Skip to main content
sharethis

ตัวแทน 7 ชุมชนเก่า ร้องชะลอโครงการพัฒนารอบกรุงรัตนโกสินทร์ ขอมีส่วนร่วมตัดสินใจ ด้านนักวิชาการชี้ย่านชุมชนเก่ามีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ แต่ถูกภาครัฐละเลย เพราะเป็นประวัติศาสตร์คนธรรมดา

7 มี.ค. 2560 จากกรณีการรื้อถอนบ้านในชุมชนป้อมมหากาฬ จำนวน 12 หลัง เมื่อปลายปี 2559 และ จำนวน 4 หลัง เมื่อวันที่ 6 มี.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นผลจาก พ.ร.ฏ.เวนคืนเพื่อปรับปรุงภูมิทัศน์และสร้างสวนสาธารณะ ปี 2535 ทำให้เกิดกระแสการตื่นตัวของชุมชนในย่านเก่าต่างๆ ที่เกรงว่าจะเกิดกรณีเช่นเดียวกับชุมชนป้อมมหากาฬ ชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากแผนพัฒนารอบเกาะรัตนโกสินทร์ ชุมชนริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา ผู้ประกอบการการท่องเที่ยว นักวิชาการ และสถาปนิก จึงจัดเวทีพหุภาคีย่านเมืองเก่าขึ้น เพื่อระดมความคิดเห็นและข้อเสนอต่อกรณีการพัฒนาพื้นที่ที่ทำให้เกิดปัญหากับชุมชน ที่สวนสันติชัยปราการ กรุงเทพมหานคร

โดยจากสถานการณ์ตอนนี้ที่มีโครงการพัฒนาปรับปรุงภูมิทัศน์จำนวนมาก นำไปสู่การไล่รื้อชุมชนย่านเมืองเก่า เช่น ย่านบางลำพู ชุมชนมัสยิดบ้านตึกดิน ชุมชนบ้านพานถม ชุมชนวัดราชนัดดา ชุมชนป้อมมหากาฬ รวมถึงการพัฒนาถนนเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา เช่น ชุมชนริมน้ำบางอ้อ ชุมชนบ้านปูน ซึ่งถูกวิจารณ์ว่าเป็นการรุกล้ำสิทธิของชุมชนริมน้ำ ทางชุมชนที่ได้รับผลกระทบมีความคิดเห็นตรงกันว่า ในการทำโครงการใดๆ กทม. จึงควรเข้ามารับฟังความคิดเห็นจากชุมชน และมีการวางแผนพัฒนาร่วมกัน นอกจากนี้ ยังมีผู้เสนอว่า นอกจากการทำถนนเพื่อเข้าถึงริมน้ำเจ้าพระยาแล้ว อาจยังมีวิธีอื่นอีก อยากให้มีการหาวิธีร่วมกัน

นอกจากนี้ ในเวทีดังกล่าว มีการอ่านข้อเสนอจากเวทีพหุภาคีย่านเมืองเก่าเรียกร้องให้นำหลัก “ศาสตร์ของพระราชา เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา” มาใช้ขับเคลื่อนโดยมีกลไกพหุภาคีระดับชาติ ย่าน ชุมชน โดยพหุภาคีจะเป็นกลไกการทำงานไปสู่การคิดและร่วมตัดสินใจ มีเงื่อนไขหยุดการไล่รื้อ หยุดการเดินหน้าโครงการที่มีผลกระทบไว้ก่อน โดยที่ทุกฝ่ายต้องมีส่วนร่วมและกำหนดทิศทางการพัฒนาร่วมกัน

ประภัสสร์ ชูวิเชียร อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร แสดงความคิดเห็นต่อกรณีการไล่รื้อชุมชนและย่านเก่า รวมถึงชุมชนดั้งเดิมที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาทางเลียบแม่น้ำว่า ชุมชนเหล่านี้มีคุณค่าทางวิชาการ 3 คุณค่า คือ 1) คุณค่าด้านร่องรอยมรดกการตั้งถิ่นฐานของชุมชนโดยเฉพาะในกรุงเทพฯ อย่างน้อย 200 ปี 2) คุณค่าด้านศิลปกรรมต่างๆ ในย่านเก่า เช่น ตัวบ้าน และฝีมือเชิงช่าง 3) คุณค่าด้านประวัติศาสตร์ท้องถิ่นที่มีการเชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์กระแสหลัก ซึ่งมาจากความทรงจำที่ถ่ายทอดกันลงมาของคนในชุมชน

“คำถามคือ ทำไมคุณค่าทั้งสามประการนี้มักถูกละเลยจากภาครัฐ ก็เพราะมันเป็นประวัติศาสตร์ของคนธรรมดา ฝ่ายบริหารไม่เห็นคุณค่าและไม่สนใจในระดับนโยบาย” ประภัสสร์ กล่าว

สานนท์ หวังสร้างบุญ ผู้ประกอบการการท่องเที่ยวย่านเมืองเก่า กล่าวว่า กทม. มีนักท่องเที่ยวมากติดอันดับ 1-2 ของโลกมาตลอด (15 – 18 ล้านคนต่อปี) ปีนี้คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยว 21 ล้านคน ซึ่งจะทำรายได้ 6-8 หมื่นล้านบาทต่อปี นับเป็นอุตสาหกรรมที่ใหญ่มาก และปฏิเสธไม่ได้ว่าย่านเมืองเก่าเป็นที่สนใจของนักท่องเที่ยว เห็นได้จากปีที่ผ่านมามีนักท่องเที่ยวเข้าชมวัดพระแก้ว 6 ล้านคน โดยคนเหล่านี้ไม่ได้มาแค่ชมวัดพระแก้วแต่ยังจับจ่ายและท่องเที่ยวในบริเวณใกล้เคียงด้วย

“การพัฒนาย่านเมืองเก่าและเกาะรัตนโกสินทร์ที่ผ่านมาขาดการมีส่วนร่วมในการจัดการ เราต้องส่งเสริมและสร้างการมีส่วนร่วมทั้งนักท่องเที่ยว ผู้ประกอบการ รวมถึงชุมชน” สานนท์ กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net