Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ผมได้ฟัง อ.เบน แอนเดอร์สัน บรรยายเรื่องกลุ่มภาษาพูดจีนในไทยหายไปไหนกันบ้างที่สยามสมาคมเมื่อวันที่ 17 มีนาคมนี้ ทำให้ผมปะติดปะต่อความคิดของอ.เบนว่าด้วยเรื่องชาติ(นิยม) ชาติพันธุ์และอัตลักษณ์ได้กระจ่างขึ้น โครงเรื่องทั้งหมดผมคิดว่าอธิบายความเป็นมาและความคิดทางวิชาการอันไม่ธรรมดาของเขาได้ค่อนข้างดี บทนำต่อไปนี้จึงเป็นการพยายามทำความรู้จักและเข้าใจครูเบนจากประสบการณ์ชีวิตและครอบครัวของเขาเอง ซึ่งมีอิทธิพลต่อแนวความคิดและการทำงานวิชาการแบบ”จระเข้ขวางคลอง”ของเขาเรื่อยมา

ในบทความเรื่อง “Selective Kinship” (The Dublin Review, 10, Spring 2003) เบนจบบทความเรื่องโครงกระดูกในตู้ของเขาและครอบครัวแอนเดอร์สันด้วยการถามว่า ประการแรกเขาได้อะไรจากการเขียนพรรณนาเสียยาวยืด สอบค้นหาสาแหรกและวงศาคณาญาติย้อนกลับไปนับได้สามร้อยปี(ไม่น่าเชื่อ)ของบรรพบุรุษสายพ่อในไอร์แลนด์ คำถามคือทำแล้วได้อะไร  คำถามประการที่สองคือเขาจินตนาการตัวเองเป็นคนไอริชอย่างไร  ต่อคำถามแรกเขาตอบว่าเขาใช้วิธีการบุพกาลของการคัดสรรและสร้างนิยายให้กับวงศาคณาญาติ(primitive spirit of fictive and selective kinship) อันเป็นวิธีการเก่าแก่ที่มักกระทำกันมา ด้วยการย้อนกลับไปค้นหาแล้วสร้างสาแหรกของญาติโกโหติกาแต่หนหลัง เพื่อจะได้มาทำความรู้จักกับตัวเองในปัจจุบันนี้ วิธีการดังกล่าวซึ่งนักมานุษยวิทยา(ตะวันตก)มักนำไปใช้กับชุมชนบุพกาลในโลกที่สาม ก็กระทำไปด้วยการเลือกสรรและตบแต่งเรื่องราวเสียใหม่โดยนักมานุษยวิทยาเอง ดังนั้นเบนจึงกล่าวไว้ด้วยว่าในเรื่องโครงกระดูกในตู้ของเขาก็ทำแบบอัตวิสัยคือคัดเลือกตบแต่งโคตรเง่าและความเป็นมาให้ต้องตามอัธยาศัยของเขา บรรพบุรุษคนไหนที่เป็น “ดาวเด่น”ก็พูดถึงและให้น้ำหนักมากหน่อย ส่วนคนที่เป็น “ดาวร้าย”ก็พูดถึงน้อยหรือตัดให้สั้นลง

แต่ทั้งหมดนั้นไม่ใช่จุดหมายสำคัญอะไรของการรื้อสร้างวงศ์ตระกูลโอ’กอร์แมน-แอนเดอร์สันของเขาขึ้นมา ที่เป็นจุดหมายและอุดมคติของเขาเองในเรื่องนี้ ซึ่งนำไปสู่คำตอบในคำถามข้อที่ ๒ นั่นคือการตัดสินใจเลือกถือสัญชาติไอร์แลนด์ แล้วโยนทิ้งสัญชาติอังกฤษไป ได้แก่การทำให้เขารู้จักและตระหนักถึงอัตลักษณ์และตัวตนของเขาเอง ว่ามีความเป็นมาจากการเกิดและเติบโตมาในสองชุมชนพลัดถิ่นในไอร์แลนด์และอังกฤษ (diaspora) ได้ตระหนักถึงความผูกพันและพันธะกิจทางการเมือง(political commitments) ของคนในครอบครัว บ่มเพาะและสร้างอุดมการณ์ของการปลดปล่อยมนุษย์(human emancipation)ในตัวเขาขึ้นมา และท้ายสุดคือคติว่าด้วยลัทธิชาตินิยมที่เป็นพลังด้านบวกที่เป็นความหวังสำหรับอนาคต (enlightened nationalism) นี่คือหัวใจในงานวิชาการและการเคลื่อนไหวทางวิชาการของเขามาโดยตลอด

