Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

โน้ส อุดม แต้พานิช ได้กล่าวเสียดสีรัฐสภาอย่างเจ็บแสบในการแสดงเดี่ยวไหนก็จำไม่ได้ว่า "ถ้าจะขายชาติให้ไปสภา" ทำให้คนดูปรบมือ ส่งเสียงดังกึกก้องอย่างสะใจ สะท้อนถึงมุมมองของชนชั้นกลางที่เสื่อมศรัทธาในประชาธิปไตยและรัฐสภา แน่นอนว่า ชนกลุ่มที่เป็นแฟนของโน้สในที่นั้นก็มีคงไม่น้อยที่เข้าร่วมกับกลุ่ม กปปส. ที่แสดงเจตนาว่าสภาประชาชนนั้นเป็นของวิเศษกว่ารัฐสภา หรือว่าอย่างน้อยก็เล็งเห็นว่าสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการสรรหาดีกว่าการเลือกตั้ง  ผู้เขียนไม่ศรัทธาสภาประชาชน และเห็นว่าแนวคิดต่อต้านรัฐสภาเป็นอันตรายอย่างมหาศาล จะเกิดอะไรถ้าประชาชนเกิดไม่ใส่ใจต่อสถาบันสำคัญของประชาธิปไตย  แน่นอนว่ารัฐสภาก็คงจะไม่พัฒนาตลอดไป อันจะนำไปสู่การสนับสนุนของประชาชนต่อรัฐบาลที่เป็นเผด็จการแบบ “ยอมรับ” กันได้ ดังในปัจจุบัน ที่มีปัญหาการเลือกตั้งถูก กปปส. สกัดกั้นจนไม่อาจเปิดสภาได้ ประสานกับปัญญาชนหรือชนชั้นหัวกะทิบางกลุ่มซึ่งแสวงหาทุกวิถีทางแม้แต่เรียกร้องการปฏิวัติ เพื่อทำให้ประเทศไทยถูกปกครองภายใต้สภาบางสภาที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งบนข้ออ้างของการปฎิรูป และสมาชิกสภาก็มาจากการสรรหาที่มีโพยเตรียมไว้แล้วจึงไม่สับสนวุ่นวายเหมือนกับสภาที่ถูกเลือกมา และสภานั้นก็ได้ออกกฎหมายที่เราไม่แน่ใจว่าเป็นประโยชน์ต่อประเทศหรือไม่อีกเป็นร้อยๆ ฉบับ ภายใต้นายกรัฐมนตรีคนนอกซึ่งเป็นคนแปลกหน้าอันดีเลิศ ดังกรณีของรัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์

ก่อนจะที่แก้ต่างให้รัฐสภา ผู้เขียนใคร่จะนำเสนอประวัติของรัฐสภาทั้งของเทศและไทยเสียก่อน เพื่อให้เห็นว่า รัฐสภาไม่ได้เกิดขึ้นลอยๆ มาจากฟากฟ้าแต่ประการใด

รัฐสภาถือกำเนิดเป็นครั้งแรกในอังกฤษเมื่อพันกว่าปีก่อนหน้านี้ แต่ก็อยู่ในรูปแบบของสภาขุนนางที่เข้าเฝ้าพระเจ้าแผ่นดินเพื่อเป็นที่ปรึกษาและรองรับพระราชบัญชาเพียงประการเดียว ดังคำว่า Parliament มาจากภาษาฝรั่งเศสคือ Parlement หรือภาษาละตินคือ Parliamentum ซึ่งแปลว่าการพูดคุย ถกเถียงกัน

รัฐสภามามีการเปลี่ยนแปลงการใหญ่เมื่อปี 1215 ที่ขุนนางสามารถจับพระเจ้าจอห์น พระอนุชาของพระเจ้าริชาร์ด (ในยุคของโรบินฮูด จอมโจรในตำนานนั้นแล) ทำสัญญาแม็คนาคาร์ตา  นั่นคือได้จำกัดอำนาจและสิทธิของพระมหากษัตริย์ และได้เพิ่มอำนาจให้กับบรรดาบารอนหรือขุนนางในนามของสภาอย่างมากมาย  คำว่า "รัฐสภา" เพิ่งเกิดขึ้นอย่างเป็นทางการในยุคของพระเจ้าเฮนรีที่ 3 ซึ่งเป็นพระโอรสของพระเจ้าจอห์น พระเจ้าเฮนรีที่ 3 เองมิได้ทรงพิศวาสสัญญาแม็คนาคาร์ตาเท่าไรนัก  รัฐสภาที่มีลักษณะตามความหมายในยุคปัจจุบันถูกผลักดันโดยขุนนางที่เป็นศัตรูตัวสำคัญของพระเจ้าเฮนรีคือ ซิมอน เดอ มองฟอร์ต ซึ่งต้องการให้สมาชิกของรัฐสภามาจากการเลือกตั้งจากชนชั้นต่างๆ ในระบบศักดินาสามิภักดิ์ (Feudalism) และเขตการปกครองของอังกฤษ รัฐสภาแห่งแรกมีการประชุมขึ้นในปี 1265 ซึ่งตัวพระเจ้าเฮนรีตัวเองก็ทรงไม่เห็นด้วย

