Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 


เนื่องด้วยผู้เขียนเป็นผู้หนึ่งที่มีความรักและสนใจยิ่งต่อเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ตั้งแต่สมัยเด็กมาเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ประกอบกับในเวลาต่อมาได้มีโอกาสอ่านหนังสือประวัติศาสตร์ดีๆ หลายต่อหลายเล่ม ได้มีโอกาสรู้จักกับผู้รู้ทางประวัติศาสตร์หลายต่อหลายคน จนกระทั่งนำไปสู่การเกิดความสงสัยต่อการรับรู้ทางประวัติศาสตร์ของตัวผู้เขียนขึ้นมา โดยสิ่งที่ผู้เขียนให้ความสนใจมาเสมอคือ เรื่องราวของสมเด็จพระนเรศวร กษัตริย์ชาตินักรบผู้ยิ่งใหญ่ที่กรมพระยาดำรงราชานุภาพ บุคคลที่ได้รับการยกย่องให้เป็นถึงพระบิดาแห่งประวัติศาสตร์ไทย เขียนหนังสือชีวประวัติเอง 1 เล่มอีกทั้งยังเขียนเรื่องราวการสงครามของพระองค์ถึง 11 ครั้งในหนังสือเล่มโด่งดัง ไทยรบพม่า จากการทำสงครามระหว่างอยุธยา-พม่าที่มีทั้งหมด 24 ครั้ง (กรมพระยาดำรงราชานุภาพ 2556, (5)-(6))

จากที่พรรณนามาทั้งหมดนี้ สิ่งที่ผู้เขียนพยายามจะบอกก็คือ ผู้เขียนมีความสนใจที่จะศึกษาประวัติศาสตร์ของสมเด็จพระนเรศวรซักครั้งหนึ่งให้ได้ ซึ่งในที่สุดก็นำมาสู่การลงมือค้นคว้าหาหลักฐานต่างๆ และเนื่องด้วยว่าผู้เขียนมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์อยู่กับมหาวิทยาลัยนเรศวร พิษณุโลกอยู่อยู่พอสมควร จึงทำให้ผู้เขียนคิดว่าน่าจะเป็นเรื่องที่ดีต่อการทำความเข้าใจอดีตของประชาคมแห่งมหาวิทยาลัยนเรศวรได้ไม่มากก็น้อย ทั้งนี้ยังทำให้การเขียนบทความครั้งนี้ของผู้เขียนมีขอบเขตการศึกษาที่ชัดเจนไม่กว้างหรือแคบเกินไป ซึ่งผู้เขียนคิดว่าสำหรับบทความที่ดีควรจะเป็นเช่นนั้น

จากการสำรวจของผู้เขียน พบว่ามีผู้เขียนบทความที่เกี่ยวข้องกับสมเด็จพระนเรศวรกับมหาวิทยาลัยนเรศวรมาแล้วคือ บทความบนสื่อออนไลน์  ประชาไท ของศาสตร์ ราชพฤกษ์(นามแฝง) เรื่อง แหล่งผลิตปัญญาชนกับการผลิตซ้ำประวัติศาสตร์บาดแผล ที่เสนอถึงการจัดกิจกรรมรับน้องใหม่รวมทุกคณะของนิสิตมหาวิทยาลัยนเรศวรที่ใช้เรื่องราวที่สมเด็จพระนเรศวรกระทำสงครามกับพม่าที่เปรียบเสมือนเป็นการตอกย้ำบาดแผลทางประวัติศาสตร์ที่เกิดจากกระแสความคิดแบบชาตินิยม อันนำมาสู่การถูกกดไว้ไม่ให้เกิดการแสดงความเห็นหรือกระทำการใดๆ อย่างเสรีภาพโดยแท้จริง (ศาสตร์ ราชพฤกษ์ 2557)

ส่วนอีกบทความหนึ่งก็เป็นบทความที่เผยแพร่ในสื่อออนไลน์ ประชาไท เช่นกัน ซึ่งเขียนโดย ทีมมันกุ้ง(นามแฝง) เรื่อง “ทหารกล้าพระนเรศ” ผลผลิตซ้ำของประวัติศาสตร์แบบราชาชาตินิยมภายในมหาวิทยาลัย  ก็ได้เสนอในทำนองเดียวกันกับศาสตร์ ในเรื่องการจัดกิจกรรมรับน้องใหม่ปีการศึกษา 2558 ที่ยกวาทกรรม “ทหารกล้าพระนเรศ” ขึ้นมาซึ่งแน่นอนว่ามันเป็นผลจากการตกอยู่ภายใต้ประวัติศาสตร์ที่มีกระแสความคิดแบบชาตินิยม แต่นอกจากนี้ #ทีมมันกุ้ง ยังได้วิจารณ์กระบวนของการผลิตบัณฑิตของมหาวิทยาลัยออกไปทำงานดังเครื่องจักรที่มีชีวิต แทนที่การศึกษาระดับอุดมศึกษาจะเป็นสังคมแห่งการตั้งคำถามและการแสวงหาความรู้ก็ตาม (#ทีมมันกุ้ง 2558)

