Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

คนใต้จริงๆ จะมีลักษณะอย่างไรนั้น ผมไม่ทราบ และเชื่อว่าคนใต้เองก็ไม่ทราบเหมือนกัน นอกจากรูปร่างหน้าตาและสำเนียงภาษา ซึ่งใครๆ ก็ทราบ ส่วนคนใต้จะมี "อัตลักษณ์" อย่างไรนั้น ใครๆ ก็ทราบเพราะได้ยินได้ฟังจากคนใต้เสมอ แม้จะหา "ตำรา" อ่านก็มีให้อ่านจำนวนมาก

แต่อย่างที่เข้าใจกันอยู่แล้วว่า "อัตลักษณ์" เป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้น คนอื่นสร้างให้บ้าง ตัวเองสร้างให้ตัวเองบ้าง จะยึดถือ "อัตลักษณ์" เป็นตัวตนจริงๆ ของคนใต้จึงไม่ได้ เพราะอัตลักษณ์ไม่ได้เกิดจากการสังเกตการณ์อย่างเป็นภววิสัย แต่เกิดขึ้นจากการสร้างตัวตนในบริบททางเศรษฐกิจ, การเมือง และสังคมอย่างหนึ่ง เพื่อทำให้ตัวมีอำนาจต่อรองกับคนอื่นได้มากขึ้น และทำให้ตัวหมายตัวตนให้แก่ใจของตนเองได้

แม้ "อัตลักษณ์" ไม่ใช่ของจริง แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า เมื่อเป็นที่ยึดถือกันทั่วไปแล้ว ย่อมมีผลต่อพฤติกรรมของคนแต่ละคน และต่อคนในฐานะเป็นกลุ่มก้อนเสมอ

หน้าที่หนึ่งของอัตลักษณ์คือการสร้าง "พวก" หน้าที่นี้เห็นได้ทั่วไปนับตั้งแต่ระดับหมู่บ้านขึ้นไปถึงชาติ อย่างไรก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบคนใต้กับคนภาคอื่นๆ แล้ว คนใต้สร้างอัตลักษณ์ขึ้นอย่างมีรายละเอียดมากกว่าคนภาคอื่นทั้งหมดของไทย คำว่าคน "บ้านเฮา" ของคนเหนือและคนอีสาน แทบไม่มีความหมายอะไรเลยนอกจากเป็น "พวก" เดียวกัน เพราะมีบ้านเกิดเมืองนอนอยู่ในภูมิภาคเดียวกัน ซึ่งส่อว่าจะต้องมีวัฒนธรรมโดยรวมคล้ายกันด้วย แต่วัฒนธรรมที่ว่านั้นคืออะไร ก็ไม่ค่อยมีรายละเอียดมากนัก

คนภาคกลางนั้นแทบไม่ได้สร้างอัตลักษณ์อะไรขึ้นมาชัดเจนเลย อาจเป็นเพราะได้ส่วนแบ่งของทรัพยากรและอำนาจมากที่สุดอยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องสร้างอัตลักษณ์ขึ้นมาต่อรองก็ได้กระมัง

ส่วนคนใต้นั้น ผมได้ยินมาตั้งแต่เด็กว่าคนใต้ต้องเป็นอย่างนั้น ต้องเป็นอย่างนี้ เช่น พูดจาโผงผาง, ตรงไปตรงมา, ฯลฯ แต่ในขณะเดียวกันก็มีอัตลักษณ์ที่คนกรุงเทพฯสร้างให้ติดมาด้วย เช่น ไม่น่าคบเพราะชอบเอารัดเอาเปรียบ ไม่จริงใจ ที่สำคัญอย่างหนึ่งซึ่งยังได้ยินมาจนถึงทุกวันนี้คือ คนใต้ไม่เอาใครทั้งนั้นนอกจากคนใต้ด้วยกัน

ข้อสังเกตประการสุดท้ายของคนกรุงเทพฯนั้นน่าสนใจ ความจริงคนใต้จะเป็นอย่างนั้นหรือไม่ก็ไม่สำคัญ แต่คนอื่นมองคนใต้ว่าเป็นคน "ถือพวก" มากเป็นพิเศษ เมื่อคนใต้ต้องออกจากท้องถิ่นตนเอง เพื่อเข้ามาเรียนหนังสือหรือหางานทำในภูมิภาคอื่นๆ คนใต้เลือกการเกาะกลุ่มเข้าหากัน เพื่อช่วยเหลือคุ้มครองกันและกัน ซึ่งเราไม่พบในคนอีสานและคนเหนือ

