Skip to main content
sharethis

สำรวจการสร้างพลเมืองให้เป็นพลทหาร พบใช้การปกครองโดยการลงทัณฑ์และการสร้างความหวาดกลัว ทำให้ลูกผู้ชายต้องก้มหัวให้อำนาจ วิพากษ์ระบบเกณฑ์ทหาร เมื่อคนหนุ่มวัยทำงานสูญเสียโอกาสในชีวิต นักวิชาการชี้แรงงานหนึ่งแสนคนในค่ายทหารเป็นการลงทุนที่ไม่คุ้มค่าของรัฐไทย

1

“ฉันมารอพี่ที่ท่าน้ำทุกวันเลยนะ” นี่คือประโยคหนึ่งที่มักได้ยินจากละคร และภาพยนตร์เรื่อง ‘นางนาก’ ที่แม้จะมีการรีเมคนับครั้งไม่ถ้วน แต่ก็มักจะเห็นฉากหญิงนุ่งกระโจมอกอุ้มลูกเหม่อมองออกไปที่แม่น้ำ รอคอยผัวกลับมาจากการเป็นทหาร ซึ่งถูกเกณฑ์ไปรบกับอริราชศัตรู

ตำนานเล่าขานรุ่นสู่รุ่นจากทุ่งพระโขนง ยังมีเรื่องชวนให้ถกเถียงเชิงข้อเท็จจริงว่า สิ่งที่เราได้รับรู้มีความจริงมากน้อยเพียงใด ผีนางนากที่คอยหลอกหลอนชาวบ้าน วิญญาณที่ติดบ่วงความรัก และการรอคอย เรื่องราวความผลัดพรากจากลูกเมียเพื่อปกปักรักษาบ้านเมือง แต่เสร็จศึกกลับมาพบโศกนาฏกรรมความรัก เมียคลอดลูกตายทั้งกลม หรือแท้จริงแล้วเรื่องราวของนางนากนั้นเป็นเพียงการผสมผสานเติมแต่งจนกลายมาเป็นตำนานแห่งความศรัทธาดังเช่นปัจจุบัน ผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมที่สุดเท่าที่เห็นได้ก็คือการดำรงอยู่ของ ‘ศาลย่านาค’ ริมคลองพระโขนง ซึ่งตั้งอยู่ในอาณาบริเวณของวัดมหาบุศย์ ที่ซึ่งผู้คนจากทั่วทุกสารทิศต่างแวะเวียนมากราบไหว้ และบนบานขอให้อำนาจอิทธิฤทธิ์ของผีแม่นากช่วยให้รอดพ้นจากการเป็นทหารเกณฑ์

แม้ไม่แน่ชัดว่าเรื่องราวของนางนากเป็นจริงมากน้อยเพียงใด แต่สิ่งที่เป็นจริงอย่างหนึ่ง และยังคงร่วมสมัยมาจนถึงปัจจุบันคือ ‘การเกณฑ์ทหาร’ ซ้ำร้ายมากกว่านั้นเมื่อย้อนดูตัวเลขความต้องการทหารเกณฑ์หรือเรียกอีกอย่างว่าทหารกองประจำการของประเทศไทย พบว่า มีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นทุกๆ ปี ในปี พ.ศ.2547 มีความต้องการทหารเกณฑ์ทั้งสิ้น 80,345 นาย ขณะที่ปี พ.ศ.2560 มีความต้องการทหารเกณฑ์ทั้งสิ้น 103,097 นาย ซึ่งนั่นหมายความว่ามีอีกแสนชีวิตที่อิทธิฤทธิ์จากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ใดๆ ก็ไม่อาจบันดาลให้หลุดพ้นจากการเป็นทหารเกณฑ์
 

2

สำหรับสังคมไทยในแต่ละปีมักปรากฏข่าวคราวที่เกี่ยวข้องกับทหารเกณฑ์อยู่เรื่อยๆ แน่นอนว่าเรื่องราวข้อเท็จจริงต่างๆ ไม่ได้มีเพียงแค่ข่าวของคนดัง ดารา นักร้อง หรือผู้มีความหลากหลายทางเพศที่เข้ารับการตรวจคัดเลือกซึ่งถูกสื่อทำให้กลายเป็นสีสัน (ซึ่งแท้จริงแล้วกลายเป็นการลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์) ขึ้นมาในช่วงวันที่ 1-12 เมษายนของทุกปี โดยละเลยที่จะพูดถึงความถูกต้อง ความชอบธรรม หรือปัญหาต่างๆ ของระบบการบังคับเกณฑ์ทหาร

หากแต่ข่าวที่ปรากฏอยู่บ่อยครั้งนั้นคือ ความสูญเสียหรือความตายของเหล่าทหารเกณฑ์ ที่น่าตกใจมากไปกว่าความตายความสูญเสียเหล่านี้คือสถานที่ที่เกิดเหตุ ทหารเกณฑ์จำนวนหนึ่ง อย่างน้อย 5 คน (ที่ปรากฎเป็นข่าว) ในรอบ 8 ปีที่ผ่านมา ถูกทำให้เสียชีวิตภายในค่ายทหารที่ตนสังกัดอยู่
 


นอกเหนือไปจากเรื่องร้ายแรงอย่างความตายแล้ว ข่าวคราวที่พบเห็นอยู่เป็นประจำคือ การนำทหารเกณฑ์ไปเป็นทหารรับใช้ในบ้านพักของนายทหารชั้นผู้ใหญ่ รวมทั้งข่าวการคอร์รัปชันที่มักปรากฏให้เห็นอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งดูเหมือนจะเป็นเรื่องที่ไปด้วยกันไม่ได้กับสิ่งที่กองทัพป่าวประกาศโฆษณาว่า การเป็นทหารเกณฑ์คือการรับใช้ชาติและเป็นการตอบแทนบุญคุณของแผ่นดิน แต่ตลกร้ายที่เรื่องราวต่างๆ กลับไปด้วยกันได้ดีกับคำโฆษณาที่ว่า ‘การเป็นทหารได้อะไรมากกว่าที่คุณคิด’