ดังที่ได้กล่าวมาทั้งหมดเป็นการอธิบายให้เห็นถึงข้อเสนอในการศึกษาที่ผ่านมาว่าเป็นอย่างไร ซึ่งบทความของผู้เขียนชิ้นนี้ได้พยายามเติมเต็มช่องว่างที่ทั้งสองบทความไม่ได้นำเสนอคือ ปัจจัยของการเกิดสิ่งที่ผู้เขียนขอเรียกว่า “ลัทธิพิธีบูชาสมเด็จพระนเรศวร” ที่เป็นบ่อเกิดของกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับสมเด็จพระนเรศวรภายในมหาวิทยาลัย ทั้งนี้ข้อเสนอของผู้เขียนเป็นเพียงการคิดวิเคราะห์ด้วยความรู้ของผู้เขียนที่อาจจะไม่ลึกล้ำนัก ผู้เขียนก็ขออภัยไว้ ณ ที่นี้ด้วย

ก่อนที่จะเข้าใจถึงการเกิดขึ้นมาของ “ลัทธิพิธีสมเด็จพระนเรศวร” ผู้เขียนจะขอกล่าวถึงคติของการสร้างอนุสาวรีย์ในประเทศไทย เนื่องจากว่าการศึกษาครั้งนี้สามารถถือได้ว่า จุดศูนย์กลางของลัทธิอยู่ที่อนุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวร ณ มหาวิทยาลัยนเรศวร โดยมีพื้นที่ของการทำพิธีกรรมต่างๆ ของลัทธิเรียกว่า ลานสมเด็จฯ ทั้งนี้ถือได้ว่าสถานที่ของลัทธิฯ เป็นจุดศูนย์กลางของมหาวิทยาลัยอีกด้วย

การสร้างอนุสาวรีย์ถือว่าเป็นสิ่งใหม่ในสังคมตะวันออก โดยมีคำศัพท์ในภาษาอังกฤษว่า monument มีความหมายในลักษณะเป็นเครื่องเตือนระลึกถึง โดยจะระลึกถึงด้วยความชอบก็ได้ ความชังก็ได้ ทั้งยังจะต้องตั้งอยู่ในที่สาธารณะเพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงและเป็นการชวนให้ระลึกถึงอดีตที่ทุกคนถือหรือควรถือว่าเป็นสมบัติร่วมกัน(นิธิ 2547, 86) แต่ในจารีตของสังคมไทยก็มีการสร้างรูปเคารพที่คล้ายกับอนุสาวรีย์แต่ก็มิใช่เสียทีเดียว เพราะรูปเคารพของไทยที่มีลักษณะเช่นเดียวกับพระพุทธรูปหรือรูปเทพสิ่งศักดิ์สิทธิ์(84-86) ดังที่เห็นก็เช่น รูปพระเจ้าอู่ทองในศาลเทพารักษ์ รูปสมเด็จพระนเรศวรในโรงแสงที่อยุธยา รูปเจ้าพระยา บดินทรเดชาที่เขมร

แล้วจึงสรุปได้ว่า อนุสาวรีย์ของไทยที่ถูกสร้างขึ้นนับตั้งแต่อนุสาวรีย์แรกคือ พระบรมรูปทรงม้า รัชกาลที่ 5 ได้ถูกผสมเข้ากับความเชื่อแบบไทยที่มีต่อรูปเคารพจนทำให้ความหมายเดิมของอนุสาวรีย์แบบตะวันตกเปลี่ยนไป จนปรากฏให้เห็นจากการบูชาอนุสาวรีย์ที่สร้างภายหลัง เช่น อนุสาวรีย์พระเจ้าตาก เขตธนบุรี อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี จังหวัดนครราชสีมา อนุสาวรีย์พระยาภักดีชุมพล จังหวัดชัยภูมิ เป็นต้น

