Skip to main content
sharethis

เครือข่าย 43 องค์กรทำงานด้านเด็ก ประณามเหตุรุนแรงในการชุมนุมส่งผลให้เด็กเสียชีวิต ขอทุกฝ่ายยุติความรุนแรง วอนผู้ปกครองไม่นำเด็กเข้าใกล้พื้นที่ชุมนุม จี้รัฐหาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษโดยด่วน หมอระบุเด็กร่วมการชุมนุมจะซึมซับความรุนแรง

26 ก.พ.2557 ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เครือข่ายองค์กรที่ที่ทำงานด้านเด็ก 43 องค์กร ได้จัดงานอภิปรายและการอ่านแถลงการณ์เพื่อเรียกร้องให้ทุกฝ่ายยุติความรุนแรงที่มีผลกระทบต่อเด็กทุกรูปแบบในพื้นที่การชุมนุม

โดย นางสาวทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน บ้านกาญจนาภิเษก  กล่าวว่า  ในสถานการณ์ที่แหลมคม เราจะต้องช่วยกันคิดว่าจะทำอย่างไรให้ชีวิตของเด็กปลอดภัย ได้รับความคุ้มครอง มากที่สุด รวมทั้งเป็นไปได้หรือไม่ที่เด็กๆ จะไม่เข้าไปอยู่ในพื้นที่ชุมนุม เนื่องจากเด็กยังไม่มีภาวะความเข้าใจหรือการตัดสินใจที่ดีพอหากเกิดเหตุการณ์ความวุ่นวายเกิดขึ้น นอกจากนี้ในฐานะที่ทำงานด้านเด็กจึงขอเป็นตัวแทนของเด็กอยากวิงวอนให้ทุกฝ่ายร่วมกันหาทางให้เด็กผู้บริสุทธิ์ได้รับการปกป้องคุ้มครอง รวมทั้งสิ่งที่ต้องเร่งดำเนินการคือใครที่กระทำต่อเด็กและจะต้องได้รับผิดทางกฎหมาย

ทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน บ้านกาญจนาภิเษก

“รัฐไม่ควรใช้ความรุนแรงต่อพลเมืองที่เห็นต่างๆ ทั้งทางตรงและทางอ้อม และจะต้องคุ้มครองให้ความปลอดภัยกับพลเมืองที่คิดต่าง ซึ่งหากรัฐสามารถทำได้ก็จะถือว่าเป็นชัยชนะอันถาวรของรัฐ แต่ในวินาทีที่ยังหาทางออกไม่ได้ รัฐควรพิจารณาว่าคนกลุ่มแรกที่จะต้องได้รับการคุ้มครองคือเด็ก ซึ่งแม้สถานการณ์ขณะนี้รัฐบาลจะเป็นรัฐบาลรักษาการณ์แต่ภายใต้กลไกดังกล่าวรัฐก็ต้องทำหน้าที่ และหาทางออกตามที่มีพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก ที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงเป็นผู้รักษาการณ์ และเป็นประธานคณะกรรมการคุ้มครองเด็กระดับชาติ  โดยต้องแก้ปัญหาและมีมาตรการที่ชัดเจนโดยเอาประโยชน์ของเด็กเป็นที่ตั้ง ซึ่งจากนี้เราหวังว่าจะไม่มีเด็กที่จะต้องสูญเสียในเหตุการณ์ทางการเมืองเช่นนี้” น.ส.ทิชากล่าว

นายแพทย์ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ หัวหน้ากลุ่มที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต 

ขณะที่ นายแพทย์ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ หัวหน้ากลุ่มที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ในแง่มุมของ สุขภาพจิต เรื่องที่น่าสนใจคือเด็กมีความแตกต่างกับผู้ใหญ่เวลาเข้าไปมีส่วนร่วมรับรู้ข่าวสารด้านการชุมนุม โดยผู้ใหญ่ที่เข้าร่วมชุมนุมหรือติดตามข่าวสารถือว่าเป็นการแสดงถึงความเป็นพลเมือง แต่ในส่วนของเด็กคงปฏิเสธไม่ได้ว่าการรับรู้เรื่องนี้ย่อมมีความรุนแรงเกิดขึ้น ทั้งในเรื่องธรรมชาติของความขัดแย้ง และคำพูดที่ใช้ในการอภิปรายโจมตีกันของแต่ละฝ่ายเด็กส่วนใหญ่จะไม่ค่อยรับรู้เนื้อหา แต่จะรับรู้และซึมซับมากเรื่องความรุนแรง ทั้งจากคำพูดและกิริยาท่าทาง ดังนั้นหากปล่อยให้มีการใช้ความรุนแรงและสร้างความเกลียดชังเช่นนี้ไปเรื่อยๆ เด็กก็ยิ่งรับไปเต็มๆ ในแง่ของจิตวิทยา คือ เมื่อเห็นต้นแบบ ก็จะเกิดความชินชาและลดความยับยั้งชั่งใจ ซึ่งจะยิ่งส่งผลกระทบมากต่อเด็กที่มีภาวะอารมณ์เปราะบางและไม่มั่นคง ดังนั้นโดยหลักการแล้วควรหลีกเลี่ยงในการพาเด็กไปในพื้นที่ความขัดแย้ง เพราะเด็กจะได้รับความรุนแรงและซึมซับนำมาเป็นต้นแบบและเด็กจะได้รับความรุนแรงมากกว่าเรียนรู้และเข้าใจบทบาทการมีส่วนร่วมทางการเมือง หากพ่อแม่คิดว่าต้องการพาเด็กไปเรียนรู้บทบาทการเป็นพลเมืองควรพาเด็กไปทำกิจกรรมสาธารณะงานอาสาสมัครหรือทำกิจกรรมทางสังคมอื่นๆมากกว่า 