ในหัวเมืองใหญ่นอกภาคใต้ ผมเข้าใจว่าสมาคมชาวปักษ์ใต้จะเป็นสมาคมชาวภาคแห่งแรกในประเทศไทย ผมได้เคยเห็นมาตั้งแต่ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 และก็ยังเห็นสืบมาอีกนาน ในบางจังหวัด มีการจัดงานประจำปีของชาวใต้ในจังหวัดนั้นๆ ด้วย และแน่นอนว่ามีโต๊ะบิลเลียดและอื่นๆ เป็นกิจกรรมของสมาคมตลอดปี ผมไม่เคยเห็นสมาคมทำนองนี้ของคนภาคอื่นจนเมื่อโตเป็นหนุ่มแล้ว

อันที่จริง "พวก" เป็นการเกาะกลุ่มของคนทุกภาคมาแต่โบราณแล้ว เช่นเดียวกับการ "ถือพวก" และ "เล่นพวก" ก็ปรากฏให้เห็นได้เหมือนกันในทุกภาค แต่ขอให้สังเกตนะครับว่าความสัมพันธ์ภายในของ "พวก" คือความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ ในขณะที่ "พวก" แบบใหม่ของคนใต้ เช่น สมาคมชาวปักษ์ใต้ เป็นความสัมพันธ์ที่เท่าเทียมกัน ไม่ใช่ระบบอุปถัมภ์ อย่างน้อยก็ตามทฤษฎีนะครับ ยังไงคนใต้ก็เป็นคนไทย ในทางปฏิบัติก็ต้องมีช่วงชั้นในความสัมพันธ์ภายในอยู่บ้างอย่างแน่นอน

ในกระบวนการเปลี่ยนผ่านของไทย ทำไมคนใต้จึงต้องสร้าง "พวก" แบบใหม่ มากกว่าและก่อนกว่าคนภาคอื่นๆ ผมคิดว่ามีความแตกต่างเฉพาะของภูมิประเทศและผู้คนภาคใต้ ที่อาจอธิบายความกระตือรือร้นที่จะสร้างความสัมพันธ์ทางสังคมแบบใหม่ของคนใต้ ในสังคมที่กำลังเปลี่ยนแปลงนี้ได้

1.ทุนนิยมกระทบต่อภาคใต้แตกต่างจากภาคอื่น ในขณะที่คนในภาคอื่นขยายการปลูกข้าว ไว้ทั้งกินและขายเข้าสู่เครือข่ายการค้าส่งออก คนใต้ถูกภูมิประเทศบังคับให้ เมื่อปลูกข้าว ก็ต้องป้อนตลาดภายในเป็นหลัก เพราะภาคใต้ผลิตข้าวได้ไม่มากมาแต่โบราณแล้ว เมื่อปลูกยางพารา ก็คือปลูกพืชเศรษฐกิจและต้องเข้าสู่ตลาดโดยตรงมากกว่าชาวนาซึ่งมีระบบการค้าข้าวที่เชื่อมโยงพ่อค้าย่อยตามท้องนา กับนายทุน กับโรงสี กับผู้ส่งออกคอยกันไว้ให้ไม่ต้องเข้าตลาดเต็มตัว

ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ทำให้คนใต้ตอบรับการศึกษาแผนใหม่ได้อย่างรวดเร็วและก่อนคนอื่น เพราะการศึกษาแผนใหม่คือความรู้ที่จะทำให้ตอบสนองต่อตลาดทุนนิยมได้ดี ในขณะที่ชาวนาทั้งในภาคกลาง, เหนือ, อีสาน อาจไม่เห็นความจำเป็นในการรับการศึกษาแผนใหม่มากนัก

ล่าวโดยสรุปก็คือ คนใต้เข้าสู่เศรษฐกิจตลาดก่อนและเร็วกว่าคนภาคอื่นของไทย

2.แตกต่างจากผู้คนในภาคอื่น คนใต้ตั้งภูมิลำเนาแบบแยกหลังคาเรือนมาแต่โบราณ (home-stead settlement) คนภาคอื่นตั้งภูมิลำเนาอยู่เป็นกลุ่มก้อน (cluster settlement) ชีวิตในภูมิลำเนาแบบแยกหลังคาเรือนทำให้มีทรัพยากรที่ต้องใช้ร่วมกันเป็นประจำอยู่น้อยลง เช่น ไม่ต้องไปอาบน้ำที่บ่อหรือท่าร่วมกันทุกเช้าเย็น ไม่ต้องใช้ทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ร่วมกัน ยกเว้นบางฤดู ต่างคนต่างมีลานนวดข้าวของตนเอง (หากทำนา) ฯลฯ

