Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

ในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2558 เวลา 13.00 น. ที่ผ่านมาศูนย์อาเซียนศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้จัดเสวนา ‘ประวัติศาสตร์นอกกรอบรัฐชาติในอุษาคเนย์’ ซึ่งเมื่อฟังชื่อแล้วน่าสนใจยิ่ง เพราะทำให้เกิดจินตนาการว่า หนึ่ง ประวัติศาสตร์ที่นอกกรอบรัฐชาติควรจะเป็นอย่างไร  สอง มีนักพูดนักเขียนอย่างท่าน ส.ศิวลักษณ์ มาเป็นองค์บรรยาย  ความแปลกใหม่ของการฟังการบรรยายประวัติศาสตร์ที่นอกกรอบรัฐชาติโดยท่าน ส. ศิวลักษณ์นี้อยู่ตรงที่ การพยายามตีความภาพเชิงซ้อนระหว่างผู้พูด (คือตัวท่าน) และผู้ที่ท่านหยิบขึ้นมาพูด ซึ่งนั่นสลักสำคัญ ทำไมศูนย์อาเซียนศึกษาจึงเชิญท่านมาบรรยายในหัวข้อดังกล่าว  เพราะท่านเป็นคนที่จะตอบโจทย์อะไรบางอย่างเกี่ยวกับอนาคตของการรวมกลุ่มเป็นอาเซียน

ส่วนแรก ความสัมพันธ์ระหว่างผู้เขียนกับท่าน ส. ศิวลักษณ์   ผู้เขียนขอเกริ่นก่อนว่า ไม่ได้รู้จักท่าน ส. ศิวลักษณ์เป็นการส่วนตัวเพราะผู้เขียนเกิดถิ่นเหนือ ส่วนท่านอยู่ตอนกลางของประเทศ  อีกทั้งแตกต่างกันในฐานะรุ่นหลาน ที่ยังลืมตาดูโลกไม่ทันในเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่ 2 และนั่นไม่ต้องพูดถึงการเกิดมาทันเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516  ขณะเดียวกันก็รับรู้จากผลงานของท่านในตำรา งานเขียน นั่นนับว่า ผู้เขียนรับทราบตัวตนของท่านผ่านสายตาของคนอื่น

ส่วนที่สอง  การมาบรรยายครั้งนี้ท่านขึ้นต้นโดยการเล่าถึงขบวนการเสรีไทย และหยิบยกท่านปรีดี พนมยงค์ ขึ้นมา ซึ่งท่านเกริ่นนำเรื่องราวความเชื่อมโยงระหว่างปรีดี พนมยงค์กับประเทศอเมริกา โดยใช้เวลากว่า 20 นาที จนผู้ฟัง (ในส่วนของผู้เขียน) คิดว่าเมื่อไรท่านจะเข้าเรื่องเสียที และแล้วท่านก็เอยขึ้นว่า ‘ต่อไปนี้ผมจะเข้าเรื่องแล้วนะ’ ท่านก็หยิบเอาเรื่องของความเชื่อเรื่องผี พุทธ ไสยศาสตร์ในอุษาคเนย์ขึ้นมาร่ายในช่วงกลางๆ  กล่าวถึงรัชกาลที่ 5 กล่าวถึงสถาบันสงฆ์  และจบท้ายก็เกิดความสว่างเพราะท่านสรุปได้ชัดแจ้ง

ส่วนที่สามคือ การตอบคำถามของผู้ฟังการบรรยาย อันเป็นช่วงที่ทำให้เห็นตัวตนทางความคิดของท่าน ซึ่งผู้เขียนสามารถสรุปการบรรยายครั้งนี้โดยชี้ให้เห็นว่าสิ่งที่ท่าน ส.ศิวลักษณ์ร่ายรำเปิดม่านมาทั้งหมดมีประเด็นที่น่าสนใจ 3 ประเด็นด้วยกันดังนี้


