Skip to main content
sharethis

ศรส.ทำหนังสือถึงศาลแพ่ง ถามแนวทางปฏิบัติ 7 ข้อ พร้อมออกแถลงการณ์เตรียมยื่นอุทธรณ์คำสั่งฯ หวั่นเกิดการจัดการกันเอง เพราะ ศรส.ใช้กฎหมายไม่ได้

20 ก.พ. 2557 ไทยรัฐออนไลน์ รายงานว่า ที่ศูนย์รักษาความสงบ (ศรส.) กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด (บก.ปส.) ถนนวิภาวดีรังสิต กรุงเทพฯ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ในฐานะผู้อำนวยการ ศรส. แถลงกรณีศาลแพ่งมีคำพิพากษาเมื่อวานนี้ ให้รัฐบาลโดย ศรส. คงการใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินต่อไปได้ แต่มีเงื่อนไขสั่งการ 9 ข้อ ว่า ทำให้การปฏิบัติงานของ ศรส. เกิดการชะงักงัน และขาดความเข้าใจของผู้ปฏิบัติหน้าที่ ในฐานะผู้อำนวยการ ศรส. จึงมีหนังสือด่วนที่สุด ที่ ศรส 155 ลงวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2557 ขอหารือแนวทางปฏิบัติจากอธิบดีผู้พิพากษาศาลแพ่ง เพราะตนในฐานะผู้อำนวยการ ศรส. และเป็นจำเลยที่ 2 มีหน้าที่ควบคุมและสั่งการการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ทุกกระทรวง กรม ตามที่นายกรัฐมนตรีเป็นผู้มอบอำนาจให้ โดยขอความรู้จากอธิบดีผู้พิพากษาศาลแพ่งและคณะผู้พิพากษา 5 ท่านที่เป็นผู้ตัดสินคดีความเมื่อวานนี้ รวม 7 ข้อ เพื่อขอทราบและหารือแนวทางปฏิบัติว่า คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลแพ่งดังกล่าว ศรส. จะต้องพึงปฏิบัติอย่างไร ในข้อเท็จจริงและสถานการณ์ ต่อไปนี้

1. ผู้ชุมนุมทางการเมืองปิดถนน สร้างบังเกอร์รอบทำเนียบรัฐบาล และใช้เป็นที่ซ่องสุมอาวุธเพื่อต่อต้านรัฐบาล กรณีดังกล่าวเข้าข่ายต้องห้ามพนักงานเจ้าหน้าที่เข้าสลายการชุมนุม ตามนัยคำสั่งของศาลแพ่งหรือไม่ และเจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถเข้าจับกุมตัวผู้ต้องหาบางคนที่อยู่ในกลุ่มคนดังกล่าวตามหมายจับของศาลได้หรือไม่

2. กรณีกลุ่มผู้ชุมนุมเข้าบุกยึดพื้นที่กระทรวงมหาดไทย ไล่ข้าราชการไม่ให้เข้าทำงาน มีการขโมยลักทรัพย์อาวุธปืนสงคราม เอ็ม 16 ที่เก็บไว้ในกระทรวงมหาดไทยออกไป และนายถาวร เสนเนียม โจทก์ในคดีนี้ ได้นำกำลังผู้ชุมนุมอีกกลุ่มหนึ่งเข้าไปช่วยปิดล้อมกระทรวงมหาดไทย และมีการยิงปืนเข้าใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจภูธรภาค 7 ที่เข้าไปเจรจาขอให้กลุ่มผู้ชุมนุมออกไปจากกระทรวงมหาดไทย กรณีดังกล่าวคำสั่งของศาลแพ่งห้ามพนักงานเจ้าหน้าที่ตำรวจกระทำการใดบ้าง หรือให้กระทำการใดได้บ้าง หรือรวมว่ากรณีกระทรวงมหาดไทยเป็นการชุมนุมโดยสงบตามนัยที่ศาลแพ่งสั่งการ

