏว่าเข้าไม่ได้เพราะมีมวลชนเสื้อแดงอยู่ตรงนั้น จึงเลี้ยวเข้าไปในซอยรามคำแหง 24 และกลับรถเพื่อจอดฝั่งตรงข้ามซึ่งเป็นรั้วมหาวิทยาลัยรามคำแหง จากนั้นเดินมุ่งหน้าไปทาง ABAC จนถึงจุดที่ประทะใกล้ๆ ปั๊มเชลล์ เห็นมวลชนเสื้อแดงวิ่งกรูหนีมาจึงเกิดการยันกันขึ้นระหว่างมวลชนสองฝั่ง ตอนนั้นเป็นเวลาราว 21.45 น.และเหตุการณ์ดำเนินไปราว 20 นาที

“มวลชนของเขาดันเข้ามา ค่อนข้างเร็ว ความรู้สึกตอนนั้นรู้สึกว่า ทำไม เรามาชุมนุมดีๆ มาตั้งหลายวันแล้วไม่มีอะไร ทำไมวันนี้มีคนมาผลักดัน ผมเลยบอกว่า เฮ้ย อย่าวิ่งได้ไหม การวิ่งจะเหยียบกัน ทุกคนถ้าใครคิดว่าเรามาถูกหันหน้าไปทางเดียวกับผม ทุกคนก็หันหน้าไปทางนั้นเพื่อสตั๊นกับคนฝั่งนู้น ก็ดันไปได้เยอะเหมือนกัน ถึงใกล้ๆ มินิมาร์ท คนในซอยน่าจะเป็นของเขาทั้งหมด ก็ค่อยๆ เพิ่มเสริมขึ้นมาๆ คนของเราไปแบบธรรมชาติ เราเพียงต้องการดันเข้าไปๆ เพื่อไปช่วยคนข้างใน เพราะรู้สึกว่าคนข้างในหน้าจะมีปัญหาแน่เลย ข้างนอกยังเข้าไม่ได้ ก็พยายามดันเข้าไป แล้วรู้สึกหมดแรง เขาเสริมคนเข้ามาเรื่อยๆ คนที่เสริมเข้ามาหน้าตาค่อนข้างผิดปกติจากเด็กรามคำแหง ผมยังตะโกนว่า น้องๆ พวกที่เป็นเด็กรามอย่าไปเป็นโล่มนุษย์ให้เขา จากนั้นเขาก็ดันเข้ามาเรื่อยๆ สุดท้ายไม่ไหว หมดแรง อายุ 40 แล้ว ก็ค่อยๆ ถอย พอถอยเขาวิ่งชาร์จเลย”

“น่าจะโดนอะไรเขวี้ยงมา หัวแตก เหมือนมวยโดนหมัด ล้ม แล้ววิ่งสะเปะสะปะ ไปไม่ถูกแล้ว แต่ยังรู้สึกตัว ทีนี้ก็มาเป็นชุดเลย ฟุบอยู่ตรงนั้น เสียง ปุกปัก ปุกปัก ข้างหลังบ้าง ไม่ไม้ก็ดาบ แต่ตอนนั้นยังมีสติตลอดเวลา แล้วก็มีรถร่วมมา รถร่วมก็พยุงปีกไป ก็ยังเดินได้ แต่ไม่รู้ตัวว่ากระดูกขาหัก”

สมปองรักษาที่ห้องไอซียูโรงพยาบาลแพทย์ปัญญา 1 คืน ก่อนจะส่งตัวไปโรงพยาบาลศรีนครินทร์

สำหรับอาการบาดเจ็บ มีแผลหน้าผากแตก หัวด้านหลังแตก ต้องเย็บหลายเข็ม หน้าบวมปูดทั้งหน้า  ขาหัก และด้านหลังเป็นแผลช้ำ


สมปอง

“ถามว่าอยากปะทะไหม ไม่ได้อยากปะทะ เราคนไทยเหมือนกัน แต่วันนั้นสถานการณ์มันพาไปจริงๆ มวลชนเราหนีตาเหลือกตาตั้งมาแบบนี้ อะไรกัน ทำไมเราต้องหนีแบบนี้ มันรู้สึกว่าไม่ใช่แล้ว เรามากันดีๆ ทุกวัน แล้วใจก็อยากไปช่วยคนข้างในด้วย ความรู้สึกมันเหมือนโดนล้อมไว้”

“ถามว่าเจ็บมาแล้วอาฆาต ม.ราม ไหม ไม่ได้โกรธเคืองอะไรเลย ความรู้สึกคือโกรธคนสร้างเรื่องให้มวลชนปะทะกัน เพราะเราก็ไปด้วยสันติ แล้วต้องมาปะทะกันแบบนี้ มันไม่ถูกต้องเลย”

ทั้งหมดนี้คือความพยายามในการต่อจิ๊กซอว์จำนวนหนึ่งของเหตุการณ์สำคัญ เหตุการณ์นี้อาจแจ่มชัดแล้วในความคิดของฝ่ายที่เป็นคู่ตรงข้าม แต่มันคงยังไม่แจ่มชัดนักสำหรับสังคมโดยรวม บ้างอาจวิเคราะห์ว่าจุดใหญ่ใจกลางของเรื่องนี้อยู่ที่ “กลุ่มก่อกวน” ซึ่งยากจะบอกว่ามีการจัดตั้งหรือไม่อย่างไร ที่คอยสร้างสถานการณ์ความรุนแรงและกันไม่ให้ตำรวจเข้าพื้นที่ บ้างอาจมองว่าเป็น “สถานการณ์” พาไปล้วนๆ ฯลฯ  ไม่ว่าจะอย่างไร สิ่งที่รู้แน่แล้วคือผลกระทบและความสูญเสียที่เกิดขึ้น ของจริง เกิดแล้ว และถูกลืมในเวลาอันรวดเร็วเช่นเคย

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net