Skip to main content
sharethis

กรรมการสิทธิฯขอให้ กทม.ระงับการไล่รื้อชุมชนจนกว่าจะมีทางออกจากคณะกรรมการ กทม.ชี้ การแก้ปัญหาไม่ใช่แค่เรื่องกฤษฎีกายังต้องคำนึงถึงรัฐธรรมนูญและกม.อื่นที่เกี่ยวข้อง นักวิชาการกังวลมุมมองเรื่องชุมชนยังเป็นปัญหาของหน่วยงานรัฐ

9 ส.ค.2559 เวลา 09.30 น. ที่ สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.) ศูนย์ราชการ แจ้งวัฒนะ ได้จัดเวทีหารือทางออกในประเด็นไล่รื้อชุมชนป้อมมหากาฬที่เป็นปัญหาความขัดแย้งเป็นเวลา 24 ปี โดยมีเตือนใจ ดีเทศน์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ตัวแทนนักวิชาการด้านกฎหมายและอื่นๆ ตัวแทนชุมชนป้อมมหากาฬ หน่วยงานรัฐ เช่น กรุงเทพมหานคร คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน กรมศิลปากร

ศักดิ์ชัย บุญมา ผู้อำนวยการกองจัดการกรรมสิทธิ์ สำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร(กทม.) กล่าวว่า ปัจจุบันจากการดำเนินการมาหลายปีนั้นบ้านที่เหลืออยู่ในชุมชนมีทั้งหมด 56 หลัง แต่มีการรับเงินและโอนกรรมสิทธิให้กทม.แล้ว และเหลืออยู่แค่ 14 หลังที่ยังไม่ยอมรับเงิน ซึ่งเงินก้อนนี้ไม่ใช่เงินค่าทดแทนตามกฎหมายเวนคืนแต่เป็นเงินที่ กทม.ได้เพิ่มเติมขึ้นมาจากเงินค่าทดแทนตามกฎหมาย ในเรื่องการไล่รื้อที่ดินนั้น กทม.ยืนยันว่าได้ทำตามกฎหมาย ซึ่งในมุมมอง กทม. สามารถอธิบายได้ว่ากรณีที่ดินเป็นที่สาธารณะทั่วไปหรือเป็นของรัฐมาแต่เดิมนั้นมีโอกาสสามารถดำเนินการให้อยู่ได้  แต่พื้นที่บริเวณนี้ กทม.ไม่สามารถให้ใครอยู่อยู่ได้ เพราะที่ดินได้ตรงนี้ได้มาจากการเวนคืน

ศักดิ์ชัย กล่าวต่อว่า การเวนคืนหมายถึง การบังคับให้เจ้าของที่ดินเดิมไปออกไป กระบวนการเวนคืนมีกฎหมายรองรับให้เจ้าของที่ดินออกไปจากพื้นที่และรัฐมีการเงินจ่ายชดเชยกระบวนการตรงนี้เป็นกระบวนการบังคับเอาทรัพย์สินเดิมที่เป็นของประชาชนกลับมาเป็นของรัฐ โดยมีวัตถุประสงค์ชัดเจนว่าการที่รัฐไปบังคับให้เจ้าของที่เดิมออกไปจากพื้นที่เพื่อรัฐจะใช้พื้นที่ตรงนี้เอาไปทำสาธารณะประโยชน์เอามาทำเป็นสวนสาธารณะและมีวัตถุประสงค์ชัดเจนเพื่ออนุรักษ์โบราณสถาน อันนี้คือความชัดเจนในการบังคับ ซึ่งเป็นไปตามหลักกฎหมายรัฐธรรมนูญทุกฉบับในประเทศไทย เพราะกฎหมายหลักก็คือกฎหมายรัฐธรรมนูญจะเขียนไว้ชัดเจนว่าบุคคลย่อมได้รับการคุ้มครองในทรัพย์สินของตนเอง มีกฎหมายรองรับให้รัฐซึ่งดำเนินการได้ ผมกำลังเรียนว่าที่ตรงนี้ไม่ใช่ที่สาธารณะสมบัติที่ดินทั่วไป ในรัฐธรรมนูญเขียนไว้ชัดเจนว่าที่ที่รัฐเวนคืนมาแล้วรัฐต้องใช้ตามวัตถุประสงค์ของการเวนคืน ถ้ารัฐไม่ใช้ รัฐไม่สามารถที่จะไปทำอย่างอื่นได้เลย รัฐต้องคืนให้กับเจ้าของเดิมหรือทายาท นี่คือข้อกฎหมายที่ชัดเจน