3. กรณีกลุ่มผู้ชุมนุมสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชน ปิดถนนสายต่างๆ วางสิ่งกีดกั้นทำให้การจราจรติดขัด ถือว่าเป็นการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธตามนัยคำสั่ง หรือคำพิพากษาของศาลแพ่งหรือไม่ และจะให้พนักงานเจ้าหน้าที่ หรือตำรวจดำเนินการอย่างไร จึงจะไม่ฝ่าฝืนคำสั่งของศาลแพ่ง และหรือผู้ชุมนุมปิดถนนหมดทุกสาย ศาลจะให้สั่งการให้เจ้าหน้าที่จราจรทำอย่างไร

4. กรณีมีผู้ชุมนุมกลุ่มหนึ่งประมาณ 300 คน ประกาศว่าจะไปยึดพื้นที่กระทรวงพลังงานคืนจากเจ้าหน้าที่ตำรวจที่รักษาการณ์อยู่ในกระทรวงพลังงาน ศูนย์รักษาความสงบจะต้องปฏิบัติอย่างไรและหากเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ยินยอมให้เข้าไปในตัวอาคารและขัดขวางไม่ให้เข้ามายึดพื้นที่คืน กรณีดังกล่าวจะถือว่าเป็นการสลายการชุมนุมหรือไม่ และเจ้าหน้าที่ตำรวจจะต้องปฏิบัติตัวอย่างไร จึงจะสอดคล้องกับคำสั่งห้ามของศาลแพ่ง รวมถึงศาลแพ่งจะนับว่ากลุ่มผู้ชุมนุมเหล่านั้นได้ชุมนุมโดยสงบ เปิดเผย ปราศจากอาวุธ ตามนัยคำสั่งศาลหรือไม่

5. กรณีพระพุทธะอิสระ ปิดศูนย์ราชการฯ ถนนแจ้งวัฒนะ ห้ามข้าราชการเข้าไปทำงาน และวางบังเกอร์ปิดถนนโดยรอบ ถือว่าเป็นการชุมนุมตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญหรือไม่

6. กรณี นายสุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำกลุ่ม กปปส. กับพวก นำผู้ชุมนุมไปปิดสถานที่ราชการต่างๆ เช่น สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม เพื่อล่าตัวนายกรัฐมนตรี (ยกเว้นศาลรัฐธรรมนูญ ศาลยุติธรรม ศาลปกครอง และหน่วยงานในสังกัดกรุงเทพมหานคร) ข่มขู่ข้าราชการไม่ให้เข้าทำงาน สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนที่ต้องมาติดต่อราชการ ทั้งยังใช้ถ้อยคำพูดหยาบคาย กรณีเช่นนี้เป็นการชุมนุมโดยสงบและพึงกระทำได้ตามนัยความเห็นของศาลแพ่งหรือไม่อย่างไร

7. วันนี้ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประกาศนำผู้ชุมนุมไปบุกสถานที่ราชการ ศูนย์รักษาความสงบ และบริษัทเอกชน ถือว่าเป็นการใช้สิทธิโดยชอบตามกฎหมายหรือไม่เพียงใด และศูนย์รักษาความสงบจะต้องปฏิบัติอย่างไร จึงจะไม่เป็นการฝ่าฝืนคำสั่งของศาลแพ่ง

“หลายครั้งหลายหนที่กลุ่มผู้ชุมนุมที่ศาลแพ่งคุ้มครอง ได้ไปยึดสถานที่ราชการ ได้ทำร้ายข้าราชการ ได้ไล่ข้าราชการออกจากที่ทำงาน พวกผมซึ่งเป็นคนไทยคนหนึ่ง ไม่ใช่ในฐานะ ผอ.ศรส. ได้ไปกอบกู้ให้หน่วยงานได้เปิดทำงานได้แล้ว ศาลแพ่งมีคำสั่งเมื่อวานนี้ ถ้ากลุ่ม กปปส. นำกำลังคนเข้าไปยึดคืนเหมือนในอดีตที่ผ่านมา แล้วไปปราศรัยหน้ากระทรวงเรียกร้องประชาธิปไตย ท่านอธิบดีฯ และคณะที่สั่งคดี จะยอมรับไหมว่านั่นเป็นการชุมนุมโดยสงบ ปราศจากอาวุธ ซึ่งเจ้าหน้าที่เข้าไปเกี่ยวข้องไม่ได้” ผอ.ศรส. กล่าว