คนใต้จึงมีลักษณะปัจเจกสูงกว่าคนภาคอื่น เมื่อต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงของสังคมสมัยใหม่ จึงฉับไวที่จะสร้าง "พวก" แบบใหม่ขึ้น เพราะการต่อรองในฐานะปัจเจกนั้นไม่มีพลังในสังคมไทยสมัยใหม่ ที่ยังใช้เส้นสายในการต่อรองมากกว่ากฎหมาย, เงินตรา, หรือความยุติธรรมเสมอหน้า

ผมไม่ทราบหรอกว่า คนใต้ใช้ประโยชน์จาก "พวก" แบบใหม่ หรือสำนึกถึง "พวก" แบบใหม่เช่นนี้ในการดำเนินชีวิตมากน้อยเพียงไร ไม่ว่าจะเป็นอาชีพการงาน, การศึกษา, การเข้าถึงทรัพยากร ฯลฯ แต่คำนินทาเรื่องคนใต้ "ถือพวก" นั้นได้ยินมาแต่เด็ก จนมาในภายหลังก็ยังได้ยินอยู่ จริงหรือเท็จก็ไม่เคยไปสืบสวนดู

ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของความเปลี่ยนแปลงสู่การเมืองแบบเลือกตั้งนี่เอง ที่พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ประสบความสำเร็จในการกวาดคะแนนของคนใต้มาได้มากกว่าทุกพรรค ความสำเร็จของ ปชป.นี้มาจากไหน ผมเห็นด้วยกับ Marc Askew ที่ว่า ปชป.ใช้อัตลักษณ์ของคนใต้มาเป็นเครื่องมือทางการเมือง (Performing Political Identity) คือทำให้คนใต้รู้สึกว่า ปชป.คืออัตลักษณ์อีกอย่างหนึ่งของคนใต้

พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ เมื่อการต่อรองในสังคมวงกว้างผ่านการเลือกตั้งมีความเข้มข้นขึ้น "พวก" ของคนใต้ขยายมาสู่องค์กรทางการเมือง และพรรค ปชป.ถูกเลือกให้เป็นเครื่องมือการต่อรองหรือเป็น "พวก" ทางการเมือง และคงประสบความสำเร็จตามความมุ่งหวังอยู่พอสมควร โดยไม่เกี่ยวกับราคายาง เพราะการที่เขายืนยันจะเลือก ปชป.มากว่า 4 ทศวรรษ ย่อมเกิดขึ้นจากความงมงายเพียงอย่างเดียวไม่ได้แน่

อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่ามีความเปลี่ยนแปลงอยู่สองสามอย่างในสังคมไทย ที่ผมคิดว่าจะทำให้คนใต้อาจไม่ได้มอง ปชป.ในฐานะ "พวก" อีกต่อไปก็ได้

1.ปชป.จะเป็นเครื่องมือทางการเมืองที่ดีได้ ก็ต้องมีการเลือกตั้งที่ให้ผลทางการเมืองจริง เช่น มีที่นั่งในสภามากพอที่รัฐบาลซึ่งกองทัพหนุนหลังเชิญให้มาร่วมรัฐบาล จำนวนของที่นั่งมากพอที่ ปชป.ต้องมีอำนาจต่อรองกับนายกรัฐมนตรีที่กองทัพหนุนหลังได้บ้าง เช่น อาจลาออกจากพรรคร่วมรัฐบาลแล้วมีผลกระเทือนต่อเสถียรภาพของรัฐบาล

แต่รัฐธรรมนูญใหม่ที่กำลังร่างอยู่นี้ ได้ตัดอำนาจต่อรองของพรรคการเมืองไปจนเกือบหมดสิ้น ไม่ว่าพรรค ปชป.หรือพรรคอะไรๆ ก็เป็นเครื่องมือต่อรองทางการเมืองที่ไร้ประสิทธิภาพทั้งนั้น อัตลักษณ์ของคนใต้จึงไม่จำเป็นต้องมีพรรค ปชป.อยู่ในนั้นก็ได้