เรื่องราวกิจวัตรประจำวันหรือหน้าที่ของทหารเกณฑ์ ในช่วงหลังๆ มานี้มีการรายงานนำเสนอให้เห็นเพิ่มมากขึ้นในโลกอินเทอร์เน็ต ทั้งจากสื่อมวลชนเองหรือจากตัวปัจเจกบุคคลที่เคยผ่านช่วงเวลาของการดำรงสถานะทหารเกณฑ์มาก่อน ผ่านการบอกเล่าในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ แต่ดูเหมือนว่าเรื่องราวเหล่านั้นกลับดำเนินต่อไปเรื่อยๆ วนเวียนกันไปทุกปี โดยไม่มีทีท่าว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงจากสภาพที่เป็นอยู่ เป็นไปได้หรือไม่ว่าการที่ยังคงมีระบบบังคับเกณฑ์ทหารอยู่เป็นสิ่งที่ยืนยันได้อย่างหนึ่งสำหรับกองทัพและสถาบันทหารว่า จะสามารถมีกำลังพลภายใต้การบังคับบัญชาจำนวนมาก โดยอาศัยสภาพบังคับของกฎหมาย

3

อย่างไรก็ตาม ความน่าสนใจอย่างหนึ่งสำหรับเรื่องราวของการเกณฑ์ทหาร คือการประกอบสร้างความเป็นพลทหารและย่อยสลายความเป็นพลเรือนให้กับทหารใหม่ทุกคนที่ได้เข้ารับการฝึก งานวิทยานิพนธ์เรื่อง ทหารกับคน: บนเส้นทางการสร้างระเบียบวินัยและการต่อต้าน ของอิทธิพงษ์ ทองศรีเกตุ ได้ศึกษาถึงกระบวนการดังกล่าว โดยเขาเห็นว่าค่ายทหารเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ซึ่งอำนาจได้เข้ามามีส่วนในการจัดการกับชีวิตของปัจเจกบุคคล โดยเครื่องมือที่สำคัญที่สุดคือการลงทัณฑ์ผ่านการซ่อมและการสร้างความกลัว

งานวิจัยชิ้นดังกล่าวเผยให้เห็นกระบวนการอันแยบยลของการใช้อำนาจในค่ายทหารตั้งแต่การกำหนดตารางกิจกรรมในแต่ละวันของทหารใหม่ ทุกคนจะต้องอยู่ภายใต้กรอบและกติกาเดียวกัน ซึ่งสิ่งที่สำคัญที่สุดคือการเคารพ เชื่อฟัง และการปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา ไม่ว่าพลเรือนที่เข้ามาในค่ายทหารแต่ละคนจะมีฐานะทางสังคมแตกต่างหรือมีความหลากหลายเพียงใด แต่เมื่ออยู่ในค่ายทหารทุกคนถูกจัดอยู่ในสถานะใหม่คือ ‘พลทหาร’ หรือมีชื่อเรียกอีกอย่างในทางลบว่า ‘ไอ้เณร’ ซึ่งเป็นสถานะที่ต่ำที่สุดในกรมกอง

“ผมมองว่าการฝึกทหารใหม่ มีจุดมุ่งหมายอย่างเดียวก็คือ การทำให้ทหารเชื่อฟังคำสั่ง การฝึกทหารไม่ได้สอนให้ทหารคิดเป็น จะสอนอย่างเดียวคือ การทำตามคำสั่ง ผมคิดว่าเพื่อผลประโยชน์ในการรบ เพราะผมมองว่าการฝึกเขาสั่งแล้วจำเป็นต้องทำ แม้ว่าจะทำได้ไม่ได้ก็จำเป็นต้องทำ เพราะว่าเขาสั่งอะไรเราก็ต้องทำ” ร๊อค ทหารเกณฑ์ ผู้ให้สัมภาษณ์ในงานวิจัยของอิทธิพงษ์

ทั้งนี้ นอกจากการฝึกร่างกายให้มีความพร้อมและเหมาะสมสำหรับการเป็นทหารในช่วง 10 สัปดาห์แรกของการฝึกแล้ว สิ่งที่มีการปลูกฝังอยู่ตลอดเวลาคือการสอนให้มีวิธีคิดในแบบของทหาร โดยในแต่ละคืนหลังจากเสร็จกิจวัตรประจำวัน ทหารใหม่ทุกคนจะต้องเข้ารับการอบรม มีการสอนเรื่องระเบียบวินัย ความสามัคคี และความรักชาติ ประกอบกับการดูวิดีโอ รูปภาพ และฟังเพลงปลุกกำลังใจในการเป็นทหาร ที่มีเนื้อหาเชื่อมโยงเกี่ยวกับความเป็นชาติ ความรักชาติ และสถาบันพระมหากษัตริย์ รวมถึงภัยที่เป็นเป็นอันตรายต่อสังคม เช่น การก่อการร้าย ภัยยาเสพติดการ รวมทั้งปลูกฝังความเข้าใจเรื่องประวัติศาสตร์การเสียดินแดน

กล่าวได้ว่างานวิจัยชิ้นดังกล่าวได้เผยให้เห็นทั้งการควบคุมในแง่ของเรือนร่างและมีการสร้างความรู้ชุดใหม่บรรจุเข้าไปในการรับรู้ เพื่อสร้างให้ปัจเจกบุคคลกลายเป็นทหาร หรือเรียกได้ว่ายอมรับในสถานะของการเป็นทหารเกณฑ์ โดยการอาศัยเทคนิคการบังคับ ในสภาวะเงื่อนไขที่บีบให้จำยอม ซึ่งที่สุดแล้วได้ทำให้ผู้ที่เข้าไปอยู่ในสถานะนั้นกลายเป็นเพียงวัตถุชิ้นหนึ่งที่พร้อมจะปฏิบัติความคำสั่ง

“ทำนอกเหนือคำสั่งไม่ได้ คือมันปิดความคิดเราหมดทุกอย่าง ไม่กล้าแม้กระทั่งจะยกมือ แล้วก็เสนอความคิดเห็น กลัวโดนทำโทษ โดนซ่อม ไม่กล้าทำอะไรเลย ไม่กล้าทำดี ไม่กล้าทำชั่ว ไม่กล้าทำหมดทุกอย่าง” อาร์ ทหารเกณฑ์ ผู้ให้สัมภาษณ์ในงานวิจัยของอิทธิพงษ์

4

สิ่งที่ชวนตั้งคำถามต่อไปจากงานของอิทธิพงษ์คือ หากค่ายทหารหรือการฝึกทหารเกณฑ์คือการหล่อหลอมบุคคลให้กลายเป็นวัตถุที่พร้อมจะปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาแล้ว ในกรณีที่ผู้ที่เข้าไปเป็นทหารเกณฑ์หรือรับการฝึกทหารเกณฑ์เป็นผู้ที่มีแนวคิดต่อต้านระบบเกณฑ์ทหารตั้งแต่ต้น ทั้งยังปฏิเสธระบบอำนาจนิยม หรือเผด็จการ การจัดการของผู้ฝึกจะมีวิธีการอย่างไร และในฐานะของบุคคลที่ถูกเกณฑ์เข้าไปนั้นจะมีวิธีการปรับตัวอย่างไร หรือต่อรองกับอำนาจที่กดทับเขาอย่างไรเพื่อที่จะอยู่รอดได้ภายใต้ระบอบระเบียบที่เขาเห็นว่ามันเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็น เราได้มีโอกาสพูดคุยกับ 1 อดีตทหารเกณฑ์ของกองทัพบกและอีก 1 ทหารเกณฑ์สังกัดกองทัพเรือถึงเรื่องราวดังกล่าว

