Skip to main content
sharethis

ผู้อำนวยการภาคพื้นเอเชีย ฮิวแมนไรท์วอทช์ 'แบรด อดัมส์' เรียกร้องให้รัฐบาลไทยสอบสวนข้อร้องเรียนที่ว่าทหารซ้อมทรมานผู้ต้องหาคดีลอบสังหาร พล.อ.ประยุทธ์ - ป่วน "ปั่นเพื่อพ่อ" และเรียกร้องให้ยุติการใช้ค่ายทหารทุกแห่งเป็นที่ควบคุมตัวพลเรือน ชี้การเมินข้อกังวลของสหประชาชาติ-กลุ่มสิทธิมนุษยชน จะทำให้รัฐบาลไทยเข้าใกล้สภาพของรัฐที่นานาชาติไม่ยอมรับ

เมื่อวันที่ 3 ธ.ค. ฮิวแมนไรท์วอทช์ ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่นิวยอร์ก ได้เผยแพร่ใบแถลงข่าวเรียกร้องให้มีการสอบสวนข้อกล่าวหาที่ว่ามีการทรมานโดยกองทัพ และยุติการควบคุมตัวพลเรือนในค่ายทหาร โดยเรียกร้องให้ทางการไทยดำเนินการสอบสวน "โดยทันทีและเป็นไปอย่างยุติธรรม" ทั้งนี้เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุเช่นนี้อีกในอนาคต นอกจากนี้ยังเรียกร้องให้รัฐบาลไทยย้ายพลเรือนที่ถูกควบคุมตัวในพื้นที่ของกองทัพไปยังสถานซึ่งได้รับการรับรองให้ใช้ควบคุมตัวพลเรือนแทน

"การปฏิบัติอย่างทารุณของรัฐบาลไทยต่อพลเรือนที่ถูกควบคุมตัวในค่ายทหารจะต้องถูกยกเลิกทันที" แบรด อดัมส์ ผู้อำนวยการภาคพื้นเอเชียของฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าว "รัฐบาลจำเป็นต้องตอบสนองต่อข้อกล่าวหาเรื่องมีการทรมานเหล่านี้ ด้วยการสอบสวนอย่างจริงจัง แทนที่จะทำเป็นบอกปัดอย่างไม่สนใจ"

กรณีที่เกิดขึ้นนายประธิน (ขอสงวนนามสกุล) อายุ 60 ปี อดีตตำรวจตระเวนชายแดน คือกรณีล่าสุดที่ถูกปฏิบัติอย่างทารุณในค่ายทหาร ประธินบอกกับทนายของเขาว่า หลังจากที่ถูกทหารจับกุมเขาที่ จ.ขอนแก่น เมื่อ 21 พ.ย. ที่ผ่านมา เขาถูกนำตัวไปขังที่ค่ายทหารในพื้นที่เป็นเวลา 2 วัน ก่อนที่จะถูกส่งไปยังค่ายทหารอีกแห่งที่ไม่ระบุสถานที่ เขากล่าวว่า เจ้าหน้าที่ในกองทัพซึ่งทำหน้าที่สบสวน ได้ตบหน้าและเตะที่ขาของเขา เพื่อเอาข้อมูล และบังคับให้สารภาพว่า ทำผิด ม.112 ประมวลกฎหมายอาญา หรือ ข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ นอกจากนี้ยังให้รับสารภาพว่าร่วมวางแผนต่อต้าน คสช. โดยกองทัพกล่าวหาว่าประธินต้องการลอบสังหาร พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และก่อวินาศกรรมงาน "ปั่นเพื่อพ่อ" ที่จะจัดในวันที่ 11 ธ.ค. นี้เพื่อเฉลิมพระเกียรติวันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

ประธินระบุว่า ในระหว่างที่อยู่ในค่ายทหาร เจ้าหน้าที่ปิดตาเขา และไม่อนุญาตให้ติดต่อกับโลกภายนอก เขาทราบว่าตัวเขาเองอยู่ที่ไหนเมื่อกองทัพส่งตัวเขาให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจในวันที่ 26 พ.ย. ทั้งนี้เจ้าหน้าที่นำตัวประทินไปรวมกับผู้ต้องหาคนอื่นที่ถูกกล่าวหาในคดีเดียวกัน คือณัฐพล ณวรรณ์แล อายุ 26 ปี เพื่อนำมาแถลงข่าวต่อหน้ากล้องของสื่อมวลชน