ภาพ ผู้แทนจากกรุงเทพมหานคร

‘การที่รัฐไปบังคับให้ออกจากพื้นที่เพื่อทำสาธารณะประโยชน์ นี่คือความชัดเจน ทำตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ ตรงนี้เป็นปัญหาว่าแม้ว่ากรุงเทพมหานครอยากให้ใครมาใช้พื้นที่ อยากให้ใครมาอยู่ก็จะติดกฎหมาย แต่เราอย่ามองแค่กฎหมายเวนคืนเท่านั้นเพราะเป็นแค่กฎหมายรอง ยังมีกฎหมายหลักร่างรัฐธรรมนูญเรื่องหลักการคุ้มครองสิทธิและทรัพย์สินของประชาชนเราไม่สามารถที่จะผ่านจุดนี้ได้ ในเรื่องของการแก้กฎหมายเวนคืนเมื่อเร็วๆนี้ก็มีการเสนอให้รัฐเอาที่ดินที่เหลือจากการเวนคืนไปใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ มีการนำเสนอลักษณะอย่างนี้ แต่ได้มีการพิจารณาในชั้นกฤษฎีกาบอกว่ากรณีอย่างนี้ก็จะไปขัดกับรัฐธรรมนูญอย่างที่ว่า เราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงวัตถุประสงค์ได้ ไม่ใช่ว่า กทม.ใจร้ายเรามองเห็นวิถีชีวิตชุมชน แต่วิถีชีวิตชุมชนต้องมาหลังจากกฎหมายการคุ้มครองสิทธิและทรัพย์สิน’ ศักดิ์ชัย กล่าว
 

กสม.และนักวิชาการเสนอแก้ 'พ.ร.ฎ.เวนคืน +ระงับไล่รื้อ' จนกว่าจะมีทางออกร่วมกันทุกฝ่าย

ภาพ อภิชาต พงษ์สวัสดิ์

อภิชาต พงษ์สวัสดิ์ สำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย(คปก.) กล่าวว่า ชุมชนป้อมมหากาฬได้มีการฟ้องร้องที่ศาลปกครองเมื่อปี พ.ศ.2547  ซึ่งศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาที่จะให้ กทม.ไล่รื้อชุมชนป้อมมหากาฬได้ แต่หลังจากนั้นได้มีความเห็นเพิ่มเติมที่แตกต่างออกไปจากคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดหลายประการ โดยเฉพาะในช่วงหลังคำพิพากษา พ.ศ.2547 ทางชุมชนทำ MOU 3 ฝ่ายกับทาง กทม.และ ม.ศิลปากร และชุมชน เพื่อจะได้หลักวิชาการว่าพื้นที่ชุมชนป้อมมหากาฬว่าควรเป็นพื้นที่แนวไหน นักวิจัย ชี้ชัดว่า ป้อมไม่เหมาะสมแบบที่ทำสวนสาธารณะแบบทั่วไป ทาง ม.ศิลปากร ควรทำพื้นที่สวนสาธารณะบ้านไม้โบราณมีชีวิต ซึ่งเป็นเหตุผลตามหลักวิชาการ ซึ่งสอดคล้องว่ากฎหมายแก้ได้เสมอเมื่อมีเหตุผลวิชาการรองรับ กทม.ลงทุนลงแรงในการหาผลวิชาการ แต่ไม่ยอมรับผลวิชาการ ประเด็นที่ชุมชนฟ้องศาลปกครองพื้นที่ชุมชนไม่เหมาะทำสวนสาธารณะเพราะมีกำแพงสูงและเป็นมุมอับ ไม่มีความปลอดภัย ซึ่งตรงนี้พิสูจน์ว่าพื้นที่ที่ กทม.เวนคืนไป ประมาณ 1 ไร่กว่านั้น ไม่ได้เป็นสวนสาธารณะสมบูรณ์แบบอย่างแท้จริง ซึ่งมีหลักวิชาการยืนยันแล้วว่าพื้นที่ควรทำเป็นรูปแบบ ส่วนที่กทม. อ้างพระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดิน ยืนยันเบื้องต้นว่าพระราชกฤษฎีกาเวนคืนสามารถแก้ไขวัตถุประสงค์ได้