สาม (นามสมมติ) ปัจจุบันอายุ 28 ปี เข้ารับการตรวจคัดเลือกเข้าเป็นทหารกองประจำการเมื่อวันที่ 8 เมษายน 2558 เขาผ่านการตรวจร่างกายโดยแพทย์ทหารพบว่าร่างกายสมบูรณ์ จัดอยู่ในเกณฑ์ดี 1 ประเภท 1 คือบุคคลที่มีร่างกายและจิตใจปกติ โดยคนในกลุ่มนี้จะได้จับฉลากคัดเลือกเป็นกลุ่มแรก และเมื่อถึงเวลาที่ต้องวัดดวงระหว่างใบดำกับใบแดง ผลที่เขาได้รับจากการยื่นมือไปควานหาอนาคตคือ ทบ.ผลัดที่ 2 สังกัดค่ายทหารแห่งหนึ่งในภาคกลาง

ก่อนหน้านี้ หลังจากการรัฐประหารปี 2557 ไม่นานนัก สามพบว่าตนเองมีชื่ออยู่ในรายชื่อที่เจ้าหน้าที่ทหารในพื้นที่จังหวัดภาคอีสานเฝ้าติดตามอยู่ เนื่องจากเขาไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารและมักร่วมทำกิจกรรมต่างๆ ทั้งกับชาวบ้านในพื้นที่ที่ประสบปัญหาผลกระทบจากการรัฐประหาร ผ่านไปได้เพียงปีกว่า 1 พฤศจิกายน 2558 เป็นวันแรกที่สามจะต้องเปลี่ยนสถานะจากพลเรือนผู้ต่อต้านการทำรัฐประหาร สู่การเป็นพลทหารอย่างเต็มตัว

“วันแรกที่เราเดินทางไป พอไปถึงเขาก็จะค่อยๆ ประกาศว่าทหารใหม่แต่ละคนจะไปตก ไปฝึกที่กรมไหน กองไหน ของผมมันไปตกที่กองพันทหารม้าที่... ซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็นหน่วยที่ฝึกเข้มข้นที่สุด เพราะว่าเขาได้อันดับหนึ่งในการทดสอบทหารมาโดยตลอด คือแต่ละปี แต่ละผลัด หลังจากฝึกเสร็จแล้วมันก็จะมีการทดสอบ แล้วก็จะมีการเก็บคะแนนว่าหน่วยไหนได้อันดับที่เท่าไหร่ ยกตัวอย่างความหนักก็คือ ถ้าเป็นหน่วยอื่นเวลาเขาสั่งซ่อมพุ่งหลังก็อาจจะสั่งแค่หลักสิบ แต่ที่ผมเจอคือหลักร้อย” สาม กล่าว

เขาให้ข้อมูลเพิ่มว่า ในตอนแรกเขาตกสังกัดอยู่ที่กองพันบริการ แต่เนื่องจากกองพันทหารม้าขาดกำลังพลสำหรับการฝึกซ้อม รายชื่อเขาจึงถูกส่งเข้าไปฝึกร่วมกับกองพันดังกล่าวตลอดระยะเวลา 10 สัปดาห์ของการฝึกทหารใหม่ เขาเล่าต่อไปว่ากิจกรรมในแต่ละวันส่วนใหญ่จะเน้นหนักไปที่การฝึกร่างกาย ส่วนในช่วงกลางคืนจะเป็นการอบรมเรื่องต่างๆ ตามแบบของทหาร ส่วนกิจกรรมในวันอื่นๆ ที่มีเพิ่มเติมเข้ามาหลังจากผ่านการฝึกไปแล้วสองสัปดาห์คือการเปิดให้ญาติเยี่ยมทุกวันอาทิตย์ สำหรับวันที่เป็นวันหยุดฝึก ส่วนใหญ่ทางกองพันที่เขาสังกัดอยู่จะพยายามไม่ทำให้พลทหารได้มีเวลาว่าง โดยมักจะนำทหารเกณฑ์ไปลอกคูคลองอยู่บ่อยครั้ง

“กิจกรรมวันอื่นๆ ก็ต้องไปเก็บขยะ ไปลอกคลอง เขาพยายามจะไม่ให้ว่าง เดินผ่านต้องขออนุญาต ตื่นเช้ามาก็ต้องทำความเคารพ จากนั้นก็ฝึกทั้งวัน ก่อนนอนก็ต้องสวดมนต์ ร้องเพลงสรรเสริญพระบารมี มันก็จะวนๆ อยู่แบบนี้แหละ แรกๆ ก็จะเหนื่อยหนัก ไม่ไหว แต่ผ่านไป 3-4 สัปดาห์ ร่างกายมันก็จะเริ่มปรับตัวได้ ส่วนเรื่องวิธีคิดเราก็ต้องอดทนเอา”

“วันที่เยี่ยมญาติจะเป็นวันที่ทุกคนแฮปปี้มาก เพราะนอกจากจะได้เจอญาติแล้ว มันยังได้กินของกินดีๆ วันปกติอาหารนี่เหี้ยมาก มันก็แล้วแต่หน่วยนะ แต่ที่ผมเจอนี่มันเป็นข้าวแข็งๆ โครงไก่ และก็มะเขือผัด บางวันดีหน่อยก็ได้กินไข่พะโล้ ก็คือได้กินไข่คนละใบ หน่วยอื่นได้กินดีกว่าบางที่มีของหวานด้วย” สาม กล่าว

เมื่อถามถึงเรื่องของการซ้อมพลทหารภายในค่าย สามเล่าว่า ปีที่เขาเข้าไปเป็นทหารเกณฑ์นั้นถือว่าโชคดี ที่มีข่าวพลทหารถูกซ้อมจนเสียชีวิตเป็นข่าวดังขึ้นมา ทำให้ปีนั้นกองทัพมีนโยบายห้ามซ้อมพลทหารเด็ดขาด ห้ามแตะเนื้อต้องตัวพลทหาร ถ้าจะซ่อมก็ให้ทำได้เพียงสั่งให้ออกกำลังกายเท่านั้น อย่างไรก็ตามแม้จะมีนโยบายตรงนี้ลงมาที่ค่ายที่เขาสังกัด แต่เขาก็ยังคงเห็นครูฝึกทหารใหม่ทำร้ายร่างกายทหารเกณฑ์อยู่บ้าง เช่น การเตะ การถีบ และตบ แต่จะทำในที่ลับตาคน ซึ่งส่วนมากคนที่โดนกระทำในลักษณะดังกล่าวจะเป็นทหารเกณฑ์ช่วงวัยรุ่น อายุราว 20 ต้นๆ ที่ไม่ยอมทำตามคำสั่ง

