Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

จนถึงขณะนี้  การเลือกตั้งวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ได้ผ่านมาแล้วนานกว่าเดือน ต้องถือได้ว่า คณะกรรมการเลือกตั้ง(กกต.)ชุดปัจจุบันประสบสำเร็จเป็นอย่างมากในการกระทำให้การเลือกตั้งมีปัญหา เพราะเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทย(และอาจเป็นประวัติศาสตร์โลก) ที่มีการเลือกตั้งแล้วประกาศผลการเลือกตั้งไม่ได้เป็นเวลานานเช่นนี้ ทั้งประชาชนและแม้แต่ผู้สมัครรับเลือกตั้งเอง ก็ไม่มีใครรู้ว่าใครแพ้ใครชนะในการเลือกตั้ง พรรคไหนได้กี่คะแนนเสียง และเมื่อ กกต.กำหนดให้มีการเลือกตั้งใหม่ในเฉพาะหน่วยที่มีปัญหาในวันที่ 27 เมษายน โดยให้มีการเลือกตั้งล่วงหน้าใหม่ในวันที่ 20 เมษายน หมายความว่า การประกาศผลจะล่าช้าไปเกือบ 3 เดือน และยังมีปัญหาอีก 28 เขตในจังหวัดภาคใต้ที่ กกต.เสนอให้รัฐบาลออกพระราชกฤษฎีการเลือกตั้งใหม่ แต่รัฐบาลเห็นว่า การออกพระราชกฤษฎีกาซ้อนไม่สามารถทำได้ตามกฎหมาย  กกต.ก็ไม่ยอมจัดการเลือกตั้ง แต่กลับยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ จึงทำให้เรื่องยังคงค้างคาอยู่จนถึงขณะนี้

คงต้องอธิบายตั้งแต่แรกนี้เสียก่อนว่า การดำเนินการเลือกตั้งอย่างไม่สมบูรณ์เช่นนี้ เป็นความผิดโดยตรงของ กกต. เพราะรัฐธรรมนูญได้กำหนดไว้อย่างชัดเจนว่า กกต.มีหน้าที่ในการจัดการเลือกตั้งให้สุจริตและเที่ยงธรรม การเกิดของ กกต.นั้น มาจากเหตุที่ว่า แต่เดิมมาจนถึง พ.ศ.2538 กระทรวงมหาดไทยเป็นผู้รับผิดชอบจัดการเลือกตั้ง ซึ่งมีความเห็นกันว่า การเลือกตั้งอาจจะไม่บริสุทธิ์ยุติธรรม เพราะรัฐบาลอาจเข้ามาดำเนินการให้ผลการเลือกตั้งเบี่ยงเบน ดังนั้น ตั้งแต่รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2540 จึงกำหนดให้มีคณะ กกต.ขึ้นมา ซึ่งหมายความว่า รัฐบาลจะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งอีกต่อไป ความผิดพลาดและความไม่สมบูรณ์ของการเลือกตั้งจึงไม่ใช่ความรับผิดชอบของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แต่เป็นปัญหาของ กตต.โดยตรง

ตั้งแต่แรกที่ กกต.คณะปัจจุบันเข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 13 ธันวาคมที่ผ่านมา ก็แสดงท่าทีให้เห็นว่า ไม่เห็นพ้องกับการเลือกตั้งวันที่ 2 กุมภาพันธ์ โดยการเสนอให้รัฐบาลออกพระราชกฤษฎีกาเลื่อนวันเลือกตั้ง และเสนอว่า กกต.พร้อมจะเป็นตัวกลางในการเจรจาระหว่างรัฐบาลกับพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นพรรคที่คว่ำบาตรไม่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง เมื่อรัฐบาลยืนยันว่า ไม่สามารถออกพระราชกฤษฎีกาเช่นนั้นได้ เพราะขัดต่อกฎหมาย กกต.ก็จัดการเลือกตั้งอย่างเสียไม่ได้ และอ้างเหตุว่า มีม็อบ กปปส.มาชุมนุมขัดขวางการสมัครรับเลือกตั้ง ปิดการเลือกตั้งเสียหลายเขต โดยเฉพาะใน 28 เขตของจังหวัดในภาคใต้ ที่เป็นเขตเดิมของผู้สนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ แต่ก็เป็นที่น่าแปลกใจว่า จนถึงขณะนี้ กกต.ก็ยังไม่ได้แจ้งความดำเนินคดีต่อผู้ชุมนุม กปปส.ที่มาขัดขวางการเลือกตั้งแม้แต่รายเดียว จึงเป็นที่โจมตีว่า กกต.กับ กปปส.ร่วมมือกันในการจัดการให้การเลือกตั้งไม่สมบูรณ์ เพื่อที่จะสร้างเป็นข้ออ้างในการทำลายความชอบธรรมของรัฐบาลในระบอบประชาธิปไตย