เบน แอนเดอร์สันเป็นหนึ่งในผู้คนจำนวนมากขึ้นเรื่อยในโลกยุคสมัยใหม่ที่ใช้ชีวิตส่วนใหญ่นอกบ้านเกิดเมืองบิดร กรณีของเขายิ่งซับซ้อนมากขึ้นเพราะแม้บ้านเกิดจริงๆก็ไม่ใช่เมืองบิดรคือไอร์แลนด์ หากแต่เป็นเมืองและประเทศที่ห่างไกลและไม่มีความผูกพันกันกับบ้านเดิมเลยแม้แต่น้อย นอกจากเหตุผลและความเกี่ยวพันกันทางเศรษฐกิจการเมืองทุนนิยมและลัทธิจักรวรรดินิยม นั่นคือในเมืองคุนหมิงประเทศจีน เนื่องด้วยบิดาของเบนได้งานทำกับสำนักศุลกากรทางทะเลในจีน (the Imperial Maritime Customs Service of China) เพราะว่าปู่ซึ่งเกิดในสิงคโปร์เคยเป็นนายพลทหารในกองทัพบริติช เคยนำกำลังทหารบุกยึดเมืองมัณฑะเลย์แล้วมาประจำในมลายาของอังกฤษ บิดาของเบนจึงถือกำเนิดในเมืองปีนังในปี 1893 แล้วกลับไปโตในเมืองวอเตอร์ฟอร์ดอันเป็นภูมิลำเนาของตระกูล ต่อมาพ่อเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ แต่สอบตกในปีแรกเลยถูกรีเไทร์ออก ทำให้ตัดสินใจออกไปหางานทำ เมื่อลุงของพ่อซึ่งเป็นอดีตนายพลกองทัพเรืออังกฤษซึ่งเคยถูกส่งไปประจำการอยู่ในฮ่องกงเพื่อรักษาเกาะนั้นเอาไว้จากข้าศึก ยื่นมือมาช่วยด้วยการส่งให้พ่อเขาไปทำงานกับสำนักงานศุลกากรทางทะเลของจีน ซึ่งเจ้าหน้าที่หลักๆเป็นคนอังกฤษ  พ่อของเบนเลยตั้งรกรากในฮ่องกงในตำแหน่งนายด่านศุลกากร  อันเป็นกิจการใหญ่ของการค้าที่อังกฤษบีบบังคับให้จีนเปิดประเทศและเมืองท่าแก่ทุนนานาชาติ  พ่อครูเบนทำงานในดินแดนของจีนถึง 20 ปีก่อนแต่งงานกับแม่ครูเบน ก่อนหน้านั้นบิดาได้แต่งงานกับสตรีนักเขียนชาวอังกฤษชื่อสเตลลา เบนสัน (Stella Benson) ทั้งสองพำนักในฮ่องกง ซึ่งพ่อของเบนไม่ชอบเกาะนั้นเลยเพราะไร้รสนิยม เมื่อได้โอกาสจึงย้ายไปทำงานที่คุนหมิง ยูนนาน ในปี 1920 จากนั้นภรรยาคนแรกเสียชีวิต ในปี 1935 พ่อกลับมาเยี่ยมบ้านในไอร์แลนด์แล้วไปพบแม่ของเบนซึ่งเป็นคนอังกฤษในกรุงลอนดอน ทั้งสองแต่งงานแล้วเดินทางไปพำนักในคุนหมิง ปีรุ่งขึ้นเบนก็ถือกำเนิดโดยมีพี่เลี้ยงหรืออาม่าชื่อตี้ไฮ (Ti Hai) เป็นสาวเวียดนาม เบนเล่าว่าภาษาแรกที่เขาพูดในวัยเด็กคือเวียดนาม

