Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

เมื่อหนัง Shooter ดำเนินไปได้ครึ่งเรื่อง จ่านักแม่นปืน บ็อบ ลี สแว็กเกอร์ ถึงกับอึ้งเมื่อรู้ความจริง เกี่ยวกับปฏิบัติการทางทหารเมื่อสามปีก่อนที่เป็นเหตุให้ตนต้องลาออกเพราะผิดหวังและโกรธแค้นที่ถูกศูนย์บัญชาการปฏิบัติการคราวนั้นตัดหางปล่อยวัด ถูกทิ้งให้หนีเอาตัวรอดเองจากจุดซุ่มยิงในประเทศเอธิโอเปีย และเพื่อนซี้ที่เป็นตัวชี้เป้าถูกยิงเสียชีวิต เพราะในปฏิบัติการนั้นเขาและเพื่อนต้องประจำที่จุดซุ่มยิงเพื่อคอยคุ้มกันกองทหารจากสหรัฐอเมริกาที่เข้าไปฆ่าล้างบางชาวบ้านกว่า 400 ชีวิต ที่ไม่ยอมย้ายหมู่บ้านหลบท่อขนส่งน้ำมัน ที่อึ้งก็เพราะการฆ่าล้างบางยกหมู่บ้านไม่ได้มีการเจรจาขอให้ย้ายหมู่บ้านมาก่อน แต่ฆ่าเลย เพื่อที่หมู่บ้านอื่นจะได้ย้ายไปเองโดยที่ไม่ต้องเสียเวลาเจรจาใด ๆ

นั่นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในหนัง แต่ในชีวิตจริง ประชาชนในนามกลุ่มคนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้าน ในเขตตำบลเขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย ถึงกับอึ้งเมื่อกระชากหมวกคลุมหน้าคน ๆ หนึ่งที่เข้าร่วมกับกองกำลังติดอาวุธ 300 นาย ที่เข้ามาใช้ความรุนแรงทำร้ายร่างกายชาวบ้าน เพื่อคุ้มกันในการขนแร่ทองแดงผสมทองคำและเงินออกไปจากเขตเหมืองแร่ของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด ในค่ำคืนของวันที่ 15 ต่อเนื่องจนถึงรุ่งเช้าของวันที่ 16 พฤษภาคม 2557 แล้วปรากฎว่าผู้ที่อยู่ภายใต้หมวกคลุมหน้าคือพลตำรวจสมหมาย (นามสมมุติ) ตำรวจประจำสถานีตำรวจ แห่งหนึ่งในพื้นที่ แต่พลตำรวจสมหมายคงไม่อึ้งด้วยความรู้สึกแย่ที่โดนหลอกใช้เหมือนกับจ่าบ็อบแต่อย่างใด เพราะหลังจากวันเกิดเหตุ ประชาชนกลุ่มคนรักษ์บ้านเกิดยังเห็นสีหน้าระรื่นย้ิมเยาะของพลตำรวจสมหมายเมื่อครั้งที่ยกขบวนไปแจ้งความลงบันทึกประจำวันไว้ที่สถานีตำรวจในพื้นที่แห่งนั้น

เหตุการณ์ครั้งนี้ ประวัติศาสตร์ชาติไทยจะต้องจารึกไว้ว่านับตั้งแต่สร้างชาติกันมาหลายยุคหลายสมัย ย้อนไปไกลถึงยุคก่อนประวัติศาสตร์ ล่วงเลยมาจนถึงการประกาศใช้กฎหมายแร่ฉบับแรกเมื่อร้อยกว่าปีมาแล้ว ไม่มีการขนแร่ครั้งใดที่ต้องใช้กองกำลังติดอาวุธ 300 นาย ทำร้ายร่างกายประชาชนจนได้รับบาดเจ็บสาหัสหลายราย เพื่อคุัมกันการขนแร่เถื่อนเหมือนเช่นคืนวันที่ 15 จนถึงรุ่งเช้าของวันที่ 16 พฤษภาคม 2557

