Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

เมื่อพูดถึงประเทศอินเดียคนไทยหลายๆ คนคงจินตนาการมโนภาพไปไกล ทั้งความยากจน ความสกปรก ขอทาน รวมตลอดจนกลิ่นตัวชาวภารตะที่เป็นที่ล่ำลือกล่าวขาน จนหลายๆครั้ง คนอินเดียถูกคนไทยล้อด้วยมายาคติเหล่านี้อยู่เสมอๆ

ในความเป็นจริงอินเดียได้พัฒนาไปมากแล้ว โดยเฉพาะในประเด็นทางด้านการศึกษา ทั้งทางด้านวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์ อย่างที่เรารู้กันว่าในอดีตอินเดียถือเป็นศูนย์กลางทางการศึกษาที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ทั้งที่เมืองนาลันทา ตักศิลา พาราณสี และที่อื่นๆ นอกจากนี้แหล่งเรียนรู้ดังกล่าวยังเป็นพื้นที่เผยแพร่วัฒนธรรมอินเดียไปยังภูมิภาคต่างๆ บนโลก อาทิเอเชียตะวันออก เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียกลาง เอเชียตะวันตก หรือแม้แต่ในยุโรปเองก็ตาม

การศึกษาในประเทศอินเดียจึงถือเป็นเรื่องที่น่าสนใจ ถึงแม้ว่าโลกในปัจจุบันจะเปลี่ยนแปลงไปมาก แต่คุณค่าและคุณภาพทางการศึกษาภายในประเทศอินเดียไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปมากนัก

สำหรับในวันนี้จะชวนผู้อ่านมารู้จักมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งของประเทศอินเดีย ที่ได้ชื่อว่าเป็นมหาวิทยาลัยทางด้านสังคมศาสตร์ที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ หรือแม้แต่ในระดับโลกเลยก็ว่าได้ นั่นคือ Jawaharlal Nehru University (JNU) มหาวิทยาลัยที่ผลิตบุคลากรสำคัญๆ ทั้งในด้านการเมือง เศรษฐกิจและสังคมของประเทศอินเดีย รวมถึงสังคมโลกมาอย่างต่อเนื่อง หนึ่งในนั้นก็คือเลขาธิการอาเซียนคนปัจจุบันอย่างนาย เล เลือง มินห์ (Le Luong Minh)

ที่น่าสนใจคือมหาวิทยาลัยแห่งนี้พึ่งก่อตั้งในปี 1969 เท่านั้น แต่ดูเหมือนว่าจะสามารก้าวขึ้นมาเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศและของโลกได้อย่างรวดเร็ว โดยจากการจัดอันดับของ QS ประเภทสาขาการเมืองและการระหว่างประเทศ ในปี 2016 JNU ติดอันดับ 51-100 ของโลก ในขณะที่การจัดอันดับของกระทรวงพัฒนาทรัพยากรมนุษย์แห่งประเทศอินเดียในปีที่ผ่านมา ได้จัดให้ JNU ติดอันดับ 2 ของประเทศ และเป็นอันดับหนึ่งของสายสังคมศาสตร์

ผู้เขียนเองเป็นหนึ่งในบุคคลที่อดีตไม่รู้จักมหาวิทยาลัยแห่งนี้เลย จนกระทั่งได้เข้ามาศึกษา จึงรับรู้ถึงศักยภาพของมหาวิทยาลัยแห่งนี้ นอกเหนือจากประเด็นด้านคุณภาพทางการศึกษาแล้ว JNU ถือเป็นหนึ่งในมหาวิทยาลัยที่ผลิตนักเคลื่อนไหวทางสังคม และเป็นแหล่งรวมปัญญาชนของอินเดีย ฉะนั้นแล้วสำหรับเนื้อหาในครั้งนี้ผู้เขียนจะพาคุณผู้อ่านไปส่องชั้นเรียนของ JNU ว่ามีลักษณะอย่างไร รวมถึงการใช้ชีวิตของนักศึกษาที่นี่จะเหมือนหรือแตกต่างจากเมืองไทยแค่ไหน โดยสามารถสรุปประเด็นง่ายๆได้ดังนี้