รัฐสภาที่มีสมาชิกประกอบด้วยสามัญชนจึงเข้ามามีบทบาทอย่างสูงในการปกครองประเทศตั้งแต่บัดนั้น แม้แต่พระเจ้าเฮนรีที่ 8 (พระบิดาของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 1) ซึ่งถือว่าเป็นพระมหากษัตริย์ที่เปี่ยมด้วยอำนาจจะทำการใดก็ต้องผ่านรัฐสภาเสียก่อน   รัฐสภาของอังกฤษเพิ่งจะมีอำนาจเหนือกษัตริย์อย่างแท้จริงในช่วงการปฏิวัติอันรุ่งโรจน์ (Glorious Revolution) เมื่อปี 1688 ที่บรรดาขุนนางสามารถโค่นล้มพระเจ้าเจมส์ที่ 2 ได้สำเร็จ  ถึงแม้สถาบันกษัตริย์จะยังคงอยู่ แต่รัฐสภาได้มีอำนาจเพิ่มขึ้นมหาศาลเช่นอำนาจในการเก็บภาษี การสืบสันตสมบัติ เป็นต้น อันเป็นเหตุทำให้อังกฤษไม่เคยมีการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์แบบฝรั่งเศส

ดังจะเห็นได้ว่า รัฐสภาเกิดจากความพยายามเข้ามามีอำนาจของคนกลุ่มหนึ่งเหนือคนๆ หนึ่งที่เคยมีอำนาจล้นฟ้า อันนำไปสู่การมีส่วนร่วมต่ออำนาจนั้นของคนทั้งชาติ ตลอดเวลาหลายร้อยปีที่ผ่านมา รัฐสภากับพระมหากษัตริย์ ทั้งของอังกฤษและแคว้นทั้งหลายทั่วยุโรปมีความขัดแย้ง มีการแย่งชิงอำนาจกันอยู่เสมอมา รัฐสภาเองก็เป็นเวทีที่นำไปสู่การเกิดรัฐบาลที่คณะบริหาร (cabinet) มาจากสมาชิกของรัฐสภาไม่ใช่การเลือกของพระมหากษัตริย์  เป็นการเปลี่ยนแปลงจากระบอบกษัตริย์นิยม (Monarchism) และระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (Absolute Monarchy)  มาเป็นการปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหาษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ (Constitutional Monarchy)

สำหรับประเทศไทยนั้น ไม่ต้องประหลาดใจว่าพระมหากษัตริย์ในการปกครองแบบระบอบสมบูรณาสิทธิราชย์ทั้ง 3 พระองค์คือ รัชกาลที่ 5  6 และ 7 จะทรงไม่ปรารถนาที่จะเห็นความขัดแย้งระหว่างรัฐสภาซึ่งสมาชิกจำนวนมากมาจากสามัญชน กับพระมหาษัตริย์ดังเช่นในยุโรป   มุมมองของกษัตริย์ทั้ง 3 พระองค์ มาจากมุมมองแบบพวกอภิชนาธิปไตยที่เห็นว่าประชาชนคนไทยไม่พร้อมกับการมี "คอนสติติวชั่น" (รัฐธรรมนูญ) และ "ปาลิเมนท์" (รัฐสภา) ในเหตุการณ์ รศ. 103 หรือ พ.ศ.2427 ที่มีเจ้านายและขุนนางจำนวนหนึ่งเรียกร้องให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ทรงพระราชทานรัฐธรรมนูญและรัฐบาล แต่ยังไม่ต้องการปาลิเมนท์ดังเช่นยุโรปและอเมริกา แต่ก็ได้รับการปฏิเสธจากรัชกาลที่ 5  โดยทรงสัญญาว่าจะให้รัชกาลที่ 6 เป็นผู้พระราชทานให้  (แน่นอนว่าพระองค์ก็ต้องทรงปฏิเสธคำร้องขอของ กสร.กุหลาบ ที่ต้องการให้มีปาลิเมนท์) ในภายหลัง น่าสนใจที่ว่าสิ่งที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าฯ ทรงพระราชทานให้กับคนไทยเพียงอย่างเดียวคือ นครจำลองที่ชื่อดุสิตธานีซึ่งถูกโจมตีว่าเป็นสิ่งที่พระองค์ทรงใช้เป็นเครื่องมือโจมตีลัทธิประชาธิปไตย และเพื่อเชิดชูระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์