กรณีนี้เกี่ยวพันกับเรื่องที่ว่า รัฐธรรมนูญได้ระบุไว้ในมาตรา 127 ว่า ภายใน 30 วันนับแต่วันเลือกตั้งให้มีการเรียกประชุมรัฐสภา แต่ก็ได้ระบุไว้ในมาตรา 93 ว่า การประชุมสภาผู้แทนราษฎรจะต้องมีสมาชิกเป็นจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละ 95 ของจำนวนสมาชิก เท่ากับว่า กกต.ชุดนี้ได้สร้างปัญหาให้กับรัฐสภาอย่างน้อยสองระดับ คือ ทำให้ขัดมาตรา 127 เพราะเสือกตั้งผ่านมาแล้วเกิน 30 วัน ก็ยังไม่ได้มีการเรียกประชุมสภา เพราะยังไม่มีการประกาศชื่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชุดใหม่เลย ยิ่งกว่านั้น การกำหนดจำนวนร้อยละ 95 ของสมาชิกสภาหมายถึงว่า จะต้องมีสมาชิกสภาที่จะเข้าประชุมได้ 475 จาก 500 ที่นั่ง ซึ่งเท่ากับว่า ตราบเท่าที่ไม่มีการประกาศผลเลือกตั้งใน 28 เขตภาคใต้ การประชุมสภาผู้แทนราษฎรจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย การที่ กกต.ดำเนินการผิดพลาดอย่างใหญ่หลวงเช่นนี้ ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากความมั่นใจว่า ไม่มีใครสามารถเอาผิด กกต.ได้ เพราะถ้าเรื่องถึงศาล ศาลก็จะตัดสินให้ กตต.พ้นจากความผิดอยู่นั่นเอง

แต่แทนที่ กกต.จะไปหาทางดำเนินการจัดการเลือกตั้งให้เรียบร้อยสมบูรณ์ กลับไปจัดสัมมนาเรื่องการแก้ปัญหาการเลือกตั้ง 14 จังหวัดภาคใต้ โดยจัดที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ในวันที่ 7 มีนาคม ซึ่งผลสรุปก็ถือได้ว่า ไม่มีความคืบหน้าในการแก้ปัญหาการเลือกตั้งแต่อย่างใด

ภายใต้ความจงใจสร้างปัญหาของ กกต.เช่นนี้ กระบวนการทำลายล้างประชาธิปไตยก็ยังเดินหน้าต่อไป โดยการที่คณะผู้ตรวจการแผ่นดินได้ลงมติในวันที่ 7 มีนาคม โดยวินิจฉัยว่า การเลือกตั้งวันที่ 2 กุมภาพันธ์เป็นโมฆะ ตามคำร้องของนายกิตติพงศ์ กมลธรรมวงศ์ ที่อธิบายว่า การเลือกตั้งเป็นโมฆะเพราะมี 28 เขตในภาคใต้ที่ไม่สามารถจัดการเลือกตั้งได้ และถ้ามีการจัดการเลือกตั้งรอบใหม่ ก็จะทำให้มีวันเลือกตั้ง 2 วันซึ่งขัดกับรัฐธรรมนูญมาตรา 108 นอกจากนี้ การเปิดรับสมัคร ส.ส. ยังไม่มีความเที่ยงธรรมตรงที่เปลี่ยนแปลงสถานที่รับสมัครโดยที่ไม่แจ้งล่วงหน้า อีกทั้งยังมีประเด็นการนับคะแนนเลือกตั้งวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ทำให้การเลือกตั้งที่จะจัดขึ้นต่อมาทราบผลการเลือกตั้งแล้ว อาจจะส่งผลต่อการตัดสินใจของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งได้ และท้ายสุด ก็คือการที่ กกต.ปล่อยให้มีการใช้อำนาจรัฐ เช่น การออก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ใน 4 จังหวัด ทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบในการเลือกตั้ง ดังนั้น ผู้ตรวจการแผ่นดินจึงได้ชงเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแล้ว