1. สังคมการศึกษาของ JNU เป็นสังคมแห่งการถกเถียงและพูดคุย มากกว่าการเรียนแบบจดคำบรรยายแบบเมืองไทย พูดง่ายๆก็คือเวลานั่งเรียนในชั้นเรียนของอินเดียแล้วไม่พูด ก็จะถูกอาจารย์ดุเอาดื้อๆ แบบไม่มีปี่มีขลุ่ย ที่สำคัญคือยิ่งถ้าเราไม่พูด อาจารย์ก็จะเพ่งเล็งและถามเราอยู่เสมอๆ จนกว่าเราจะเสนอความคิดเห็นของเราอย่างเป็นธรรมชาติ มันจึงดูผิดหูผิดตา เมื่อมานั่งมองชั้นเรียนอุดมศึกษาในบ้านเราที่นั่งจดจ่ออยู่กับการจด Slide ของอาจารย์


ภาพบรรยากาศห้องเรียนสุดคลาสสิคของ JNU

2. การเรียนการสอนของอินเดียไม่มี Slide แจกให้ เพราะว่าอาจารย์สอนแบบดั่งเดิม เน้นให้นักศึกษาคิดและวิเคราะห์ได้ มากกว่าการ Copy and Paste จาก Slide ของอาจารย์ ฉะนั้นการบรรยายของอาจารย์จึงมีแค่เนื้อหาในหัวและกระดานเท่านั้น การอัดเสียงหรือการถ่ายภาพ Slide ของอาจารย์ หากไม่ได้รับอนุญาต ถือเป็นการเสียมารยาทอย่างยิ่ง เนื่องจากอาจารย์อินเดียมีความมุ่งหวังให้นักศึกษาวิเคราะห์และสังเคราะห์องค์ความรู้ได้เอง มากกว่าที่จะเดินตามเท้าของอาจารย์ทุกฝีเก้า แม้กระทั่งข้อความและคำพูด ฉะนั้นมาเรียนที่อินเดีย เอามือถือเข้าห้องก็คงไม่มีความหมายอะไรมาก เพราะอาจารย์ที่นี่ไม่อนุญาตให้ใช้ ในขณะเดียวกันก็จะโดนเพื่อนร่วมชั้นกดดันอย่างมหาศาล ภาพเหล่านี้คงหาดูได้ยากในเมืองไทย แม้แต่ผู้เขียนเองมาเรียนก็ต้องปรับตัวสูงมาก

3. อาจารย์ไม่ใช่พระเจ้าที่อยู่บนฟ้า แต่เป็นทั้งเพื่อน พี่ พ่อและแม่ให้กับนักศึกษา หากใครได้มาเรียนที่อินเดียจะได้รับความรู้สึกความเป็นกันเองของอาจารย์ที่นี่อย่างมาก บางครั้งอาจารย์ก็พาไปเลี้ยงชา หรือแม้แต่ชวนกันทำอาหารที่บ้าน วัฒนธรรมเหล่านี้ส่งเสริมให้เด็กกล้าที่จะวิพากษ์หรือถกเถียงกับอาจารย์ในชั้นเรียน หรือแม้แต่เมื่อมีปัญหานักศึกษาก็กล้าเข้าไปปรึกษาโดยไม่มีความรู้สึกถูกปิดกั้น แม้ว่าอาจารย์ท่านนั้นจะเป็นถึงศาสตราจารย์ก็ตาม แต่ถ้าย้อนกลับมามองการศึกษาในเมืองไทย ก็ดูราวกับว่าอาจารย์ในสังคมไทยจะลอยขึ้นฟ้าขึ้นสวรรค์ และเข้าถึงยากตามลำดับตำแหน่งทางวิชาการ ยิ่งตำแหน่งสูงก็ยิ่งดูเข้าถึงยากและหาตัวยากยิ่ง แม้แต่ในมหาวิทยาลัย

4. เกรด 4 ไม่มีอยู่จริง ที่ว่าเช่นนั้นเพราะเกรด 4 แทบไม่มีใครได้จากการเรียนการสอนจากมหาวิทยาลัยแห่งนี้ เพราะถ้าคุณได้คุณจะเป็นคนดังแห่งยุคเลยก็ว่าได้ เพราะกว่าที่เกรดตัวนี้จะออกมาได้ อาจารย์ต้องเข้าคณะกรรมการของคณะ เพื่อชี้แจงว่าเหตุใดเด็กคนนี้สมควรได้เกรดนี้ ดังนั้นแล้วคนที่เรียนที่อินเดียคงพอรู้ชะตากรรมตัวเองว่าเมื่อกลับไปเทียบเกรดที่เมืองไทยมันจะย่ำแย่แค่ไหน แม้เราจะอยู่ระดับดีแล้วในหมู่ชาวอินเดียก็ตาม ระบบการให้คะแนนจึงเป็นอีกความต่างที่สำคัญของระบบอุดมศึกษาของอินเดียและประเทศไทย