จวบแม้ในสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ เอง รัฐสภาตามนัยยะในยุคปัจจุบันก็ยังไม่ถือกำเนิด ในรัชสมัยของพระองค์เต็มไปด้วยสภาของเชื้อพระวงศ์และขุนนางทั้งหลาย ไม่ว่าอภิรัฐมนตรีสภา หรือสภาองคมนตรี ไม่มีชาวรากหญ้าสามารถก้าวล้ำเข้าไปได้แม้เพียงนิด มีเพียงในการปกครองส่วนภูมิภาคที่มีการเลือกตั้ง เช่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งก็เป็นไปเพื่อตอบสนองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ จวบจนเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองในวันที่ 24 มิถุนายน 2475 รัฐสภายุคปัจจุบันจึงได้ถือกำเนิดในวันที่ 28  มิถุนายน หลังการประกาศใช้ของรัฐธรรมนูญฉบับแรกในวันที่ 27 มิถุนายน  รัฐสภา คือหลักฐานสำคัญที่ว่าคณะราษฎรมิได้คิดจะหวงอำนาจไว้แต่เพียงผู้เดียว หากแต่ต้องการให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม แต่ก็ต้องใช้เวลาสำหรับพัฒนาการ คณะราษฎรอาจจะมองเหมือนกับพระมหากษัตริย์ทั้ง 3 พระองค์ว่า ประชาชนยังไม่พร้อม แต่ก็มีการเตรียมการหลายประการ เช่น การออกพระราชบัญญัติจัดระเบียบเทศบาล พ.ศ. 2476 การโฆษณาให้ประชาชนมีความเข้าใจและศรัทธาในรัฐธรรมนูญ หรือเปิดให้มีการเลือกตั้งสำหรับประชาชนทั่วไป  ในขณะที่ระบอบสมบูรณาสิทธิราชย์ไม่ได้กระทำการใดจริงๆ จัง ๆ

ผู้เขียนรู้สึกขบขันกับแนวคิดของคนจำนวนมากที่คิดว่า ปัจจุบันคนไทยก็ยังไม่เหมาะกับประชาธิปไตย โดยอ้างถึงพฤติกรรมสุดถ่อยของ ส.ส. ทั้งหลายในสภา โปรดระลึกไว้ว่าความขัดแย้งระหว่างขุนนางทั้งหลายในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ก็ล้วนมีไม่แตกต่างกับรัฐสภาไทยในปัจจุบัน โดยเฉพาะในสมัยรัชกาลที่ 7  ลองจินตนาการว่าถ้าไม่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อปี 2475 เลย (แต่ถ้าพิจารณาตามกระแสประชาธิปไตยที่พัดแรงในยุคนั้น ข้อสมมตินี้คงเป็นไปไม่ได้)  สภาในปัจจุบันก็คงมีแต่เชื้อพระวงศ์และขุนนางชั้นผู้ใหญ่ที่ทะเลาะเบาะแว้งกัน แย่งชิงอำนาจกัน  พระมหากษัตริย์ถึงแม้จะประเสริฐดีเลิศประการใด แต่ก็ไม่สามารถทรงปกครองบ้านเมืองได้เพียงคนเดียว ต้องมีผู้ช่วยเป็นจำนวนมาก แม้แต่สมัยรัชกาลที่ 5 เอง ซึ่งการปฏิรูปบ้านเมืองหรือการทำให้สยามไม่ตกเป็นเมืองขึ้นของตะวันตกก็ไม่ได้มาจากพระองค์เพียงลำพัง แต่มาจากเชื้อพระวงศ์และขุนนางรอบพระองค์ด้วย

