Skip to main content
sharethis
 
6 ก.พ. 2557 กองบรรณาธิการ สำนักสื่อ Wartani เผยแพร่ข่าวชาวบ้านตันหยงเปาว์ร้องเรียนผู้นำศาสนา ทนายความ และ NGO ในพื้นที่ ระบุว่าเมื่อวันอาทิตย์ที่ 2 ม.ค.2557 เวลาประมาณ 15.00 น. ตัวแทนชาวบ้านตันหยงเปาว์ ต.ท่ากำชำ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี เดินทางมาร้องเรียนคณะกรรมอิสลาม ทนายความมุสลิม และตัวแทนนักประชาสังคมในพื้นที่ ณ หอประชุม สำนักงานคณะกรรมการอิสลาม ประจำจังหวัดปัตตานี
 
 
สำนักงาน คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี
 
จากเหตุการณ์ เมื่อวันที่ 20 ม.ค.2557 เวลาประมาณ 23.00 น. มีกลุ่มคนที่ชาวบ้านระบุว่าเป็นเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจสวมชุดดำ ใส่โม่งปิดหน้า เปิดตาสองดวง (บางส่วน) และไม่ทราบจำนวนที่ชัดเจน แต่มาด้วยรถกระบะประมาณ 8-9 คัน ทำการกราดยิงหมู่บ้านด้วยอาวุธสงครามโดยไม่ทราบสาเหตุ พร้อมทั้งควบคุมตัวนายมีดี อาแว อายุประมาณ 28 ปี ชาวบ้านในพื้นที่ไป โดยภรรยาของเขาเชื่อว่า สามีถูกซ้อมทรมานในที่เกิดเหตุก่อนที่เจ้าหน้าที่จะนำตัวไปสอบสวนและกักขัง
 
“หลังเกิดเหตุเจ้าหน้าที่บอกว่า มีดีมีหมายจับติดตัว 2-3 คดี แต่พอพวกเราขอดูหมายของมีดี เขากลับไม่ให้เราดู” ภรรยามีดี กล่าว
 
การมาของตัวแทนชาวบ้านในครั้งนี้ก็เพื่อต้องการขอคำปรึกษาและขอความช่วยเหลือจากคณะกรรมการอิสลาม ทนายความ รวมทั้งตัวแทนภาคประชาสังคมในพื้นที่ เพื่อหาช่องทางการเรียกร้องความเป็นธรรมโดยสันติวิธี จากการกระทำอันเกินกว่าเหตุของเจ้าหน้าที่
 
ทั้งนี้ ผู้มาร่วมต้อนรับและรับฟังปัญหาของชาวบ้านตันหยงเปาว์ ประกอบด้วย มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม, เครือข่ายอาสาสมัครผู้ช่วยทนายความมุสลิม มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม, สำนักปาตานีรายาเพื่อสันติภาพและการพัฒนา, เครือข่ายบัณฑิตอาสาปาตานี, วิทยาลัยประชาชน, สหพันธ์นิสิตนักศึกษา นักเรียน และเยาวชนปาตานี และสำนักสื่อ Wartani
 
 
เสื้อผ้าของ “นายมีดี อาแว” ที่ใส่ในวันเกิดเหตุ สังเกตเห็นรอยเท้าอยู่บนหลังเสื้อ และรอยเลือดแห้งข้างล่างของเสื้อ เป็นหลักฐานหนึ่งที่ทำให้แม่และภรรยาของมีดีเชื่อว่า เขาถูกซ้อมทรมานก่อนที่จะพาไปขัง
 
“การที่เรามาในครั้งนี้ เพราะเราไม่เชื่อในแนวทางของรัฐว่าเขาจะให้ความเป็นธรรมแก่เราได้ เราจึงมาขอความช่วยเหลือจากคณะกรรมการอิสลาม ทนายความ และนักเคลื่อนไหวที่เป็นคนในพื้นที่เสียเอง เราไม่ได้ต้องการให้ทุกคนไปช่วยจับคนร้าย แต่เรามาขอคำปรึกษาหาช่องทางว่า มีช่องทางไหนบ้างที่สามารถให้ความเป็นธรรมแก่พวกเราได้” ชาวบ้านคนหนึ่งกล่าว
 
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้ชาวบ้านลุกขึ้นมารวมตัวกันเพื่อต่อสู้ตามกระบวนการยุติธรรมให้ถึงที่สุด โดยมุ่งมั่นว่า คนผิดต้องถูกลงโทษตามกฎหมาย
 
“ทำไมการเข้ามาปิดล้อมตรวจค้นของเจ้าหน้าที่ต้องมีกราดยิงด้วย ถ้ากระสุนถูกชาวบ้านตายใครจะรับผิดชอบ นี่หรือการปฏิบัติของข้าราชการที่รับใช้ประชาชน” ตัวแทนชาวบ้านตั้งคำถาม
 