อาจด้วยคุ้นเคยกับสภาพแวดล้อมสังคมเอเชียแต่เล็ก พ่อของเบนเรียนภาษาจีนและชอบภาษาทำให้มีความสามารถในภาษาจีน รวมทั้งยังชอบคนจีนสามัญชนด้วย ในขณะที่แม่ก็มีตี้ไฮเป็นเพื่อนสนิทในบ้าน เบนจึงโตมาในบ้านและคนที่ชื่นชอบในความเป็นเอเชีย ระหว่างนั้นครอบครัวก็เดินทางกลับไปเยี่ยมบ้านในไอร์แลนด์และอังกฤษ กระทั่งสงครามโลกและการรบในมหาสมุทรแปซิฟิกเกิดขึ้น ครอบครัวแอนเดอร์สันตัดสินใจเดินทางกลับไอร์แลนด์ อันเป็นบ้านฝ่ายพ่อ เพราะสุขภาพของพ่อไม่ดีและป่วย กับการเกิดสงครามในภาคฟื้นแปซิฟิก แต่แล้วก็ไปติดอยู่ในรัฐแคลิฟอร์เนียและเมืองเด็นเวอร์รัฐโคโรลาโด สหรัฐฯ ไม่อาจเดินทางต่อไปถึงยุโรปได้เพราะภาวการณ์สงครามห้ามไม่ให้พลเรือนเดินทางทะเล การเดินทางกลับไปเยี่ยมบ้านกลายเป็นการผจญภัยไป ในปี 1943 ครอบครัวต้องเดินทางผ่านทางสหรัฐฯเพื่อไปยังอังกฤษ และในสหรัฐฯนี่เองที่เบนมีประสบการณ์ของการเป็นคน “กลุ่มน้อย” ไปเพียงเพราะภาษาที่เขาพูดและใช้ในการสื่อสารนั้นไม่ตรงและเป็นแบบฉบับเดียวกับของเพื่อนๆนักเรียนส่วนใหญ่ด้วยกัน เบนเจอประสบการณ์ดังกล่าวครั้งแรกเมื่อเขากับน้องชายคือรอร์รี่(หรือเพอร์รี่ในชื่อทางการ)ไปเข้าโรงเรียนประถมในสหรัฐฯ เขากับน้องถูกนักเรียนอเมริกันล้อว่าเป็น “เด็กอังกฤษ” เพราะสำเนียงไม่ใช่อเมริกันแน่นอน   

หลังสงครามโลกยุติครอบครัวกลับไปไอร์แลนด์ เขากับน้องชายก็เข้าโรงเรียนไอริช คราวนี้ถูกเพื่อนักเรียนไอริชล้อว่าสำเนียงเขาเป็นแบบ “อเมริกัน” ไม่ใช่ไอริชแท้  สุดท้ายเมื่อเขาเข้าไปเรียนในอังกฤษ ก็ถูกหัวเราะเยาะว่าสำเนียงเขาเป็น”ไอริช” ไม่ใช่อังกฤษแท้ ตกลงเบนกลายเป็นคนสามสัญชาติไปคือเป็นอังกฤษ อเมริกันและไอริช แล้วแต่ว่าจะตกไปอยู่ในบริบททางสังคมอะไร ประสบการณ์ของการมีหลายสัญชาติทำให้เขาคุ้นเคยกับพหุนิยมทางวัฒนธรรมมากกว่าการเป็นเอกนิยมทางวัฒนธรรม และทำให้เขาเชื่อว่าคนส่วนใหญ่ล้วนมีอัตลักษณ์ของพหุนิยมทางวัฒนธรรมมากกว่าการเป็นอะไรเพียงชาติเดียว นี่เองที่ทำให้เขาเกาะติดประเด็นอัตลักษณ์ความเป็นจีนของคนรุ่นใหม่ในประเทศอุษาคเนย์ได้ว่ามีอิทธิพลและความเป็นมาอันยาวนาน ในขณะที่การเกิดและสร้างลัทธิชาตินิยมของแต่ละประเทศนั้นเป็นจินตนากรรมใหม่และสั้นกว่ามาก

