Skip to main content
sharethis

“อย่างน้อยก็ไม่อยากให้ลืมว่าเกิดอะไรขึ้นที่นี่ แต่ความคาดหวังที่ใหญ่กว่านั้นคืออยากจะให้คนที่กระทำกับประชาชนเค้าได้รับโทษบ้าง”

<--break- />

 

19 พ.ค.2559 ครบ 6 ปีการสลายการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงเมื่อปี 2553 ซึ่งมีผู้เสียชีวิตสูงที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยใหม่ ทุกๆ ปี สี่แยกราชประสงค์กลายเป็นพื้นที่นัดหมายในการรำลึก ปีนี้เป็นปีที่ 2 หลังการรัฐประหาร ไม่มีเจ้าภาพ ไม่มีการนัดหมายใดๆ จากใคร แต่พื้นที่สี่แยกราชประสงค์ในช่วง 17.30 น.ก็ยังคงมีการรวมกลุ่มประชาชนสวมเสื้อปกติบ้าง เสื้อแดงบ้าง ร่วม 200 คน พวกเขานำเศษผ้าชิ้นเล็กๆ ไปผูกตามเสา ตามป้าย นำดอกไม้แดงไปวาง บ้างแขวนห้อย มีการร่วมกันร้องเพลง และประชาชนธรรมดาลงไปนอนแสดงสัญลักษณ์พร้อมตะโกนว่า “ที่นี่มีคนตาย” กันซ้ำๆ พวกเขาจับกลุ่มคุยกันเองอย่างเมามัน ก่อนที่จะมีกิจกรรมจุดเทียนปิดท้าย และทุกคนก็ทยอยสลายตัว

ในบรรดาผู้เข้าร่วม ประชาไทสุ่มพูดคุยกับผู้เข้าร่วมกิจกรรมว่า ทำไมต้องมารำลึก ทำไมจึงไม่ลืม พวกเขาต้องการอะไร และกลัวไหมที่ออกมาชุมนุมเกิน 5 คนในยุคของ คสช.

บังอร  แซ่เหลียง

“ป้าเนี่ยเป็นส่วนหนึ่งในเหตุการณ์ ที่ต้องมาเห็นว่าพี่น้องของป้าตายที่นี่ 

“6 ปีแล้ว แต่ป้าก็ยังมารำลึกให้แก่ดวงวิญญาณของเพื่อนๆ ที่ตายไป ให้ได้รับรู้ว่าพวกพี่น้องประชาชนยังต่อสู้เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยให้แก่พี่น้องที่ถูกยิงตายที่นี่”

“ที่ออกมาวันนี้ก็ไม่กลัว ไม่น่าจะมีอะไรร้ายแรง เพราะแค่ออกมารำลึกให้กับเพื่อนๆ ที่ตายไปเท่านั้น ไม่ได้ทำอะไรเสียหายนี่นามันจะผิดได้ยังไงเพราะแค่ออกมาเรียกร้องความถูกต้องให้กับพี่น้องที่ถูกฆ่าไป”

ถามว่าทำไมถึงลงไปนอนที่พื้นระหว่างทำกิจกรรม

“เพื่อนป้าตายกันเยอะแยะที่นี่ ป้าก็แสดงเป็นตัวแทนของพี่น้องป้าที่ถูกฆ่าตายไปให้คนได้เห็น วันนั้นป้าก็เห็นว่าเขานอนกันแบบนี้ ที่ตรงนี้ อยากให้เห็นและเข้าใจว่ามันเป็นภาพที่แย่ขนาดไหนก็เท่านั้น”

 

หลง อายุ 60 ปี

"เมื่อถึงวาระ ยังไงๆ ป้าก็ต้องออกมาไว้อาลัยให้กับลูกหลานของป้าที่นี่"

"กิจกรรมอย่างวันนี้ เราจะทำต่อไปเรื่อยๆ เราจะทำไปจนกว่าประชาธิปไตยของเราจะได้มาเพื่อให้กับคนที่ตาย

“คนที่ตายเขาออกมาต่อสู้ก็เพื่อหวังว่าจะได้ชมประชาธิปไตย เราก็มาเพื่อจะบอกเขาว่าไม่ได้ทิ้งกันไปไหน"