ทั้งนี้ การสร้างอนุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวร ณ มหาวิทยาลัยนเรศวร จังหวัดพิษณุโลกใน พ.ศ.2531 ก็สามารถจัดได้ว่าอยู่ในลักษณะสำคัญของคติการสร้างอนุสาวรีย์แบบไทยคือมีความหมายเป็นรูปเคารพ แล้วก่อนหน้านี้ ในวันที่ 25 มกราคม พ.ศ.2505 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินมาเปิดศาลสมเด็จพระนเรศวรที่ตั้งอยู่ภายในพื้นที่ของพระราชวังจันทน์ในปัจจุบัน(100 ปี โรงเรียนพิษณุโลกพิทยาคม 2442-2542 2542, 54) ซึ่งถือว่าเป็นพระบรมรูปสมเด็จพระนเรศวรอย่างทางการองค์แรกของจังหวัดพิษณุโลก และต่อมาก็เป็นที่เคารพนับถือของคนพิษณุโลกโดยทั่วไป จึงเป็นไปได้อย่างมากว่า การสร้างอนุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวร ณ มหาวิทยาลัยนเรศวร ก็เป็นการสร้างอนุสาวรีย์องค์ใหม่บนพื้นฐานความเคารพนับถือที่คนจังหวัดพิษณุโลกมีต่อสมเด็จพระนเรศวรอยู่แล้ว ความเคารพนับถือต่ออนุสาวรีย์องค์ใหม่จึงเกิดขึ้นตามมา

อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนเห็นว่า การเกิด “ลัทธิบูชาสมเด็จพระนเรศวร” ซึ่งได้กำหนดขอบเขตไว้ในพื้นที่ของมหาวิทยาลัยนเรศวร ไม่ได้เกิดเพียงเพราะมีศาลสมเด็จพระนเรศวรสร้างขึ้นก่อนเพียงอย่างเดียว แต่มันมีปัจจัยจากบริบททางประวัติศาสตร์ในภาพรวมและยังมีปัจจัยจำเพาะที่เกิดขึ้น ซึ่งผู้เขียนขอเสนอปัจจัยการเกิด “ลัทธิบูชาสมเด็จพระนเรศวร” ไว้ 2 ปัจจัย ดังนี้


1. ปัจจัยการถ่ายทอดอุดมการณ์จากเบื้องบนสู่เบื้องล่าง

ในส่วนของปัจจัยแรกนี้ จะเป็นการมองภาพความเปลี่ยนแปลงของประวัติศาสตร์การเมืองไทย โดยเฉพาะเรื่องของสถาบันพระมหากษัตริย์ เนื่องจากมีความสัมพันธ์เกี่ยวโยงกับการเกิด “ลัทธิบูชาสมเด็จพระนเรศวร” อันถือเป็นเรื่องของเบื้องบนที่เป็นผู้สร้างอุดมการณ์เรื่อง ความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ขึ้นมา ซึ่งผู้เขียนเห็นด้วยกับข้อเสนอของ ธงชัย วินิจจะกูล เกี่ยวกับเรื่องการฟื้นฟูอำนาจของสถาบันพระมหากษัตริย์ภายหลังการปฏิวัติ พ.ศ.2475 ของคณะราษฎร ที่เริ่มตั้งแต่ช่วง พ.ศ.2490 เป็นต้นมา ดังเห็นได้จากเริ่มมีการรื้อฟื้นพระราชพิธีพืชมงคล การมีพิธีพระราชทานปริญญาบัตร การตั้งวันสำคัญที่เกี่ยวข้องกับราชวงศ์ (ธงชัย 2548, 149) แต่ผู้เขียนกลับไม่เห็นในเรื่องการสถาปนาอำนาจในระบบการเมืองอย่างมั่นคงของสถาบันพระมหากษัตริย์ภายหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ.2516 (151) ทั้งยังไม่มีฐานสนับสนุนจากประชาชนหรือ “ประชานิยม” อย่างแท้จริง

ในทำนองเดียวกันประเด็นเกี่ยวกับเรื่องการฟื้นฟูอำนาจของสถาบันพระมหากษัตริย์ที่เสนอโดยสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล โดยมองผ่านความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมของไทยเป็นหลักได้ชี้ให้เห็นว่า สถาบันพระมหากษัตริย์มีฐานสนับสนุนจากประชาชนอย่างเต็มที่ในช่วงทศวรรษ 2530 เป็นต้นมา อันเนื่องมาจากการเติบโตของชนชั้นกลางในเมือง รวมถึงการมีระบบการเมืองที่รวมศูนย์อำนาจมากขึ้น (สมศักดิ์ 2556, 111-4) ซึ่งข้อเสนอดังที่กล่าวมานี้ ผู้เขียนเห็นว่ามีความสอดคล้องกับช่วงเวลาของการเริ่มก่อตัวของ “ลัทธิบูชาสมเด็จพระนเรศวร” อย่างชัดเจน