เมื่อถามต่อไปว่า การที่เคยทำกิจกรรมต่อต้านรัฐประหาร หรือแสดงออกว่าไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร หรือไม่ยอมรับในระบอบเผด็จการอำนาจนิยมนั้นมีผลต่อการฝึกหรือชีวิตความเป็นอยู่ในค่ายทหารหรือไม่ สามเล่าว่า อาจจะมีส่วนเกี่ยวข้องพอสมควร เนื่องจากภายหลังการฝึก 10 สัปดาห์เสร็จสิ้นแล้ว ทหารทุกคนจะได้พักและกลับบ้าน 10 วัน โดยปกติในช่วงเวลานี้ใครที่พอมีเส้นสายอยู่บ้างก็จะสามารถออกจากค่ายทหารก่อนกำหนดครบผลัดได้ โดยยกเงินเดือนให้กับผู้บังคับบัญชา แต่จะต้องกลับมาเซ็นต์ชื่อเดือนละครั้ง เขาเองก็เช่นกัน ก่อนหน้านี้เขาได้ขอให้ลุงติดต่อกับผู้ใหญ่ในค่ายที่สังกัด แต่เมื่อถึงเวลาเข้าไปพูดคุยกับผู้กอง กลับได้รับคำตอบว่า ปีนี้ผู้พันไม่มีนโยบายปล่อยก่อน อย่างไรก็ตาม เขาตั้งข้อสังเกตว่าในขณะที่เขาไม่ได้รับการปล่อยก่อน แต่กลับมีเพื่อนทหารเกณฑ์ทั้งในกองพันเดียวกันและคนละกองพันได้รับการปล่อยให้กลับบ้านได้ สามเชื่อว่านี่อาจเป็นเพราะทางค่ายที่เขาสังกัดอยู่รู้ว่าเขาเคยทำกิจกรรมต่อต้านการรัฐประหาร

สาม เล่าต่อไปว่าหลังจากที่ไม่สามารถออกจากค่ายทหารก่อนครบกำหนดได้ เมื่อกลับมาที่ค่ายทหารอีกครั้งก็พบว่า ยังไม่รู้ว่าจะถูกจับไปอยู่หน่วยไหนหลังจากฝึกเสร็จ วันแรกเขาถูกส่งให้เป็นอยู่ที่ตึก บก.พัน หนึ่งคืน แต่เช้าวันถัดมาเขาถูกสั่งให้ไปอยู่อย่างเอกเทศในสถานที่ที่มีนายทหารยศจ่าดูแลเพียง 1 คน และมีเพื่อนทหารเกณฑ์เพียง 1 คน เท่านั้นที่อยู่ด้วย งานที่เขารับมอบหมายให้ทำภายในระยะเวลาที่เหลืออีก 10 เดือน คือการเฝ้าสระว่ายน้ำของค่ายทหารแห่งนั้น

“ชีวิตที่มาอยู่สระน้ำก็ตื่นเช้ามาก็เคารพธงชาติ กินข้าวปกติ แล้วก็ทำงานของเราไป ไม่ต้องไปยุ่งกับใคร แล้วก็ไม่มีใครมายุ่งกับเรา เหมือนเขากักตัวเราไว้แค่ตรงนี้ พอมาอยู่สระว่ายน้ำผมก็ไม่รู้เรื่องอะไรข้างในค่ายเขาเลย เหมือนเขาเอาผมมาอยู่ที่นี่ก็คงเพราะไม่อยากให้ผมได้รู้อะไรเยอะ ไม่ต้องรู้อะไรมาก แต่ก่อนที่เขาจะส่งผมมา ผมเห็นเขาประชุมกันมีผู้กอง ผู้พัน คงคุยกันว่าจะเอาไงกับไอ้นี่ดี สุดท้ายหลังประชุมเสร็จ ผมก็ต้องมาอยู่สระว่ายน้ำ” สามกล่าว

แม้จะดูเหมือนเป็นงานที่สบายที่สุดสำหรับชีวิตทหารเกณฑ์ แต่เมื่อช่างตวงวัดดูแล้ว สามเห็นว่าการเป็นทหารเกณฑ์แม้จะไม่ได้ทำให้ตัวตนของเขาเปลี่ยนแปลงไป จากเดิมที่ไม่เห็นด้วยกับระบบการเกณฑ์ทหาร หลังจากออกจากค่ายทหารมาก็ไม่ได้มีความรู้สึกที่เปลี่ยนแปลงไปในทางตรงกันข้าม แต่การเป็นทหารเกณฑ์สำหรับเขาคือการเสียโอกาสที่จะได้ทำอะไรตามที่ตัวเองต้องการจะทำจริงๆ ชีวิตหนึ่งปีที่เสียไปเขาพยายามมองว่ามันเป็นบททดสอบหนึ่งที่จะต้องผ่านมันไปให้ได้ แม้จะไม่เต็มใจที่จะยอมรับบททดสอบนี้เท่าไหร่นักก็ตาม

“มีอยู่วันหนึ่งผมไปขอลาผู้กอง อ้างว่าจะขอไปทำวิจัย อยู่ดีๆ เขาก็ถามผมเลยว่า มึงอยู่กลุ่ม......ใช่ไหม เขาก็ถามมันทำอะไรกันบ้าง ผมก็เล่าไปว่ามีทำค่าย ลงพื้นที่ หาชาวบ้าน ศึกษาปัญหาเรื่องเขื่อน เรื่องเหมืองแร่ แล้วเขาก็บอกว่า ตอนนี้มึงรู้ใช่ไหม มึงอยู่ในบทบาทหน้าที่ไหน มึงอย่าทำอะไรให้มันเป็นปัญหา เดี๋ยวกูลากขึ้นเขาไปซ่อม เขาก็พูดเชิงขู่ๆ” สาม ทิ้งท้าย