5. การเมืองในระดับมหาวิทยาลัย คือสนามสู่การเมืองระดับชาติ ในอินเดียพรรคการเมืองที่ลงแข่งขันในระดับมหาวิทยาลัย ล้วนได้รับการสนับสนุนจากพรรคใหญ่ๆ ในระดับประเทศทั้งสิ้น อาทิ ABVP เป็นพรรคเยาวชนของ BJP NSUI เป็นพรรคเยาวชนของ Congress เป็นต้น ฉะนั้นจึงไม่ต้องแปลกใจที่ฤดูกาลเลือกตั้งของมหาวิทยาลัยในอินเดีย จะถูกจับตามองจากสื่อมวลชนทั่วประเทศ และแน่นอนว่าวันเลือกตั้งของมหาวิทยาลัยจะถูกประกาศเป็นวันหยุด และผู้ใช้สิทธิก็ทะลุ 95% ทุกปี สิ่งเหล่านี้สะท้อนค่านิยมประชาธิปไตยของประเทศแห่งนี้ได้เป็นอย่างดี หากหันมามองประเทศไทยแล้วละก็ คงได้แต่มีเครื่องหมายคำถามต่อการเมืองในมหาวิทยาลัย


ภาพล้อการเมืองของนักศึกษา JNU หน้าตึกอธิการบดี

6. หาค่ายอาสากับสันทนาการไม่เจอในมหาวิทยาลัยแห่งนี้ เพราะกิจกรรมหลักของนักศึกษา JNU คือการเรียกร้องสิทธิให้กับกลุ่มชนที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายของรัฐบาล หรือแม้แต่การเคลื่อนไหวทางการเมือง ฉะนั้นมาเรียนที่นี่ก็ต้องเตรียมใจยอมรับกับการประท้วงปิดตึก ปิดมหาวิทยาลัย ที่รุนแรงถึงขนาดเอากุญแจมาปิดประตูตึกเลยก็มี ได้บรรยากาศ 14 ตุลา แบบสุดๆ แต่บรรยากาศแบบนี้ในเมืองไทยถึงจะมีบ้าง แต่ก็คงเป็นของหาดูยากไปแล้ว

7. คอมมิวนิสต์ มาร์กซิสม์และสังคมนิยม เป็นคำพูดปกติที่ฟังจนชินหู เนื่องจากทั้งอาจารย์และนักศึกษาจำนวนมากของ JNU มีแนวคิดในลักษณะดังกล่าว ทำให้ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาพรรคเยาวชนของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งอินเดีย ได้รับชัยชนะมาอย่างสม่ำเสมอ แม้ว่าอินเดียจะเป็นประชาธิปไตยก็ตาม แต่แนวคิดคอมมิวนิสต์ไม่ได้ถูกปิดกั้น แต่ได้รับการส่งเสริมและมีที่นั่งในรัฐสภาอินเดียอย่างต่อเนื่อง แต่เมื่อหันมาย้อนดูประเทศไทยคำเหล่านี้คงเป็นเรื่องแสลงใจของใครหลายคน หรือแม้แต่การออกตัวว่าสนับสนุนแนวคิดดังกล่าวยังเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก

7. หาน้ำอัดลมดื่มไม่ได้ใน JNU เนื่องจากพรรคการเมืองนักศึกษาที่ชนะเลือกตั้งใน JNU ช่วงหลายปีที่ผ่านมา เป็นพรรคเยาวชนของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งอินเดีย ส่งผลให้น้ำอัดลมอันถือเป็นสัญลักษณ์แห่งการกดขี่แรงงานชาวอินเดีย ไม่ได้รับอนุญาตให้ขายในมหาวิทยาลัย ทั้งนี้ข้อดีของการมีพรรคนี้เป็นประธานนักศึกษาส่งผลให้ JNU มีค่าเรียนเพียง 175 รูปีต่อเทอม หรือราวๆ 100 บาทเท่านั้น สำหรับนักศึกษาชาวอินเดีย ในขณะที่นักศึกษาต่างชาติมีราคาเพียง 100 เหรียญเท่านั้น ในกรณีของการสอบเข้า และขอย้ำว่านี่คือมหาวิทยาลัยในเมืองเดลี เมืองหลวงของอินเดีย ที่ใช้ภาษาอังกฤษในการเรียนการสอน ถ้าถามหาราคานี้ในประเทศไทย ไม่แน่ใจว่าแม้แต่โรงเรียนอนุบาลจะหาได้หรือไม่