นายแพทย์ยงยุทธ กล่าวด้วยว่า เราคงเลือกไม่ได้ว่าจะต้องอยู่ในสภาวะสังคมอย่างไร แต่เราสามารถเลือกได้และทำให้สังคมนั้นๆ มีความก้าวร้าวรุนแรงต่ำ และร่วมกันส่งเสริมให้เกิดความสูญเสียน้อยสุด ดังนั้นผู้นำแต่ละฝ่ายก็ควรรับฟังประชาชน ถ้าทุกฝ่ายไม่ต้องการให้เกิดความรุนแรง ผู้มีอำนาจตัดสินใจ ผู้บงการ รัฐ ผู้จัดการชุมนุมก็จะต้องสำเหนียกและพิจารณาในเรื่องนี้มากยิ่งขึ้น โดยเริ่มแรกสิ่งที่จะทำได้คือต้องหยุดความรุนแรง ลดความหวาดระแวง

นางสุธาทิพย์ ธัชยพงษ์ ประธานคณะทำงานด้านเด็ก และคณะกรรมการคุ้มครองเด็กแห่งชาติ

นางสุธาทิพย์ ธัชยพงษ์ ประธานคณะทำงานด้านเด็ก และคณะกรรมการคุ้มครองเด็กแห่งชาติ กล่าวว่า ในฐานะที่เป็นคนที่ทำงานด้านเด็ก ภารกิจของเราคือต้องดูแลปกป้องเยียวยาเด็ก และในฐานะของแม่ที่มีลูก รู้สึกเสียใจมากที่มีผู้ใหญ่ใช้อาวุธสงครามทำร้ายเด็กจนเสียชีวิต ทั้งที่ความเป็นจริงผู้ใหญ่ต้องมีหน้าที่ปกป้องเด็ก ดังนั้นในเรื่องนี้อยากเรียกร้องไปยังผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้เร่งติดตามผู้กระทำความผิด ผู้บงการ เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม เพราะเราไม่ต้องการเหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นซ้ำอีก

ทั้งนี้ตัวแทนเครือข่ายองค์กรที่ทำงานด้านเด็ก 43 องค์กร ได้ร่วมกันอ่านแถลงการณ์เพื่อเรียกร้องให้ทุกฝ่ายยุติความรุนแรงที่มีผลกระทบต่อเด็กทุกรูปแบบในพื้นที่การชุมนุม   โดยระบุว่าสถานการณ์การชุมนุมในหลากหลายพื้นที่ไม่ว่าจะของมวลชนกลุ่มใดในขณะนี้มีแนวโน้มที่จะเกิดความรุนแรง และนำไปสู่การสูญเสียต่อชีวิตร่างกาย จิตใจ ทรัพย์สิน และส่งผลกระทบต่อสังคมในระยะยาวมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มเด็ก เยาวชน ผู้เปราะบางต่อสถานการณ์การชุมนุมดังกล่าว ดังที่ได้เกิดเหตุการณ์การขว้างระเบิดและกราดยิงผู้ชุมนุมในเวที กปปส. ตลาดยิ่งเจริญ อำเภอเขาสมิง จังหวัดตราด ในคืนวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2557 และเหตุการณ์การยิงระเบิด M-79 ในพื้นที่ราชประสงค์ในช่วงเย็นของวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2557 จนส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 22 คน และในจำนวนนี้เป็นเด็กถึง 4 คน มีผู้บาดเจ็บสาหัสและบาดเจ็บทั่วไปอีกจำนวนมาก นับเป็นการกระทำที่โหดร้ายและมุ่งเป้าผู้บริสุทธิ์อย่างจงใจ

