Skip to main content
sharethis

กลไกห้ามแทรกแซงกิจการภายในและหลักฉันทามติทำหลักการสิทธิมนุษยชนภูมิภาคต่ำกว่ามาตรฐานสากล เปิดปมปัญหาโครงสร้างกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนอาเซียน (AICHR) ในฐานะเสือกระดาษหลับเมื่อรัฐใหญ่กว่าข้อตกลงร่วมระดับภูมิภาค กับความหวังและแนวทางการเป็นเสือแท้ในอนาคต

ถ้อยแถลงของ พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และ พ.อ.หญิง ทักษดา สังขจันทร์ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ระบุว่าคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบและประกาศให้สิทธิมนุษยชนเป็นวาระแห่งชาติมาในจังหวะที่ทางลมไม่ส่งเท่าไหร่ หลังมีปมที่สร้างข้อกังวลเรื่องสิทธิมนุษยชนออกมาผ่านหน้าสื่ออย่างต่อเนื่อง

ข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนของ UN ร้องปล่อยผู้ถูกจับกุมขณะประท้วงโรงไฟฟ้าถ่านหินทันที

อมรินทร์ทีวีเผย มีทหารเกณฑ์ถูกซ้อมจนสะโพกหักอีก 1 ราย เหตุฝึกแถวช้าเกินไป

เครือข่ายนักกิจกรรมยื่นหนังสือขอ กสม.สอบข้อเท็จจริงการเสียชีวิตของน้องเมย

ประเทศไทยเป็นหนึ่งในหกประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีองค์กรดูแลสิทธิมนุษยชนเป็นรูปธรรม (กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ) เช่นเดียวกันกับมาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ พม่า และติมอร์ เลสเต ในระดับองค์กรภูมิภาคอย่างอาเซียนเองก็มีกลไกการดูแลเรื่องสิทธิมนุษยชนเช่นกัน ที่ประชุมผู้นำอาเซียนได้เห็นชอบและออกปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชนตั้งแต่ปี 2555 ณ กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา มีการจัดตั้งคณะกรรมาธิระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (The ASEAN Intergovernmental Commission on Human Rights - AICHR) องค์กรที่มีหน้าที่ส่งเสริม และคุ้มครองสิทธิมนุษยชน และสนับสนุนให้มีการร่วมมือกันระหว่างชาติสมาชิกในด้านสิทธิมนุษยชนในหมู่ชาติสมาชิกในปี 2552

แม้ว่าจะมีกลไกทั้งระดับภูมิภาคและในระดับประเทศ (บางประเทศ) แต่ชาติสมาชิกอาเซียนมักมีข่าวเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนออกมาอย่างต่อเนื่อง นอกจากนั้น เมื่อมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนเกิดขึ้นไม่ว่าจะในระดับความรุนแรงเท่าใดก็ตาม ท่าทีในระดับภูมิภาคที่จะตอบสนองการละเมิดสิทธิมนุษยชนกลับเงียบงันกว่าที่คิด

หนึ่งเนื้อความจากเอกสารที่จัดทำโดยกรมอาเซียน กระทรวงการต่างประเทศไทยสะท้อนชัดเจนถึงตำแหน่งแห่งที่ของ AICHR และประเด็นสิทธิมนุษยชนในอาเซียนเป็นอย่างดี

“แม้จะมีบางฝ่ายออกมาวิจารณ์ว่า ขอบเขตอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมาธิการฯ มีข้อบกพร่องในแง่ที่เน้นการส่งเสริมสิทธิฯ แก่คณะกรรมาธิการฯ มากเท่าที่ควร และไม่ได้ให้ความเป็นอิสระอย่างแท้จริงแก่สมาชิกของคณะกรรมาธิการฯ ในการทำงาน แต่หากเราคำนึงถึงข้อเท็จจริงที่ว่า อาเซียนไม่ได้มีลักษณะเป็นองค์กรเหนือรัฐ และเรื่องสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องต้องห้ามสำหรับการหารือในกรอบอาเซียนมาช้านาน การที่อาเซียนสามารถจัดตั้งคณะกรรมาธิการฯ ขึ้นมาได้ และยังกำหนดในกฎบัตรอาเซียนให้การส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน การส่งเสริมประชาธิปไตยและหลักธรรมาภิบาลเป็นหนึ่งในวัตถุประสงค์และหลักการที่อาเซียนพึงยึดถือและปฏิบัติ ก็น่าจะถือเป็นความก้าวหน้าครั้งสำคัญในเชิงความคิดและค่านิยมขององค์กร และเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่จะนำไปสู่การสร้างประชาคมอาเซียนที่ยึดถือกฎกติกาและผลประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้งและสามารถตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริงได้”

