Skip to main content
sharethis

หลังจากที่กลุ่มคนร้ายบุกสังหารกองบรรณาธิการนิตยสารล้อเลียนเสียดสีของฝรั่งเศส ทำให้เกิดปฏิกิริยาต่อเรื่องนี้ในวงกว้าง ซึ่งการเสียดสีด้วยการ์ตูนถือเป็นวัฒนธรรมที่สำคัญของฝรั่งเศส มีสื่อหลายแห่งและนักเขียนการ์ตูนหลายคนพยายามปกป้องเสรีภาพในการล้อเลียนเสียดสี ทางด้านนักวิชาการมีข้อเสนอปกป้องเสรีภาพสื่อโดยให้โอกาสในการวิจารณ์และถูกวิจารณ์เท่าเทียมกัน

เรื่องการที่คนร้ายบุกยิงสำนักงานนิตยสารชาร์ลี เอบโด จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 12 คน รวม บก. ของนิตยสารกลายเป็นเรื่องที่ถูกกล่าวขานถึงทั่วโลก มีการแถลงการณ์ประณามจากองค์กรต่างๆ ทั้งองค์กรด้านการคุ้มครองผู้สื่อข่าวและองค์กรทางการเมืองระดับนานาชาติ รวมถึงมีผู้คนแสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกับสื่อที่ถูกบุกยิงด้วยการรณรงค์ #JeSuisCharlie หรือ "ฉันคือชาร์ลี"

นิตยสารชาร์ลี เอบโด เป็นสื่อในเชิงเสียดสีสังคม (Satire) ที่มีการนำเสนอในรูปแบบการ์ตูน รายงานข่าว เรื่องขำขัน และบทความเชิงโต้เถียง มักจะมีเนื้อหาในเชิงต่อต้านศาสนาและมีท่าทีเอียงซ้าย โดยมักจะมีการกล่าววิพากษ์วิจารณ์กลุ่มขวาจัด วิจารณ์ศาสนาที่ไม่ใช่แค่ศาสนาอิสลาม วิจารณ์เรื่องทางการเมืองและวัฒนธรรม

สเตฟาน ชาบอนนิเยร์ บรรณาธิการและผู้วาดการ์ตูนของนิตยสารชาร์ลี เอบโด เป็นหนึ่งในผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์บุกยิง เขาเคยระบุว่านิตยสารชาร์ลี เอบโด ต้องการสะท้อน "ความเป็นพหุนิยมทางการเมืองฝ่ายซ้ายในทุกๆ ภาคส่วน รวมถึงของผู้ที่งดออกเสียงด้วย"


วัฒนธรรมการ์ตูนเสียดสีคือ "สถาบันแห่งชาติ" ของฝรั่งเศส

มีการตั้งข้อสงสัยว่าการโจมตีเมื่อวันที่ 7 ม.ค. ที่ผ่านมา เกิดจากความไม่พอใจที่ชาร์ลี เอบโด มีการเสียดสีศาสนาอิสลาม อย่างไรก็ตามสื่อบางแห่งก็พยายามนำเสนอมุมมองเกี่ยวกับวัฒนธรรมการ์ตูนล้อเลียนเสียดสี

เว็บไซต์ Quartz ระบุว่า การล้อเลียนเสียดสีในสื่อและศิลปะเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมฝรั่งเศส ด้วยมุมมองนี้เองทำให้ ลอเรนซ์ โกรฟ อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการ์ตูน กล่าวว่าเหตุการณ์ที่มีคนร้ายบุกยิงคนในสำนักงานสื่อชาร์ลี เอบโด ถือเป็นการโจมตี "สถาบันแห่งชาติ" ของฝรั่งเศส