ประกอบกับวัฒนธรรมการศึกษาประวัติศาสตร์ของประเทศไทยที่เริ่มในสมัยรัชกาลที่ 5 ที่สอนให้คนไทยเรียนแต่ประวัติศาสตร์แบบราชาชาตินิยมอย่างเดียว โดยมีแกนสำคัญอยู่ที่การผลิตซ้ำความรู้เกี่ยวกับวีรกรรมความสามารถและการสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระมหากษัตริย์ (ธงชัย 2545, 65) ดังนั้นคนไทยจะรับรู้เพียงแต่ด้านดีด้านเดียวของพระมหากษัตริย์ไทย โดยเฉพาะเรื่องราวของสมเด็จพระนเรศวรที่มีถูกกลุ่มคนต่างๆ นำไปใช้เพื่อสนับสนุนความคิดและความชอบธรรมของตน เช่น กรณีที่ชนชั้นนำไทยสมัยรัชกาลที่ 5 นำเรื่องราวการทำสงครามกับพม่าของพระองค์ไปเสนอว่านี้คือ การกอบกู้เอกราชของไทยจากพม่านำไปใช้เพื่อประโยชน์ทางการเมืองคือ การสร้างเอกภาพทางความคิดของตนในสังคมอันเป็นการดึงคนให้รู้สึกถึงการเป็นส่วนหนึ่งของรัฐ (วริศรา 2552, 112-3)

สรุปคือ การถ่ายทอดอุดมการณ์ผ่านการศึกษาประวัติศาสตร์ที่มีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 อันเป็นการสร้างความจงรักภักดีของสถาบันพระมหากษัตริย์ ได้ส่งผลต่อความคิดของคนในสังคมไทยมาโดยตลอด ประกอบกับการที่สถาบันพระมหากษัตริย์ได้ถูกลิดรอนอำนาจภายหลังการปฏิวัติ พ.ศ.2475 และได้เริ่มฟื้นฟูอำนาจของตนตั้งแต่ทศวรรษ 2490 จนประสบความสำเร็จเป็นที่ยอมรับและฐานมวลชนให้การสนับสนุนอย่างมากในทศวรรษ 2530 ก็ยิ่งทำให้ภาพของพระมหากษัตริย์ไทยในอดีตเป็นที่ยอมรับตามไปด้วย

ทั้งนี้เองเมื่อมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตพิษณุโลก ต้องการยกฐานะขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยเอกเทศ ในช่วงทศวรรษ 2530 และได้มีพระบรมราชานุญาติพระราชทานชื่อ “นเรศวร” ให้เป็นนามของมหาวิทยาลัยจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ.2532 (รังสรรค์ 2547, 203) จึงเท่ากับว่ามหาวิทยาลัยได้รับการถ่ายทอดอุดมการณ์ดังที่กล่าวมาจากสถาบันพระมหากษัตริย์แล้ว 


2. ปัจจัยการตอบรับอุดมการณ์ของเบื้องล่างจากเบื้องบน

ดังที่กล่าวในหัวข้อที่ผ่านมา เมื่อเบื้องบนหรือสถาบันพระมหากษัตริย์ได้พระราชทานนามมหาวิทยาลัยว่า “นเรศวร” อันเท่ากับการถ่ายทอดอุดมการณ์สร้างความจงรักภักดีอย่างเป็นทางการ ใน พ.ศ.2532 แต่จากหลักฐานกลับพบว่า มีการริเริ่มที่จะสร้างอนุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมาตั้งแต่ พ.ศ.2531 จึงมีความเป็นไปได้ที่น่าจะมีความต้องการของเบื้องล่าง ซึ่งในที่นี้หมายถึงคนในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลกอยู่ก่อน โดยส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะคนจังหวัดพิษณุโลกมีความผูกพันกับสมเด็จพระนเรศวรจากประวัติศาสตร์ เพราะจังหวัดพิษณุโลกเป็นเมืองที่สมเด็จพระนเรศวรพระราชสมภพและเคยปกครองเมื่อครั้งยังทรงมีพระชนม์ชีพอยู่ด้วยก็เป็นได้