‘กฎหมายโดยหลักแก้ไขได้แต่อยู่ฝ่ายนโยบายมีความจริงใจแก้ไขหรือไม่ สิ่งที่อยากจะเสนอในวันนี้เลย 1.แก้ไขตัววัตถุประสงค์เพียงอย่างเดียว คือแก้ไขวัตถุประสงค์ใหใช้พื้นที่เป็นสวนสาธารณะในรูปแบบพิพิธภัณฑ์บ้านไม้โบราณมีชีวิตและรักษาโบราณสถาน บ้านแม้มีชีวิต 2.แก้ไขทั้งฉบับ ก็คือเมื่อมีพระราชกฤษฎีกาเวนคืนออกมาใหม่ กทม.จ่ายค่าทดแทนในอัตราใหม่ 3.รัฐธรรมนูญฉบับที่พึ่งผ่านลงประชามติ ม.77 กฎหมายทุกฉบับในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายแม่ หรือลำดับรอง จะต้องได้รับการผลกระทบในการออกกฎหมาย หรือ RIA โดยสำนักงานปฏิรูปกฎหมายและสำนักงานกฤษฎีกา ว่ากฎหมายที่ออกมาสร้างผลกระทบต่อใคร มีส่วนได้มากกว่าส่วนเสียอย่างไร ซึ่งถ้าดูแล้วจะเห็นว่าพระราชกฤษฎีกา 2535 ส่งผลกระทบหลายด้านทั้ง ชุมชน การท่องเที่ยว และอื่นๆ’ อภิชาต กล่าว

กิตติศักดิ์ ปรกติ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้สรุปข้อเสนอโดยให้ผู้แทนในที่ประชุมเสนอแทนเนื่องจากไม่สามารถเข้าร่วมประชุมได้ โดยเสนอว่า ทั้งกรุงเทพมหานคร ภาคประชาชน และชุมชน เห็นพ้องต้องกันว่ายอมรับหลักการร่วมกันว่าชุมชนและสวนสาธารณะควรจะอยู่ด้วยกันได้ แต่ว่าติดขัดประเด็นข้อกฎหมาย ดังนั้นจึงได้มีข้อเสนอแนะดังต่อไปนี้ 1.ควรจะมีการวางผังสวนธารณะแปลงนี้ใหม่ โดยอาจจะแบ่งออกเป็นสองส่วน ส่วนแรกคือส่วนที่เป็นสวนสาธารณะตามปกติ ส่วนที่สองก็อาจจะวางผังในรูปแบบสวนสาธารณะที่มีชุมชนอยู่ร่วมได้ เนื่องจากที่ดินแปลงนี้ถูกเวนคืนแล้วและจ่ายค่าเวนคืนแล้ว สิ่งที่จะให้ประชาชนอยู่ในพื้นที่อาจจะติดขัดประเด็นข้อกฎหมาย สิ่งที่สามารถทำได้คือว่าหลังจากทำเป็นพิพิธภัณฑ์แล้วนี้ ให้ออกระเบียบหรือข้อบัญญัติท้องถิ่นบางประการเพื่อรับรองประชาชนกลุ่มนี้เป็นพนักงานหรือลูกจ้างของกทม.

และ 2.ตัวชุมชนเองก็ต้องยอมรับในหลักการเบื้องต้นก่อนว่าที่ดินทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นตัวสวนสาธารณะและที่ตั้งพิพิธภัณฑ์กลางแจ้งเป็นที่ดินของรัฐ อันนี้น่าจะเป็นทางออกได้โดยเทียบเคียงกับกรณีการอยู่อาศัยในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า โดยปกติแล้วในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและอุทยานแห่งชาติ ถูกกำหนดเป็นเขตห่วงห้าม โดยพระราชกฤษฎีกา ไม่ให้มีคนอยู่แต่ว่าพนักงานเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าเจ้าหน้าที่อุทยาน สามารถสร้างบ้านพักตั้งบ้านเรือนได้ อีกกรณีหนึ่ง ไปเทียบเคียงได้ มอเตอร์เวย์สายบางนา ก็ยังมีพ้นที่กันออกมาเป็นจุดจอดรถ ที่ตั้งของที่รับประทานอาหาร พักผ่อน ขายของชำร่วย ซึ่งความเห็นของ กิตติศักดิ์ มีต่อว่า ตอนนี้น่าจะมี 3 ทาง 1.ยกเลิก พ.ร.ฎ.เป็นไปได้ยากมาก เพราะตามหลักกฎหมายเวนคืนเมื่อไม่ใช่ที่ดินตามวัตถุประสงค์ต้องส่งคืนให้กับทายาทโดยธรรม 2.การแก้ไขวัตถุประสงค์ อาจจะเป็นไปได้อยู่ 3.ทางออกให้เป็นพนักงานของ กทม.
 