แอมเนสตี้ฯ เปิดภาพ-พยาน ชี้กองกำลังเมียนมา 'ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์' ชาวโรฮิงญา

เมื่อเยาวชนต้นกล้าชนเผ่าพื้นเมือง ทวงถามความจริงให้บิลลี่และชัยภูมิ

สโมสรผู้สื่อข่าวต่างประเทศในไทยยกเลิกงานแถลงสถานการณ์สิทธิฯในเวียดนาม

ศิลปินถือกระจกสะท้อน 32 ปีการจองจำนักโทษการเมืองสิงคโปร์-ก่อนถูกรวบตัว

ไม่พอใจถูกตรวจสอบฆ่าตัดตอน-สภาฟิลิปปินส์หั่นงบกรรมการสิทธิฯ เหลือ 1 พันเปโซ

ศ.เดวิด เคย์ ผู้รายงานพิเศษขององค์การสหประชาชาติในประเด็นการสนับสนุนและปกป้องสิทธิเสรีภาพด้านการแสดงออกและการแสดงความเห็นเคยกล่าวกับประชาไทว่า สถานการณ์เสรีภาพการแสดงออกของทั้งภูมิภาคอาเซียนอยู่ในระดับที่ต่ำ มีแรงกดดันจากรัฐบาลที่เลือกให้มีการแสดงออกหรือไม่แสดงออกอะไร รวมถึงการทำให้การพูด การรายงานข่าวที่สื่อถึงความไม่พอใจต่อรัฐบาลกลายเป็นอาชญากรรม

ธีรเนตร ไชยสุวรรณ ตัวแทนสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ ที่เข้าร่วมประชุมเวทีภาคประชาชนอาเซียน (ACSC/APF) กล่าวถึงหนึ่งประเด็นที่ถูกชูขึ้นมาอภิปรายในเวทีที่จัดขึ้นที่ประเทศฟิลิปปินส์เมื่อ 11-14 พ.ย. ที่ผ่านมาว่า

“ในเวทีพูดเรื่องบริษัทข้ามชาติ บริษัทขนาดใหญ่ เข้ามาแย่งยึดพื้นที่จากเกษตรกรรายย่อย ส่งผลถึงสิทธิชุมชน เพราะการเกษตรต้องการพื้นที่เพาะปลูก การเข้ามาของบริษัทเหล่านี้จากการเปิดทางของรัฐบาล ยิ่งทำให้ชาวบ้านไม่สามารถเรียกร้องสิทธิได้เลย โดยเฉพาะรัฐบาลปัจจุบันของเรา”

“(ในกรณีไทย) ยังมีการบังคับไล่รื้อทั้งพื้นที่ในเมืองและชนบท บางที่ใช้ มาตรา 44 ในการไล่รื้อเพื่อเอาพื้นที่ไปให้กับนายทุนในรูปแบบเขตเศรษฐกิจพิเศษที่มีอยู่เดิมแล้ว 3 ล้านกว่าไร่ แต่ก็ยังเพิ่มพื้นที่เข้าไป 3 จังหวัด คือฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง เห็นได้ชัดว่ารัฐบาลไม่ได้คำนึงถึงสิทธิมนุษยชน สิทธิชุมชนที่จะเข้าถึงและใช้ทรัพยากรธรรมชาติเลย”

“ตั้งแต่มีรัฐประหารปี 57 ที่ผ่านมาทำให้สถานการณ์สิทธิมนุษยชนเลวร้ายลงทุกประเด็น ไม่ว่าจะเป็นประเด็นน้ำ เขื่อน เหมือง อะไรที่เกี่ยวกับทรัพยากร ชาวบ้านถูกกระทำจากรัฐแต่ไม่สามารถออกมาเรียกร้องได้ ไม่ว่าจะเป็นการชุมนุมโดยสงบหรือการรวมตัวเพื่อเรียกร้องสิทธิ ชาวบ้านเป็นฝ่ายถูกกระทำอย่างเดียว โดยเฉพาะพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษที่มีวิธีเยียวยาแบบจ่ายชดเชยเท่าที่รัฐให้ได้ โดยไม่ได้คำนึงว่าชาวบ้านหรือเกษตรกรจะอยู่ได้หรือเปล่า” ธีรเนตรระบุเพิ่มเติม