ในฝรั่งเศสมีวัฒนธรรมการ์ตูนในฐานะภาพล้อเลียนที่มีความเป็นการเมืองอย่างมาก มักจะถูกใช้เป็นรูปแบบการนำเสนอสำหรับเนื้อหาที่มีความอ่อนไหวและมีการนำเสนออย่างไม่ยำเกรงสิ่งใด เว็บไซต์ Quartz ระบุอีกว่าวัฒนธรรมการ์ตูนการเมืองฝรั่งเศสมีมาตั้งแต่ยุคปฏิวัติฝรั่งเศสช่วงปี 2332 โดยมีการล้อเลียนราชวงศ์ฝรั่งเศส กรูฟกล่าวว่าการ์ตูนล้อเลียนในยุคสมัยใหม่น่าจะกลับมาเฟื่องฟูอีกครั้งยุคหลังสงครามโลกเนื่องจากมีการต่อสู้กันทางความคิดระหว่างกลุ่มนิกายคาทอลิกอนุรักษ์นิยมกับพวกคอมมิวนิสต์ฝ่ายซ้าย โดยการใช้การ์ตูนเพื่อนำเสนอความคิดฝ่ายตัวเองให้กับเด็ก ทำให้เด็กฝรั่งเศสที่เติบโตมายังคงเก็บเอานิสัยชวนหัวแบบการ์ตูนไว้กับตัว

กรูฟกล่าวว่าการ์ตูนในฝรั่งเศสก็ไม่ใช่แค่เรื่องสำหรับเด็ก หลังจากนั้นวัฒนธรรมการ์ตูนล้อเลียนในฝรั่งเศสก็เบ่งบานช่วงราวปี 2503-2513 ที่มีนิตยสารเชิงเสียดสีรายสัปดาห์เกิดขึ้น กรูฟยังบอกอีกว่าการพยายามละเมิดข้อจำกัดในการแสดงความคิดเห็นก็เป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมและการเมืองของฝรั่งเศสเช่นกัน

"ชาวฝรั่งเศสยึดถือแนวคิดที่ว่าคุณอาจจะไม่ชอบในสิ่งที่คนอื่นพูด แต่พวกเขาก็มีสิทธิ์ที่จะพูดสิ่งนั้น" กรูฟกล่าว


ความกังวลเรื่องเสรีภาพสื่อ

นักวาดการ์ตูนชาวสวีเดน ลาร์ส วิลค์ส ผู้ที่เป็นที่รู้จักจากการวาดการ์ตูนล้อเลียนศาสดามูฮัมหมัดกล่าวให้สัมภาษณ์ในกรณีนี้ว่า การบุกยิงสำนักงานชาร์ลี เอบโด สร้างความกังวลในเรื่องเสรีภาพสื่อ เนื่องจากจะทำให้คนรู้สึกกลัวที่จะแสดงออกและอาจจะเปิดโอกาสให้มีการเซนเซอร์มากขึ้นเพราะความกลัวนี้

"ปัญหาคือพวกเรามีการเซนเซอร์สูงมากอยู่แล้วเวลาพูดถึงเรื่องศาสนาอิสลามและศาสนาอื่น หรือเรื่องในประเด็นใกล้เคียงกัน มีนิตยสารน้อยเล่มมากที่ยังคงยืนยันจะสื่อออกไปแบบเดิมและชาร์ลี เอบโด ก็เป็นหนึ่งในนั้น" วิลค์สกล่าวให้สัมภาษณ์ตือสื่อรัสเซียทูเดย์

ก่อนหน้านี้ชาร์ลี เอบโด เคยตกเป็นเป้าหมายการก่อการร้ายมาก่อนในปี 2554 ถูกขว้างระเบิดเพลิงใส่รวมถึงถูกแฮ็กเว็บไซต์ซึ่งคาดว่าน่าจะมาจากความไม่พอใจที่มีภาพล้อเลียนศาสดามูฮัมหมัด วิลค์สเปิดเผยอีกว่าก่อนหน้านี้ไม่นานเขาได้พบปะกับ บก. ชาบอนนิเยร์ โดยตรง ซึ่งชาบอนนิเยร์ยังคงเป็นคนมีอารมณ์ขันและรู้สึกว่าตัวเองปลอดภัยอยู่ในตอนนั้น


คุณไม่สามารถฆ่า 'การเสียดสี' ได้

แต่การโจมตีด้วยอาวุธกลับยิ่งทำให้สื่อหลายแห่งแสดงออกในเชิงยืนหยัดเรื่องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นรวมถึงการแสดงออกแบบเสียดสี