ประวัติศาสตร์นอกกรอบรัฐชาติในวิถีของผู้นำประเทศในอุษาคเนย์

การที่ท่านส.ศิวลักษณ์เปิดตัวประวัติศาสตร์นอกกรอบรัฐชาติในอุษาคเนย์ โดยเปิดโรงกล่าวถึงท่านปรีดี พนมยงค์  นั่นทำให้คิดไปจนถึงว่าแล้ว เหตุใดท่านจึงไม่ยกผู้นำอย่าง จอมพลป.พิบูลสงคราม หรือ หม่อมคึกฤทธิ์ ปราโมช ในฐานะที่สถาปนา ‘ความเป็นไทย’ (Thai- ness) และอีกหลากหลายท่าน ซึ่งงานเขียนของท่านอาจารย์สายชล สัตยานุรักษ์ได้รวบรวมชี้แจงแถลงไขไว้แล้ว  แต่การที่ท่านยกปรีดี พนมยงค์จึงเป็นเหตุอันควรยิ่งแล้ว เพราะหลายๆสิ่งที่อยู่ในตัวปรีดี พนมยงค์ ทั้งวิธีคิด ปฏิบัติการของท่านเป็นสิ่งที่ทำให้เราเข้าใจ ‘บาดแผล’ ของประวัติศาสตร์รัฐชาติที่ผ่านมาได้ดีทีเดียว

หลายท่านหากคลุกคลีอยู่ในวงการวิชาการ หรือ การรับทราบ รับรู้เรื่องราวของผู้นำท่านนี้ผ่านการผลิตซ้ำทางประวัติศาสตร์ในแบบเรียนประวัติศาสตร์ไทยก็ตาม แต่ก็จะพบว่าแบบเรียนประวัติศาสตร์เหล่านั้นลำดับความผู้นำในแต่ละช่วงสมัย และผลงานที่ผลิตขึ้นเท่านั้น ทว่าไม่ได้ไล่เรียงเรื่องราวรายละเอียดในช่วงวาระสุดท้ายแห่งชีวิต  การจะรู้จักปรีดี พนมยงค์ จึงไม่ใช่แค่เรื่อง โครงร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ หรือ การเป็นกบฏในสายตาของคนบางกลุ่ม   เหตุที่ท่านจะต้องระหกระเหินออกไปอยู่นอกประเทศ และไม่มีวันหวนคืนบ้านเกิดในไทย แม้แต่สิ้นลมหายใจนั้นทำให้เห็นถึงวิธีคิดของสังคมไทยที่ตีบตัน ปรีดีเป็นเงาสะท้อนของผู้นำแห่งรัฐที่เอาชาติและคนในชาติเป็นตัวตั้ง และคิดถึงความเป็น      มนุษยชาติโดยรวม  แต่เนื่องจากท่านอยู่ในสภาพแวดล้อมที่คุกรุ่นไปด้วยความขัดแย้งทางความคิด ช่วงที่ท่านเอาตัวผูกโยงกับการเมืองไทยและสถานการณ์โลก  แรงบีบคั้นจากบริบททางสังคมช่วงนี้เองที่ทำให้ แนวทาง (The way of himself) แนวความคิด (The way of thinking) ของท่านไม่ประสบผลสำเร็จ ถูกกล่าวหาว่าเป็นกบฏ มีแนวคิดที่เป็นคอมมิวนิสต์ แถมยังนำอันตรายมาสู่ตัวท่านจนต้องลี้ภัย เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับปรีดี พนมยงค์จึงเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงอำนาจของการคลั่งชาติโดยไร้เหตุผลของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง  เมื่อจิตวิญญาณแห่งการคลั่งชาติ หรือ ชาตินิยม เฉพาะกลุ่มบังเกิดขึ้น แน่นอนว่า การที่จะคิดถึงความเป็นมนุษย์ย่อมที่จะอยู่ไกลตัว 