นอกจากนี้ ผอ.ศรส. กล่าวว่า ในฐานะที่ตนเคยเป็นอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม มีความรักและเคารพสถาบันตุลาการเป็นอย่างยิ่ง แต่ไม่เข้าใจว่าเมื่อศาลแพ่งได้มีคำสั่ง 9 ข้อเมื่อวานนี้ ตนจะทำสิ่งที่ได้กล่าวมาแล้วได้หรือไม่ เพราะหากสั่งการไป เจ้าหน้าที่ตำรวจจะผิด โดยขอยกตัวอย่างว่า หากพรุ่งนี้นายสุเทพปิดทุกด่าน ปิดทุกแยกเพราะคำสั่งศาลเหมือนกับว่าทำได้ ตนต้องขอความรู้เพื่อจะได้นำไปปฏิบัติ และจะรู้คนเดียวไม่ได้ เพราะประเทศไทยเป็นของประชาชนคนไทยทั้ง 67 ล้านคน รู้อะไรต้องรู้เท่ากัน โดยหากศาลแพ่งตอบกลับมา ตนจะได้นำคำแนะนำของศาลมาสั่งเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งระหว่างนี้พระพุทธะอิสระได้นำมวลชนไปที่โรงแรมเอสซีปาร์ค จะถือว่าเป็นการชุมนุมโดยสงบหรือไม่ รวมทั้งกลุ่ม กปปส. ได้ไปบุกที่อาคารชินวัตร 1-3 มีการปราศรัยโดยไม่ได้พูดถึงเรื่องการปฏิรูปการเมือง ซึ่งศาลจะนับว่าเป็นการชุมนุมโดยสงบ เปิดเผยหรือไม่

“กาลเวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์ และพวกผม ตัวผม ท่านนายกฯ ถึงแม้ศาลไม่สั่งห้าม เรื่องสลายการชุมนุมพวกผมไม่เคยสั่ง ศรส.ไม่เคยไปที่เวทีการชุมนุมแม้แต่ครั้งเดียวทั้ง 8 เวที และเหตุที่เกิดเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ไม่ใช่ ศรส.สลายการชุมนุม แต่ผู้ชุมนุมมาสลายตำรวจที่ถนนราชดำเนิน” ผอ.ศรส.กล่าว

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างการแถลงข่าว ผอ.ศรส. ได้มอบอำนาจให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายกฎหมายของ ศรส. ไปยื่นหนังสือด่วนที่สุด ที่ ศรส 115 เรื่องขอทราบแนวทางการปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลแพ่ง ต่ออธิบดีผู้พิพากษาศาลแพ่งแล้ว


ศรส.เล็งยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาศาลแพ่ง หวั่นเกิดสุญญากาศ ประชาชนจัดการกันเอง
อนึ่ง วันเดียวกัน ศรส. ออกแถลงการณ์ยืนยันว่า จะยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลแพ่งตามกฎหมายต่อไป นอกจากนี้ ศรส.ระบุถึงความกังวลใจที่จะไม่สามารถปฏิบัติภารกิจ  โดยเฉพาะส่วนที่เป็นสาระสำคัญตามที่กฎหมายกำหนดไว้ได้ เพราะคำพิพากษาของศาลแพ่งที่สั่งห้าม ศรส.ทั้ง 9 ข้อ พร้อมระบุว่า สภาวะเสมือนสูญญากาศที่ขาดการบังคับใช้กฎหมายเช่นนี้ มีความเสี่ยงสูงต่อการที่สังคมจะเพิ่มความขัดแย้งและความไม่สงบสุขมากขึ้นอีก หวั่นอาจเกิดการกระทบกระทั่งและเข้าจัดการกันเองได้ เพราะภาครัฐไม่อาจบังคับใช้กฎหมายได้ ซึ่งจะเป็นสภาวะที่ไม่พึงประสงค์เป็นอย่างยิ่ง 