นักเขียนการ์ตูนชื่อ สตีฟ เบลล์ ของสำนักข่าวเดอะการ์เดียน ยังคงวาดการ์ตูนเสียดสีผู้ก่อเหตุยิงสำนักงานชาร์ลี เอบโด โดยมีตัวการ์ตูนถือปืนคนหนึ่งตะโกนอย่างไม่พอใจว่า "ทำไมพวกนั้นยังคงหัวเราะเราอยู่"

เดอะการ์เดียน แชร์การ์ตูนดังกล่าวลงในเฟซบุ๊กพร้อมระบุข้อความว่า "คุณไม่สามารถฆ่า 'การเสียดสี' ได้"

นอกจากนี้บางสำนักข่าวยังมีการเผยแพร่ซ้ำภาพปกของนิตยสารชาร์ลี เอบโด เพื่อแสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกับสื่อที่ถูกโจมตีด้วยความรุนแรง โดยบรรณาธิการข่าวต่างประเทศของหนังสือพิมพ์ 'วีคเอนส์อวีเซน' ในเดนมาร์กกล่าวว่าพวกเขาอาจจะต้องดื้อดึงมากขึ้นเพื่อปกป้องเสรีภาพสื่อ

ทางด้านทิม วูล์ฟฟ์ บรรณาธิการอำนวยการของนิตยสารเสียดสีในเยอรมนีชื่อ 'ไททานิค' กล่าวให้สัมภาษณ์ว่า ถ้าการโจมตีนี้มาจากกลุ่มสุดโต่งศาสนาอิสลามมันก็จะยิ่งทำให้การเสียดสีดูตรงกับความจริงมากขึ้น และหลังจากการโจมตีสำนักงานชาร์ลี เอบโด ก็ควรจะมีการล้อเลียนเสียดสีมากขึ้นซึ่งนิตยสารของพวกเขาก็จะทำแบบนั้น

นอกจากสื่อแล้วนักเขียนการ์ตูนจำนวนมากก็แสดงออกในเชิงร่วมเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันกับสื่อชาร์ลี เอบโด และโดยมีการแสดงออกผ่านทางอินเทอร์เน็ต มีทั้งภาพการ์ตูนและศิลปะการจัดวาง เช่นนักวาดการ์ตูนชาวชิลีที่ชื่อ ฟรานซิสโก เจ โอเลีย นำเครื่องเขียนมาต่อกันเป็นรูปปืน นักวาดการ์ตูนชื่อ ฌอง จูเลียน มีรูปดินสอที่พยายามอุดรูปืนกลพร้อมคำว่า "ฉันคือชาร์ลี"

ส่วนนักเขียนการ์ตูนบางคนก็ยังคงวาดภาพเชิงเสียดสีคือผลงานของเดฟ บราวน์ ผู้ที่วาดภาพนิตยสารชาร์ลี เอบโด เปื้อนหมึกสีแดงที่ดูคล้ายรอยเลือดแต่ก็ยังมีมือถือเครื่องเขียนโผล่จากหน้ากระดาษขึ้นมาชูนิ้วกลาง

มีนักเขียนการ์ตูนมือสมัครเล่นคนหนึ่งให้สัญญาในเว็บไซต์ Reddit ว่าเขาจะปกป้องการเสียดสีด้วยการเขียนภาพของสาสดามูฮัมหมัดทุกๆ วัน จนครบปี 2558 ซึ่งเหลืออีก 347 วัน แต่ก็ถูกผู้ใช้เว็บ Reddit บางคนแสดงความไม่พอใจและกล่าวหาว่าจะเป็นการสร้างความหวาดกลัวต่ออิสลามอย่างไม่มีเหตุผล

ทั้งนี้ยังมีกลุ่มศาสนาอิสลามหลายกลุ่มจากทั่วโลกออกมากล่าวประณามการก่อการร้ายเมื่อวันพุธที่ผ่านมา (7 ม.ค.) โดยมีการอ้างอิงวรรคหนึ่งของคัมภีร์อัลกุรอานว่าระบุว่าเมื่อคนๆ หนึ่งสังหารบุคคลผู้บริสุทธิ์มันเทียบได้กับการสังหารมนุษยชาติทั้งหมด


"คุณไม่ใช่ชาร์ลี เอบโด" และข้อเสนอเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นที่เท่าเทียมกัน

