Skip to main content
sharethis

แม้ว่าประชาชนจะประท้วงอย่างหนัก แต่รัฐบาลใหม่ของบราซิลที่เข้าสู่อำนาจด้วยการโค่นล้มผู้นำจากการเลือกตั้งก็ยังจะให้มีการลงมติกฎหมายใหม่ชื่อ PEC55 ที่เป็นการมัดมือรัฐบาลในอีก 20 ปี ข้างหน้าให้ต้องทำตามมาตรการตัดงบประมาณการศึกษา สุขภาพ และสวัสดิการประชาชน ทำให้ตัวแทนจากสหประชาชาติและฝ่ายซ้ายแถบลาตินอเมริกาวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องนี้

12 ธ.ค. 2559 เจ้าหน้าที่สหประชาชาติวิจารณ์รัฐบาลบราซิลที่ได้อำนาจจากการโค่นล้มรัฐบาลเดิมจากการเลือกตั้งเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาในเรื่องการออกมาตรการรัดเข็มขัด "แช่แข็ง" สวัสดิการสังคม ซึ่งนอกจากจะล้าหลังอย่างมากแล้วยังถูกวิจารณ์ว่าเป็น "มาตรการที่สุดโต่ง ไม่คำนึงถึงความแตกต่างและขาดความเห็นใจผู้อื่น"

บราซิลในปัจจุบันภายใต้การนำของประธานาธิบดี มิเชล เทเมร์ ผู้ได้ตำแหน่งมาจากการถอดถอน ดิลมา รุสเซฟฟ์ ผู้มาจากการเลือกตั้งในช่วงกลางปีที่ผ่านมา ซึ่งมีการวิพากษ์วิจารณ์ว่าการถอดถอนเธอเป็น "การรัฐประหาร" โดยที่เทเมร์ผู้หนุนกลุ่มทุนยักษ์ใหญ่กำลังจะนำเรื่องการแช่แข็งสวัสดิการประชาชนระบุลงไปในรัฐธรรมนูญซึ่งจะมีการลงมติข้อเสนอนี้ภายในวันที่ 13 ธ.ค. ในที่ประชุมวุฒิสภา

ฟิลิป อัลสตัน ผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติว่าด้วยเรื่องความยากจนระดับแร้นแค้นและสิทธิมนุษยชนกล่าวต่อต้านร่างกฎหมายดังกล่าวที่มีชื่อว่า PEC55 อัลสตันบอกว่าร่างกฎหมายดังกล่าวเป็นการทำร้ายคนจนจากที่ร่างกฎหมายฉบับนี้ทำการระงับสวัสดิการของประชาชนอย่างไม่เหมาะสมและจะเป็นการมัดมือรัฐบาลในอนาคตให้ต้องทำตามต่อไปอีก 20 ปี

ผู้คนจำนวนมากกังวว่านโยบายแบบฝ่ายขวาของเทเมร์จะทำให้บราซิลกลับสู่สภาพที่ผู้คนไม่เท่าเทียมกันอย่างหนัก นิโกลาส มาดูโร ประธานาธิบดีเวเนซุเอลาก็เคยประณามการยึดอำนาจในบราซิลว่าไม่เพียงแค่เป็นการกระทำต่อรุสเซฟฟ์เท่านั้นแต่ยังเป็นการกระทำต่อประเทศแถบลาตินอเมริกาและแคริบเบียน รวมถึงต่อการเมืองฝ่ายซ้ายและฝ่ายก้าวหน้าด้วย

สื่อเทเลซูร์เคยวิจารณ์ร่างกฎหมาย PEC55 ว่าเป็นกฎหมายที่ระงับสวัสดิการประชาชนโดยอ้างอัตราเงินเฟ้อในปีที่แล้วแทนที่จะอ้างอิงอัตราผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ กฎหมายนี้จะจำกัดงบประมาณทั้งด้านสุขภาวะ ด้านการศึกษา และสวัสดิการสังคม ทำให้กลุ่มคนจนและคนชายขอบในสังคมบราซิลต้องแบกรับภาระการตัดงบประมาณตรงนี้และถือเป็นการลิดรอนสิทธิตามรัฐธรรมนูญบราซิล

ซึ่งอัลสตันก็วิจารณ์ร่างกฎหมายฉบับนี้ในแบบเดียวกัน และกล่าวเพิ่มเติมว่า PEC55 ของบราซิลยังเป็นการละเมิดกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ที่บราซิลให้สัตยาบันในปี 2535 ในกติการะบุห้ามไม่ให้มีการจงใจออกมาตรการที่ทำให้เกิดความล้าหลังเว้นแต่ไม่มีหนทางอื่นและมาตรการต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์ระยะยาวและมีการแก้ไขผลกระทบทางลบอย่างเร่งด่วนทันทีเพื่อคุ้มครองคนจนระดับล่างสุดในสังคม

กฎหมายฉบับนี้ยังทำให้มีผู้คนในบราซิลจำนวนมากออกมาประท้วงตั้งแต่เดือน พ.ย. ที่ผ่านมา จอร์จ ดาร์เซ ประธานสหภาพแพทย์แห่งริโอ เดอ จาเนโร กล่าวแสดงความกังวลว่ากฎหมายใหม่นี้จะทำให้เกิดการตัดงบประมาณระบบสุขภาพที่ได้รับงบประมาณน้อยอยู่แล้วและเป็นการทำลายการหารือกันระหว่างองค์กรทางสังคมกับทางการ ดาร์เซยังมองว่านโยบายนี้จะไม่สามารถแก้ไขวิกฤตเศรษฐกิจได้และจะยิ่งทำให้ปัญหาสังคมเลวร้ายลงเรื่อยๆ

สื่อเทเลซูร์รายงานว่าหลังจากที่เทเมร์ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีบราซิลอย่างเป็นทางการจากการถอดถอนรุสเซฟฟ์ รัฐบาลภายใต้การนำของเขาก็มีข้อเสนอในเชิงเอื้อประโยชน์ต่อทุนและตัดงบประมาณโครงการทางสังคม ตัวเทเมร์และรัฐบาลของเขาเองก็มีแต่เรื่องอื้อฉาวที่ถูกเปิดโปงติดต่อกันโดยเฉพาะการทุจริตคอร์รัปชัน


เรียบเรียงจาก

Brazilians Revolt as Post-Coup Govt. Pushes 'Deliberately Retrogressive' Austerity Package, Common Dreams, 09-12-2016
http://www.commondreams.org/news/2016/12/09/brazilians-revolt-post-coup-govt-pushes-deliberately-retrogressive-austerity-package

Brazil's austerity package decried by UN as attack on poor people, The Guardian, 09-12-2016
https://www.theguardian.com/world/2016/dec/09/brazil-austerity-cuts-un-official

Brazil's Senate Passes PEC 55 Austerity Bill, Telesur, 29-11-2016
http://www.telesurtv.net/english/news/Brazils-Senate-Passes-PEC-55-Austerity-Bill-20161129-0004.html

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net