 

 

แถลงการณ์ศูนย์รักษาความสงบ  
  
ตามที่ได้มีกลุ่มบุคคลดำเนินการในลักษณะที่ก่อให้เกิดความวุ่นวายและนำไปสู่ความไม่สงบเรียบร้อยภายในประเทศ จนกระทั่งรัฐบาลได้มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร จังหวัดนนทบุรี อำเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี และอำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ลงวันที่ 21 มกราคม 2557 และได้มีการจัดตั้งศูนย์รักษาความสงบเพื่อดำเนินการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินให้เป็นไปอย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพแล้วนั้น
 
ที่ประชุมศูนย์รักษาความสงบ หรือ ศรส. เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2557 เห็นสมควรมีแถลงการณ์ถึงพี่น้องประชาชนดังต่อไปนี้ 
 
ศรส.ได้รับทราบคำพิพากษาของศาลแพ่งที่ได้นั่งพิจารณาและอ่านคำพิพากษาให้คู่ความฟังแล้ว  ศรส.ขอเรียนพี่น้องประชาชนว่า  การที่รัฐบาลได้ใช้อำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย คือ พระราชกำหนด การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินฯ นั้น  ก็เพื่อจัดให้มีหน่วยงานในลักษณะพิเศษ คือ ศรส. เข้ามาทำหน้าที่แก้ไขปัญหาของบ้านเมืองในภาวะไม่ปกติและเป็นสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ให้สามารถคลี่คลายนำความสงบสุขกลับสู่ประเทศชาติได้ดังเดิมโดยเร็วที่สุด  ศรส.จึงไม่ใช่ศัตรูหรือคู่ขัดแย้งกับ กปปส.  แต่ ศรส. มีหน้าที่รักษาไว้ซึ่งระบอบประชาธิปไตย และโดยเฉพาะการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดและเป็นธรรมเพื่อนำสังคมและประเทศชาติกลับสู่ความสงบสุขโดยเร็ว

ซึ่งนับแต่รัฐบาลได้ประกาศจัดตั้ง ศรส. เป็นต้นมาถึงวันนี้รวม 31 วัน  ศรส.โดยเจ้าหน้าที่ทุกคน ก็ได้มุ่งมั่นปฏิบัติภารกิจตามอำนาจหน้าที่อย่างเต็มที่ อาทิเช่น สามารถดำเนินการให้สถานที่ราชการกลับมาเปิดทำการเพื่อให้บริการประชาชนได้ถึง 53 แห่งแล้ว จากการที่ กปปส. ได้ดำเนินการปิดกรุงเทพมหานคร และสถานที่ราชการทุกแห่งไว้
อีกทั้งสามารถดำเนินคดีที่ กปปส. ขัดขวางการเลือกตั้ง ได้ถึง 332 คดี และศาลออกหมายจับให้แล้ว 118 คน     ได้ตัวมาดำเนินคดีแล้ว 35 คน

นอกจากนี้ยังดำเนินคดีกับแกนนำ กปปส. ได้ 58 คน ในข้อหาหลักตามประมวลกฎหมายอาญา คือ
1) ร่วมกันกระทำการเป็นกบฏตามมาตรา 113 และมาตรา 114 
2) ร่วมกันยุยงส่งเสริมให้ประชาชนล่วงละเมิดต่อกฎหมาย ตามมาตรา 116
และ  3) ร่วมกันมั่วสุมให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง ตามมาตรา 215 
 
