Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ชาวพุทธผู้ศรัทธามั่นจะเชื่อว่า นับตั้งแต่วันที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้กระทั่งวันปรินิพพาน พระองค์ไม่เคยตรัสอะไรที่ขัดแย้งกันเลย และธรรมของพระองค์ล้วนแจ่มแจ้ง เด่นชัด เหมือนพระจันทร์วันเพ็ญ อยากให้เรามาทบทวนโอวาทธรรมในวันมาฆบูชากันดูเพื่อพิสูจน์ความเชื่อดังกล่าวครับ

ปกติเราจะคุ้นชินกับหลักการ 3 ข้อคือ ละชั่ว ทำดี และทำใจให้ผ่องใส แท้จริงเทศนามีความยาวกว่านี้ ผมจะยกมาอีก 2 ข้อเท่านั้นเพื่อใช้ในการถกเถียงในที่นี้

น หิ ปพฺพชิโต ปรูปฆาตี ผู้ทำลายสัตว์อื่น ไม่ชื่อว่าเป็นบรรพชิต
น สมโณ โหติ ปรํ วิเหฐยนฺโต ผู้เบียดเบียนสัตว์อื่น ไม่ชื่อว่าเป็นสมณะ

ความต่างระหว่างสองข้อนี้คือ ข้อแรกหมายเอาการฆ่าให้ตาย (ฆาต=kill, murder, destroy) ส่วนข้อหลังเป็นการเบียดเบียนทำร้าย ไม่ถึงขั้นทำลายชีวิต (วิเหฏ=harass, oppress, annoy) สิ่งที่อยากชวนให้ระลึกก่อนคือ พระภิกษุฆ่ามนุษย์ต้องปาราชิก คือ ขาดจากความเป็นพระ (ไม่ใช่บรรพชิต/สมณะ อีกต่อไป?)

ในข้อที่สอง พระพุทธเจ้าตรัสว่า ผู้ที่เบียดเบียน (ทั้งทางกายและวาจา?) เพื่อให้ผู้อื่นลำบากเป็นทุกข์ ก็ไม่ชื่อว่าเป็นสมณะ นั่นคือ ต่อให้ไม่ฆ่าให้ตาย แต่แค่ทำร้ายร่างกายหรือด่าให้เจ็บใจ ก็เท่ากับปาราชิกหรือขาดจากความเป็นพระด้วยใช่หรือไม่?

การตีความเช่นนี้ อาจทำให้มหายานและวัชรยานเห็นคุณค่าของการไม่เบียดเบียนและถนอมน้ำใจสัตว์/บุคคลอื่นมากกว่าเถรวาท เพื่อนนักบวชมหายานของผมมองว่า การด่าผู้อื่นให้เจ็บแสบเพื่อความสะใจหรือดูถูกผู้อื่นถือเป็นการขาดศีลขั้นรุนแรงหรือปาราชิก ซึ่งไม่จำเป็นต้องลงมือฆ่าในแบบที่เถรวาทตีความ เราอาจมองว่านี่เป็นพฤติกรรมที่สุดโต่ง แต่มันกลับสอดรับกับหลักโอวาทปาติโมกข์นะครับ

พุทธศาสนาเถรวาทยอมรับเฉพาะข้อแรกว่าทำให้ขาดจากความเป็นพระ และมองว่า “ผู้อื่น” ในที่นี้หมายเอามนุษย์เท่านั้น เพื่อให้เข้ากับปาราชิกข้อที่สาม คือ การฆ่ามนุษย์ ในโอวาทปาติโมกข์นี้ การใช้ “ปรํ” ในภาษาบาลีมีความคลุมเครือ เพราะแปลว่า “อื่น” ขึ้นอยู่กับบริบทว่าผู้พูดหมายถึงสิ่งใด เช่น คนอื่น สัตว์อื่น วัตถุอื่น ที่อื่น หรือแม้กระทั่งโลกอื่น แต่ทั้งนี้ การนิยมแปลว่า สัตว์อื่น ก็ยิ่งคลุมเครือ เพราะในภาษาไทยมีการใช้แยกระหว่าง สัตว์เดรัจฉาน และ มนุษย์ ส่วนภาษาบาลี สตฺต หมายเอาสิ่งมีชีวิตที่มีลมปราณทุกอย่าง (beings) ได้แก่ สัตว์นรก เปรต สัตว์เดรัจฉาน มนุษย์ เทวดา และพรหมฯลฯ

แต่ไม่ว่าจะตีความอย่างไร สิ่งที่ชาวพุทธน่าจะยอมรับร่วมกันคือ บรรพชิตไม่ควรฆ่าสัตว์ (ทุกชนิด) เพราะพระพุทธเจ้าทรงย้ำว่า ผู้กระทำกรรมดังกล่าวไม่ถือว่าเป็นบรรพชิต เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็เท่ากับว่า การมีเจตนาฆ่าสัตว์ก็ทำให้ขาดจากความเป็นพระด้วย นอกจากจะมาตกลงกันว่า ปรํ ในที่นี้ หมายถึงมนุษย์เท่านั้น

แต่ก็ยังมีปัญหาตามมา เพราะข้อที่สองระบุว่า ต่อให้ไม่ฆ่าให้ตาย แค่ทำร้ายให้เจ็บปวดเป็นทุกข์ ก็ไม่ถือว่าเป็นสมณะ กล่าวโดยสรุปแบบหยาบๆ คือ หลักโอวาทปาติโมกข์ข้อนี้ขัดกับปาราชิกข้อที่สาม คือ ทรงกำหนดให้ขาดจากความเป็นพระก็เพราะฆ่ามนุษย์เท่านั้น มิใช่แค่การทำร้ายเบียดเบียนให้เจ็บปวด

ทางรอดที่อาจดูเหมือนตีความเลี่ยงไปแบบน้ำขุ่นๆ คือต้องเสนอว่า “บรรพชิต” ต่างจาก “สมณะ” กล่าวคือ บรรพชิตมีสถานะสูงกว่าซึ่งผูกติดกับระบบชนชั้นของสังคม ส่วนสมณะเป็นคุณธรรมความสงบแบบสากลที่อยู่ในใจของแต่ละคน นั่นคือ การทำร้ายเบียดเบียนผู้อื่นจะทำลายแค่ความสงบในใจของตน (ความเป็นสมณะ) ส่วนการฆ่าให้เขาตายจะทำให้ขาดจากสถานะบรรพชิตในทางสังคมอีกด้วย

การตีความอาจมีได้อีกร้อยนัย แต่ประเด็นที่อยากเสนอคือ ธรรมะที่พระพุทธเจ้าตรัสมิได้กระจ่างแจ้งหรือไม่ต้องอาศัยการตีความใดๆ เลยอย่างที่เราทึกทักเอา แต่ก็ไม่ควรมองว่า การเปิดโอกาสต่อการตีความเป็นข้อด้อย เพราะเท่ากับว่า พระองค์ให้เสรีภาพแก่สาวกในการรับเอาคำสอนไปปฏิบัติตามกำลังหรือสติปัญญาของแต่ละคน และเตือนใจให้สาวกรู้จักรับฟังการตีความของผู้เห็นต่าง

สรุปจากการตั้งข้อสังเกตของ สามเณรหลอด

28 กุมภาพันธ์ 2561 (หนึ่งวันก่อนมาฆบูชา)


เผยแพร่ครั้งแรกใน: animisticbeliever.wordpress.com
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net