ประวัติศาสตร์นอกกรอบรัฐชาติในวิถีชีวิตของคนอุษาคเนย์

ท่านหยิบยกหมุดหมายแห่ง ‘วิถีปฏิบัติการและจิตวิญญาณของคนอุษาคเนย์’ ซึ่งมีความคาบเกี่ยวกันชุดหนึ่งคือ เรื่องของความเชื่อผี พุทธ และไสยศาสตร์ ความเชื่อระดับชาวบ้าน หรือท้องถิ่นที่สัมพันธ์กับธรรมชาติและความเปลี่ยนแปลงของโลก  ลักษณะทางความเชื่อที่มีความคล้ายคลึงกันของชุมชนท้องถิ่นซึ่งต่างชาติพันธุ์นี้เองที่กลายมาเป็นองค์ความรู้ (knowledge) รูปแบบหนึ่งในการไขปริศนาที่ข้ามกรอบความเป็นรัฐชาติ แต่เป็นความเชื่อมโยงแห่งชีวิต ความเลื่อนไหลของชีวิตผู้คนในอุษาคเนย์ได้อย่างดี  ดังนั้นชีวิตของคนอุษาคเนย์จึงไม่ได้เป็นชีวิตที่ถูกวางอย่างเป็นเส้นตรง (Linear) ตามแบบฉบับทางความคิดตะวันตก หรือ จะต้องวิวัฒนาการจากสังคมของการนับถือผี ไปสู่สังคมของพุทธอย่างตายตัว  เพราะโดยวิถีของชาวบ้านแล้วเลือกที่จะรับแนวความคิดและปรับตัวทางความเชื่อเพื่อให้สอดคล้องกับการดำเนินชีวิตมากกว่า  ดังนั้นการเอาสังคมตะวันออกไปเปรียบเทียบกับสังคมตะวันตกจึงไม่อาจจะบ่งบอกได้ ถึงระดับของการพัฒนา  เนื่องจากเป็นเรื่องของสังคมวัฒนธรรมเชิงเผ่าพันธุ์  แม้ว่าลักษณะทางสังคมและวัฒนธรรมอันเป็นธรรมชาติของสังคมมนุษย์ คำว่า ธรรมชาติ นี้ไม่ได้หมายเฉพาะความเป็นดั้งเดิม  แต่หมายถึง วัฏจักรของการหมุนเวียนเปลี่ยนแปลงโดยถือเอามุมมองและทัศนะของ ‘คนใน’ สังคมและวัฒนธรรมนั้นๆเป็นที่ตั้ง  ท่าน ส. ศิวลักษณ์ไม่ได้กล่าวเรื่องนี้อย่างล้วงลึก อาจจะด้วยเพราะแวดวงวิชาการก็รับรู้มานาน

ท่านได้เอยถึงคุณูปการของรัชกาลที่ 5 ต่อการปลดปล่อยวัฒนธรรมแบบเดิมที่คอยฉุดรั้งสยามประเทศไว้ ให้กลายมาเป็นประเทศที่ศิวิไลซ์  ส่วนหนึ่งเพื่อให้คนในประเทศทัดเทียมกับอารยประเทศ  แต่วิวิธีการในส่วนพระองค์กลายมาเป็นเสี้ยนหนามสำหรับประเทศเช่นกัน  แต่กระนั้นก็ดีแนวทางการพัฒนาของรัชกาลที่ 5 ก็มีข้อผิดพลาดคือ การรวมศูนย์อำนาจเข้าสู่ส่วนกลางอย่างเข้มแข็ง โดยเฉพาะการส่งลูกหลานเข้าไปร่ำเรียน และการสนับสนุนให้คนรับราชการ และนั่นเป็นผลให้ระบบการปกครองประเทศเป็นไปในแบบที่เรียกว่า ‘รัฐข้าราชการ’ ซึ่งกลุ่มคนที่ได้รับการศึกษาจากตะวันตกที่เข้ามาเป็นฟั่นเฟือนในการพัฒนาประเทศนี้กลายมาเป็นผู้นำที่มีอุดมการณ์ ‘ชาตินิยม’ อย่างสุดโต่ง  