รวมทั้งศาลได้ออกหมายจับ ประเภทหมาย ฉ. ให้แล้ว 19 คน  กับที่ศาลนัดฟังคำสั่งในวันจันทร์ที่ 24 กุมภาพันธ์ 2557 อีกจำนวนหนึ่ง  ตลอดจนได้บริหารจัดการเรื่องที่มีความสำคัญต่างๆ มาอย่างต่อเนื่องจนถึงวันนี้      
 
เจ้าหน้าที่ของ ศรส. ทุกคนล้วนมีหน้าที่ต้องปฏิบัติเพื่อให้ภารกิจลุล่วง และหากผู้ใดกระทำการเกินอำนาจหน้าที่หรือผิดกฎหมายก็จะต้องมีความรับผิดทั้งทางแพ่งและทางอาญาในฐานะเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมาย
 
ด้วยความเคารพต่อคำพิพากษาของศาลแพ่ง  แต่เห็นแตกต่างในข้อกฎหมาย ศรส.จึงรู้สึกกังวลใจแทนพี่น้องประชาชนเป็นอย่างยิ่ง  เพราะ ศรส.ได้ถูกสั่งโดยคำพิพากษาให้ยุติภารกิจอันเป็นอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย โดยการจำกัดหน้าที่อันจำเป็นที่จะต้องกระทำเป็นอย่างมากมาย
 
โดยเฉพาะข้อห้ามกระทำการถึง 9 ข้อ ซึ่งล้วนเป็นสาระสำคัญที่ ศรส. จะต้องใช้เพื่อแก้ไขปัญหาของความไม่สงบในขณะนี้  และนับจากวันนี้เป็นต้นไป ศรส. ก็จะไม่สามารถปฏิบัติภารกิจได้หลายเรื่องจนอาจเกิดความเสียหาย

อาทิเช่น การแก้ไขปัญหามิให้ กปปส. ออกมาขัดขวางการเลือกตั้งซึ่งกำลังจะมาถึงในเร็ววัน  การเข้าปิดล้อม  ปิดสถานที่ราชการให้กลับไปปิดการให้บริการประชาชนอีก และการกระทำของ กปปส. ต่างๆ นานา  ซึ่งสังคมและพี่น้องประชาชนก็พบเห็นอยู่แล้วว่าเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง และมีแต่จะสร้างความเสียหายต่อบ้านเมืองมากขึ้นอยู่ตลอดเวลา
 
กรณีที่ศาลแพ่งอ้างผลของคำพิพากษาศาลรัฐธรรมนูญที่เคยวินิจฉัยไว้ว่า การชุมนุมของ กปปส. เป็นไปโดยสงบ เปิดเผย และปราศจากอาวุธ จึงเป็นการชุมนุมโดยชอบนั้น
ศรส.เห็นว่า การวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเช่นนั้น เป็นข้อเท็จจริงในการชุมนุมช่วงแรกของ กปปส.  แต่ครั้นต่อมาเมื่อเงื่อนไขของการชุมนุมคือการต่อต้านกฎหมายนิรโทษกรรมได้จบสิ้นไปแล้ว กปปส. ก็มิได้เลิกการชุมนุมกลับยกระดับเป็นการชุมนุมขับไล่รัฐบาล
  
มีการปลุกระดม เชิญชวน ทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจาและการสื่อสารด้วยวิธีการต่างๆ อันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายของรัฐบาลและกฎหมาย เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ถึงขนาดที่ทำให้เกิดความไม่สงบขึ้นในหลายพื้นที่และให้มีการล่วงละเมิดต่อกฎหมายแผ่นดิน 