การทะเลาะเบาะแว้งเช่นนี้อาจจะดูเป็นผู้ดีกว่าอยู่บ้าง แต่เนื้อในก็ไม่ต่างจาก ส.ส. ที่มาจากสามัญชนทั้งหลายและประชาชน แต่ที่เลวร้ายกว่าปัจจุบันก็คือ เชื้อพระวงศ์และขุนนางเหล่านั้นไม่สามารถตรวจสอบได้ วิจารณ์ได้ และหลายคนอาจจะถือว่าผลประโยชน์ของชาติเป็นของตัวเอง ไม่ใช่การฉ้อราษฏร์บังหลวง  ซ้ำร้ายคนเหล่านั้นไม่ได้สนใจความต้องการของคนในท้องถิ่น เพราะไม่สนใจคะแนนเสียง ภาพเช่นนี้ได้ถูกผลิตซ้ำกับนายกรัฐมนตรีที่ทหารเชิดขึ้นมาหลังการทำรัฐประหารในปี 2549 อย่างเช่น พลเอกสุรยทธ์ จุลานนท์  คณะรัฐมนตรีที่มาจากอดีตข้าราชการที่ปลดเกียร์ว่าง และสภาที่มาจากการสรรหาที่ไม่น่าเชื่อว่าจะไม่ได้รับการโจมตีจากสังคมอย่างหนักหน่วงเหมือนกับนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง เพียงเพราะคนเหล่านั้นคือเป็ดง่อยที่แสนดี (Good Lame duck) คือไม่โกงกิน แต่เป็นตัวเบี่ยงเบนความสนใจของประชาชนจากสถาบันหรือกลุ่มผลประโยชน์อื่นที่สามารถตักตวงผลประโยชน์ได้อย่างลับๆ และแนบเนียนในช่วงที่ไทยอยู่ภายใต้เผด็จการทหาร

สำหรับนักการเมืองที่โกงกิน ชาวบ้านสามารถต่อสู้หรือร้องเรียนได้ ไม่ต้องเลือกมันเข้ามาเป็น ส.ส. ก็ได้  ประชาชนยังมีโอกาสรวมตัวเป็นกลุ่มผลประโยชน์ในการให้คำนิยามใหม่แก่การเมืองการปกครองไทยว่า ไม่ใช่ประชาธิปไตยแบบตัวแทนเพียงอย่างเดียว แต่เป็นประชาธิปไตยแบบการมีส่วนร่วมอีกด้วย  ลองคิดเล่นๆ ว่าถ้าประชาชนรวมใจกันประท้วง หรือร้องเรียนเชื้อพระวงศ์ขุนนาง ก็ต้องเป็นไปอย่างต้อยต่ำ เจียมตัว หรืออาจจะเป็นไปไม่ได้เลย เพราะท่านเหล่านั้นถือว่าเป็น "คนละชาติ" กับประชาชน จะโจมตีหรือวิจารณ์ก็ไม่ถนัดปาก เผลอๆ อาจถูกกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่ครอบคลุมเสียจนมองไม่เห็นตัวตนที่แท้จริง เล่นงาน เพราะท่านเหล่านั้นถือว่าเป็นตัวแทนของพระมหากษัตริย์ ไม่ใช่ประชาชน

ดังนั้น โปรดอย่ามองว่ารัฐสภาเป็นสถานที่ขายชาติ ดังที่โน้ส อุดม และสมาชิก กปปส. ได้กล่าวไว้เลย ถึงจะมีพฤติกรรมที่เข้าข่ายดังกล่าวเหมือนละครเรื่องเหนือเมฆ 2 ที่เคยถูกระงับออกฉายเมื่อปีก่อน แต่ไม่ใช่ทั้งหมด  แถมยังเป็นเรื่องน่าตลกที่ว่า พรรคการเมืองที่มีอิทธิพลต่อกลุ่ม กปปส. อย่างประชาธิปัตย์ กลับแสดงท่าทีอันน่ารังเกียจมาก่อน เช่น การขโมยเก้าอี้ประธานสภา  เราควรจะมองว่า รัฐสภาเป็นองค์กรสำคัญสำหรับประชาธิปไตยในปัจจุบัน เป็นเวทีสำหรับการต่อรองอำนาจ เป็นสถาบันที่ต้องปฏิรูป เปลี่ยนแปลง ทะนุบำรุง รักษา เช่นเดียวกับสถาบันฝ่ายบริหาร ตุลาการ  เพื่ออย่างน้อยในอนาคตหากลูกหลานเรามีการศึกษาและสำนึกทางการเมืองที่สูงขึ้น รัฐสภาจะเป็นตัวทำให้เราตระหนักดีว่า การมีตัวแทนเข้ามาปกครองตัวเองย่อมดีกว่าให้ใครก็ไม่ทราบมากำหนดให้เพียงใด

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net