ท่ามกลางกระแสการรณรงค์ที่ชื่อว่า 'ฉันคือชาร์ลี' ก็มีการตั้งคำถามในเว็บไซต์ต่างๆ เช่น แมตต์ เวลช์ จากเว็บล็อก 'Hit & Run' ในเว็บไซต์ reason.com ระบุว่า "พวกเราทั้งหมดไม่ใช่ชาร์ลี เพราะมีอยู่น้อยคนมากที่จะทำได้ดีเท่าพวกเขา และในหมู่พวกเราไม่มีใครเลยที่กล้าหาญขนาดนั้น"

โดยเวลช์แสดงความคิดเห็นในบล็อกของตนว่าชาร์ลี เอบโต มีความกล้าหาญในแง่ที่ไม่ยอมแพ้ต่อการข่มขู่คุกคามของกลุ่มหัวรุนแรง ซึ่งแม้แต่สื่อใหญ่บางแห่งหรือผู้มีอำนาจในโลกตะวันตกเช่นประธานาธิบดีบารัค โอบาม่า ก็ยังเข้าใจผิดว่าการแสดงความคิดเห็นไม่ควรล่วงละเมิดและมีความเชื่ออย่างผิดๆ ว่าการแสดงความคิดเห็นผ่านทางศิลปะทำให้เกิดความรุนแรง ซึ่งความคิดเหล่านี้ลดทอนบรรยากาศของเสรีภาพสื่อ

ทางด้าน แคส มุดด์ รองศาตราจารย์จากวิทยาลัยกิจการสาธารณะและกิจการนานาชาติ มหาวิทยาลัยแห่งจอร์เจีย ประเทศสหรัฐฯ ระบุในบทความในเว็บไซต์ Opendemocracy ไปในอีกแนวทางหนึ่งว่า มีบางคนที่ไม่ได้เป็นผู้ต้องการปกป้องเสรีภาพสื่ออย่างแม้จริงแห่แหนตามการรณรงค์นี้ไปด้วย เช่นกลุ่มอนุรักษ์นิยมสุดโต่งที่ก่อนหน้านี้เคยจงเกลียดจงชังนิตยสารและกล่าวหาว่านิตยสารเป็น 'ผ้าขี้ริ้วของพวกคอมมิวนิสต์'

"คนจำนวนมากไม่ใช่ 'ชาร์ลี' เพราะว่าชาร์ลีวิพากษ์วิจารณ์ศาสนาทุกศาสนา และนักการเมืองทุกคน โดยไม่สนใจว่าจะมีเชื้อชาติ เพศสภาพ แนวคิดอุดมการณ์ และภูมิหลังอื่นๆ อย่างไร ซึ่งผลที่ตามมาก็คือผู้นำศาสนาทุกศาสนาและทุกพรรคการเมืองวิพากษ์วิจารณ์พวกเขากลับ" มุดด์กล่าว

มุดด์ระบุอีกว่ากลุ่มหัวรุนแรงที่เคยพยายามสังหารนักข่าวไม่ได้มีแต่ศาสนาอิสลามเท่านั้น โดยยกตัวอย่างกลุ่มสมาคมปกป้องชาวยิวที่เคยพยายามวางระเบิดรถของนักข่าวที่ต่อต้านลัทธิไซออนนิสต์ จึงไม่ควรทำให้เรื่องนี้ถูกฉวยโอกาสโดยกลุ่มคนที่หวาดกลัวอิสลามอย่างไม่มีเหตุผลอยู่ก่อนแล้ว

ในบทความของมุดด์ระบุอีกว่า มีการอ้างว่าการถกเถียงอย่างเป็นประชาธิปไตยจำเป็นต้อง 'มีอารยธรรม' (civil) และไม่ทำให้คนรู้สึกอารมณ์เสีย แต่คำๆ นี้มีการเปลี่ยนแปลงความหมายตามการตีความของแต่ละคน และในประวัติศาสตร์ 'ความมีอารยธรรม' มักจะถูกนิยามให้ผู้มีอำนาจทางการเมืองได้ประโยชน์ มีแค่กลุ่มบางกลุ่มเท่านั้นที่ได้รับสิทธิพิเศษในการคุ้มครองจากการถกเถียงที่ 'ไร้อารยธรรม' ซึ่งถือเป็นการปกป้องพวกเขาจากการวิพากษ์วิจารณ์