เมื่ออนุสาวรีย์สร้างเสร็จเรียบร้อยและสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชดำเนินมาเป็นประธานเปิดอนุสาวรีย์ในวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ.2536 อันถือเป็นสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัย (143) อนุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรจึงกลายเป็นเครื่องมือที่ใช้สร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของชุมชน (สายพิณ 2538, 55) นั่นก็คือ มหาวิทยาลัยนเรศวร ให้มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และตรงนี้เองที่ผู้เขียนถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการก่อตัวขึ้นของ “ลัทธิบูชาสมเด็จพระนเรศวร” ในหมู่นิสิตมหาวิทยาลัยนเรศวรเป็นต้นมา

การตอบรับของเบื้องล่างที่สำคัญดังที่เห็นได้อย่างชัดเจนของมหาวิทยาลัยนเรศวร เพื่อนิยามตัวตนของตัวเองให้สอดคล้องกับความสำคัญของสมเด็จพระนเรศวร เห็นได้จากการกำหนดให้ตราประจำมหาวิทยาลัยซึ่งมี 2 ตรา โดยตราที่หนึ่งให้มีลักษณะเป็น “พระบรมรูปสมเด็จพระนเรศวรมหาราชในพระราชอิริยาบถประทับนั่ง พระหัตถ์ขวาทรงสุวรรณภิงคารหลั่งทักษิโนทกประกาศอิสรภาพ ตอนล่างพระแท่นประทับมีอักษรชื่อมหาวิทยาลัยนเรศวรอยู่ภายใต้ชายธง” (รังสรรค์ 2547, 235) และตราที่สองให้มีลักษณะเป็น “ช้างศึกอยู่ในโล่กลมโบราณ ตอนล่างมีอักษรชื่อมหาวิทยาลัยนเรศวรอยู่ภายใต้ชายธง” (235) และได้ให้ความหมายว่า

นเรศวร คือ พระนามของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช องค์พระมหากษัตริยาราชเจ้า ผู้ทรงกอบกู้อิสรภาพของชาติไทยให้หลุดพ้นจากความเป็นประเทศราชของพม่าครั้งเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งแรก เมื่อ พ.ศ.๒๑๒๒ ทรงประกอบวีรกรรมกล้าหาญนำชาติให้ก้าวสู่ความเป็นเอกราชเกรียงไกร เทียบเท่านานาอารยประเทศ ทรงเป็นพระมหากษัตริยาธิราชเจ้าที่ทรงมีพระประสูติกาล และทรงพระเจริญวัยที่เมืองพิษณุโลก ทรงเป็นความภาคภูมิใจและความเป็นศักดิ์ศรีของคนเมืองพิษณุโลกและคนไทยทั้งชาติ (235)

นอกจากตราประจำมหาวิทยาลัยแล้ว ก็ยังมีปรัชญาของมหาวิทยาลัยที่ได้นำเอาแนวคิดในเรื่องความสำเร็จในการกอบกู้เอกราชของสมเด็จพระนเรศวรที่ทำให้เกิดอิสรภาพและความเป็นไทมาเสริมสร้างจิตสำนึกของความใฝ่รู้ใฝ่ดีที่ปราศจากอวิชชา (อรอุษา 2552, 312) ความว่า

มหาวิทยาลัยนเรศวร มีอุดมการณ์ มุ่งมั่นที่จะดำเนินตามรอยเบื้องพระยุคลบาทสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ผู้พระราชทานความเป็นไท ความสงบ ความผาสุก แก่ปวงชนชาวไทยมาแล้วในอดีต ดังนั้น มหาวิทยาลัยนเรศวร จึงมุ่งเน้นที่จะสืบสานให้สังคมไทยเป็นไทจากอวิชชา โดยค้นคว้าและสะสมองค์ความรู้เพื่อผลิตบัณฑิตให้มีความเป็นเลิศทางวิชาการ และมีคุณธรรม จริยธรรม เป็นแบบอย่างที่ดีงามในการดำรงชีวิตและสร้างสรรค์สังคมให้เกิดความสงบและสันติสุข มุ่งอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ศิลปะ วัฒนธรรมและประเพณี เพื่อเป็นมรดกของชาติ สืบไป