มีการประกาศจัดตั้งรัฐบาลเฉพาะกาล จัดตั้งสภาประชาชนโดยไม่มีกฎหมายรองรับ  จัดตั้งกองกำลังอาสาสมัครรักษาการแทนตำรวจขึ้นเป็นการเฉพาะ บุกรุกและปิดยึดสถานที่ราชการ ขับไล่ข้าราชการให้เลิกปฏิบัติหน้าที่ การสั่งให้หยุดงาน การสั่งให้หยุดการเสียภาษี  ตัดน้ำตัดไฟสถานที่ราชการ  ตั้งกองกำลังไล่ล่านายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี  เพิ่มเวทีการชุมนุมมากขึ้น  ปิดการจราจรในถนนสำคัญๆ จนถึงประกาศปิดกรุงเทพมหานคร  รวมถึงกระทำผิดกฎหมายอย่างร้ายแรงด้วยการขัดขวางการเลือกตั้งทั้งในกรุงเทพมหานครและหลายจังหวัดในภาคใต้ เป็นต้น

ดังนั้น การกระทำของ กปปส. แม้จะชอบด้วยกฎหมายในช่วงแรก  แต่หากต่อมาเป็นไปโดยผิดกฎหมายก็จะต้องพิจารณาแยกส่วนกัน  มิใช่ว่าจะกระทำใดๆ ก็ได้ตามอำเภอใจก็จะกลายเป็นชอบไปหมดทั้งสิ้น  ด้วยเหตุนี้ ศาลอาญาจึงได้ออกหมายจับนายสุเทพ เทือกสุบรรณ พร้อมแกนนำอีกหลายคนในข้อหาเป็นกบฏ โดยศาลอาญาก็วินิจฉัยว่าข้อเท็จจริงเป็นคนละกรณีกับที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย
 
ศรส.ขอยืนยันว่า จะได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลแพ่งตามกฎหมายต่อไป  แต่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ซึ่งจะต้องใช้เวลานานพอสมควรนั้น  ศรส.มีความกังวลใจเป็นอย่างยิ่งที่ ศรส.และเจ้าหน้าที่ของ ศรส.ทุกคนจะไม่สามารถปฏิบัติภารกิจ  โดยเฉพาะส่วนที่เป็นสาระสำคัญตามที่กฎหมายกำหนดไว้ได้ เพราะคำพิพากษาของศาลแพ่งที่สั่งห้าม ศรส.ทั้ง 9 ข้อ  ดังที่ทราบกันแล้ว

สภาวะเสมือนสูญญากาศที่ขาดการบังคับใช้กฎหมายเช่นนี้ จึงเป็นความเสี่ยงสูงต่อการที่สังคมจะเพิ่มความขัดแย้งและความไม่สงบสุขมากขึ้นอีก เพราะกลุ่มประชาชนทั้งที่เห็นด้วยกับ กปปส. และที่ไม่เห็นด้วย  ต่างก็มีจำนวนมากมายด้วยกันทั้งคู่  และด้วยความเดือดร้อนของประชาชน     ด้วยการกีดขวางการจราจรตามถนนและสี่แยกต่างๆ เพราะ กปปส.สามารถเคลื่อนการชุมนุมไปตามสถานที่ต่างๆ ได้โดยเสรีตามใจชอบ จนเกิดภาวะวิกฤติในเมืองหลวงของประเทศ

การปิดล้อมสถานที่ราชการ  การขัดขวางการเลือกตั้งซึ่งจะต้องเกิดขึ้นอีกแน่นอน  โดยเฉพาะความเสียหายทางด้านเศรษฐกิจซึ่งเกิดขึ้นทุกๆ มิติและทวีความรุนแรงมากขึ้น  จึงอาจเกิดการกระทบกระทั่งและเข้าจัดการกันเองได้ เพราะภาครัฐไม่อาจบังคับใช้กฎหมายได้ ซึ่งจะเป็นสภาวะที่ไม่พึงประสงค์เป็นอย่างยิ่ง  ศรส.จึงแสดงความเสียใจต่อพี่น้องประชาชนที่ ศรส. ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ตามความคาดหวังของพี่น้องประชาชนได้ เนื่องจากศาลแพ่งมีคำสั่งดังกล่าว

    
จึงแถลงมาเพื่อทราบทั่วกัน

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net