ตอนที่สองของ ‘อาเซียนไม่ใช่ของเรา’ พาผู้อ่านดูเงื่อนไขในระดับภูมิภาคและตั้งคำถามว่า แล้วอะไรคือปัญหาในกลไกการบังคับใช้หลักการสิทธิมนุษยชนระดับภูมิภาคอาเซียน

อาเซียนไม่ใช่ของเรา #1: รัฐแสดงนำ ภาคประชาชนที่ไม่มีส่วนร่วม และเอ็นจีโอปลอม

หลักการสิทธิมนุษยชนอาเซียนต่ำกว่ามาตรฐานสากล

ข้อสังเกตหนึ่งในปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชนคือมีการเว้นช่องว่างให้แต่ละรัฐจัดทำหน้าที่ส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนตามบริบทของรัฐตนเอง ซึ่งสุ่มเสี่ยงต่อการตีความให้รัฐละเว้นการสนับสนุนและปกป้องสิทธิมนุษยชน ในมาตราที่ 6 และ 7 ของปฏิญญาฯ

มาตรา 6 การใช้สิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐานต้องสมดุล กับการปฏิบัติหน้าที่ที่สอดคล้องกัน เนื่องจากบุคคลทุกคนมี ความรับผิดชอบต่อทุกปัจเจกบุคคลอื่นๆ ทั้งหมด ชุมชนและสังคมที่ตนอาศัยอยู่ ในท้ายที่สุด ความรับผิดชอบหลักในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐานทั้งปวงอยู่ที่รัฐสมาชิกอาเซียนทุกรัฐ (The enjoyment of human rights and fundamental freedoms must be balanced with the performance of corresponding duties as every person has responsibilities to all other individuals, the community and the society where one lives. It is ultimately the primary responsibility of all ASEAN Member States to promote and protect all human rights and fundamental freedoms.)”

มาตรา 7 สิทธิมนุษยชนทั้งมวล มีความเป็นสากล ไม่อาจแบ่งแยกได้ เชื่อมโยงและสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน สิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐานทั้งมวลในปฏิญญานี้ต้องได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นธรรม เสมอภาค อยู่บนพื้นฐานเดียวกันและมีความสำคัญเท่าเทียมกัน ในขณะเดียวกัน การบรรลุสิทธิมนุษยชนต้องได้รับการพิจารณาในบริบทของภูมิภาคและของประเทศโดยคำนึงถึงความแตกต่างของภูมิหลังทางการเมืองเศรษฐกิจกฎหมาย สังคม วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์และศาสนา (All human rights are universal, indivisible, interdependent and interrelated. All human rights and fundamental freedoms in this Declaration must be treated in a fair and equal manner, on the same footing and with the same emphasis. At the same time, the realisation of human rights must be considered in the regional and national context bearing in mind different political, economic, legal, social, cultural, historical and religious backgrounds.)”

รายงานการปฏิบัติงานประจำปีของ AICHR ที่จัดทำโดยเวทีเอเชียว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (FORUM-ASIA) ให้ความเห็นต่อมาตราที่ 6 และ 7 ว่าจะถูกค่อนขอดว่าไม่สอดคล้องกับมาตรฐานของปฏิญญาสิทธิมนุษยชนสากล โดยระบุถึงข้อกังวลเอาไว้ว่า

“(มาตรา 6) เรียกร้องให้มีสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพ ‘สมดุล’ กับหน้าที่ของบุคคล แต่การได้รับสิทธิของบุคคลหนึ่งนั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพในการทำหน้าที่ของเขา เพราะว่าสุดท้ายแล้วความรับผิดชอบขั้นต้นในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนทั้งหมดยังคงเป็นของชาติสมาชิกอาเซียน”

“(มาตรา 7) อย่างไรก็ตาม เนื้อความที่ว่า ‘การบรรลุซึ่งสิทธิมนุษยชนต้องได้รับการพิจารณาในบริบทของภูมิภาคและของประเทศโดยคำนึงถึงความแตกต่างของภูมิหลังทางการเมืองเศรษฐกิจกฎหมาย สังคม วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์และศาสนา’ อาจทำให้บริบทข้างต้นมีผลต่อการพัฒนาวาทกรรมของสิทธิมนุษยชน” กล่าวคือ เป็นข้อกังวลว่ามาตรฐานสิทธิมนุษยชนในชาติสมาชิกอาเซียนอาจจะมีไม่เท่ากัน