ภาพ เตือนใจ ดีเทศน์ และ ปฐมฤกษ์ เกตุทัต

ปฐมฤกษ์ เกตุทัต คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า เรากำลังวนกลับไปที่เก่า อย่าไปนับหนึ่งใหม่ คราวแรก กทม.บอกว่าขอให้เลิกพูดเรื่องประวัติศาสตร์ แต่กลับขอให้สืบประวัติครอบครัวซึ่งขัดแย้งกัน โดยชี้ว่าความเป็นชุมชนนั้นเป็นเรื่องของความสัมพันธ์ที่อยู่ด้วยกัน อ.ศรีศักร บอกว่า ชุมชนไม่เกี่ยวกับเรื่องสถานที่มันเป็นเรื่องความสัมพันธ์ของบุคคลของคนที่ อยู่รวมกัน ไม่จำเป็นต้องเป็นเจ้าของ เป็นผุ้เช่า ผู้อาศัย เขาก็เป็นชุมชน การที่ไม่มีเอกสารสิทธิในพื้นที่ไม่ได้หมายถึงการไม่มีความเป็นชุมชน ในขระเดียวกันความเป็นชุมชนไม่เกี่ยวกับมิตทางประวัติศาสตร์แต่เป็นเรื่อง ความสัมพันธ์ การชี้ชัดว่าครอบครัวไหนอยู่ในพื้นที่นานเก่าแก่จึงไม่ควรนำมาใช้วัดความ เป็นชุมชน

‘ชุมชนมีพลวัตร มีความเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบได้ มีการย้ายเข้ามีการย้ายออกเพราะฉะนั้นอย่ากล่าวหาว่าเป็นชุมชนใหม่เพียง เพราะว่าคนเก่าน้อยลง ขอให้เข้าใจconceptเรื่องชุมชนเสียใหม่ ผมไม่เห็นด้วยกับการสอบประวัติแล้วมาชี้นิ้ว เขาอยู่อาศัยมาขนาดนี้เขามีความสัมพันธ์ มีกิจกรรมร่วมกัน เขาเป็นสมาชิกในชุมชนแล้ว’ ปฐมฤกษ์ กล่าว

เตือนใจ ดีเทศน์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า เข้าใจร่วมกันว่าจะมีคณะกรรมการชุดเล็กที่จะทำหน้าที่พิจารณาข้อกฎหมายตั้งแต่กฎหมายรัฐธรรมนูญมาจนถึงกฎหมายข้ออื่นๆที่เกี่ยวข้องอย่างรอบด้าน เพื่อที่จะสนับสนุนให้ กทม.ไม่ไล่รื้อแล้วยอมรับแนวคิดที่ให้ชุมชนสามารถอยู่ร่วมกับโบราณสถานและสวนสาธารณะแห่งนี้ได้ เพื่อเป็นกรณีนำร่องของชุมชนต่างๆในกรุงเทพฯ ข้อสรุปจากทุกหน่วยงานในวันนี้จึงเป็นการรับรู้ร่วมกันและไปสื่อสารด้วยวาจาต่อในองค์กรของแต่ละท่านที่เข้าร่วมประชุม ข้อให้ กทม.ชะลอการไล่รื้อไปก่อนซึ่งจดหมายจะส่งไปโดยเร็วอาจจะเป็นวันพรุ่งนี้ เรื่องของคระกรรมการชุดเล็ก รวมทั้ง ดร.ภารณี ได้เสนอจะมีกลไกที่มีภาคส่วนต่างๆรวมทั้งชุมชนที่จะจำแนกว่าใครควรจะเป็นผู้ที่อยู่กับสวนสาธารณะที่เป็นพิพิธภัณฑ์มีชีวิตมีประวัติของครอบครัวอย่างไร

‘ในฐานะประธานอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากร ประธานในที่ประชุมกล่าวว่า กสม.จะทำจดหมายด่วนที่สุดถึงกทม.เพื่อขอให้หยุดการไล่รื้อก่อน อีกทั้งขอให้งดให้ข่าวรายวัน เพื่อสร้างบรรยากาศในการอยู่ร่วมกันอย่างสร้างสรรค์ นอกจากนี้ จะมีการตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาข้อกฎหมายในการยุติการไล่รื้อ’ เตือนใจ กล่าว



 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net