นอกจากนี้แล้ว มหาวิทยาลัยก็ยังมีการสร้างเครื่องหมายหรือการตั้งชื่อตึกเรียนต่างๆ อันเป็นการผลิตซ้ำเรื่องของสมเด็จพระนเรศวรให้สอดคล้องกับการเรียนและการใช้ชีวิตประจำวันของนิสิต เช่น เครื่องหมายสมเด็จพระนเรศวรที่ให้นิสิตประดับทั้งชาย-หญิง และชื่ออาคารเรียนต่างๆ เช่น อาคารเอกาทศรถ อาคารมหาธรรมราชา อาคารปราบไตรจักร เป็นต้น (ศาสตร์ ราชพฤกษ์ 2014)

จากปัจจัยทั้งสองประการคือ ปัจจัยการถ่ายทอดอุดมการณ์จากเบื้องบนสู่เบื้องล่างและปัจจัยการตอบรับอุดมการณ์ของเบื้องล่างจากเบื้องบน ก็น่าจะทำให้เห็นถึงการกำเนิดขึ้นของ “ลัทธิบูชาสมเด็จพระนเรศวร” ณ ขอบเขตของมหาวิทยาลัยนเรศวรได้บ้างไม่มากก็น้อย และจะเห็นได้ว่าการเกิดขึ้นมาของลัทธินี้มิได้เกิดขึ้นมาเพียงจากการถ่ายทอดของเบื้องบนแต่อย่างเดียว แต่ได้รับการตอบรับจากเบื้องล่างที่นำมาปฏิบัติด้วย

 

รายการอ้างอิง

ดำรงราชานุภาพ, กรมพระยา. 2556. ไทยรบพม่า. กรุงเทพฯ: มติชน.
นิธิ เอียวศรีวงศ์. 2547. “สงครามอนุสาวรีย์กับรัฐไทย.” ใน ชาติไทย, เมืองไทย, แบบเรียนและอนุสาวรีย์ ว่าด้วยวัฒนธรรม, รัฐ และรูปการจิตสำนึก, 83-113. กรุงเทพฯ : มติชน.
ทีมมันกุ้ง(นามแฝง). 2558. “ทหารกล้าพระนเรศ” ผลผลิตซ้ำของประวัติศาสตร์แบบราชาชาตินิยมภายในมหาวิทยาลัย” สืบค้น 4 สิงหาคม 2558. http://www.prachatai.   com/journal/2015/08/60646
ธงชัย วินิจจะกูล. 2548. “ข้ามให้พ้นประชาธิปไตย แบบหลัง 14 ตุลา.” ฟ้าเดียวกัน. 3(4): 142-64.
ธงชัย วินิจจะกูล. 2544. “ประวัติศาสตร์แบบราชาชาตินิยม : จากยุคอาณานิคมอำพราง      สู่ราชาชาตินิยมสมัยใหม่หรือลัทธิเสด็จพ่อของกระฎุมพีไทยในปัจจุบัน.” ศิลปวัฒนธรรม. 21(1): 56-65.
รังสรรค์ วัฒนะ. 2547. อนุทินของการเป็นมหาวิทยาลัยนเรศวร. กรุงเทพฯ : พัฒนาศึกษา.
โรงเรียนพิษณุโลกพิทยาคม. 2542. 100 ปี โรงเรียนพิษณุโลกพิทยาคม 2442-2542.พิษณุโลก : ประชามติ.
วริศรา ตั้งค้าวานิช. 2552. “ภาพลักษณ์สมเด็จพระนเรศวรของราชสำนักไทยสมัยรัตนโกสินทร์ถึงทศวรรษ 2480.” ฟ้าเดียวกัน. 7(3): 92-132.
ศาสตร์ ราชพฤกษ์(นามแฝง). 2557. “แหล่งผลิตปัญญาชนกับการผลิตซ้ำประวัติศาสตร์บาดแผล.” สืบค้น 1 สิงหาคม 2558. http://prachatai.org/journal/2014/09/ 55428
สายพิณ แก้วงามประเสริฐ. 2538. การเมืองในอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี. กรุงเทพ : มติชน.
สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล. 2556. “Mass Monarchy.” ใน ย้ำยุค รุกสมัย : เฉลิมฉลอง 40 ปี 14 ตุลา, 107-118. กรุงเทพฯ : มูลนิธิวีรชนประชาธิปไตย และ คณะกรรมการ 14 ตุลา เพื่อประชาธิปไตยอันสมบูรณ์.
อรอุษา สุวรรณประเทศ. 2552. สมเด็จพระนเรศวรมหาราช พลังขับเคลื่อนเบื้องหลังประชาชาติ. กรุงเทพฯ : มูลนิธิกิ่งแก้ว อัตถากร.
 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net