2.สังคมไทยได้พัฒนา "พวก" แบบใหม่ชนิดอื่นขึ้นมาอีกมากมาย เช่น "สิงห์ดำ" กับ "สิงห์แดง", แพทยสมาคม, หมอชนบท, กลุ่ม "คนดี", เครือข่ายตระกูล ส., สมาคมวิชาชีพต่างๆ, นักสันติวิธี, ฯลฯ "พวก" แบบใหม่เหล่านี้ มีบทบาทต่อรองได้ดีกว่าพรรคการเมืองด้วยซ้ำ "พวก" ที่มีฐานอยู่ที่ถิ่นกำเนิดในภาคเดียวกัน แม้แต่เมื่อรวมพรรคการเมืองเข้าไปด้วยแล้ว ก็ไร้น้ำยาในการต่อรองลงไปเรื่อยๆ ซ้ำร้ายเพราะเป็นพรรคการเมือง ฐานสนับสนุนก็ต้องกว้างกว่าคนใต้ เช่น ต้องมีนักธุรกิจสนับสนุนอยู่ไม่น้อย ผลประโยชน์ของนักธุรกิจกับคนใต้ไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกันเสมอไป "พวก" แบบใหม่ของคนใต้กำลังล้าสมัยลง

ในที่สุดก็คงต้องเกิด "พวก" แบบใหม่ชนิดอื่นขึ้นมาจนได้ ซึ่งจะต่อรองได้คล่องตัวกว่าหากไม่มีพรรคการเมืองอยู่ใน "พวก" ด้วย

3.ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดในสังคมไทยก็เกิดในภาคใต้เหมือนกัน ดังที่กล่าวแล้ว "พวก" แบบใหม่ชนิดอื่นให้อำนาจต่อรองได้มากกว่า "พวก" ที่มีฐานอยู่ที่ถิ่นกำเนิดร่วมกัน ถามว่าในภาคใต้ได้เกิด "พวก" แบบใหม่ชนิดอื่นหรือยัง ผมคิดว่าเกิดแล้วและได้เข้ามาต่อรองเป็นข่าวให้เห็นอยู่บ่อยๆ เช่น สมาคมหรือชมรมผู้ดำเนินธุรกิจดำน้ำ, สมาคมท่องเที่ยวประจำจังหวัด, ผู้ประกอบการโรงแรม, แม้แต่มอเตอร์ไซค์รับจ้างก็รวมกลุ่มต่อรองที่ภูเก็ตเหมือนกัน มีประสิทธิภาพในการต่อรองมากน้อยแค่ไหนก็ตาม แต่ตอบสนองต่อปัญหาเฉพาะหน้าของกลุ่มที่อยู่ใน "พวก" กว่าพรรคการเมืองแน่นอน "พวก" ชนิดนี้กำลังเติบโตต่อไปเรื่อยๆ โดยไม่สัมพันธ์กับพรรคการเมืองมากนัก

ผมคาดเดาโดยไม่เคยลงไปศึกษาจริง (มากกว่าฟังที่เขาเล่าๆ กัน) ว่า ในการชุมนุมหนุน กปปส.ของคนใต้ กลุ่มคนที่พากันยกเข้ากรุงเทพฯนั้น มีแกนกลางที่เครือข่ายของผู้อุปถัมภ์รายใหญ่ในท้องถิ่น แต่บังเอิญผู้อุปถัมภ์รายใหญ่เหล่านี้ล้วนเป็นหัวคะแนนหรือผู้สนับสนุน ปชป.ทั้งสิ้น จึงไม่อาจกล่าวได้ว่าคนใต้ที่พากันยกพลเข้ากรุงตามคำเรียกร้องของ กปปส.นั้นคือผู้สนับสนุนประชาธิปัตย์

ผมไม่ได้ปฏิเสธว่าเขาสนับสนุนประชาธิปัตย์ แต่ที่เขาสู้ลำบากเดินทางเข้ากรุงเทพฯนั้น เป็นเพราะได้รับการ "เชิญชวน" จากเครือข่ายอุปถัมภ์รายใหญ่ในท้องถิ่นต่างหาก แทบจะในทุกจังหวัด มีคนใต้ที่ไม่ยอมเข้ากรุงเพราะเครือข่ายอุปถัมภ์รายใหญ่ไม่มีความสัมพันธ์พิเศษกับนักการเมืองทั้งที่อยู่เบื้องหน้าและเบื้องหลัง กปปส.

สรุปก็คืออัตลักษณ์ของคนใต้กำลังเปลี่ยน พรรคการเมืองที่หากินอยู่กับอัตลักษณ์เดิมนี้ จะปรับแนวนโยบาย (platform) ของตนอย่างไร จึงจะสามารถกวาดคะแนนภาคใต้ได้ต่อไป

 

เผยแพร่ครั้งแรกใน: มติชนรายวัน 16 ก.พ.2558
ที่มา: มติชนออนไลน์

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net