ความเติบโตของรัฐข้าราชการ มีวิธีคิดส่วนหนึ่งคือ การทำให้องค์กรสงฆ์กลายมาเป็นเครื่องมือในการดำรงอยู่ของรัฐ และนั่นทำให้เรื่องของศาสนาเป็นเรื่องที่ผูกติดกับความเป็นชาติโดยปริยาย  ในประเด็นนี้ท่านส. ศิวลักษณ์ชี้ว่า การที่พระไทยสนิทชิดเชื้อกับระบบราชาธิปไตย และการบริโภคนิยม ทำให้การจัดการสถาบันสงฆ์ไม่เข้มแข็ง เมื่อสงฆ์ไม่อยู่ในร่องในรอย นั่นทำให้ผู้คนเสาะแสวงหาไสยศาสตร์หรือลัทธิพิธิแบบใหม่เพื่อตอบโจทย์ของชีวิตอย่างเต็มที่  ท่านจึงเสนอความเห็นว่าอย่าได้ยึดติดกับรูปแบบ คือ การนุ่งเหลือง ห่มเหลืองแต่ต้องดูพุทธที่สาระ  แต่นั่นไม่ได้หมายเหตุว่าสนับสนุนให้ภิกษุ หรือ พระสงฆ์สึกจากธรรม  ทว่าการเน้นในข้อนี้คือ การที่สถาบันสงฆ์ขึ้นตรงต่อสังฆราช ทำให้ความเป็นสงฆ์แบบท้องถิ่นต้องขึ้นตรงต่อส่วนกลาง ต้องปฏิบัติตามระบบ ระเบียบ ซึ่งนั่นเท่ากับว่าสถาบันสงฆ์แบบส่วนกลางสร้างกระบวนการการลดทอนให้ความเป็นพุทธนั่นให้เหลือเพียงเรื่องของวิถีการปฏิบัติแห่งสงฆ์คือ นั่งวิปัสสนา กรรมฐาน  และสนองตอบต่อความเป็นไทยแบบชาตินิยม   ในกรณีนี้ท่านได้ยกตัวอย่างเปรียบเทียบบทบาทของพระสงฆ์ในพม่า ว่าพระสงฆ์ในสหภาพเมียร์ม่าร์ที่เป็นขบวนนำในการปฏิรูปประเทศ  แม้ว่าด้านหนึ่งรัฐบาลพม่าจะมีแนวโน้มในการนับถือศาสนาพุทธ  แต่ทว่าสถาบันสงฆ์ในพม่าไม่ได้ทำหน้าที่เพื่อสนองตอบต่อแนวนโยบายของผู้นำประเทศหรือชนชาติพม่าเท่านั้น  หลายกรณีพระสงฆ์พม่าเดินขบวนเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย และสิ่งที่รัฐบาลพม่ากระทำอันขัดกับสิทธิมนุษยชนของคนในพม่า ซึ่งประกอบด้วยคนหลากกลุ่มชาติพันธุ์ นั่นคือ วิถีแห่งการบำเพ็ญประโยชน์ต่อสังคม  ทว่าไม่ได้ลงไปเล่นการเมืองโดยการสนับสนุนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่เป็นไปเพื่อ ‘สิทธิมนุษยชน’   ซึ่งนี้ทำให้เห็นว่า ปฏิบัติการทางความเชื่อแบบท้องถิ่นทำไมจึงผุดขึ้นจำนวนมาก ทำให้นึกย้อนไปถึงการเคลื่อนไหวของตนบุญ   การเคลื่อนไหวของพระพ่อปัน ในงานนุ่งเหลือง ห่มดำ (ทานาเบ้ ชิเกฮารุ 1994)  การเคลื่อนไหวของผู้นำชาวนาที่ใช้วิถีพุทธเข้ามาผสมผสาน หรือแม้แต่การเคลื่อนไหวของนักเคลื่อนไหวเพื่อสังคมระดับชาติ อย่าง คานธี ที่ใช้กลวิธีแบบอหิงสา 


ประวัติศาสตร์ที่ควรจะดำเนินต่อไปในอุษาคเนย์ในบริบทอาเซียน

เนื่องจากอุษาคเนย์นั้นมีลักษณะที่คล้ายคลึงกัน คือ ประกอบด้วยชนหลากกลุ่มชาติพันธุ์ วิถีทางความเชื่อ สังคมวัฒนธรรม  การนำเอาพื้นฐานการประกอบสร้างด้านการดำรงชีวิตแง่นี้มาเป็นจุดร่วมทำให้คนภายในรัฐอุษาคเนย์ หรือ เรียกใหม่ว่า ประชาคมอาเซียนได้ตระหนักและย้อนคิดใคร่ครวญว่า การร่วมกลุ่มประเทศแบบอาเซียนไม่ควรคำนึงถึงผลประโยชน์เรื่องเศรษฐกิจเป็นตัวตั้งประเด็นเดียว เพราะหากนำผลประโยชน์ด้านเศรษฐกิจ การเมืองเข้ามาเป็นตัวกลางดำเนินความสัมพันธ์  ชาตินิยมที่เราเคยรับรู้อาจจะมีความสลับซับซ้อนเข้าไปอีก นั่นหมายถึง  การก่อเกิดความเป็นชาตินิยมที่กดทับหลายระดับ  ที่ไม่เฉพาะเรื่องของชาตินิยมข้ามพรมแดน ชาตินิยมในความเป็นรัฐ  ท้องถิ่นนิยม  แต่เป็นการสร้างชาตินิยมทางด้านชาติพันธุ์  ด้วยเหตุเพราะการเข้าถึง การกระจายความเป็นธรรมทางทรัพยากรและการแสวงหาโอกาสทางเศรษฐกิจมีความซับซ้อน 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net