มุดด์ระบุอีกประการหนึ่งซึ่งคล้ายกับบล็อกของเวลช์ว่าทุกคนไม่ใช่ชาร์ลีเพราะยังมีความกลัวและการเซนเซอร์ตัวเอง เช่นทำให้เรื่องของยิวและอิสราเอลดูมีความอ่อนไหวมากกว่ากลุ่มหรือรัฐอื่นๆ เพราะกลัวจะถูกคว่ำบาตรทางอาชีพ เช่นเดียวกับกรณีของศาสนาอิสลามและชาวมุสลิม ซึ่งผู้วิพากษ์วิจารณ์มักจะถูกข่มขู่เอาชีวิต

มุดด์ระบุถึงการแก้ปัญหาในอุดมคติว่าถ้าหากต้องการปกป้องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นจริงๆ ก็ควรต้องทำให้เสรีอย่างเต็มที่หรือไม่ก็มีการคุ้มครองทุกๆ กลุ่มโดยเท่าเทียมกัน และในกรณีของชาวมุสลิมถ้าต้องการให้พวกเขาอยู่ภายใต้กฎกติกาเดียวกันก็ต้องทำให้พวกเขาเป็นพลเมืองที่เท่าเทียมกันเพราะมุสลิมในหลายประเทศก็ยังถูกทำให้ดูเป็นคนนอกและมีการแบ่งเขาแบ่งเรา

"แทนที่เราจะจำกัดเสรีภาพสื่อมากยิ่งขึ้นด้วยการอ้างการสื่ออย่าง 'มีอารยธรรม' และเสริมกฎหมายต่อต้านการเหยียดหยามให้เข้มงวดขึ้น เราควรจะทำตามคำขวัญของพวกเราคือการทำให้เสรีภาพสื่อเป็นของทุกคน รวมถึงพวกต่อต้านชาวยิวและพวกที่หวาดกลัวอิสลามอย่างไม่มีเหตุผลด้วย ในทางเดียวกันพวกเราก็ควรวิพากษ์วิจารณ์และล้อเลียนเสียดสีทุกสิ่ง ตั้งแต่คนไม่นับถือศาสนาไปจนถึงชาวคริสต์ ชาวยิว ชาวมุสลิม ทั้งพวกการเมืองสายสิ่งแวดล้อม ไปจนถึงพวกขวาจัด สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้พวกเราไม่เพียงแค่ต้องออกตัวต่อต้านพวกสุดโต่งหัวรุนแรงอย่างเดียวเท่านั้น แต่พวกเราต้องปกป้องคนที่ออกตัวต่อต้านพวกนั้นแม้กระทั่งก่อนหน้าที่พวกเขาจะถูกข่มขู่คุกคามหรือถูกสังหาร" มุดด์ระบุในบทความ

 


เรียบเรียงจาก


Charlie Hebdo and the quintessentially French art of offensive cartoons, Quartz, 07-01-2015

‘Who’d dare publish now?’ Swedish cartoonist’s concerns after Paris attack, Russia Times, 07-01-2015

Steve Bell on the Charlie Hebdo attack – cartoon, The Guardian, 07-01-2015

The moving tributes to the victims of the Charlie Hebdo shooting, The Independent, 08-01-2015

Charlie Hebdo attacks: Prophet Mohammed cartoons republished by Danish newspaper Jyllands-Posten in wake of Paris incident, The Independent, 08-01-2015

Cartoonist promises to draw Mohamed every day for the rest of the year in protest of Charlie Hebdo attack, The Independent, 08-01-2015

Muslims Around The World Condemn Charlie Hebdo Attack, Huffington Post, 07-01-2015

‘Je suis Charlie’? No, You’re Not, or Else You Might Be Dead, Matt Welch, Reason, 07-01-2015

No, we are NOT all Charlie (and that’s a problem), Open Democracy, 07-01-2015
 

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก
http://en.wikipedia.org/wiki/Charlie_Hebdo

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net