ในที่สุดครอบครัวก็เดินทางกลับไปยังเมืองวอเตอร์ฟอร์ดในไอร์แลนด์ ที่นั่นแม่ของเบนวางแผนให้ลูกชายสองคนเข้าโรงเรียนที่เตรียมตัวสอบทุนต่อไป เนื่องจากครอบครัวไม่มีรายได้อื่นใดนอกจากเงินบำนาญของพ่อเท่านั้น ทั้งเบนและเพอร์รี่ไม่ทำให้แม่เสียใจ เพราะสามารถสอบได้ทุนเข้าโรงเรียนอีตันอันเป็นโรงเรียนรัฐบาลที่โด่งดังสำหรับชนชั้นนำได้ จากนั้นเบนก็สอบเข้ามหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ เขาเลือกเรียนวิชาคลาสสิก ไม่ใช่รัฐศาสตร์หรือเศรษฐศาสตร์ที่ลูกหลานชนชั้นนำมักเข้าไปเรียนกัน 

หากประมวลจากสาแหรกทั้งฟากบิดาและมารดา ต้องกล่าวว่าบรรพบุรุษของเบนจัดอยู่ในชนชั้นสูงและกลาง สายบิดาที่มาจากยายถือสกุลโอ’กอร์แมนมีนายทหารในกองทัพจักรวรรดิบริติช เป็นสมาชิกกลุ่มไอริชต่อต้านคือ United Irishmen เป็นขุนนางคาทอลิกที่ใกล้ชิดกับสันตะปาปาจนได้รับแหวนทองคำและกล่องใส่ยาเส้นเป็นของขวัญจากโป๊ป มีคนที่เป็นสมาชิกกบฏที่ร่วมการปฏิวัติในยุโรปปี 1848 ที่เลื่องชื่อแล้วต้องหลบหนีไปต่างประเทศ สุดท้ายมีคนที่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ประวัติของตระกูลโอกอร์แมนที่เบนอยากจำคือการเป็นนักสู้ชาตินิยมไอริช  ที่ไม่อยากจำคือคนที่รับใช้จักรวรรดิอังกฤษ  ส่วนบรรพบุรุษสายมารดาที่เป็นอังกฤษ ส่วนมากเป็นพ่อค้านักธุรกิจ ผู้พิพากษาและตำรวจ มีลุงคนหนึ่งเคยเดินทางไปถึงเอเชียกลางและกลับมาเขียนเป็นหนังสือ กล่าวโดยรวม เบนไม่อาจจินตนาการถึงตัวเขาเองว่าเป็นอังกฤษได้เลย

ชาตินิยมและพลังของการสร้างอนาคตและความหวังให้แก่คนรุ่นใหม่ค่อยๆก่อรูปขึ้นในความคิดและการปฏิบัติของเบน เริ่มจากการตัดสินใจไปเรียนต่อระดับปริญญาเอกในมหาวิทยาลัยคอร์แนล สหรัฐฯ กับศาสตราจารย์จอร์จ เคฮิน ผู้มีชื่อเสียงในเรื่องการปฏิวัติและลัทธิชาตินิยมอินโดนีเซีย อาจารย์จอร์จ เคฮินเพิ่งก่อตั้งโครงการอินโดนีเซียศึกษาในสถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยคอร์แนล จากนั้นเบนออกภาคสนามในอินโดนีเซียจากปี 1961-64  ที่นั่นเขาได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของอุษาคเนย์ในอินโดนีเซีย ได้สัมผัสกับการเมืองของอุษาคเนย์ด้วยตนเอง หัวข้อวิทยานิพนธ์ของเขาคือ Java in Time of Revolution สะท้อนความคิดทางการเมืองของเขาในระยะนั้น ในขณะที่ด้านหนึ่งเขาปฏิเสธฮอลันดาที่เป็นเจ้าอาณานิคม เขาก็ยินดีและให้ความหวังแก่การปฏิวัติของโลกที่สาม ในปี 1964 เบนสละสัญชาติบริติชแล้วไปใช้สัญชาติไอริชแทน