"กลัวมั้ย? ความกลัวมันหมดไปแล้วล่ะลูก เราไม่ได้ออกมาทำในสิ่งที่มันไม่ดี เราแค่ออกมาไว้อาลัยให้แก่ลูกหลาน”
 

- - - - - - - - - - - -

กมลรัตน์ อายุ 68 ปี (ไม่อนุญาตให้ถ่ายรูป)

"ไม่ลืม กี่ปีกี่ปีก็ไม่มีทางลืม ที่เรามาเพราะเราเคยร่วมทุกข์ร่วมสุขกันกับเหล่าวีรชนที่เสียชีวิต"

"วันที่เกิดเหตุป้าก็อยู่ที่นี่ มาจากบ้านที่อ่างทอง ตอนนั้นวิ่งหนีไปกับเพื่อนๆ ไปแอบอยู่ที่วัดปทุม"

"ป้าเองมาวันนี้ก็ไม่ได้มีความหวังที่จะให้ใครมาเห็นอะไรอีกแล้ว เราก็มาระลึกในแบบของเรา มารำลึกถึงพี่น้องของเรา”

“ใครจะเห็นว่าเราบ้าหรืออะไรก็ไม่สนใจแล้ว เพราะยังไงก็ต้องมา ถึงปีก็ต้องมา และจะทำต่อไปเรื่อยๆ จนกว่าเราจะได้ประชาธิปไตยที่แท้จริง"

"ไม่กลัว ไม่เคยกลัวเลย วันนั้นป้าอยู่ที่หน้าเวทีก็ไม่กลัวแล้ว  พูดได้เลยว่าเหมือนกับยอมตายแล้ว ป้าอยู่มาจนถึงป่านนี้ ครึ่งหนึ่งของชีวิตแล้ว”

“ยอมตายเพื่อให้ลูกหลานเรา ให้ประเทศชาติของเราเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง ป้าไม่กลัวแล้ว เราอยู่กันโดยคนอื่นหลอกลวงมาตลอด เราก็คงต้องทำเพื่อลูกหลานบ้าง"

"ป้าอยู่อ่างทอง วันนี้ออกจากบ้านมาตอน 3 โมง ช่วงปี 53 นั้นป้าก็ออกมาอยู่ที่นี่เป็นเดือน เพราะว่าปลดเกษียณแล้ว 

ไม่มีลูกหลาน ไม่มีแฟน ก็ออกมาได้ สบายๆ"

"ตอนแรกมาก็ไม่รู้จักใคร มาคนเดียวแล้วมารวมกันที่นี่ พอเขาสลายการชุมนุมครั้งแรกก็กลับบ้านไป แต่สุดท้ายก็เข้ามาอีก พร้อมเพื่อนๆ ที่รวมตัวกันในอ่างทอง ตอนนี้มีอะไรก็ติดต่อ ช่วยเหลือกัน วันนี้ก็เหมารถมากัน 5-6 คน ครั้งก่อนๆ เวลามีอะไรก็จะชักชวนกันมา"

 


(ขวามือ)

อ๋อย อายุ 59 ปี

“อย่างน้อยก็ไม่อยากให้ลืมว่าเกิดอะไรขึ้นที่นี่ แต่ความคาดหวังที่ใหญ่กว่านั้นคืออยากจะให้คนที่กระทำกับประชาชนเค้าได้รับโทษบ้าง”

“พี่ไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ในวันนั้น เพราะเข้าปิดไม่ให้เข้ามาแล้วแต่พี่ก็พยายามติดตามตลอด มันเลยรู้สึกมีส่วนร่วม เลยค่อนข้างรู้สึกแย่ในวันนั้น”

“พี่พยายามจะเข้าร่วมทุกๆ กิจกรรมที่คิดว่าไปได้ และคิดว่าไม่มีความเสี่ยง อันไหนที่ดูไม่ปลอดภัยก็ห่างไว้ก่อน ต่อสู้ข้างนอกดีกว่า”

"ถ้ามันไม่มีความยุติธรรมมอบให้ ถ้ามันยังอึมครึมอยู่ ไม่มีการสะสาง และยังหาคนกระทำไม่ได้ เราก็จะรำลึกถึงวันที่ 19 ต่อไป จนกว่าจะได้ความยุติธรรม โดยเฉพาะความยุติธรรมที่เท่าเทียม"

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net