อธิปไตยชาติสมาชิกและหลักการอาเซียนทำสิทธิมนุษยชนภูมิภาคตกต่ำ

อีกหนึ่งคำถามที่น่าสนใจคือ ในเมื่อการตัดสินใจต่างๆ ของอาเซียนในเชิงองค์กร และชาติสมาชิกนั้นยืนอยู่บนสองหลักการใหญ่ได้แก่ หนึ่ง หลักการไม่แทรกแซงกิจการภายในชาติสมาชิกอื่น (Non-inteference) และหลักการตัดสินใจด้วยฉันทามติ (Consensus) ผลแห่งการตัดสินใจที่ทำให้มาตรฐานสิทธิมนุษยชนของภูมิภาคต่ำกว่ามาตรฐานสิทธิมนุษยชนสะท้อนว่าภูมิภาคนี้ไม่พร้อมกับสิทธิมนุษยชนหรือไม่


ศันสนีย์ สุทธิศันสนีย์

ศันสนีย์ สุทธิศันสนีย์ จากมูลนิธิส่งเสริมคุ้มครองสิทธิมนุษยชน คณะกรรมการอำนวยการภาคประชาชนอาเซียน (Regional Steering committee) จากประเทศไทยให้ความเห็นเกี่ยวกับมาตรฐานสิทธิมนุษยชนในอาเซียนว่า “ส่วนมากเรื่องสิทธิมนุษยชนในอาเซียนก็ต่ำกว่ามาตรฐาน ข้อจำกัดของมันที่จะใช้เป็นข้ออ้างที่จะไม่ทำอะไรเลย ประการหนึ่งคือเนื้อหาในบทนำที่ว่า ฉันยอมรับในหลักการสิทธิมนุษยชนนะ แต่คุณต้องคำนึงถึงบริบทของแต่ละประเทศและภูมิภาคด้วย นั่นคือข้อจำกัด อีกประการหนึ่ง ในรายมาตราที่ไม่ยอมรับสิทธิทางการเมือง สิทธิทางการทำงานหรืออะไรต่างๆ ก็จะบอกว่า ฉันยอมรับ แต่มันขึ้นอยู่กับกฎหมายของประเทศสมาชิกแต่ละประเทศ แต่เรา (ภาคประชาสังคม) ก็อย่าไปอยู่กับมันตรงนั้นสิ เราก็ท้าทายมันไป ถ้ามีกรณีการละเมิดสิทธิฯ ก็ต้องนำเสนอ ถ้าเรานำเสนอไปตลอดมันก็ทำให้เกิดการพูดถึง วิพากษ์วิจารณ์และอาจนำไปสู่การทบทวน”

อีกด้านหนึ่ง เอดมุนด์ บอน ไท ซูน ผู้แทนประจำคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชนจากประเทศมาเลเซียมีความเห็นว่าหลักการฉันทามติมีจุดอ่อนจริงตรงที่มาตรฐานสิทธิมนุษยชนของแต่ละประเทศไม่เท่ากัน แต่ก็ยังมีข้อดีว่าการเห็นพ้องต้องกันทั้งหมดสร้างข้อตกลงที่แข็งมากและจะถอยกลับไปไม่ได้ แต่ไม่เห็นด้วยว่าอาเซียนไม่พร้อมสำหรับสิทธิมนุษยชน


เอดมุนด์ บอน ไท ซูน

“ไม่จริง (ที่อาเซียนไม่พร้อมรับหลักการสิทธิมนุษยชน) ทุกภูมิภาคมีความพร้อมเพราะว่าสิทธิมนุษยชนนั้นเป็นสากลและแบ่งแยกไม่ได้ เพียงแต่ว่าจะแตกต่างไปในรูปแบบของแต่ละภูมิภาคก็เท่านั้น คำประกาศสิทธิมนุษยชนอาเซียนเองมาจากฉันทามติ และตอนนี้เราก็รู้แล้วว่ามันยังขาดเหลืออะไร ดังนั้นเราจำเป็นที่จะต้องเดินหน้าพัฒนาตัวคำประกาศและการนำมันไปใช้ต่อไป” เอดมุนด์กล่าว

