Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis



น่าจะมีคนคาดการณ์ได้บ้างแล้วว่าอนาคตของสถาบันอุดมศึกษาของไทยจะเป็นอย่างไรในอนาคตจากความล้าหลังของสถาบันการศึกษาเหล่านี้เองที่เคยคาดกันว่าจะบูมในอนาคต มันกำลังปรากฏความถดถอยอยู่ในขณะนี้ และชี้ให้เห็นว่าการคาดการณ์ที่มีแต่แรกนั้นผิดพลาดอย่างมหันต์ เพราะสิ่งต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับนวัตกรรมเปลี่ยนแปลงเร็วเสียเหลือเกิน ซึ่งนั่นก็หมายความว่าสถาบันการศึกษาของไทยทุกประเภทปรับตัวไม่ทัน และกำลังกลายเป็นวัตถุโบราณไม่ช้าก็เร็ว

มองกันตามความเป็นจริงก็คือ มิใช่เพียงแค่วงการอุตสาหกรรมโดยทั่วไปที่เปลี่ยนแปลง ด้วยการนำเอาเทคโนโลยีเอไอ (Artificial intelligence) มาทดแทนแรงงานคน หากในวงการการศึกษาก็มีการเปลี่ยนแปลงอย่างเข้มข้นถึงรากถึงโคน ชนิดที่รูปแบบของสถาบันศึกษาแบบเดิมๆ แทบไม่เหลือ

การเปลี่ยนแปลงนั้นเริ่มมาจาก ระบบการสื่อสารออนไลน์ที่เข้าถึงตัวของผู้คนทุกเพศทุกวัย ทุกสาขาอาชีพ บนฐานของปรัชญาการศึกษาแบบสมัยใหม่ยุคโลกาภิวัตน์ คือ การศึกษาแบบผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง (Student center)  เน้นการคิดและวิเคราะห์มากกว่าการท่องจำ เน้นการเรียนมากกว่าการสอน คำตอบของข้อสอบเป็นปลายเปิด ไม่ใช่ข้อสอบปลายปิดดังที่แล้วมา เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้แสดงถึงอัตลักษณ์ของตัวเองอย่างเต็มที่ ครูคือพี่เลี้ยงมิใช่ผู้สอนหรือมีภาระในการบรรยายอีกต่อไป

ทั้งปรากฏว่าการมุ่งเน้นการพัฒนาคนในระดับอุดมศึกษาอย่างมากของไทยนั้น แทบไม่ได้ผลต่อการพัฒนาคนเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของตลาดแรงงานภาคความเป็นจริง (Real Sector) เอาเลย ไม่ว่าจะเป็นภาคใดๆ ก็ตาม เพราะเราละเลยการพัฒนาการศึกษาในระดับปฐมวัย แปลว่าเราอาจใส่ใจกาพัฒนาการศึกษาของเด็กน้อยเกินไป พอส่งต่อมาถึงขั้นมหาวิทยาลัย มันก็สายไปเสียแล้ว เพราะเด็กถูกฝึก ถูกฝังหัวมาในระบบอำนาจนิยม(ที่ไม่เห็นด้วยกับการตั้งคำถาม) อย่างยาวนานนับกว่า 10 ปี

สำหรับระบบการศึกษาในประเทศไทย ไม่มีอะไรที่ทำให้เด็กเป็นอิสระได้นับแต่ปฐมวัยจนถึงขั้นมหาวิทยาลัย ซึ่งหากแช่ระบบดังกล่าวเอาไว้นาน ก็จะทำให้การศึกษาไทยล้าหลัง ห่างออกไปจากระบบการศึกษาสากลมากขึ้น