และความรุนแรงจากเหตุการณ์์ขนแร่เถื่อนครานั้น มีความเป็นไปได้สูงที่กำลังถูกยกระดับยิ่งขึ้นไปอีก จากการใช้กองกำลังติดอาวุธ 300 นาย นำโดยนายทหารนอกราชการที่ไม่อิงสังกัดและหน่วยงานของตน มีลักษณะเป็นแก๊งมิจฉาชีพรับจ้างค้าความรุนแรง เปลี่ยนมาเป็นทหารในราชการที่อิงสังกัดและหน่วยงานของตน

กล่าวคือ รายงานข่าวในเว็บไซต์สำนักข่าวประชาไท เข้าถึงข้อมูลได้ที่ http://www.prachatai3.info/journal/2014/06/53841 โปรยหัวข่าวว่า “ทหารขอนักศึกษา มข. หยุดแสดงออกสัญลักษณ์ต้านรัฐประหาร-เหมืองแร่ จ.เลย” โดยมีเนื้อหาข่าวระบุว่าเมื่อเย็นวันที่ 6 มิถุนายน 2557 ตัวแทนนักศึกษากลุ่มดาวดิน มหาวิทยาลัยขอนแก่น จำนวน 5 คน เข้าพบทหารที่ค่ายศรีพัชรินทร มทบ.23 โดยทหารขอร้องให้นักศึกษาหยุดการแสดงสัญลักษณ์ทางการเมือง และหยุดเคลื่อนไหวเรื่องเหมืองแร่ จ.เลย ดังรายละเอียดที่สามารถหาอ่านได้ตามแหล่งข้อมูลในเว็บไซต์ที่ผู้เขียนได้อ้างไว้ในย่อหน้านี้

จากข่าวนี้มีข้อสงสัยว่าเรื่องเหมืองแร่จังหวัดเลยเกี่ยวข้องอะไรกับการต่อต้านรัฐประหาร ?

ในเวลาเกือบสามชั่วโมงที่พูดคุยกัน ทหารได้ใช้เวลาเพียงครึ่งชั่วโมงเพื่อพูดคุยซักถามเกี่ยวกับการชูสามนิ้วต่อต้านรัฐประหาร และขอให้หยุดกิจกรรมดังกล่าวและกิจกรรมท่ี่เกี่ยวเนื่องอื่น ๆ ส่วนเวลาที่เหลือมีทหารจากจังหวัดเลยมาสมทบขอปิดห้องคุยเฉพาะนักศึกษากลุ่มดาวดิน 5 คน เพื่อซักถามเรื่องเหมืองทองคำจังหวัดเลยโดยเฉพาะ โดยขอให้อาจารย์ที่ปรึกษาและผู้ปกครองออกไปรอนอกห้องประชุม

โดยทหารได้เจรจากับนักศึกษากลุ่มดาวดินใน 3 ประเด็นสำคัญ กล่าวคือ

ประเด็นแรก - ในช่วงหนึ่งเดือนนับจากนี้-ระหว่างการประกาศกฎอัยการศึก-ห้ามนักศึกษากลุ่มดาวดินเข้าพื้นที่ เพราะเห็นว่านักศึกษากลุ่มดาวดินเป็นตัวยุยงปลุกปั่นชาวบ้าน หากมีนักศึกษาอยู่ในพื้นที่ทหารจะไม่สามารถเข้าไปดำเนินการสร้างความปรองดองให้กับชาวบ้านกับเหมืองได้

ประเด็นที่สอง - ทหารเห็นว่ากระบวนการดำเนินการของเหมืองถูกกฎหมาย และทางเหมืองนั้นหยุดการผลิตไปแล้ว เนื่องจากใบอนุญาตหมดอายุ ตอนนี้เหลือแต่เพียงแร่ที่ขุดขึ้นมาตั้งแต่ปีที่แล้ว แต่ยังไม่ได้ขนออกมา ดังนั้น ถ้าเหมืองเพียงต้องการขนแร่ออกมาก็ไม่น่าจะสร้างความเดือดร้อนแก่ชาวบ้านแต่อย่างใด