ต่อประเด็นข้อกังวลเกี่ยวกับการบรรลุสิทธิมนุษยชนตามบริบทที่แตกต่างกันของประเทศสมาชิก เอ็ดมุนด์เห็นว่า “มีหลายสิทธิที่ถูกจำกัดจากกฎหมายในประเทศ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่ากฎหมายในประเทศจะถูกต้อง กฎหมายในประเทศที่จำกัดสิทธินั้นอาจผิดก็ได้หากวัดจากมาตรฐานนานาชาติ เราก็ยังต้องพูดกันต่อว่ากฎหมายในประเทศต้องเปลี่ยน โดยอิงอยู่กับความสอดคล้องกับหลักการสิทธิมนุษยชนในระดับนานาชาติ”

AICHR: เสือกระดาษหลับเมื่อความเป็นรัฐใหญ่กว่าอาเซียน ปัญหา ความหวังและแนวทางการเป็นเสือแท้ในอนาคต

แม้อาเซียนมีการพูดถึงสิทธิมนุษยชนมาตั้งแต่ปี 2536 แต่องค์กรสิทธิมนุษยชนของอาเซียนเพิ่งมีอายุ 8 ปี หลังถือกำเนิดเมื่อผู้นำอาเซียนประกาศจัดตั้งคณะกรรมาธิระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (The ASEAN Intergovernmental Commission on Human Rights - AICHR) ในปี 2552 ที่ อ.ชะอำ-หัวหิน

หนึ่งในขอบเขตอำนาจหน้าที่ของ AICHR คือการส่งเสริมและคุ้มครอง (Promote and Protect) สิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนอาเซียน แต่ปัญหาหนึ่งที่เป็นที่พูดถึงบ่อยคือประสิทธิภาพการทำงานของ AICHR ที่ไม่ได้ทำหน้าที่การคุ้มครองได้ดีพอ และเน้นหนักไปในทางการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนมากกว่า

ทั้งนี้ ขอบเขตการทำงานของ AICHR ยังถูกกำหนดจากหลักการใหญ่ของอาเซียนว่าด้วย การต้องเคารพในหลักการว่าด้วยการเคารพเอกราช อธิปไตย ความเสมอภาค บูรณภาพแห่งดินแดนและอัตลักษณ์แห่งชาติของรัฐสมาชิกอาเซียนทั้งปวง หลักการการไม่แทรกแซงกิจการภายในของรัฐสมาชิกอาเซียน และหลักการการเคารพสิทธิของรัฐสมาชิกทุกรัฐในการธำรงประชาชาติของตนโดยปราศจากการแทรกแซง การบ่อนทำลาย และการบังคับจากภายนอก ทำให้อำนาจหน้าที่ในการเดินหน้าประเด็นการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนตามหน้าที่ของ AICHR ถูกดึงรั้งเอาไว้ด้วยอธิปไตยของชาติสมาชิก

ข้อสังเกตจากรายงานประจำปีของ FORUM-ASIA ระบุว่าความพยายามใดๆ ที่จะขับเคลื่อนประเด็นปกป้องสิทธิมนุษยชนมักถูกมองว่าเป็นภัยคุกคามต่ออธิปไตยของรัฐบาลชาติสมาชิกและเป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องต่อต้านให้ถึงที่สุด ข้อสังเกตนี้สะท้อนกลายๆ ถึงการจำกัดอำนาจในทางปฏิบัติขององค์การสิทธิมนุษยชนระดับภูมิภาค

เอ็ดมุนด์ระบุว่า กลไกสิทธิมนุษยชนในอาเซียนยังมีปัญหาในเรื่องอำนาจหน้าที่ของ AICHR ที่ถูกจำกัดขอบเขตแนวทางปฏิบัติเมื่อมีการละเมิดสิทธิมนุษยชน และปัญหาในเรื่องการตกลงรายละเอียดของสิทธิมนุษยชนร่วมกันในภูมิภาค

“ปัญหาแรกคือเราไม่มีกระบวนการสื่อสารและแจ้งเหตุ กลไกพวกนี้มีความสำคัญมากเพราะ AICHR ไม่สามารถทำอะไรได้เลยเวลามีคนพบกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชน ยกตัวอย่างเช่นการล่วงละเมิดทางเพศกับเด็กและผู้หญิง เพราะว่า AICHR ไม่มีอำนาจอะไรที่จะไปแก้ปัญหาพวกนั้นได้ เราทำได้แค่แสดงความกังวลเพื่อขอข้อมูลกับประเทศเกิดเหตุเท่านั้นแต่เราไม่สามารถช่วยปกป้องสิทธิมนุษยชนได้เลย”