5

ในส่วนเรื่องทางฟากฝั่งทหารเรือ แม็ค (นามสมมติ) ปัจจุบันอายุ 26 ปี เป็นรุ่นน้องกลุ่มเดียวกันกับสาม เขาเพิ่งเข้ารับราชการเป็นทหารเกณฑ์สังกัดกองทัพเรือเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ และปัจจุบันยังคงประจำการอยู่ที่ค่ายทหารเรือแห่งหนึ่ง ทั้งนี้เรื่องราวของเขาแตกต่างออกไปจากสาม เนื่องจากไม่มีใครรู้มาก่อนว่าเขาเคยทำกิจกรรมอะไรก่อนหน้านี้

ในเรื่องการฝึกของทหารเรือนั้น ในทุกๆ ปีทหารใหม่ทุกคนจะต้องมาฝึกรวมกันที่ศูนย์ฝึกทหารใหม่ที่สัตหีบ ก่อนจะแยกย้ายกันไปตามหน่วย กรม กอง ที่ตนเองได้สังกัด แม็คเล่าว่าการฝึกของทหารเรือจะไม่หนักเท่ากับทหารบก แต่ก็ยังเป็นเรื่องปกติที่ต้องปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาอย่างไม่ต้องสงสัยหรือตั้งคำถาม การฝึกจะแบ่งออกเป็นสองช่วงโดยช่วงแรกจะเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับการเป็นทหาร เช่น การฝึกท่าบุคคลต่างๆ ส่วนช่วงที่สองจะเป็นการเตรียมร่างกายสำหรับการเป็นทหาร ซึ่งจะมีการออกกำลังกายที่หนักขึ้น แต่ถือว่ายังเบากว่าทหารบก

หลังจากฝึกเสร็จเขาได้ไปประจำการอยู่ที่ฐานทัพเรือแห่งหนึ่ง ซึ่งหลังจากนั้นเขาไม่ได้รับการฝึกอีกแล้ว แต่จะเป็นการเข้าสู่สภาวะของการทำงานอย่างจริงจัง ช่วงแรกเขาถูกส่งให้ไปอยู่หน่วยโยธา แต่ด้วยความที่เขาไม่มีความถนัดด้านช่าง หน้าที่ของเขาจึงมีเพียงแค่การแบกหาม ต่อมาไม่นานนักเขาถูกย้ายไปอยู่ในกองกิจการพิเศษ สถานที่ทำงานของเขาคือโรงครัว

แม็คบอกว่า แม้งานทำครัวจะเหมือนเป็นงานเบา แต่เขาต้องตื่นตั้งแต่ตี 4 เพื่อทำงานแล้วเลิกงานในเวลา 5 โมงเย็นทุกวัน เพราะต้องทำกับข้าวเลี้ยงกำลังพลทั้งฐานทัพเรือ และบางครั้งจะต้องทำให้งานเลี้ยงของนายทหารชั้นผู้ใหญ่ด้วย จากนั้นเขาก็ถูกย้ายอีกครั้ง โดยครั้งนี้ได้มาอยู่หน่วยบริการ งานที่เขาต้องทำคือการทำทุกอย่างตามที่ผู้บังคับบัญชาสั่ง เช่น ออกไปขุดลอกคูคลอง ลอกท่อระบายน้ำ เสิร์ฟอาหารในงานเลี้ยงของนายทหารชั้นผู้ใหญ่ ถ่ายภาพการทำกิจกรรมต่างๆ ของกองทัพเรือ เพื่อที่จะนำภาพไปเป็นผลงานของกองทัพเรือ

“พูดกันง่ายๆ ที่บอกว่าทำเพื่อชาติกัน ผมไม่เห็นว่ามันจะเป็นทำเพื่อชาติตรงไหนเลย แต่ก็มีบางคนที่เขาคิดนะว่าการได้ทำอะไรเล็กๆ น้อยๆ ได้เป็นส่วนหนึ่ง ก็ได้ทำเพื่อชาติแล้ว แต่ผมมองว่าไม่ใช่ เพราะมันเหมือนเราแค่ทำงานให้กองทัพเฉยๆ แล้วงานของกองทัพเรือส่วนใหญ่มันก็เป็นงานเอาหน้าเอาตา ยกตัวอย่างช่วงน้ำท่วม ผมเห็นเขาประชุมกัน แทนที่จะคุยกันว่าจะลงไปช่วยชาวบ้านจุดไหนอย่างไรบ้าง กลับเป็นการคุยกันว่าจะทำป้ายของกองทัพเรือขนาดไหนดี จะเขียนว่าอะไรบ้าง” แม็ค กล่าว

แม้จะดูไม่มีเรื่องให้เดือดเนื้อร้อนใจเท่าไหร่นักสำหรับการเป็นทหารเรือ แต่สิ่งหนึ่งที่แม็ครู้สึกคือ แม้ตัวตนความคิดของเขาจะไม่เปลี่ยนไป แต่ด้วยสภาพบังคับ เขาไม่สามารถมีชีวิตในแบบเดิมได้ จากที่เคยสนใจปัญหาบ้านเมือง ปัจจุบันสิ่งที่ต้องสนใจเป็นอย่างแรกคือ ชีวิตของตัวเอง จะทำอย่างไรให้รอดไปได้ในแต่ละวัน จะทำอย่างไรให้งานเสร็จ จะทำอย่างไรไม่ให้โดนซ่อม

“มันถูกตัดขาดจากโลกภายนอก เราโฟกัสเพียงแค่เอาวันนี้ให้รอดก่อน ทำอย่างไรให้งานเสร็จ ทำอย่างไรให้งานเสร็จ มันโคตรจะแปลกแยกกับสิ่งที่เราเคยเป็น มันต้องโกหกตัวเองหลายเรื่อง ทั้งๆ ที่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร ต้องเอาตัวรอดไปแต่ละวัน อย่าว่าแต่ไปสนใจเรื่องความทุกข์ความร้อนของชาวบ้านเลย แม้แต่หนังสือพิมพ์เขายังไม่ให้เราอ่านเลย ทีวีที่เปิดก็จะเป็นแต่พวกรายการที่ไม่ใช่ข่าว หนังสือที่จะอ่านสอบตั๋วทนายหรือสอบราชการ ถ้าจะอ่านจริงๆ ก็ต้องรีบตื่นมาอ่านตอนตีสี่ เพราะมันไม่ให้เรามีเวลาว่างเลย” แม็ค กล่าว