ประเด็นที่่สาม - ในส่วนประเด็นก่อนหน้านี้ที่มีกองกำลังติดอาวุธ 300 คน โดยการนำของทหารนอกและในประจำการ เข้าไปทำร้ายชาวบ้านเมื่อคืนวันที่ 15 ต่อเนื่องจนถึงรุ่งเช้าของวันที่ 16 พฤษภาคม 2557 ที่ผ่านมา เพื่อขนแร่ออกไปนั้น ทางทหารจะไม่มองย้อนหลังกลับไป เพราะทหารต้องการสร้างความปรองดองให้กับประเทศ

การเจรจาดังกล่าวสร้างความสับสนให้กับนักศึกษาเป็นอย่างยิ่งว่า ทหารนำเรื่องการคัดค้านเหมืองทองคำที่จังหวัดเลยมาพัวพันกับการต่อต้านรัฐประหารเพื่ออะไร แม้นักศึกษาจะยืนยันอย่างหนักแน่นว่าขอให้แยกเรื่องเหมืองทองออกจากการเมือง เพราะปัญหาเรื่องเหมืองทองเป็นความเดือดร้อนของประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งเป็นหน้าที่่ของนักศึกษาที่จะเข้าไปเกี่ยวข้องรับใช้สังคม

พฤติการณ์ที่เกิดขึ้นของทหารในครั้งนี้ ยืนอยู่บนความก้ำกึ่งระหว่าง หนึ่ง ทหารจะเข้ามาทำหน้าที่ช่วยเหลือแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้กับประชาชนที่เป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงจากนโยบายของรัฐ โดยเฉพาะเข้ามาเพื่อปกป้องประชาชนหลังจากเหตุการณ์รุนแรงจากการใช้กองกำลังติดอาวุธ 300 นาย ทำร้ายร่างกายชาวบ้านเพื่อขนแร่ออกไปเมื่อคืนวันที่ 15 ต่อเนื่องจนถึงรุ่งเช้าของวันที่ 16 พฤษภาคม 2557 ที่ผ่านมา ซึ่งมีข่าวหนาหูว่ากองกำลังติดอาวุธดังกล่าวจะเข้ามาทำร้ายร่างกายประชาชนอีกหลายครั้งเพื่อขนแร่ที่เหลือออกไปให้หมด หรือ สอง ทหารกำลังเข้ามาทำหน้าที่เป็นคู่เจรจาแทนบริษัทเพื่อขนแร่ออกไป

และพฤติการณ์เช่นนี้ ทหารกำลังทำให้คนเล็กคนน้อยในสังคมที่ต่อสู้คัดค้านโครงการพัฒนาต่าง ๆ กลายเป็นพวกต้านรัฐประหารมากขึ้น แทบไม่แตกต่างจากการกระทำของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ที่ใส่ร้ายป้ายสีประชาชนที่ออกมาต่อต้านโครงการเงินกู้นอกงบประมาณเพื่อบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท ว่าเป็นพวกอำมาตย์

เพื่อให้เข้าใจตรงกัน ในพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 ไม่ปรากฎนิยามของคำว่า ‘แร่เถื่อน’ แต่อย่างใด สำหรับผู้เขียนแล้วแร่เถื่อนไม่ได้วัดกันที่มีใบอนุญาตครอบครองแร่ ซื้อ-ขาย เก็บแร่ หรือขนแร่  ฯลฯ เพียงอย่างเดียว แต่ในบริบทที่กว้างไกลไปกว่านั้น การทำกิจการเหมืองแร่ทองคำที่นี่ ตามมาตรา 9 ทวิ ของกฎหมายแร่ “เมื่อปรากฎในภายหลังว่าได้ออกอาชญาบัตร ประทานบัตร หรือใบอนุญาตอื่นใดโดยคลาดเคลื่อนหรือโดยสำคัญผิดในข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญ เจ้าพนักงานอุตสาหกรรมแร่ประจำท้องที่ ทั้งอธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้่นฐานและการเหมืองแร่และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม มีอำนาจเรียกอาชญาบัตร ประทานบัตร หรือใบอนุญาตอื่นใดมาแก้ไขให้ถูกต้อง หรือเพิกถอนได้”