8. แตกต่างไม่แตกแยก ถึงแม้ว่าพรรคคอมมิวนิสต์จะได้รับความนิยมในหมู่นักศึกษา JNU แต่ไม่ได้หมายความว่าไม่มีพรรคฝ่ายขวาเคลื่อนไหวเลย ในทางตรงกันข้าม ทั้งฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวาต่างขับเคี่ยวทางการเมืองอย่างเข้มข้น แม้ในช่วงเวลาเรียนเองก็ตาม ความน่าสนใจคือผู้เขียนได้เห็นเพื่อนหลายคนที่สนิทกันมากๆ แต่กลับมีอุดมการณ์ทางการเมืองที่ต่างกันอย่างสุดขั้ว แม้จะเถียงกันบนเวทีอย่างเลือดขึ้นหน้า แต่ลงมาพวกเขากับพากันไปดื่มชา และแบ่งสมุดจดบันทึกให้กัน ประหนึ่งไม่มีอะไรเกิดขึ้น ฉะนั้นแล้วมาเรียนที่อินเดีย ก็อย่าเอานิสัยแค้นฝังใจ หรือคิดต่างเท่ากับศัตรูแบบไทยๆ มาใช้ที่นี่

และ 9. ปรับโหมดความรู้สึกให้ไว ชั้นเรียนของ JNU หรือแม้แต่ทั้งอินเดีย นั้นมีอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงกันอย่างรวดเร็ว พูดง่ายๆ คือ ยืนเถียงกันอยู่หยกๆ สักพักพากันหัวเราะได้อย่างหน้าตาเฉยเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ลักษณะเช่นนี้เป็นทั้งอาจารย์และนักศึกษา คำว่าโกรธข้ามคืนไม่มี ใครแสดงพฤติกรรมแบบนี้ถือว่าเฉยมากในชั้นเรียนของอินเดีย ดังนั้นมาเรียนที่อินเดียต้องเปิดใจให้กว้าง รับฟัง กล้าถกเถียง ยอมรับความจริง และตั้งอยู่บนเหตุและผล การใช้นิสัยการเรียนแบบไทย จึงใช้กับระบบการเรียนการสอนที่นี่ไม่ได้

ทั้งนี้และทั้งนั้นไม่ได้หมายความว่าการเรียนการสอนของอินเดียในลักษณะนี้จะมีประสิทธิภาพที่สุดในโลก หรือดีกว่าเมืองไทย แต่ผู้เขียนเพียงต้องการชี้ให้เห็นว่าการเอานิสัยการเรียนรู้แบบเมืองไทยมาใช้ที่อินเดียจะมีปัญหามากแค่ไหน ในขณะเดียวกันภาพบรรยากาศกิจกรรมนักศึกษาของแต่ละยุคสมัยก็คงวิวัฒนาการตามกาลเวลาและสังคม จึงกล่าวไม่ได้ว่านักศึกษาไทยมีความตื่นตัวทางการเมืองน้อยกว่าหรือมากกว่านักศึกษาชาวอินเดีย แต่ที่แน่ๆ ผู้อ่านคงได้เห็นรูปแบบชั้นเรียนของอินเดียเบื้องต้น ผ่านประสบการณ์การศึกษาใน Jawaharlal Nehru University ของผู้เขียนแล้วเป็นแน่แท้



อ่านเพิ่มเติม: บทความเรื่อง “ขบวนการเคลื่อนไหวของนักศึกษา ปัญญาชน JNU กับข้อกล่าวหาต่อต้านชาตินิยม” ในสำนักข่าวออนไลน์ประชาไท 

 

 

เกี่ยวกับผู้เขียน: ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก เป็นนักศึกษาปริญญาโท สาขา International Relations and Area Studies, Jawaharlal Nehru University ประเทศอินเดีย

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net