6

หากดูจากกิจกรรมชีวิต และภาระงานของเหล่าทหารเกณฑ์ สิ่งหนึ่งที่ชวนตั้งคำถามต่อไปคือ คุ้มค่าหรือไม่ที่คนหนุ่มเรือนแสนคนจะต้องเข้าไปเป็นทหารเกณฑ์ ล่าสุดเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2560 พงศธร อดีตทหารเกณฑ์รายหนึ่งได้โพสต์แสดงความคิดเห็นในเฟสบุ๊คส่วนตัวหลังจากปลดประจำการได้เพียงหนึ่งวัน และหลังจากเขาได้เขียนแสดงความคิดเห็นไปได้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับเขา แต่สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นคือ ทหารชั้นผู้ใหญ่ในค่ายที่เขาเคยสังกัดได้โทรมาหาครอบครัวเขา และขอเชิญเขาเข้าไปพูดคุยเพื่อขอความร่วมมือในการปิดโพสต์ดังกล่าว

เขาเห็นว่า ระยะเวลาที่เสียไป 1 ปี เป็นช่วงเวลาที่รู้สึกถึงการลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์ และเป็นช่วงที่เสียเวลามากที่สุดในชีวิต ประสบการณ์ต่างๆ ในค่ายทหารเป็นเรื่องที่ไม่จำเป็นที่ต้องมาเผชิญ ไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่จะต้องมาฝึกระเบียบวินัยในค่ายทหาร เพราะในสถานะของพลเรือนก็สามารถสร้างระเบียบวินัยให้กับตนเองได้ โดยที่ไม่ต้องมีใครมาบังคับย่ำยี

“สำหรับวาทกรรม ‘รับใช้ชาติ’ นั้น เราอยากบอกจากใจจริงว่า การใช้ชีวิตพลเรือนของเราก่อนหน้านี้ มันเติมเต็มจิตใจ มันเปิดโอกาสให้เราทำสิ่งที่มีคุณค่าและได้รับใช้ชาติด้วยศักยภาพที่เรามีอย่างเต็มที่มากกว่า 1 ปีในค่ายทหารแบบเทียบไม่ติด และต่อจากนี้ไป เราจะได้ออกไปรับใช้ชาติ และมวลมนุษยชาติตามความสามารถและวิชาชีพที่เราได้ร่ำเรียนมาสักที” พงศธร กล่าว

อย่างไรก็ตาม หลังจากที่เขาปิดการเข้าถึงโพสต์ดังกล่าว เขาย้ำอีกครั้งในเฟสบุ๊คส่วนตัวว่า ข้อความที่ได้ปิดไปนั้นยังเป็นความรู้สึกและความคิดที่เห็นเช่นนั้นจริงๆ ซึ่งสิ่งที่เขาไม่เห็นด้วยอย่างมากที่สุดคือ ตัวระบบการเกณฑ์ทหาร เนื่องจากเกิดขึ้นจากการบังคับในนามของกฎหมาย โดยไม่คำนึงถึงความสามารถทางด้านอื่นๆ ที่ทำให้เขาไม่ได้ใช้ความรู้ความสามารถอย่างเต็มที่ รวมทั้งการละเลยข้อจำกัดทางด้านครอบครัว เศรษฐกิจ และความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยที่การบังคับการเกณฑ์ทหารแบบเดิมไม่ตอบโจทย์ และทำลายโอกาสทั้งของประเทศชาติและประชาชนอย่างมาก

"สิ่งที่ผมต้องการสื่อและเรียกร้องจึงไม่ใช่การโจมตีแต่คือการสะท้อนเพื่อให้กองทัพเองเห็นถึงโอกาสในการพัฒนานโยบายให้มีความทันสมัย หาแนวทางให้ได้มาซึ่งทหารโดยที่ไม่ต้องบังคับ มีการปรับปรุงสิทธิสวัสดิการ ความเป็นอยู่ และการจัดการทรัพยากรของพลทหารให้ได้ทำงานที่มีคุณค่าและมีเกียรติเหมาะสมกับทรัพยากรที่ลงทุนฝึกไปให้มากกว่านี้ รวมทั้งการช่วยกันเปลี่ยนแปลงการปฏิบัติต่อพลทหารทุกคนให้ได้รับเกียรติ ไม่มีการลดทอน ย่ำยี และให้เขารู้สึกเป็นแค่บุคคลชั้นต่ำสุดภายในค่าย เพราะว่าพลทหารทุกคนโดนพรากชีวิตส่วนตัวเข้ามาอยู่ในนี้ เราต้องการการปฏิบัติที่ให้เกียรติ เท่าเทียม ได้ทำงานที่มีคุณค่า มีความหมายต่อชีวิต สังคม และประเทศชาติ" พงศธร กล่าว

ประเด็นเรื่องความไม่คุ้มค่าของการเป็นทหารเกณฑ์ ได้รับการยืนยันอีกครั้งจากจาก สาม และ แม็ค ซึ่งเผยให้เห็นการวางแผนชีวิตหลังจากเรียนจบซึ่งแต่ละคนวางที่ทางที่ต้องการจะเดินไป แต่สุดท้ายเส้นทางชีวิตของพวกเขากลับถูกลิขิตด้วย “ใบแดง”

สาม ให้ข้อมูลว่า หลังจากเรียนจบได้ไม่นานเขาได้ทำงานในองค์กรพัฒนาเอกชน ซึ่งทำงานอยู่กับประเด็นปัญหาข้อพิพาทระหว่าง รัฐ ทุน และชุมชนในพื้นที่ภาคอีสาน แม้งานที่เขาทำจะไม่ได้ให้ผลตอบแทนที่สูงนัก แต่เขาเลือกที่จะทำมันเพราะเห็นว่า งานเหล่านนั้นคือชีวิต

“มันไม่คุ้มอยู่แล้ว คือเอาง่ายๆ เลยผมมีงานที่อยากทำ แต่ต้องมาเป็นทหารเกณฑ์ มองมุมไหนมันก็ไม่คุ้ม แทนที่จะได้ไปช่วยชาวบ้านที่เขาเจอปัญหา หรือพวกทหารเกณฑ์คนอื่นส่วนมากที่คุยกันไม่มีใครที่อยากมาเป็นหรอกทหารเกณฑ์ ทุกคนมีงาน มีหน้าที่ บางคนต้องหาเงินดูแลครอบครัว แต่ต้องมาจมอยู่กับเงินเดือนไม่ถึงหมื่น แถมหักแล้วหักอีกจนมันแถมเหลือไม่พอส่งบ้าน” สาม กล่าว

เช่นเดียวกันกับ แม็ค ซึ่งวางแผนชีวิตหลังจากเรียนจบว่าจะสอบข้าราชการ หรือไม่ก็สอบตั๋วทนายความ เพื่อที่จะมีอาชีพการงานที่มั่นคง และได้ช่วยเหลือคนอื่นๆ แต่ยังไม่ได้จะได้เตรียมตัวสอบ 'ใบแดง' ก็พาเขาเข้ามาเป็นทหารบริการภายใต้สังกัดกองทัพเรือ

