Skip to main content
sharethis

นักศึกษาปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลียมองว่าข้อกำหนดฉบับใหม่เกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมายแรงงานเวียดนามเน้นการให้เจ้าหน้าที่รัฐเข้าแทรกแซงกระบวนการยุติข้อพิพาทได้มากขึ้น และเอื้อต่อการปิดกั้นการนัดหยุดงานประท้วงซึ่งแต่เดิมก็ประสบปัญหาจากสหภาพที่ขึ้นตรงกับนายจ้างอยู่แล้ว


ตูฟึงเหงียน นักศึกษาปริญญาเอกภาควิชาการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและการเมืองของมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย (ANU) เขียนบทความระบุถึงการออกข้อกำหนดฉบับใหม่เกี่ยวกับแรงงานในเวียดนามที่มุ่งจัดการกับการประท้วงนัดหยุดงานของคนงานซึ่งส่วนใหญ่มักจะเกิดขึ้นกับบรรษัทต่างชาติในเวียดนาม โดยกฎหมายฉบับใหม่จะทำให้ขั้นตอนการยุติข้อพิพาทแรงงานต้องผ่านกระบวนการจากเจ้าหน้าที่รัฐ

ฟึงเหงียนระบุว่าข้อกำหนดใหม่นี้เน้นเรื่องการจัดการการนัดหยุดงานประท้วงด้วยวิธีการที่ไม่เป็นไปตามหลักกฎหมายแรงงานของเวียดนาม โดยกฎหมายเวียดนามระบุว่าข้อพิพาทแรงงานจะต้องเกี่ยวข้องกับเรื่อง 'ผลประโยชน์' ที่นอกเหนือจากข้อตกลงการจ้างงานและไม่มีการผูกมัดทางกฎหมายต่อนายจ้าง

นอกจากนี้กฎหมายแรงงานเวียดนามยังกำหนดให้มีขั้นตอนการจัดการข้อพิพาทต้องเริ่มจากการรวบรวมความคิดเห็นของแรงงานโดยผ่านทางสหภาพแรงงานของบริษัทหรือตัวแทนของแรงงาน จากนั้นจะมีการลงคะแนนเสียงถ้าหากคนงานมากกว่าร้อยละ 50 เห็นด้วยกับการหยุดงานประท้วง พวกเขาถึงจะสามารถดำเนินการประท้วงได้อย่างถูกกฎหมาย

ฟึงเหงียนระบุว่าในความเป็นจริงแล้วการนัดหยุดงานประท้วงในเวียดนามมักไม่เป็นไปตามกฎหมายเพราะไม่ได้เป็นการเรียกร้องเรื่องผลประโยชน์เพียงอย่างเดียว รวมถึงมีลักษณะการประท้วงที่ไม่มีกฎหมายรองรับ สาเหตุเพราะสหภาพแรงงานในเวียดนามมักจะมาจากการนำของบริษัททำให้พวกเขาถูกควบคุมและไม่อนุญาตให้มีการประท้วงหยุดงาน สหภาพแรงงานในเวียดนามมักจะอ้างว่าเป็นตัวแทนของคนงานแต่จริงๆ แล้วรับใช้นายจ้างหรือรับใช้รัฐ

ฟึงเหงียนระบุว่าสมาพันธ์แรงงานเวียดนาม (Vietnam General Confederation of Labour) เป็นสหภาพแรงงานแห่งเดียวในเวียดนามที่ถูกกฎหมาย สมาพันธ์นี้มีสาขาแยกย่อยไปตามจังหวัดต่างๆ ในขณะที่ตำแหน่งผู้นำระดับสูงๆ ของสมาพันธ์มักจะเป็นของพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม ในส่วนสาขาย่อยก็ถูกครอบงำโดยสหภาพของบริษัทโดยนายจ้างบริษัทมักจะเป็นผู้แต่งตั้งผู้นำสหภาพและบางครั้งก็ด้วยความช่วยเหลือจากในระดับสูงของสหภาพ

บทความของฟึงเหงียนยังแสดงให้เห็นถึงลักษณะของสหภาพแรงงานในเวียดนามอีกว่า คนงานในเวียดนามมักจะไม่รู้ว่ามีใครเป็นคณะกรรมการสหภาพบ้าง พวกเขารู้ว่ามีสหภาพอยู่ มีการหักค่าจ้างเพื่อเป็นค่าธรรมเนียมสหภาพราว 10,000-20,000 ดอง (ราว 15-30 บาท) มีการไปเยี่ยมไข้คนงานลาป่วย มีการให้ของขวัญในเทศกาลพิเศษ หรือรับทราบว่ามีการจัดงานสังสรรค์โดยสหภาพ