โดยศาลทหารกรุงเทพฯ ได้สั่งให้นำตัวบุคคลทั้ง 2 ไปควบคุมตัวที่เรือนจำชั่วคราวภายในมณฑลทหารบกที่ 11 (มทบ.11) ในกรุงเทพฯ ที่ซึ่งประธินได้รับอนุญาตให้พบกับทนายความเป็นระยะเวลาสั้นๆ เพียงครั้งเดียว ทั้งนี้เขาถูกนำไปยังห้องประชุมทั้งที่เขาถูกคลุมหัว มือและเท้าถูกมัด และมีเจ้าหน้าที่ทหารคอยเฝ้าอยู่

ทั้งนี้ฮิวแมนไรท์วอทช์ และคณะกรรมการนิติศาสตร์สากล (ICJ) ได้ยื่นจดหมายถึงรัฐบาลไทยไปแล้วเมื่อวันที่ 24 พ.ย. โดยแสดงความกังวลอย่างยิ่งต่อสภาพภายใน มทบ.11 ภายหลังจากการเสียชีวิตระหว่างถูกควบคุมตัวของ สุริยัน สุจริตพลวงศ์ หรือ "หมอหยอง" และ พ.ต.ต.ปรากรม วารุณประภา ซึ่งทั้งสองคนถูกฟ้องในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ในวันเดียวกัน สำนักงานภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติ (OHCHR) ก็เรียกร้องให้ปิดเรือนจำชั่วคราวภายใน มทบ.11 และเรียกร้องให้มีการสอบสวนที่เป็นอิสระต่อกรณีความตายดังกล่าว

ในใบแถลงข่าวของฮิวแมนไรท์วอทช์ ระบุด้วยว่า รัฐบาลเองก็ปฏิเสธข้อเสนอของมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ซึ่งเป็นกลุ่มสิทธิมนุษยชนที่ต้องการเข้าไปเยี่ยมผู้ถูกควบคุมตัวและตรวจสอบสภาพภายใน มทบ.11 และพื้นที่ควบคุมตัวของกองทัพแห่งอื่นๆ นอกจากนี้รัฐบาลเองก็ไม่สามารถให้ข้อมูลที่หนักแน่นและน่าเชื่อถือต่อข้อกล่าวหาว่ามีการทรมานและการละเมิดอื่นๆ ภายในสถานที่ควบคุมตัวของกองทัพ

ความเสี่ยงของการถูกทรมานและกรณีละเมิดอื่นๆ เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญเมื่อผู้ถูกควบคุมตัวอยู่ในสถานที่ควบคุมตัวของกองทัพในสภาพที่ไม่สามารถติดต่อได้ ทั้งนี้นับตั้งแต่รัฐประหารในเดือนพฤษภาคมปี 2557 คสช. ได้ควบคุมตัวบุคคลนับร้อย ทั้งนักการเมือง นักกิจกรรม สื่อมวลชน ผู้ถูกกล่าวหาว่าสนับสนุนรัฐบาลชุดที่ถูกโค่นล้มลง ผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าไม่เคารพสถาบันพระมหากษัตริย์ หรือร่วมในกิจกรรมต่อต้าน คสช. โดยผู้คนเหล่านี้จำนวนมากถูกควบคุมตัวอยู่ในค่ายทหาร ในสภาพที่ไม่สามารถติดต่อบุคคลภายนอกได้ โดยพวกเขาถูกสอบสวนในสภาพที่ไม่มีมาตรการปกป้องว่าพวกเขาจะไม่ถูกทรมานและมาตรการปฏิบัติที่เลวร้ายอื่นๆ

อดัมส์กล่าวด้วยว่า "การใช้สถานที่ควบคุมตัวในค่ายทหารของรัฐบาลไทยเป็นปัญหาเลวร้ายที่ควรยุติลงทันที" เขากล่าวต่อไปว่า "ความล้มเลวของรัฐบาลไทย ที่จะเอาใจใส่ต่อ สหประชาชาติและกลุ่มสิทธิมนุษยชนที่กังวลว่า 'พลเมืองอยู่ในความเสี่ยงที่จะถูกละเมิดอย่างร้ายแรงเมื่อถูกควบคุมตัวในค่ายทหาร' แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลทหารกำลังพาประเทศไทยไปสู่สภาพของรัฐบาลที่จะถูกนานาชาติคว่ำบาตร"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net