7

สำหรับเรื่องของงบประมาณรายจ่ายที่รัฐต้องสูญเสียกับการเกณฑ์ทหาร หากคำนวนจำเงินเดือนที่รัฐต้องจ่ายให้กับทหารเกณฑ์ ซึ่งปัจจุบันมีเงินเดือนให้ 10,000 บาทต่อเดือนต่อคน คำนวณจากยอดทหารเกณฑ์ปีล่าสุดซึ่งมีจำนวนทั้งสิ้น 103,097 นาย จำนวนเงินที่รัฐจะต้องจ่ายจะเท่ากับ 1,030,970,000 ต่อเดือน หากคิดเป็นรายปีเท่ากับ 12,371,640,000 ต่อปี

นอกจากนี้ยังมีค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องการเรียกเกณฑ์ทหาร ซึ่งสามารถตรวจสอบได้จากเว็บไซต์ กองสัสดี คือ

-ค่าใช้จ่าสำหรับคณะกรรมการตรวจคัดเลือก ซึ่งประกอบด้วยเบี้ยเลี้ยง ค่าเช่าที่พัก และค่าตอบแทน

-ค่าใช้จ่ายสำหรับการปฐมนิเทศการตรวจคัดเลือก ซึ่งประกอบด้วยเบี่ยเลี้ยง ค่าเช่าที่พัก ค่าพาหนะ ค่าอาหาร ค่าวัสดุ และค่าจัดสถานที่

-ค่าใช้จ่ายในการสังเกตการณ์ตรวจคัดเลือก ซึ่งประกอบด้วย เบี้ยเลี้ยง ค่าเช่าที่พัก และค่าพาหนะ

-ค่าใช้จ่ายในการจัดตั้งกองอำนวยการประสานงานตรวจคัดเลือกฯ

-ค่าใช้จ่ายในการดัดแปลงสถานที่สำหรับการตรวจคัดเลือกฯ

-ค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบบัญชีเรืยกคัดเลือก และการรับรองผลการตรวจคัดเลือก

-ค่าใช้จ่ายสำหรับการนำทหารใหม่ส่งเข้ากรมกอง

-ค่าใช้จ่ายสำหรับผู้ช่วยคณะกรรมการตรวจคัดเลือกฯ ซึ่งประกอบด้วย ค่าพาหนะเดินทาง และค่าอาหาร

จากการค้นหาข้อมูล พบว่า ในปี 2558 มีการเบิกจ่ายงบประมาณในส่วนนี้ ยกเว้นค่าใช้จ่ายสำหรับการนำทหารใหม่ส่งเข้ากรมกอง ทั้งหมดจำนวน 66,444,367 บาท ส่วนค่าใช้จ่ายสำหรับการนำทหารใหม่ส่งเข้ากรมกองในผลัดที่ 1 ปี พ.ศ. 2558 จำนวน 15,217,618 บาท ซึ่งรวมแล้วเท่ากับว่าในปี 2558 มีการใช้งบประมาณของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการเรียกเกณฑ์ทหารประมาณ 82 ล้านบาท เมื่อรวมกับเงินเดือนที่รัฐจ่ายให้กับทหารเกณฑ์แล้วคือ 1.24 หมื่นล้านบาทต่อปี

ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี อาจารย์ประจำวิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ตั้งข้อสังเกตกับการเกณฑ์ทหารว่า รัฐและประชาชนอาจจะเสียโอกาสสำหรับการนำงบประมาณจำนวนมากมาใช้ประโยชน์ในด้านอื่นๆ ยกตัวอย่างเช่น หากนำมาเพิ่มให้กับงบประมาณของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจะเป็นประโยชน์มากกว่า ซึ่งหากมีการปรับลดอัตราความต้องการทหารกองประจำการลงก็จะสามารถนำเอาค่าใช้จ่ายในส่วนที่ไม่จำเป็นมาใช้ในส่วนที่จำเป็นมากกว่าได้ ขณะเดียวเขามองว่า การเกณฑ์คนเข้าไปเป็นทหารปีหนึ่งราวแสนคน ย่อมส่งผลกระทบกับตัวบุคคลที่จะสามารถมีโอกาสในการทำงานอื่น และสร้างมูลค่าที่มากกว่าการเป็นทหารเกณฑ์ได้

สำหรับความคุ้มค่าในเชิงบุคคล หากลองคำนวณดูด้วยตัวเลขที่ต่ำที่สุดคือคิดจากฐานค่าแรงขึ้นต่ำวันละ 300 บาท เท่ากับว่าคนหนึ่งจะมีเงินเดือน 9,000 บาท แม้จะเป็นตัวเลขที่น้อยกว่าการเข้าไปเป็นทหารเกณฑ์ซึ่งได้มีการปรับเงินเดือนเพิ่มขึ้นเป็น 10,000 บาทแล้ว แต่ในความเป็นจริงแล้วทหารเกณฑ์หลายรายเผยว่าไม่เคยได้รับเงินเต็มจำนวน เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่ถูกหักไป โดยเงินได้รับจากการเกณฑ์ทหารประกอบด้วยเงินสามส่วนคือ เงินเบี้ยเลี้ยงวันละ 96 บาทต่อวันซึ่งเงินในส่วนนี้จะถูกหักเป็นค่าประกอบอาหารในแต่ละวันซึ่งขึ้นอยู่กับกองร้อยกองพันที่สังกัดว่าจะหักงบส่วนนี้เป็นค่าอาหารจำนวนเท่าไหร่ ส่วนที่เหลือเป็นเงินเดือน และเงินเพิ่มค่าครองชีพชั่วคราว

ทั้งนี้นอกจากการหักค่าเบี้ยเลี้ยงที่จัดไปเป็นค่าอาหารแล้ว ค่าชุด ค่ารองเท้า ค่าเครื่องแบบ ทหารใหม่ทุกคนจะต้องถูกหักจากเงินเดือนด้วย ทำให้ในช่วงสองเดือนแรกรายได้จากการเป็นทหารเกณฑ์จะเหลืออยู่แค่ 3,000-5,000 บาทเท่านั้น แน่นอนว่าย่อมแตกต่างกับการทำงานอยู่นอกค่ายทหารซึ่งอาจจะมีเงินเหลือในแต่ละเดือนมากกว่า ทั้งยังสามารถหาอาชีพเสริมได้และที่สำคัญที่สุดตัวเลข 9,000 บาทเป็นการคิดจากฐานที่ต่ำที่สุด ซึ่งในความเป็นจริงแล้วอาจมีหลายคนที่มีโอกาสได้รับเงินเดือนมากกว่านั้น