ข้อกำหนดใหม่ของรัฐบาลเวียดนามมีลักษณะทำให้รัฐเข้าแทรกแซงการนัดหยุดงานประท้วงได้มากขึ้นผ่านการดูแลจัดการจากเจ้าหน้าที่รัฐหลายขั้นตอน โดยกฎหมายระบุให้นายจ้างต้องรายงานต่อรัฐบาลท้องถิ่นและสหภาพระดับสูงทันทีเมื่อมีการนัดหยุดงานประท้วงอย่างผิดกฎหมาย และฝ่ายรัฐจะเป็นผู้สืบสวนและประกาศให้การนัดประท้วงหยุดงานกรณีนั้นๆ เป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายเอง

ข้อกำหนดใหม่นี้จะกระทบต่อคนงานเวียดนามอย่างไรบ้าง ฟึงเหงียนอธิบายว่าจะทำให้ขั้นตอนการตัดสินความถูกผิดในการนัดหยุดงานประท้วงเปลี่ยนจากการพิจารณาของศาลเป็นการพิจารณาและตัดสินโดยเจ้าหน้าที่รัฐในท้องถิ่น เรื่องนี้ฟังดูเหมือนจะกีดกันคนงานจากการรวมกลุ่มประท้วงแต่บทลงโทษของข้อกำหนดใหม่นี้มีเพียงว่าแรงงานที่เข้าร่วมการนัดหยุดงานอย่างผิดกฎหมายจะไม่ได้รับค่าจ้างในช่วงนั้น ซึ่งฟึงเหงียนมองว่าเมื่อแลกกับชัยชนะที่ทำให้ได้ค่าจ้างเพิ่มขึ้นแล้วแรงงานจะยอมเสี่ยงประท้วง เนื่องจากการนัดหยุดงานประท้วงในเวียดนามมีโอกาสชนะสูง

ก่อนหน้านี้ฟึงเหงียนเคยสำรวจในจังหวัดด่งหน่ายของเวียดนาม ทำให้ทราบว่าร้อยละ 80 ของการนัดหยุดงานประท้วงในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาทำให้ฝ่ายแรงงานได้รับชัยชนะ ทั้งแบบที่ชนะข้อเรียกร้องบางส่วนหรือชนะข้อเรียกร้องทั้งหมด

ตามกฎหมายของเวียดนามหลังจากที่ข้อพิพาทยุติลงแล้วนายจ้างจะคำนวนค่าเสียหายที่เกิดขึ้นจากการหยุดงานประท้วงแล้วเรียกร้องค่าเสียหายดังกล่าวจากสหภาพแรงงานที่จัดตั้งการประท้วง แต่ฟึงเหงียนก็ระบุว่าในความเป็นจริงไม่มีการประท้วงหยุดงานในเวียดนามครั้งใดที่ถูกกฎหมายหรือมาจากการจัดตั้งของสหภาพ หมายความว่ากฎหมายนี้ประสบความสำเร็จในการยับยั้งไม่ให้สหภาพเป็นผู้จัดตั้งการประท้วง

ปัญหาอีกอย่างหนึ่งที่ฟึงเหงียนระบุไว้ในบทความคือการที่ข้อกำหนดใหม่กำหนดให้ 'ทีมปฏิบัติการกรณีนัดหยุดงานประท้วง' (strike action team) จะเข้าไปจัดการความขัดแย้งภายใน 12 ชั่วโมงหลังการประกาศว่าการนัดหยุดงานในกรณีนั้นๆ ผิดกฎหมายแล้วเท่านั้น ซึ่งทีมดังกล่าวนี้เป็นคนที่มาจากผู้นำระดับสูงของสหภาพประกอบด้วยนักไกล่เกลี่ยข้อพิพาทแรงงานและเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง ก่อนหน้านี้ทีมนี้มักจะพยายามเข้าถึงสถานที่ที่นัดหยุดงานประท้วงให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ ข้อกำหนดใหม่จึงทำให้การประท้วงและข้อพิพาทยึดเยื้อมากขึ้น

ฟึงเหงียนวิจารณ์ว่าในขณะที่รัฐบาลเวียดนามมองการพิพาทแรงงานเป็นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างตลาดกับแรงงาน แต่กลับไม่ยอมให้มีการแก้ไขข้อพิพาทระหว่างคู่ขัดแย้งเอง ทางการเวียดนามใช้ระบบที่เน้นเจ้าหน้าที่รัฐในการปิดกั้นการประท้วงหยุดงานที่เป็นช่องทางสำคัญที่จะช่วยเปิดการหารือระหว่างคนงานและฝ่ายบริหาร นอกจากนี้ยังมีปัญหาความไม่เชื่อใจกันระหว่างคนงานกับสหภาพของบริษัทด้วย


เรียบเรียงจาก

Vietnam strikes out at labour disputes, Tu Phuong Nguyen, East Asia Forum, 10-04-2015
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net