จากที่กล่าวมาทั้งหมด แนวคิดและอุดมคติที่มีอิทธิพลต่อเบน แอนเดอร์สันมากที่สุดได้แก่ลัทธิชาตินิยม แต่เขาก็ตระหนักถึงอิทธิพลด้านลบของมันเช่นกัน ดังที่เขาได้กล่าวว่า “คนมักเข้าใจมันผิดๆเสมอ  ความเข้าใจผิดประการแรกได้แก่ ความคิดและความเชื่อที่ปลูกฝังกันมานาน ว่าชาตินิยมนั้นเป็นของเก่าที่มีมานานที่คนรุ่นปัจจุบันได้รับมรดกมาจาก บรรพบุรุษที่วิเศษยิ่ง (absolutely splendid ancestors) ดังนั้นมันจึงเป็นเหมือนสิ่งธรรมชาติ ที่เกิดมาจากเลือดและเนื้อของเราแต่ละคน  แท้จริงแล้วลัทธิชาตินิยมไม่ใช่ของเก่าแก่อะไรเลย มันเป็นของใหม่ อย่างมากก็แค่สองศตวรรษนี้เท่านั้นเอง คำประกาศเอกราชของสหรัฐอเมริกาในปีค.ศ. 1776 ก็ไม่ได้พูดสักคำถึงบรรพบุรุษ ยิ่งกว่านั้นยังไม่ได้กล่าวถึง"ชาวอเมริกัน"เองอีกด้วย คำประกาศเอกราชของอินโดนีเซีย ซึ่งซูการ์โนและฮัตตาแถลงในวันที่ 17 สิงหาคม คศ.1945 ก็เหมือนกัน ในทางตรงกันข้าม ความคลั่งใคล้ในการแสวงหา "บรรพบุรุษที่วิเศษยิ่ง" ต่างหากที่นำไปสู่การเกิดความเชื่ออันเหลวไหลต่างๆ และในหลายกรณีเป็นความเหลวไหลที่อันตรายอย่างยิ่งด้วย”

ดังนั้นชาตินิยมจึงไม่ใช่เป็นมรดกตกทอดมาจากบรรพบุรุษในอดีตอะไรเลย  หากแต่เป็น”โครงการร่วมกัน”(“common project”) สำหรับปัจจุบันและก็สำหรับอนาคตด้วย  โครงการที่ว่านี้เรียกร้องต้องการการเสียสละของตนเอง ไม่ใช่การเสียสละของคนอื่นๆ  ด้วยเหตุนี้เองที่ผู้ก่อกำเนิดขบวนการเอกราชทั้งหลายจึงไม่อาจคิดได้ว่าพวกเขามีสิทธิในการฆ่าคนอินโดนีเซียอื่นๆได้ หากแต่กลับเป็นว่าพวกเขารู้สึกถึงหน้าที่ในการมีความกล้าหาญที่จะถูกจับกุมคุมขัง ที่จะถูกทุบตีและถูกเนรเทศ เพื่อเห็นแก่ความสุขและเสรีภาพในอนาคตของเพื่อนร่วมชาติอื่นๆต่อไป

กล่าวย้ำอีกครั้ง “ลัทธิชาตินิยมที่แท้จริงต้องเรียกร้องการเสียสละของตนเอง ไม่ใช่ไปเรียกร้องให้คนอื่นเสียสละ”