ซึ่งก่อนที่กิจการเหมืองทองคำที่นี่จะได้รับประทานบัตร มีการไต่สวนประกอบคำขอประทานบัตรเท็จเกิดขึ้น นั่นก็คือ ข้อเท็จจริงในอาณาเขตพื้นที่คำขอประทานบัตรบนภูทับฟ้า-ภูซำป่าบอน ทั้ง 6 แปลง ประมาณ 1,291 ไร่ เป็นแหล่งต้นน้ำลำธารหรือป่าน้ำซับซึมตามมาตรา 6 จัตวา ของกฎหมายแร่ ซึ่งระบุว่าต้องคำนึงถึงการสงวนหวงห้ามไว้เป็นอันดับแรกก่อนการกันเป็นเขตแหล่งแร่เพื่อออกประทานบัตร แต่กลับมีการไต่สวนฯ เท็จว่าไม่พบทางน้ำใด ๆ ในพื้นที่คำขอประทานบัตรทั้ง 6 แปลง

นั่นก็คือ ประทานบัตรทั้ง 6 แปลงดังกล่าว เป็นการออกโดยคลาดเคลื่อนหรือสำคัญผิดในข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญ สิ่งที่หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องควรทำคือการแก้ไขหรือเพิกถอนประทานบัตร ตามที่ประชาชนได้เรียกร้องมาอย่างต่อเนื่องตลอดช่วงเวลาทีี่มีการทำเหมืองแร่เกิดขึ้น แต่กลับไม่ได้รับการตอบสนองแต่อย่างใด ดังนั้น แร่ทองคำ ทองแดง และเงิน ที่ได้จากการทำเหมืองแร่ที่นี่จึงเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้ถ้าไม่ใช่แร่เถื่อนตามที่ผู้เขียนเข้าใจ

ข้อห่วงกังวลที่สุดต่อสถานการณ์ ณ ห้วงบรรยากาศรัฐประหารที่ห่มคลุมบ้านเมืองจนมืดสนิท ทหารที่กำลังจะเข้าไปประจำการรักษาความปลอดภัยในหมู่บ้านรอบเหมืองทองคำจังหวัดเลย จะเข้าไปคุ้มครองชาวบ้านให้ปลอดภัยจากความรุนแรงของการขนแร่รอบใหม่ หรือจะเข้าไปควบคุมชาวบ้านไม่ให้ต่อต้านการขนแร่รอบใหม่

ชัดเสียยิ่งกว่าชัดว่า ประชาชนที่อาศัยและทำมาหากินอยู่บริเวณโดยรอบเขตเหมืองแร่ทองคำได้รับผลกระทบอย่างหนักทั้งร่างกายและจิตใจ รวมทั้งสภาพสิ่งแวดล้อมเสียหายจนยากที่จะฟื้นฟูแก้ไขได้ หากทหารอยากจะช่วยเหลือเพื่อสร้างความปรองดองและคืนความสุขให้กับประชาชนในชาติแล้ว สิ่งที่ควรทำมากที่สุดก็คือต้องบังคับหน่วยงานราชการและผู้ประกอบการตามมาตรา 131/1 ของกฎหมายแร่  “ให้ผู้ถืออาชญาบัตร ประทานบัตร หรือใบอนุญาตอื่นใดตามกฎหมายแร่ต้องรับผิดชอบในการกระทำของตน ต่อความเสียหาย หรือความเดือดร้อนรำคาญใดอันเกิดขึ้นแก่บุคคล ทรัพย์สิน หรือสิ่งแวดล้อม และในกรณีที่เกิดความเสียหายขึ้นในเขตที่ได้รับอนุญาต ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าความเสียหายนั้นเกิดจากการกระทำของผู้ถืออาชญาบัตร ประทานบัตร หรือใบอนุญาตนั้น”.

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net