ไม่มีระบบการศึกษาของประเทศใดในโลกที่สมบูรณ์แบบ แม้แต่ระบบการศึกษาแบบอเมริกันซึ่งถือกันว่าเป็นระบบเปิดแบบ student center อยู่มาก ทั้งๆที่รัฐบาลอเมริกันเองพยายามให้ท้องถิ่นดำเนินการบริหารจัดการการศึกษาด้วยตัวเอง แต่การถูกแทรกจากรัฐบาลกลางก็มีอยู่มาก ข้อดีของการศึกษาแบบอเมริกันที่ทราบกันดีก็คือ การให้ความสำคัญกับผู้เรียน เช่น การวิพากษ์ในห้องเรียนที่หมายถึงความสามารถในการวิเคราะห์ของผู้เรียนนั่นเอง การโต้เถียงโดยใช้เหตุผลในห้องเรียนของนักเรียนอเมริกันจึงเป็นเรื่องปกติ รวมถึงการไม่ไปทางเดียวกับครูผู้สอน

อย่างที่กล่าวไป การเกิดขึ้นของนวัตกรรมอย่างเอไอนั้นส่งผลกระทบต่อการงานทุกระบบ ที่เมือง Mountain View ซิลิคอนวัลเลย์  แคลิฟอร์เนีย เกิดมี Khan Academy  สื่อออนไลน์เพื่อการศึกษาแบบฟรี ที่ไม่ว่าผู้เรียนอยู่ไหนก็สามารถเรียนและมีวุฒิบัตรให้ได้ สถาบันการศึกษากำลังได้รับความนิยมในอเมริกา แม้กระทั่งในโรงเรียนปฐมวัยในอเมริกาเอง เพราะหลักสูตรของ Khan academy  เป็นหลักสูตรเดียวกันกับหลักสูตรของโรงเรียนอเมริกันโดยทั่วไป

ชี้เห็นว่าเทคโนโลยีมีผลต่อการเรียนการสอนอย่างไร ซึ่งความจริงก็ไม่เรื่องใหม่แต่อย่างใด เพื่อนอเมริกันของผมคนหนึ่งสอนภาษาอังกฤษทางไกลให้กับนักเรียนที่เมืองจีนมาร่วมหลายปีแล้วจากบ้านพักของเขาแถวหาดคลองวาฬ ประจวบคีรีขันธ์

แสดงว่าเทคโนโลยีด้านการสื่อสารในปัจจุบันสามารถรองรับการเรียนสอนได้แบบสบายๆ ตรงกันข้ามเรื่องที่น่าห่วงเกี่ยวกับระบบการศึกษาไทย น่าจะเป็นระบบความคิดเชิงปรัชญาการเรียนการสอนมากกว่า ความล้าหลังทางความคิดของผู้บริการการศึกษา ของครูผู้สอนที่ก็น่าเห็นใจเพราะเป็นแค่ผู้ทำตามนโยบายเท่านั้น เหมือนดังที่ ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวาณิชย์ แห่งทีดีอาร์ไอ กล่าวไว้ตอนหนึ่งของการสรุปผลการวิจัยปัญหาการศึกษาไทยว่า “ครูมัวแต่แต่สนใจ (กังวล/กลัว) ผู้บริหารอย่างเช่น ผู้อำนวยการ มากกว่าจะสนใจเด็กนักเรียนในชั้นของตัวเอง” วลีนี้ก็น่าจะพอเพียงที่แสดงให้เห็นว่า เด็กนักเรียนถูกเพิกเฉยมากเพียงใด หมอกพิษแห่งอำนาจนิยมแผ่ฝุ่นควันปกคลุมโรงเรียนมากน้อยขนาดไหน

ในระดับอุดมศึกษาของไทยนั้น บางสถาบันการศึกษา โดยเฉพาะสถาบันของรัฐที่ภาพภายนอกเห็นว่าแอบอิงกับจารีตศีลธรรมอย่างชัดเจนก็หาได้รอดพ้นไปจากวงจรอุบาทว์ทางการศึกษาแบบไทยๆ ไปไม่ เพราะหากไล่ตั้งแต่กระบวนการรับบุคคลากร โดยเฉพาะคนที่จะมาเป็นอาจารย์แล้ว ต้องนับว่าล้าหลัง ด้วยเหตุแห่งการยืนพิงฝาระบบอุปถัมภ์เส้นสายอย่างมั่นคงไม่เคยเปลี่ยน ไม่ว่าจะกาลเวลาจะเปลี่ยนไปกี่ยุคกี่สมัยก็ตาม