ชาวบ้านอีกคนหนึ่งเสริมขึ้นมาว่า “ใครที่ได้รับความเสียหายจากการกราดยิงของเจ้าหน้าที่ให้นำใบเสร็จมาแสดง แล้วจะจ่ายค่าเสียหายให้ เจ้าหน้าที่บอกพวกเราหลังจากที่เราไปแจ้งความ และเราเชื่อว่า หลังจากนี้ก็คงมีการเยียวยา แจกเงินให้ แต่พวกเราจะบอกว่า เราไม่ได้ต้องการเงิน เราไม่ต้องการวัตถุใดๆ ทั้งสิ้น เราแค่ต้องการให้ความจริงปรากฏ ผู้ใดทำผิดก็ต้องได้รับโทษตามที่เขาทำไป”
 
 
ขอบคุณภาพจาก : Muhammad Hadi Wijaya
ถ่ายเมื่อวันที่ 21 มกราคม 2557 หลังเกิดเหตุกราดยิงหมู่บ้าน 1 วัน
 
 
ชาวบ้านคนเดิมเล่าต่อว่า ความจริงเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นในหมู่บ้านแล้วหลายครั้ง ที่ผ่านมาชาวบ้านเสียชีวิตไปแล้ว 2 คน ซึ่งทั้ง 2 คนนี้ก็เป็นคนชรา เสียชีวิตเพราะตกใจ หัวใจวายตาย
 
“ปิดล้อมหมู่บ้านครั้งแรกมาเกือบพันคน ครั้งที่ 2 มาล้อมกันเป็นพันอีก แถมยังแสดงกิริยามารยาทไม่ดีอีก ถีบประตูบ้าง ร้องตะโกนโวยวายบ้าง อย่างนี้มันไม่ใช่รูปแบบของผู้มาดูแลเรา มาอย่างโจรชัดๆ ชาวบ้านที่เสียชีวิตในจำนวน 2 คนนั้น เสียชีวิตเพราะตกใจที่เจ้าหน้าที่ถีบประตูบ้านพัง ช็อก หัวใจวายตาย 2 ครั้งที่พูดถึงนั้นเป็นเหตุการณ์ใหญ่ๆ ส่วนเหตุการณ์เล็กๆ นั้นไม่ต้องพูดถึง มีอยู่ให้เห็นตลอดเวลา
 
มีเหตุการณ์ระเบิด เผาอาคาร ปะทะกันที่หมู่บ้านอื่น กลับมาล้อม มาค้นหมู่บ้านเราตลอด ทั้งๆ ที่ผ่านมาเหตุการณ์สร้างสถานการณ์เกิดในหมู่บ้านเราแค่ครั้งเดียวเอง สงสัยพวกเขาคงคิดว่าคนในหมู่บ้านตันหยงเปาว์ เป็นโจรทั้งหมู่บ้าน เขาถึงมากดดัน มาปิดล้อม มาขู่พวกเราเป็นประจำ หรือเป็นเพราะหมู่บ้านเรามีแต่คนมลายู” ชาวบ้านเล่าอย่างน้อยใจในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ที่ผ่านๆ มา
 
ด้านนายอับดุลกอฮา อาแวปูเต๊ะ ประธานมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม ประจำจังหวัดปัตตานี (MAC) กล่าวแนะนำว่า ให้ชาวบ้านรวมตัวกัน อย่าแตกแยก ภาวะอย่างนี้ต้องสามัคคีกัน คนในพื้นที่ต้องกล้าพูดความจริงออกมา เพราะคนนอกพูดน้ำหนักมันจะไม่เท่ากับคนในพูด
 
 
เพื่อนบ้านของมีดีคนหนึ่งกล่าวว่า “ผมกลัว เวลาเจ้าหน้าที่มาปิดล้อมผมรู้สึกกลัวมากและคิดว่าคนอื่นๆ ก็คงมีความรู้สึกเหมือนผมเช่นกัน เจ้าหน้าที่มาครบอาวุธ แต่งกายเหมือนในหนังรบ ใส่โม่งปิดหน้า เห็นแค่ดวงตาสองดวง มาอย่างนี้แล้วจะให้เราไม่กลัวได้อย่างไร”
 
เขาตั้งคำถามด้วยว่า หากเจ้าหน้าที่มาปิดล้อมในรูปแบบนี้อีกจะทำอย่างไรได้บ้าง และเจ้าหน้าที่ใช้กฎหมายอะไร ทำไมจึงสามารถทำได้ทุกอย่าง
 
นายมูฮำหมัดอัสมิง ผู้ประสานงาน เครือข่ายอาสาสมัครผู้ช่วยศูนย์ทนายความมุสลิม มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม ประจำจังหวัดปัตตานี (SPAN) กล่าวว่า ที่ผ่านมาการใช้กฎหมายของรัฐไทยจะใช้ไม่เหมือนกัน แม้ว่าตัวบทกฎหมายจะเป็นตัวเดียวกัน อย่างเช่น พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในปาตานีกับกรุงเทพฯ เป็นกฎหมายตัวเดียวกัน แต่พวกเขาใช้ไม่เหมือนกัน นี่คือจุดบกพร่องในการใช้กฎหมายของรัฐไทย ถึงเรียกว่า “กฎหมายไม่เป็นธรรม”
 
 
อ่านข้อมูลเพิ่มเติม
สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net