Skip to main content
sharethis

 

การบังคับแต่งชุดนิสิตฯในมหาวิทยาลัยถือเป็นประเด็นที่มีการถกเถียงกันมาตลอดในสังคมไทย ล่าสุดที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีการรณรงค์เคลื่อนไหวในเว็บไซต์ change.org ภายใต้แคมเปญ “รณรงค์ยกเลิก ‘การบังคับ’ แต่งชุดนิสิต” (goo.gl/s4rjr8) โดยกลุ่ม “นิสิตจุฬาฯ ที่ไม่เห็นด้วยกับการบังคับแต่งชุดนิสิต” จนขณะนี้มีผู้ร่วมลงชื่อกว่า 1,200 รายชื่อแล้ว ในโอกาสนี้จึงได้สัมภาษณ์ตัวแทนกลุ่มที่ตั้งแคมเปญดังกล่าว ซึ่งขอสงวนชื่อ-นามสกุลไว้ เพื่อทำความเข้าใจถึงที่มาที่ไป และมุมมองของกลุ่มที่มีต่อชุดนิสิตนักศึกษา

ทำไมถึงทำแคมเปญนี้ขึ้นมา? อยากให้เล่าที่มาและเหตุผลของการตั้งแคมเปญ?

กลุ่มผู้ตั้งแคมเปญ : ที่มาของกลุ่มเกิดจากเพื่อนที่มีความคิดเห็นเหมือนกันเนื่องจากในภาคการศึกษานี้ทางมหาลัยมีการส่งจดหมายมาทางคณะให้กวดขันเรื่องการแต่งกายชุดนิสิตฯ ส่วนใหญ่ที่มีการกวดขันกันคือในห้องเรียน โดยระบุว่าหากนักศึกษาไม่แต่งกายชุดนิสิตฯมาเรียน ครั้งแรกจะโดนตักเตือน ในครั้งต่อมาจะถูกตัดคะแนน ทางกลุ่มเลยไปค้นหาประกาศระเบียบเกี่ยวกับการบังคับใส่ชุดนิสิตฯในเว็บไซต์มหาวิทยาลัย พบว่ามีบทลงโทษขั้นรุนแรงคือหากไม่แต่งกายชุดนิสิตฯเข้าเรียน 6 ครั้ง จะพ้นสภาพจากการเป็นนิสิตฯ ทางกลุ่มคิดว่ารุนแรงไป จึงตั้งแคมเปญนี้ขึ้นมาเพื่อต้องการให้ทางมหาลัยยกเลิกการบังคับแต่งชุดนิสิตฯมาเรียน ซึ่งประเด็นนี้ก็มีมาตลอดในจุฬาฯ มีเพียงคณะรัฐศาสตร์ และคณะอักษรศาสตร์ ที่ไม่ค่อยเคร่งครัดกับการแต่งกายชุดนิสิตฯ ในส่วนสถานที่อื่นนอกเหนือจากห้องเรียน ไม่ได้กำหนดชัดเจนว่าเป็นชุดนิสิตฯแต่ให้เป็นชุดสุภาพ

ผลตอบรับแคมเปญนี้มากน้อยแค่ไหน และมองมันอย่างไร? โดยเฉพาะกับจุฬาที่คนภายนอกมองว่าเป็นสถาบันการศึกษาที่ค่อนข้างอนุรักษนิยม?

มีคนภายนอกรวมถึงคนไทยในต่างประเทศให้ความสนใจโดยมีกระแสบนสื่อสังคมออนไลน์เป็นหลัก มีเพื่อนนักศึกษาและอาจารย์ในมหาลัยบางท่านที่เข้ามาสนุบสนุนประเด็นนี้ ทั้งยังมีสื่อมวลชนมาเอาข่าวไปลง พอเป็นกระแสก็เกิดดราม่า คนจำนวนมากที่ไม่ทราบมาก่อนว่ามีการล่ารายชื่อเพื่อยกเลิกการบังคับใส่ชุดนิสิตฯก็ออกมาสนับสนุนร่วมลงชื่อแคมเปญครั้งนี้

มองว่าชุดนักศึกษามีปัญหาอย่างไรถึงได้เสนอให้ยกเลิก?

ทางกลุ่มไม่ได้มองว่าชุดนิสิตฯมีปัญหา ไม่ได้ต้องการยกเลิกชุดนิสิตฯ ปัญหาคือการที่มหาลัยบังคับใส่ ซึ่งมันเป็นเรื่องความสมัครใจของแต่ละบุคคลมากกว่าที่เลือกว่าจะใส่หรือไม่ และไม่ควรมีผลทางวินัยนักศึกษาถึงขั้นหมดสภาพจากการเป็นนิสิตจุฬาฯ

คาดหวังจากแคมเปญนี้แค่ไหน? แค่ล่ารายชื่อ หรือจะมีกระบวนการอย่างไรต่อไป?

จุดประสงค์หลักของแคมเปญอยากให้ยกเลิกการบังคับ อยากให้ทุกคนตระหนักสิทธิเสรีภาพแต่ละบุคคลมากยิ่งขึ้น ไม่ใช่แค่นิสิตจุฬาฯอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังรวมถึงนิสิตฯในที่อื่นๆ ด้วย อยากให้กรณีนี้เป็นกรณีตัวอย่าง

ถ้าไม่สำเร็จ คิดว่าจะทำต่อไหม ถ้าทำ แค่ล่ารายชื่อเหมือนเดิม หรือทำอย่างไร?