โดยแทบไม่เคยประเมินผลได้ผลเสียที่เกิดขึ้นจากความไร้ทักษะในการวิเคราะห์ในประเด็นต่างๆ เอาแค่เพียงว่าผู้ใดยอมสยบต่ออำนาจนิยมเชิงโครงสร้างการบริหารงานของสถาบันเป็นอันใช้ได้ อย่างนี้การจะหวังถึงความก้าวหน้าของนวัตกรรมย่อมเป็นไปได้ยาก

ในเวลาเดียวกันผู้บริหารหรือผู้สอนในมหาวิทยาลัยเอง ยังจดจ้องอยู่กับการซูเอี๋ยกับผู้มีอำนาจทางการเมือง ซึ่งอาจเป็นคนในรัฐบาลหรือหน่วยงานของรัฐเชิงโครงสร้างอำนาจ ความหวังในเรื่องความบริสุทธิ์ผุดผ่องในทางวิชาการก็คงเป็นไปได้ยากเช่นกัน

เพราะหากว่ากันตามหลักการสากลแล้ว ความเข้มแข็งทางด้านวิชาการจะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยการมีทักษะที่จะอยู่ความขัดแย้งหรือโต้แย้ง ศิษย์เก่าของมหาวิทยาลัยที่มีชื่อในอเมริกา ในยุโรปหรือในออสเตรเลียที่ประสบความสำเร็จ จำนวนหนึ่งซึ่งมากด้วย คนพวกนี้คิดไม่ลงรอยกับอาจารย์หรือผู้บริหารมหาวิทยาลัยมาก่อนแทบทั้งสิ้น มิหนำซ้ำพวกเขากลับได้รับการชมเชยจากอาจารย์และผู้บริหารเอาด้วยซ้ำ ทั้งต้องไม่ลืมว่าในแง่วิชาการนั้น นวัตกรรมอย่างเช่นทฤษฎีใหม่ๆ จะเกิดขึ้นได้นั้น ผู้คิดค้นทฤษฎีจะต้องใช้แรงสติปัญญาเบียดเสียดทฤษฎีเก่าให้ตกขอบไปจนได้ จนทฤษฎีใหม่ได้รับการยอมรับในที่สุด

แต่ในเรื่องนี้ ประเทศไทยน่าจะกำลังเดินถอยหลัง เราไม่น่าจะฝากความหวังไว้กับสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาแห่งชาติ (สกอ.) หรือแม้กระทั่งสํานักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) ไม่ได้อีกต่อไป

เพราะจากผลงานของพวกเขาหลายปีที่ผ่านมาพิสูจน์ให้เห็นว่าหน่วยงานควบคุมและกำกับมาตรฐานการศึกษาของรัฐเหล่านี้อ่อนด้อยประสิทธิภาพเพียงใด ได้ปรับปรุงระบบการศึกษาให้ดีขึ้นเทียบเท่าเพื่อนบ้านของไทยหรืออารยประเทศมากน้อยขนาดไหน เห็นชัดว่าไม่

หน่วยงานเหล่านี้สอบตกตั้งแต่ก้าวย่างเข้าไปในสถานศึกษาแล้ว เพราะพวกเขาไม่เคยตั้งคำถามเชิงปรัชญาการศึกษา และคำถามถึงความโยงใยของระบบอุปภัมภ์ภายในมหาวิทยาลัยของรัฐ นอกเหนือไปจากความย้อนแย้งในแง่ความเป็นอิสระทางวิชาการของแต่ละสถาบันชนิดที่ สกอ.ก็มิอาจเข้าไปสอดแทรกได้
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net