ใครที่เคยได้พบและเสวนากับครูเบนมา คงได้ความประทับใจและบางครั้งอาจหงุดหงิดในอารมณ์ จากคำถามและการซักไปถึงการเปรียบเปรยคำตอบกับเรื่องคล้ายๆกันแต่เกิดในที่อื่นๆหรือเวลาอื่นของเบน  เขาเป็นคนที่ช่างคิดและช่างถามที่ยอดเยี่ยมที่สุดที่เคยเจอมา จนในที่สุดทำให้สรุปได้ว่า การเรียนนั้นแท้ที่จริงแล้วคือการคิด ไม่ใช่การท่องหรือการจำ แต่ก็รู้ว่าการคิดและถามนั้นเอาเข้าจริงๆแล้วยากยิ่งกว่าการสอนให้จำหรือเข้าใจเสียอีก เพราะมันสอนไม่ได้ เรียนพิเศษก็ไม่ได้ หากต้องลงมือปฏิบัติแบบด้นสดๆ หัดคิดหัดถามไปทุกวันทุกเวลาที่มีโอกาส และแทบทุกเรื่องอย่างไม่จำกัดหรือมีข้อแม้อันใด แน่นอนว่าข้อคิดและคำวิพากษ์สังคมไทยที่เบนได้นั้น หลายเรื่องมาจากคนนอกวงการวิชาการหรือนักคิดนักเขียนของไทย  เช่นคนขับแท็กซี่ แม่ค้า คนขับมอเตอร์ไซ แม่บ้านและ ฯลฯ เบนเชื่อว่าคนที่มีการศึกษาในระบบ มักเป็นพวกที่มีอคติและคับแคบอย่างยิ่งเบนจึงเป็นนักการศึกษานอกโรงเรียนและนอกห้องเรียนที่แหลมคมและทำงานทางความคิดตลอดเวลาไม่มีการหยุด 

แม้ว่างานศึกษาเรื่องไทยคดีของเบนจะยอดเยี่ยมและเป็นหมุดหมายสำคัญในไทยศึกษาตลอด 3 ทศวรรษที่ผ่านมาและคงต่อไปอีกหลายทศวรรษก็ตาม ผมยังคิดว่างานศึกษาของเบนในหลายประเทศในอุษาคเนย์ยังมีความโดดเด่นและแหลมคมไปถึงการนำเสนอข้อคิดและวิธีวิทยาของเขาที่สามารถตั้งคำถามใหม่ๆให้กับประวัติศาสตร์การเมืองได้อย่างไม่น่าเชื่อ งานช่วงหลังของเขาที่เปิดมิติและแนวคิดใหม่ล้ำยุคคือการศึกษาประวัติภูมิปัญญาของนักคิดนักเคลื่อนไหวชาตินิยมฟิลิปปินส์รุ่นบุกเบิกของโฮเซ ริซัลกับสหาย ในเรื่อง Under Three Flags: Anarchism and the Anti-Colonial Imagination (Verso, 2005) เล่มนี้เบนใช้แนวการศึกษาอย่างสหวิทยาการ ไม่ว่านิรุกติศาสตร์ ภาษาศาสตร์ ปรัชญา ประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ รัฐศาสตร์ไปถึงมานุษยวิทยา อย่างละเอียดพิสดารและลึกซึ้งชวนอ่านและคิดตามอย่างฉงนสนเท่ห์ว่าเขาคิดแล้วเขียนมันออกมาได้อย่างไร  ผมจึงคิดว่าหากจะเข้าใจและปฏิบัติอย่างที่ครูเบนได้กระทำไว้ในวงการวิชาการและสังคมศาสตร์ เราคงต้องหัดศึกษาอย่างเปรียบเทียบและก้าวให้พ้นลัทธิบรรพบุรุษ ทรรศนะคับแคบและการมุดหัวอยู่แต่ในโลกกะลาเท่านั้น  แต่เหนือสิ่งอื่นใดเราจักต้องมีความศรัทธาและเชื่อมั่นในการปลดปล่อยมนุษยชาติและพลังอันเป็นแสงสว่างด้านบวกของชาตินิยม ดังที่ครูเบนได้ปฏิบัติมาให้ได้.

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net