เครือข่ายองค์กรทำงานด้านเด็ก อันประกอบไปด้วยองค์กรพัฒนาเอกชน สมาคม มูลนิธิฯ จำนวนกว่า  43 องค์กร ขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อครอบครัวของเด็ก เยาวชน ผู้สูญเสียชีวิต และมั่นใจว่าเด็ก เยาวชนที่ได้รับบาดเจ็บจะได้รับการดูแลทางการแพทย์ด้วยมาตรฐานการรักษาที่ดีที่สุด และเพื่อไม่ให้มีสถานการณ์และความรุนแรงที่นำไปสู่การสูญเสียที่มากขึ้น เครือข่ายองค์การทำงานด้านเด็ก จึงขอเรียกร้องทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง  ดังนี้  1.เครือข่ายองค์กรทำงานด้านเด็ก ขอประณามผู้กระทำความรุนแรงจนนำไปสู่การสูญเสียชีวิต ร่างกาย จิตใจ และทรัพย์สินต่อประชาชนในทุกรูปแบบ โดยเฉพาะไม่อาจยอมรับการกระทำที่ทำให้เด็ก เยาวชน เสียชีวิตหรือได้รับอันตราย ทั้งโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ ผู้ชุมนุม หรือบุคคลอื่นใด ไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม   2.เครือข่ายองค์กรทำงานด้านเด็ก ขอให้เจ้าหน้าที่รัฐ เร่งหาตัวผู้กระทำความผิด เพื่อรับโทษในทางกฎหมาย อีกทั้งขอให้เจ้าหน้าที่ของรัฐ ผู้จัดการชุมนุม และผู้เกี่ยวข้องเร่งเยียวยาความสูญเสียที่เกิดขึ้นกับเด็กและครอบครัว ทั้งกรณีที่เสียชีวิต ได้รับบาดเจ็บ และได้รับผลกระทบทางด้านจิตใจ หรือความสูญเสียอื่นใด อันจะส่งผลกระทบต่อเด็กในระยะยาว   3. เนื่องจากเด็กเป็นบุคคลที่เปราะบาง และตกเป็นกลุ่มเสี่ยงที่สุดในสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นกับเด็ก เครือข่ายองค์กรทำงานด้านเด็ก ขอวิงวอนให้ผู้ปกครองไม่นำเด็กเข้าร่วมการชุมนุม หรือพาเข้ามาในพื้นที่เสี่ยงที่ยากจะประเมินความปลอดภัยได้ 4. ในกรณีที่พบว่ามีเด็กในสถานที่ชุมนุม เครือข่ายองค์กรทำงานด้านเด็ก ขอให้ผู้จัดการชุมนุม และผู้ปกครอง คำนึงถึงความปลอดภัยของเด็กเป็นอันดับแรก โดยแนะนำให้ผู้ปกครองนำเด็กออกจากพื้นที่ดังกล่าวโดยทันที

นอกจากนี้แล้วเครือข่ายองค์กรทำงานด้านเด็ก ขอเรียกร้องให้ทุกภาคส่วนตระหนักถึงบทบาทหน้าที่ของตนเองในการปกป้องคุ้มครองเด็กเพื่อความปลอดภัยจากสถานการณ์ความรุนแรงทางการเมือง  เพื่อมิให้เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นอีก อันนำมาซึ่งความสูญเสีย และความเสียใจอย่างสุดซึ้งในสังคมไทย

ทั้งนี้เครือข่ายองค์กรที่ทำงานด้านเด็ก 43 องค์กรที่เข้าร่วมการอ่านแถลงการณ์ในครั้งนี้ประกอบด้วยมูลนิธิรักษ์เด็ก เครือข่ายผู้หญิงเพื่อสุขภาพ มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก มูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย มูลนิธิเพื่อความเข้าใจเด็ก มูลนิธิเพื่อยุติการแสวงหาประโยชน์ทางเพศจากเด็ก มูลนิธิสายเด็ก 1387 องค์การแพลน อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) Save the Children  องค์การเฟรนด์อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) มูลนิธิดวงประทีป  มูลนิธิเด็ก  มูลนิธิเด็กอ่อนในสลัมฯ  มูลนิธิเพื่อเด็กพิการ   มูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก   สหทัยมูลนิธิ   มูลนิธิคุ้มครองเด็ก  มูลนิธิสิกขาเอเชีย   สมาคมศูนย์พัฒนาเยาวชน  สมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน  มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก  โสสะมูลนิธิ   สถานรับเลี้ยงเด็กบ้านครูน้อย   มูลนิธิมิตรมวลเด็ก  สถาบันเพื่อการศึกษาและพัฒนาเด็กปัญโญทัย             มูลนิธิส่งเสริมการพัฒนาบุคคล  เสถียรธรรมสถาน  มูลนิธิหนังสือเพื่อเด็ก มูลนิธิบ้านชนะใจ มูลนิธิผู้หญิง ละครชุมชนกั๊บไฟ มูลนิธิ ไรท์ ทู เพลย์เครือข่ายตาสัปปะรด มูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน  มูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา มูลนิธิศึกษาพัฒนาประชาชนบนที่สูง มูลนิธิอาสาพัฒนาเด็ก เชียงราย ศูนย์เพื่อน้องหญิงโครงการฮัก มูลนิธิสานสัมพันธ์ครอบครัวมูลนิธิศึกษาประชาชนบนที่สูง สมาคมเพื่อการศึกษาและวัฒนธรรมอาข่า S_Cool house  ศูนย์พัฒนาการศึกษาเพื่อลูกหญิงและชุมชน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net