ล่าสุดมีข่าวออกมาว่าทางบอร์ดผู้บริหารคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ได้ทำการประชุมหารือประเด็นปัญหาการบังคับใส่ชุดนิสิตฯ ผลออกมาคือจะไม่มีการบังคับใส่ในส่วนคณะอักษรศาสตร์ นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นหลักจากแคมเปญนี้มีการขับเคลื่อนออกไป สิ่งที่เราได้จากแคมเปญนี้คือการสร้างความตระหนักในเรื่องสิทธิเสรีภาพ ไม่ว่าแคมเปญนี้จะสำเร็จหรือไม่ ทางกลุ่มก็ยืนยันว่าจะรวบรวมรายชื่อและผลักดันข้อเสนอต่อไป ในอนาคตหากมีความเป็นไปได้ทางกลุ่มอาจมีการขยับขยายประเด็นนี้ไปยังมหาลัยอื่นด้วย

มีคนโต้แย้งว่าการมีชุดนักศึกษาหรือชุดที่เหมือนๆ กัน เพื่อให้ความเหลื่อล้ำในสังคมมหาวิทยาลัยลดลงนั้นมองว่าอย่างไร?

เหมือนว่าจะเป็นการปกปิดความเหลื่อมล้ำไว้มากกว่า มันเป็นแค่การเอาชุดนิสิตฯมากลบปัญหานั้นไว้ โดยปกติคนเรามีความแตกต่างกันอยู่แล้ว ควรจะเรียนรู้ที่จะยอมรับความแตกต่างมากกว่าที่จะปกปิดความจริงซึ่งเป็นความต้องการของแต่ละคน

บางคนมองว่าการแต่งชุดนักศึกษาทำให้นักศึกษามีสถานะพิเศษมากกว่าคนในสังคม โดยเฉพาะนักศึกษาจุฬาฯ จะได้รับการยอมรับจากสังคมหรือคนภายนอกมากกว่านั้น มองอย่างไรกับประเด็นนี้?

เราไม่สามารถกำหนดการรับรู้คนอื่นได้ว่าควรจะรับรู้อย่างไรหรือมองในแง่ไหนถึงสถานะความพิเศษจากตัวสถาบันหรือบุคคล แต่ละคนมีกฏเกณฑ์เงื่อนไขการให้ความพิเศษนั้นต่างกันโดยขึ้นอยู่กับบริบท สำหรับกลุ่มเรามันเป็นเรื่องส่วนบุคคลมาก  อย่างไรก็ตาม กรณีของการเปรียบเทียบระหว่างสถาบัน ยกตัวอย่างสถาบัน ก กับ ข คนก็มองระดับต่างกัน มันมีนัยยะของการให้ระดับดังกล่าว ก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่กล่าวได้ว่าชุดนิสิตฯไม่ได้ทำให้คนเท่าเทียมกัน ในส่วนของความเชื่อถืออยากให้ดูกันที่ความเหมาะสมของการกระทำ ความรู้ ไม่ใช่กำหนดคุณค่าผ่านชุดนิสิตฯเพียงอย่างเดียว

ทั้งนี้ ทางตัวแทนกลุ่มยังกล่าวถึงทางออกของปัญหานี้ทิ้งท้ายไว้ว่าต้องเคารพในสิทธิเสรีภาพของกันและกันจึงจะแก้ปัญหาเรื่องนี้ได้ ไม่ใช่แก้ปัญหาด้วยการบังคับให้ใส่เหมือนกัน

เกี่ยวกับข้อถกเถียงเรื่องการบังคับใส่ชุดนิสิตฯ นี้เอง ยังเคยเกิดขึ้นในกรณีของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อปลายปี 2556 จากกรณีที่ ศรัณย์ ฉุยฉาย หรือ อั้ม เนโกะ อดีตนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนักศึกษาจำนวนหนึ่ง จัดทำโปสเตอร์ร้องเรียนให้ยกเลิกข้อบังคับใส่ชุดนักศึกษาเข้าสอบในรายวิชาสหวิทยาการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งทางคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ขณะนั้น ได้ออกมาชี้แจงทำความเข้าใจกับนักศึกษาว่าเป็นไปตามระเบียบของมหาวิทยาลัยและไม่เห็นว่านักศึกษาคนอื่นจะมีปัญหาจากระเบียบข้อบังคับดังกล่าวแต่อย่างใด ทั้งยังกล่าวเสริมว่าหากเป็นไปได้อยากให้นักศึกษาแต่งชุดนิสิตฯเข้าชั้นเรียน 

ซึ่งกรณีของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์นี้เอง ยุกติ มุกดาวิจิตร ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เคยออกมาแสดงทัศนะภายหลังจากมีแบบสำรวจความเห็นเรื่องการแต่งกายของนักศึกษาว่าตกลงมหาลัยจะอยู่ไม่ได้เพียงเพราะนักศึกษาแต่งกายไม่สุภาพหรืออย่างไรด้วย

เรื่องที่เกี่ยวข้อง : 

ASTV ผู้จัดการออนไลน์. มธ.ปัดไม่ได้ยกเลิกใส่ชุด นศ. manager.co.th/Crime/ViewNews.aspx?NewsID=9560000146894

ยุกติ มุกดาวิจิตร. มธ.เล่นไม่เลิก (เครื่องแบบอีก). blogazine.pub/blogs/yukti-mukdawijitra/post/4377

ยุกติ มุกดาวิจิตร. ความหมายของเครื่องแบบนักศึกษา (อีกสักที). blogazine.pub/blogs/yukti-mukdawijitra/post/4362

 

สำหรับ อัฐพล ปิริยะ ผู้สัมภาษณ์และเรียบเรียงงานชิ้นนี้ เป็นนักศึกษาฝึกงานกับประชาไท ประจำปีการศึกษา 2/2560 จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี มีความสนใจด้าน One Piece, Star Wars, วรรณกรรม, การเมืองวัฒนธรรม และการศึกษา 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net