“ปัญหาที่สอง เราจำเป็นต้องให้ประเทศสมาชิกตกลงกันว่าสิทธิมนุษยชนคืออะไรในรายละเอียด เช่น สิทธิในการมีชีวิตอยู่คืออะไร หมายความว่ายกเลิกโทษประหารชีวิตหรือเปล่า สิทธิในอาหารหมายความว่ารัฐบาลต้องให้อาหารคนยากคนจนหรือเปล่า อาเซียนยังไม่ได้ตกลงในเชิงรายละเอียดว่าสิทธิมนุษยชนคืออะไร”

แต่ศันศณีย์ระบุว่าการเคารพหลักการดังกล่าวเป็นเพียงข้ออ้างที่จะไม่ทำหน้าที่ เพราะบทบาทของทั้ง AICHR และชาติสมาชิกสามารถมีท่าทีต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนได้มากกว่าการนิ่งเฉย

“เราว่ามันเป็นข้ออ้างที่จะไม่ทำ พอมาเป็นระดับอาเซียนแล้วมันจะมีเรื่องการเมืองระหว่างประเทศมาเกี่ยวข้อง และมันเหนือกว่าเรื่องสิทธิมนุษยชน หลักการไม่แทรกแซงกิจการภายในมันก็มีหลายแบบ แต่มันอาจจะไม่ตอบสนองต่อการละเมิดสิทธิฯ มากนัก เช่น สมัยที่มีเหตุการณ์ติมอร์ตะวันออก หรือเหตุการณ์ระเบิดในพม่า อาเซียนก็ออกมาพูดให้พม่าออกมาแสดงความกังวล แต่ตอนนี้คุณไม่ทำอะไรเลย แม้ตอนนี้อาเซียนจะไม่สามารถแก้ไขอะไรได้มาก แต่การแสดงออกมาอย่างน้อยมันก็แสดงว่าคุณใส่ใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น เขาก็มองว่าในหลักการไม่ยุ่งเกี่ยวกิจการภายในประเทศ มันสามารถใช้เครื่องมือการทูต เพราะการแสดงความห่วงใยมันก็เป็นการแทรกแซงกลายๆ”

กลุ่มภาคประชาสังคมไทย 20 องค์กรเคยมีข้อเสนอก่อนหน้าที่จะมีการทบทวนของ AICHR ในปี 2557 ให้ AICHR มีอำนาจในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนมากขึ้น เปิดช่องให้มีการตัดสินใจแบบเสียงข้างมากได้ในกรณีที่ไม่สามารถทำให้เกิดฉันทามติในองค์กรได้ในสภาวการณ์ที่ต้องมีการตอบสนองอย่างรวดเร็ว และแนะนำให้มีกลไกการรับเรื่องร้องเรียนและสืบสวนด้วย

เอ็ดมุนด์กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมามีการพูดคุยในระดับรัฐมนตรีของแต่ละประเทศแล้วว่าควรให้อำนาจในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนให้อยู่ในมือ AICHR มากขึ้น และยังกล่าวถึงเป้าหมายของ AICHR ที่ต้องการเป็นศาลสิทธิมนุษยชน แต่องค์กรต้องทำอะไรมากกว่านี้ให้ได้เสียก่อน

“AICHR มีการพูดคุยเรื่องขอบเขตข้อกำหนดแล้ว และ AICHR ก็เห็นด้วยที่เวทีพูดคุยในระดับรัฐมนตรีให้ความเห็นว่าควรให้อำนาจการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของ AICHR มากขึ้น ตัวปฏิญญา (ว่าด้วยสิทธิมนุษยชนอาเซียน) ตอนนี้ยังไม่จำเป็นต้องแก้เพราะมันเป็นหลักการกว้างๆ เราสามารถใช้มันเป็นข้อเสนอแนะในภาพรวมได้ เพียงแต่ต้องให้ AICHR อธิบายรายละเอียดของสิทธิต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสิทธิในการมีชีวิตอยู่ สิทธิของกลุ่มคนผู้มีความเปราะบาง”

“เรา (AICHR) อยากจะเป็นแบบศาลสิทธิมนุษยชน ตอนนี้คณะกรรมการทำได้แค่ให้คำปรึกษา เราต้องการสถานะแบบศาลที่มีอำนาจในการพิจารณาและตัดสินกรณีต่างๆ ได้ ซึ่งศาลเหล่านี้มีในยุโรป อเมริกาใต้ แอฟริกา แต่ตอนนี้พวกเรายังไม่พร้อมที่จะมี คณะกรรมการจะต้องกระฉับกระเฉงมากกว่านี้” เอ็ดมุนด์กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net