ษัษฐรัมย์ ให้ความเห็นว่า การที่คนหนึ่งคนได้ทำงานในฐานะทหารเกณฑ์กับการได้ทำงานในระบบแรงงานทั่วไป มีความแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด โดยสิ่งที่เห็นได้ชัดที่สุดคือการสูญเสียทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งเป็นสิ่งที่มีมูลค่าเพิ่มมากที่สุด ซึ่งประเทศที่เจริญแล้วจะสร้างให้คนเข้าไปในภาคเศรษฐกิจที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มหรือกำไรได้มากกว่าที่จะลงทุนโดยไม่มีมูลค่าเพิ่ม

“คือถ้าเรามองในส่วนของการเกณฑ์ทหาร แล้วมีคนแสนคนไปอยู่ในค่าย ผมคิดว่ามันสูญเสียมูลค่าทางเศรษฐกิจไปมหาศาลแน่นอน เหตุผลหนึ่งคือรัฐใช้เงินในส่วนนี้เยอะและมันเป็นการจ่ายที่ไม่ก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจขึ้นมา ถ้าเทียบง่ายๆ ผมลองเสนอว่าถ้าเราเปลี่ยนจากทหารเกณฑ์เป็นพยาบาลเกณฑ์ เป็นนักกายภาพบำบัดเกณฑ์ มันก็จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมและมีคุณค่าในเชิงเศรษฐกิจมากขึ้นไปอีก" ษัษฐรัมย์ กล่าว

“แต่ว่าในกรณีนี้หากเราคิดว่าการเกณฑ์ทหารเป็นการลงทุนของรัฐ ผมคิดว่ามันเป็นการลงทุนที่สูญเปล่า ไม่เกิดมูลค่าเพิ่ม ถ้าเทียบกับการที่รัฐจะเอาเงินส่วนนี้ไปลงทุนในส่วนอื่น และขณะเดียวกันการจ้างคนแสนคนของกองทัพ เราก็ได้ยินมาเรื่อยๆ ว่าเป็นงานสู้กับหญ้า ฆ่ากับมด หรือเป็นทหารบริการ มันก็ไม่ได้สร้างมูลค่าอะไร มันเป็นงานที่กลายเป็นการสร้างภาพลักษณ์ให้กับกองทัพซะมากกว่า ฉะนั้น ถ้าคนแสนคนแทนที่จะอยู่ในค่ายทหาร แต่ไปอยู่ในภาคส่วนเศรษฐกิจที่มันสร้างมูลค่าเพิ่มได้ มันก็จะสร้างความเติบโตทางเศรษฐกิจในระดับมหภาคได้แน่นอน” ษัษฐรัมย์ กล่าว

เช่นเดียวกันกับ กานดา นาคน้อย นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยคอนเน็คทิคัต ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งให้ความเห็นว่า การเกณฑ์ทหารโดยการบังคับเป็นการดึงแรงงานออกไปจากระบบการผลิต ซึ่งจะทำให้ประเทศมีรายได้ลดลงจากที่ควรจะเป็น และเป็นการเพิ่มภาระให้แรงงานคนอื่นๆ ที่อยู่นอกกองทัพซึ่งเป็นผู้เสียภาษี

“ส่วนผลในระยะยาวคือทำให้แรงงานเสียโอกาส เท่าที่ทราบจากผู้ผ่านประสบการณ์เกณฑ์ทหารพบว่าการเกณฑ์ทหารของไทยไม่ได้ฝึกทักษะวิชาชีพแบบการเกณฑ์ทหารที่สิงคโปร์หรือเกาหลีใต้  ที่สิงคโปร์และเกาหลีใต้มีการให้ฝึกใช้อุปกรณ์ไฮเทค เช่น คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์สื่อสาร เพิ่มการเรียนรู้กระบวนการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมทั้งยกระดับทักษะการสื่อสารซึ่งต่างจากกรณีของไทย อีกเรื่องคือระบบเกณฑ์ทหารของไทยเป็นระบบสองมาตรฐานที่ซ้ำเติมคนจนให้เสียโอกาสยิ่งกว่าคนชั้นกลาง เพราะลูกคนชั้นกลางมีโอกาสเรียน ม.ปลาย ก็สามารถเลี่ยงการเกณฑ์ทหารด้วยการเรียน รด. ได้ สุดท้ายสิ่งที่ส่งผลในระยะยาวคือ การได้แรงงานฟรีจากการเกณฑ์ทหารทำให้กองทัพไทยไม่มีแรงจูงใจลงทุนสร้างคนเพื่อยกระดับศักยภาพของกำลังพล” กานดา กล่าว

ขณะที่สุรชาติ บำรุงสุข อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคยให้สัมภาษณ์กับ สำนักข่าว TCIJ ไว้ว่า การเกณฑ์ทหารที่เป็นอยู่อาจจะไม่ได้ตอบสนองความต้องการของกองทัพสมัยใหม่ และยังสร้างปัญหาสังคมเพิ่มขึ้นด้วย เพราะสุดท้ายแล้วอาจมีแต่ลูกหลานของคนจนที่เข้าไปเป็นทหารเกณฑ์ ขณะที่คนชั้นกลาง หรือลูกหลานคนรวย นอกจากนี้ เขายังตั้งคำถามต้องไปด้วยว่าเพราะเหตุใดกองทัพจึงต้องการกำลังคนจำนวนมาก ในขณะที่ทั่วโลกหลังสงครามเย็นได้มีปรับลดกองกำลังทหารลง และหันมาเพิ่มศักยภาพของกองทัพโดยการเน้นการพัฒนาด้านเทคโนโลยีแทน เพื่อทำให้สอดรับกับโจทย์ความมั่นคงรูปแบบใหม่ แต่กองทัพไทยยังคงคิดสร้างกองกำลังอยู่ภายใต้โจทย์ความมั่นคงแบบเก่า

สำหรับข้อเสนอ กานดาเสนอว่า ประเทศไทยควรที่จะยกเลิกระบบเกณฑ์ทหาร โดยชี้ให้เห็นว่า ปัจจุบันอัตรากำลังพลของกองทัพต่อประชากรของไทยก็สูงกว่าอัตรากำลังพลของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นมหาอำนาจทางการทหาร แต่สหรัฐฯ ยกเลิกทหารเกณฑ์ไปเกิน 40 ปีแล้ว หันมาใช้ทุนการศึกษาและสวัสดิการดึงดูดให้คนอายุน้อยรับราชการทหารและใช้เทคโนโลยีที่เพิ่มศักยภาพของกำลังพล เน้นคุณภาพมากกว่าปริมาณ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net