เรื่องที่คณะผู้ตรวจการแผ่นดินเสนอ ความจริงเป็นเรื่องที่แก้ปัญหาได้ในเชิงเทคนิค และไม่ได้กระทบกับการเลือกตั้งที่จัดขึ้นได้ในจังหวัดส่วนใหญ่ของประเทศเลย แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นโดยทันทีคือ เรื่องอำนาจหน้าที่ของคณะผู้ตรวจการแผ่นดิน ดังที่ พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย ได้ชี้แจงว่า ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 245 บัญญัติไว้ว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินจะส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาได้ในกรณีที่บทบัญญัติแห่งกฎหมาย กฎ คำสั่ง หรือการกระทำอื่นใด”มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ” แต่การนำเสนอของคณะผู้ตรวจการแผ่นดินไม่ได้เสนอเลยว่า การเลือกตั้งที่จัดขึ้นนั้นไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญมาตราใด จึงเป็นที่ชัดเจนว่า คณะผู้ตรวจการแผ่นดินไม่ได้มีอำนาจในการส่งเรื่องเช่นนี้

ความจริงแล้ว ความพยายามทั้งหมดที่ กกต.และผู้ตรวจการแผ่นดินดำเนินการ ก็มุ่งไปสู่ความพยายามทำลายความชอบธรรมของรัฐบาลรักษาการ เพราะถือกันว่า การเลือกตั้งนี่เองจะเป็นกระบวนการสร้างความชอบธรรมแก่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ และเมื่อเกิดความชะงักงันของการเลือกตั้งเช่นนี้ ฝ่าย กปปส.และพรรคประชาธิปัตย์ก็ยืนยันว่า รัฐบาลสิ้นสภาพความชอบธรรมตามกฎหมายแล้ว เพราะไม่สามารถเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร และเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ได้ ตามกรอบเวลาที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ในความเห็นของ กปปส. กลุ่มสลิ่ม และผู้สนับสนุน นี่จึงเป็นเวลาเหมาะสำหรับให้รัฐบาลลาออก แล้วให้วุฒิสภาเปิดประชุมตั้งนายกรัฐมนตรีคนกลางมารักษาการเพื่อปฏิรูปประเทศ

ในกรณีนี้ นันทวัฒน์ ปรมานันท์ ได้อธิบายว่า การตีความว่า คณะรัฐมนตรีจะสิ้นสภาพจากการเปิดประชุมสภาไม่ได้ภายใน 30 วันนั้น เป็นความเข้าใจที่ผิด เพราะเมื่อมีการยุบสภาแล้ว รัฐบาลรักษาการจะต้องปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะมีพระราชโองการตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ ยิ่งกว่านั้น ในรัฐธรรมนูญได้ระบุไว้เองว่า นายกรัฐมนตรีจะต้องมาจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร โดยไม่มีการกำหนดเป็นอย่างอื่น นายกคนกลางจึงไม่สามารถมาได้ นอกจากจะต้องละเมิดกติกาทั้งหมดเท่านั้น

นี่คือความอับจนของม็อบ กปปส. ประชาธิปัตย์ และฝ่ายอำมาตย์

 


เผยแพร่ครั้งแรกใน โลกวันนี้วันสุข ฉบับ 455 วันที่ 15 มีนาคม 2557

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net